ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้ามักจะอ้างถึงการมีอยู่ของโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานของมนุษย์,ว่าเป็นหลักฐานที่ขัดแย้งกับแนวคิดที่บอกว่าพระเจ้า,เป็นพระผู้สร้างผู้ทรงปรีชาฉลาดและทรงเมตตากรุณา
อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของคาทอลิก ความทุกข์ทรมานรวมถึงความเจ็บป่วยไม่ได้ขัดแย้งกับแผนการของพระเจ้า แต่สามารถเข้าใจได้ในกรอบที่กว้างขึ้นของความเชื่อ, การไถ่บาป, และความลึกลับในแผนการของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ
1. บทบาทของจิตใจอิสระและการตกต่ำของมนุษย์
เทววิทยาคาทอลิกเริ่มต้นด้วยความเข้าใจว่าพระเจ้าทรงสร้างโลกให้มีแต่ความดี แต่ด้วยจิตใจอิสระของมนุษย์ก็เกิดความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะล้มเหลวทางศีลธรรม ตามหลักคำสอนเรื่อง *บาปกำเนิด* การไม่เชื่อฟังครั้งแรกของมนุษย์ได้นำความวุ่นวายไร้ระเบียบมาสู่โลก ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการสร้างสรรค์ทั้งหมดด้วย (ปฐมกาล 3:17-19) การมีอยู่ของโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานในรูปแบบอื่นๆ ถือได้ว่าเป็นผลที่ตามมาจากความวุ่นวายไร้ระเบียบตั้งแต่มนุษย์คู่แรกไม่เชื่อฟังพระเจ้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าความวุ่นวายไร้ระเบียบนี้ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ถึงแผนการที่ผิดพลาด แต่เป็นการสะท้อนถึงวิธีที่พระเจ้าเคารพจิตใจอิสระของมนุษย์ หากพระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกทำสิ่งดีหรือชั่วร้ายได้ จิตใจอิสระเองก็จะไม่เป็นจริง ในมุมมองนี้ โรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตในโลกที่ตกต่ำ และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับแผนการดั้งเดิมหรือความดีของพระเจ้า
2. ความทุกข์เป็นหนทางสู่การไถ่บาป
คาทอลิกถือว่าความทุกข์, รวมทั้งความทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ใช่เป็นเพียงการลงโทษหรืออุบัติการณ์ที่ไร้ความหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตฝ่ายจิตและการมีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งการไถ่บาปของพระคริสต์ด้วย พระเยซูเองทรงประสบกับความทุกข์ทรมานและความตายอย่างแสนสาหัส ซึ่งทางคาทอลิกเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นส่วนจำเป็นในแผนการของพระเจ้าเพื่อความรอดของมนุษยชาติ ไม้กางเขนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์และความตาย ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและการฟื้นคืนชีพ
ในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ส่วนตัว รวมทั้งความเจ็บป่วย สามารถรวมเข้ากับความทุกข์ของพระคริสต์ได้ โดยเป็นหนทางให้ผู้มีความเชื่อเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์, เติบโตในความอ่อนน้อมถ่อมตน, และในความมีใจเมตตากรุณา พระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงเน้นย้ำในสมณลิขิตของพระองค์ *Salvifici Doloris* ว่าความทุกข์มีคุณสมบัติในการไถ่บาปเมื่อรวมเข้ากับความทุกข์ของพระคริสต์เอง พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้ยกย่องความทุกข์ แต่เห็นว่าเป็นหนทางสู่การรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเป็นหนทางที่พระหรรษทานของพระเจ้าจะสามารถทำงานได้
3. ความลึกลับของพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า
ปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์มักถูกมองผ่านมุมมองแห่งพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า ซึ่งหมายถึงการทรงดูแลและชี้แนะอย่างต่อเนื่องของพระเจ้าสำหรับสิ่งสร้างทั้งหมด คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกอธิบายว่า ขณะที่ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะมนุษย์ แต่ก็ไม่อยู่เกินขอบเขตพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า พระเจ้าสามารถทำให้เกิดสิ่งดีๆออกมาจากความทุกข์ได้ แม้ว่าสาเหตุของความทุกข์นั้นจะไม่ชัดเจนในทันทีก็ตาม (CCC 309-314)
ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งในพระคัมภีร์คือเรื่องราวของโยบ ชายผู้ชอบธรรมที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ถีงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม ความทุกข์ของโยบทำให้เขาตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของพระเจ้า แต่สุดท้ายแล้ว พระเจ้าไม่ได้ให้คำอธิบายโดยตรงแก่โยบเกี่ยวกับความทุกข์ของเขา ในทางกลับกัน โยบได้รับคำเชิญชวนให้วางใจในพระปรีชาญาณของพระเจ้าและความลึกลับของแผนการของพระองค์ เรื่องราวนี้เน้นว่า,จากมุมมองของคาทอลิก, มนุษย์อาจไม่เข้าใจเหตุผลของความทุกข์เสมอไป แต่พวกเขาถูกเรียกร้องให้วางใจในความดีและการออกแบบขั้นสูงสุดของพระเจ้า
4. วิทยาศาสตร์, การแพทย์, และความร่วมมือของมนุษย์กับพระปรีชาญาณอันศักดิ์สิทธิ์
พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ในทางตรงกันข้าม,พระศาสนจักรยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพระพรแห่งเหตุผลและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ที่พระเจ้าประทานให้ การพัฒนายาและเทคโนโลยีถือเป็นการมีส่วนร่วมในพลังสร้างสรรค์ของพระเจ้า แทนที่จะมองว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแผนการของพระเจ้า มุมมองของพระศาสนจักรคาทอลิกสนับสนุนให้ผู้มีความเชื่อทำงานอย่างแข็งขันเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน, เพื่อค้นพบการรักษาและการบำบัดรักษาใหม่ๆ, ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้รักและรับใช้ซึ่งกันและกัน
อันที่จริง ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกหลายๆอย่างเริ่มต้นโดยสถาบันของพระศาสนจักรคาทอลิก ตัวอย่างเช่น พระศาสนจักรดำเนินกิจการโรงพยาบาลและคลินิกหลายแห่งทั่วโลก และในประวัติศาสตร์ คณะสงฆ์หลายแห่ง เช่น คณะภคินีแห่งพระเมตตาหรือคณะภราดาอเล็กเซียน ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนป่วย ตัวอย่างของนักบุญเช่นนักบุญดาเมียนแห่งโมโลไก ซึ่งเคยดูแลคนโรคเรื้อน และนักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา ซึ่งดูแลคนยากจนและคนใกล้ตาย เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของพระศาสนจักรคาทอลิกในการบรรเทาทุกข์ผ่านการดูแลด้วยความเมตตาและการช่วยเหลือทางการแพทย์
5. แผนการสูงสุดของพระเจ้าคือ: ชีวิตนิรันดร
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่าความทุกข์และโรคภัยที่ประสบในชีวิตนี้เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและต้องเข้าใจในแง่ของชีวิตนิรันดร์ที่พระเจ้าสัญญาไว้กับผู้ที่เชื่อในพระองค์ ความเจ็บปวดและข้อจำกัดของโลกปัจจุบันไม่ใช่จุดจบของเรื่องราวนี้ ดังที่นักบุญเปาโลเขียนไว้ในจดหมายถึงชาวโรมว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ทรมานในเวลานี้เทียบไม่ได้กับความรุ่งโรจน์ที่จะเปิดเผยแก่เรา” (โรม 8:18)
ความหวังในชีวิตนิรันดร์นี้มีพื้นฐานอยู่ที่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระศาสนจักรคาทอลิกมองว่าเป็นคำตอบขั้นสุดท้ายสำหรับความทุกข์ทรมานของมนุษย์ การฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ทำให้ผู้มีความเชื่อมั่นใจได้ว่าความตายและโรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แม้ว่าความทุกข์ทรมานจะเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดและเกิดขึ้นจริงของมนุษย์ แต่ก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว และในท้ายที่สุด ความทุกข์ทรมานจะถูกเปลี่ยนให้เป็นความรุ่งโรจน์ ความหวังนี้ทำให้ชาวคาทอลิกสามารถเผชิญกับความทุกข์ทรมานด้วยความกล้าหาญและไว้วางใจในแผนการของพระเจ้า แม้ว่าแผนการนั้นจะยังคงเป็นความลึกลับสำหรับเราก็ตาม
6. แบบอย่างของนักบุญที่ยอมรับความทุกข์
ตลอดประวัติศาสตร์ นักบุญหลายคนได้ให้แบบอย่างของการที่คริสตชนคาทอลิกถูกเรียกร้องให้พิจารณาความทุกข์ในลักษณะที่เป็นแผนการของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น นักบุญเทเรซาแห่งลิซีเออร์ ป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มาก อย่างไรก็ตาม เธอถือว่าความเจ็บป่วยของเธอเป็นหนทางที่จะรวมตัวเธอเองเข้ากับความทุกข์ของพระคริสต์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และมอบความเจ็บปวดของเธอเพื่อการไถ่บาปของวิญญาณ นักบุญพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งป่วยด้วยโรคพาร์กินสันในช่วงบั้นปลายชีวิต มักพูดถึงการที่ความทุกข์ของพระองค์เองทำให้พระองค์เข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นและเห็นอกเห็นใจความทุกข์ของผู้อื่น
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความทุกข์ รวมทั้งความเจ็บป่วย สามารถมีจุดประสงค์ได้เมื่อเรายอมรับด้วยความเชื่อ ความทุกข์ไม่ใช่หลักฐานที่ขัดแย้งกับแผนการอันปรีชาฉลาดของพระเจ้า แต่มันเป็นประสบการณ์อันล้ำลึกของความรักและการไถ่บาปของพระคริสตเจ้า
บทสรุป:
ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการอันเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้า
จากมุมมองของคาทอลิก โรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานไม่ได้เป็นการหักล้างแผนการอันปรีชาฉลาดของพระเจ้า แต่เป็นส่วนหนึ่งของการไถ่กู้ของพระคริสต์สำหรับโลกที่ตกต่ำ ความทุกข์ทรมานของมนุษย์สามารถนำไปสู่การเติบโตฝ่ายจิต ทำให้เรามีความไว้วางใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า และทำให้เรารวมเป็นหนึ่งอย่างแท้จริงกับพระองค์ในชีวิตนิรันดร์ แม้ว่าผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอาจมองว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นหลักฐานของจักรวาลที่วุ่นวายไร้ระเบียบหรือปราศจากจุดประสงค์ แต่ฝ่ายคาทอลิกกลับมองว่าความทุกข์ทรมานเป็นเส้นทางสู่พระหรรษทานของพระเจ้า ซึ่งถูกกำหนดโดยความรักและแผนการนิรันดร์ของพระองค์ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์, ยา, และการดูแลเอาใจใส่ด้วยความเมตตา ผู้มีความเชื่อร่วมมือกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยเฝ้ารอวันที่ความเจ็บปวดทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปในการกลับฟื้นคืนชีพเสมอ
************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น