วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

พันธสัญญาใหม่ในโลหิตของพระเยซู

 


มีข้อความในพระคัมภีร์ที่มีความหมายลึกซึ้งมากข้อความหนึ่ง  พระวรสารนักบุญลูกา บทที่22 เขียนว่า ในการเลี้ยงอาหารค้ำมื้อสุดท้าย พระเยซูทรงถือถ้วยเหล้าองุ่นแล้วตรัสว่า “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเรา ที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” ทำไมพระเยซูจึงตรัสคำว่า พันธสัญญาใหม่(New testament) ? คำว่าพันธสัญญาใหม่หรือ หีบพันธสัญญาใหม่(New Covenant)ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือเยเรมีย์ บทที่31 เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ และมีคำทำนายว่าพระเจ้าจะทรงทำพันธสัญญาใหม่
 
เยเรมีย์ 31:31 พระยาห์เวห์ตรัสว่า “ดูซิ วันเวลาจะมาถึง เมื่อเราจะทำพันธสัญญาใหม่กับพงศ์พันธ์อิสราเอลและพงศ์พันธ์ยูดา” นี่เป็นพระวาจาของพระเจ้าที่จะทำพันธสัญญาใหม่ พระวาจานี้จึงเป็นการบอกก่อนล่วงหน้าว่าจะทรงเปลี่ยนจากพันธสัญญาของอับราฮัมซึ่งเป็นสัญญาที่จะมอบแผ่นดินแห่งพันธสัญญาให้แก่อับราฮัม ต่อมาก็มีพันธสัญญาของกษัตริย์ดาวิดที่บอกว่าพระเมสสิยาห์จะบังเกิดในพงศ์พันธ์ของกษัตริย์ดาวิด พันธสัญญาเดิมเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพันธสัญญาใหม่ที่พระเยซูทรงกระทำขึ้น (เยเรมีย์ 31:31) พระยาห์เวห์ตรัสต่อไปว่า “จะไม่เหมือนกับพันธสัญญาที่เราทำไว้กับบรรพบุรุษของเขา เมื่อเราจูงมือเขาให้ออกมาจากแผ่นดินอิยิปต์ เขาได้ละเมิดพันธสัญญานั้น แม้ว่าเราจะเป็นเจ้านายของเขา” พระวาจานี้เป็นการบอกว่า พันธสัญญาใหม่ที่จะทรงประทานให้นี้จะไม่เหมือนพันธสัญญาเดิมที่พระองค์เคยประทานแก่บรรพบุรุษของชาวอิสราเอลเมื่อทรงนำพวกเขาออกมาจากอิยิปต์ ซึ่งก็คือพระบัญญัติสิบประการที่ประทานแก่โมเสส และชาวอิสราเอลได้ละเมิดพระบัญญัตินี้ พระยาห์เวห์ตรัสต่อไป “นี่จะเป็นพันธสัญญาที่เราจะทำกับพงศ์พันธ์อิสราเอลเมื่อเวลานั้นมาถึง”
 
เป็นข้อความที่น่ามหัศจรรย์มิใช่หรือ พระเจ้าทรงอธิบายให้เรารู้ว่าจะมีพันธสัญญาใหม่กับพงศ์พันธ์อิสราเอลและยูดา เป็นพันธสัญญาที่แตกต่างจากพันธสัญญาเดิม เพราะพระยาห์เวห์ตรัสต่อไปว่า(เยเรมีย์ 31:31) “เราจะใส่ธรรมบัญญัติของเราไว้ภายในเขา เราจะเขียนธรรมบัญญัติไว้ในใจของเขา เราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา ไม่มีผู้ใดจะต้องสอนเพื่อนบ้านของตน หรือบอกพี่น้องของตนอีกต่อไปว่า ‘จงรู้จักพระยาห์เวห์เถิด’ เพราะทุกคนจะรู้จักเรา ตั้งแต่คนที่เล็กน้อยที่สุดจนถึงคนที่ใหญ่โตที่สุด” พระยาห์เวห์ตรัสต่อไปว่า “เราจะให้อภัยความผิดของเขา และจะไม่ระลึกถึงบาปของเขาอีกต่อไป”
 
สรุปคือ โดยพันธสัญญาใหม่
 
1. เราจะมีธรรมบัญญัติของพระเจ้าอยู่ในใจของเรา
 
2. เราจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้า เราสามารถรู้จักพระเจ้าเป็นการส่วนตัวเหมือนกับโมเสส
 
3. พระเจ้าจะทรงให้อภัยความผิดของเรา และจะไม่ระลึกถึงบาปของเราอีกต่อไป
 
เวลานั้นพระเยซูทรงยกถ้วยเหล้าองุ่นซึ่งคือพระโลหิตของพระองค์และตรัสว่า “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเรา ที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย” ด้วยพระโลหิตของพระเยซูนี่เองที่ทำให้ข้อสรุปทั้งสามข้อดังกล่าวมานั้นเป็นจริง นี่มิใช่เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์หรอกหรือ
 
************************
 

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 จงรักเพื่อนมนุษย์ รักแม้กระทั่งศัตรู

 
โดยคุณพ่อยอห์นชัยยะ กิจสวัสดิ์  
ลูกา 6:27-38 
“(27)แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน (28)จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน (29)ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย (30)จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป (31)ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด (32)ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย (33)ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย (34)ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร 
คนบาปก็ให้คนบาปด้วยกันยืมโดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน (35)แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืนแล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย 
(36)จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด (37)อย่าตัดสินเขาแล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขาแล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน (38)จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย”
******************
 
 
 
พี่น้องครับ ลำพังบัญญัติให้ “รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่วันนี้พระเยซูเจ้าทรงประทานบัญญัติใหม่ที่สุดยอดยิ่งกว่าอีก นั่นคือ “จงรักศัตรู”
 
สำหรับเราที่ใช้คำว่า “รัก” กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะรักพ่อรักแม่ รักพี่รักน้อง รักเพื่อน รักข้าวรักของ หรือแม้แต่รักหมารักแมว ก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำว่า “รัก” เหมือนกัน คงอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วเราจะปฏิบัติตามบัญญัติข้อนี้ได้อย่างไรกันในเมื่อมันฝืนธรรมชาติเหลือเกิน เพราะขนาดลูกในไส้ของตนเองแท้ๆ ยังรักไม่เท่ากันเลย บางคนถึงกับเกลียดขี้หน้าลูกของตนเองก็มี แล้วจะให้รักศัตรูเหมือนรักพ่อรักแม่ได้อย่างไรกัน ?
 
แต่สำหรับชาวกรีกซึ่งแยกแยะความรักออกเป็นประเภทต่างๆ และใช้ศัพท์แตกต่างกันถึง 4 คำเพื่อหมายถึง “ความรัก” นั้น พวกเขาไม่เห็นว่าเป็นการฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด ศัพท์ทั้ง 4 คำได้แก่
 
1. erōs (อีรอส) หมายถึงความรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งมักลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์กัน คำนี้ไม่เคยใช้ในพระคัมภีร์ 2. storgē (สตอร์เก) หมายถึงความรักภายในครอบครัว เช่น พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ 3. philia (ฟีเลีย) หมายถึงความรักที่มีต่อมิตรสหาย หรือคนใกล้ชิดที่สุด 4. agapē (อากาเป) หมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นบรรลุความดีสูงสุดโดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าผู้นั้นจะปฏิบัติต่อเราเลวร้ายเพียงใดก็ตาม
 
คำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลาสั่งให้เรา “รักศัตรู” คือ agapē ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เรา “ปรารถนาดีต่อศัตรูและช่วยเหลือศัตรูให้บรรลุความดีสูงสุด”
 
ปกติ ความรักเป็นเรื่องของ “หัวใจ” ซึ่งมักจะหักห้ามกันไม่ได้ จนเกิดเป็นคำพูดติดปากว่า “ตกหลุมรัก” แต่ความปรารถนาดี (อากาเป) เป็นเรื่องของ “อำเภอใจ” ซึ่งเราสามารถควบคุมได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ดังเช่นดาวิดซึ่งยกโทษและไว้ชีวิตกษัตริย์ซาอูลที่กำลังนำทหารสามพันคนตามล่าเพื่อจะฆ่าตน ดังที่เราได้ฟังในบทอ่านที่หนึ่งวันนี้
 
แปลว่า พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราต้องตกหลุมรักศัตรู ดุจดังชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว หรือให้เรารักศัตรูเท่าเทียมกับรักพ่อแม่และลูกหลาน หรือต้องรักศัตรูราวกับเป็นมิตรสหายของเรา ซึ่งล้วนแล้วแต่ฝืนธรรมชาติและไม่มีทางเป็นไปได้
 
แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการจากเราคือ “อำเภอใจ” ที่ปรารถนาให้ศัตรูของเรา รวมทั้งผู้ที่เกลียดชังเรา หรือเราเกลียดชังเขา “บรรลุความดีสูงสุด” ซึ่งอำเภอใจเช่นนี้จะเปิดหัวใจของเราให้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำดีและมีเมตตาต่อพวกเขา ดังเช่น
 
ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังเรา (ลก 6:27)
 
อวยพรผู้ที่สาปแช่งเรา (ลก 6:28)
 
อธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายเรา (ลก 6:28)
 
หรือ อดทนต่อพวกเขา แม้ว่าพวกเขา
 
จะตบแก้มเรา (ลก 6:29)
 
เอาเสื้อคลุมของเราไป (ลก 6:29)
 
รวมถึง ให้แก่ทุกคนที่ขอเราและ ไม่ทวงของคืนจากผู้ที่ได้แย่งเราไป (ลก 6:30)
 
พร้อมกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงบอกเหตุผลที่ทรงสั่งให้เรา “รักศัตรู” ว่าเพื่อเราจะได้เป็น “บุตรของพระผู้สูงสุด” (ลก 6:35) และดำเนินชีวิตเหมือน “มนุษย์สวรรค์” ดังที่นักบุญเปาโลบอกเราในบทอ่านที่สองวันนี้
 
นอกจากทรงสอนให้เรา “รักศัตรู” แล้ว พระเยซูเจ้ายังทรงวางหลักการอันเป็น “แก่นสำคัญของจริยธรรมแบบคริสต์” อีกด้วย นั่นคือ ไม่ทำชั่วอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำดีด้วย
 
เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ลก 6:31) ซึ่งเป็น คำสอนใหม่สุด เพราะก่อนหน้าพระองค์ พวกเขาสอนกันอย่างนี้
 
ฮิลเลล หนึ่งในบรรดารับบีผู้ยิ่งใหญ่ของชาวยิว สอนว่า “อะไรที่น่ารังเกียจสำหรับท่าน จงอย่าทำแก่ผู้อื่น”
 
โทบิตสอนโทบียาห์ผู้เป็นบุตรชายว่า “ลูกเกลียดสิ่งใด ก็อย่าทำสิ่งนั้นแก่ผู้อื่น” (ทบต 4:15)
 
ไอโซเครตีส นักพูดชาวกรีก กล่าวว่า “สิ่งใดที่ทำให้ท่านโกรธเมื่อผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน จงอย่าทำสิ่งนั้นต่อผู้อื่น”
 
แม้ขงจื้อ ปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงของชาวจีนก็สอนเช่นเดียวกันว่า “อะไรที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำแก่ผู้อื่น”
 
จะเห็นว่าก่อนหน้าพระองค์ จริยธรรมมีลักษณะเชิงปฏิเสธ (negative) นั่นคือ “อย่าทำ” ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งใด หรือการอยู่เฉยๆ นั้น ถือว่าไม่ยากเย็นนัก และอันที่จริง คำสอนหรือหลักการที่ “ห้าม” หรือ “อย่าทำ” นั้น ไม่ใช่หลักการทางศาสนาแต่เป็นหลักการทางกฎหมาย ซึ่งคนที่ไม่มีศาสนาอยู่ในหัวใจก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วหากไม่อยากติดคุกติดตะราง
 
ด้วยเหตุนี้ ความดีอันเกิดจากการ “ไม่กระทำ” จึงถือว่าไม่เพียงพอและอยู่ตรงข้ามกับคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ตรัสว่า “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด”
 
เห็นได้ชัดเจนว่าคำสอนของพระองค์มีลักษณะเชิงบวก (positive) นั่นคือทรงเรียกร้องให้เราออกจาก “โลกของตัวเอง” และเริ่ม “ทำก่อน”
 
นั่นคือ ทำสิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน !
 
คำสอนของพระองค์ทำให้เราเป็น “คนใหม่” มี “ชีวิตใหม่” มี “หลักการใหม่” และมี “ทัศนคติใหม่” ต่อผู้อื่น
 
กฎหมายบ้านเมืองอาจห้ามเราขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง หรือห้ามเราขับรถเร็วเกินกำหนดได้ แต่จะบังคับให้เราหยุดรถเพื่อรับคนเดินข้างถนนติดรถไปด้วยไม่ได้
 
กฎหมายห้ามเราฆ่าคนได้ แต่จะสั่งเราให้ช่วยเหลือผู้ขัดสนหรือผู้ด้อยโอกาสไม่ได้
 
มีแต่ “ความรัก” ของพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่ผลักดันให้เราทำเช่นนี้ก่อนได้ !
 
การ “ทำ” สิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นทำต่อเราก่อน จึงเป็นสุดยอดของจริยธรรมคริสต์ และเป็นสุดยอดของจริยธรรมด้านสังคมที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วย
 
นับจากนี้ไป ชีวิตของเราจะมีคุณค่าและความสุขมากสักเพียงใด หากเราไม่เพียงไม่ทำชั่ว แต่ยังทำดีดุจดังพระบิดาเจ้า โดยเฉพาะรักแม้กระทั่งศัตรูของตน
 
เพราะนี่คือสิทธิพิเศษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเราคริสตชน ที่จะได้ดำเนินชีวิตเหมือนพระเจ้า ผู้ทรงพระเมตตาและกรุณา ไม่ใช่เฉพาะต่อคนดีเท่านั้น แต่ต่อคนอกตัญญูและคนชั่วร้าย รวมถึงคนบาปอย่างเราด้วย....!!!
 
***************************


วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ผู้ที่เยาะเย้ยพระเจ้า 3

 
Tancredo Neves (แทนเครโด เนเวส ประธานาธิบดีบราซิล)


ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขากล่าวว่าถ้าเขาได้รับคะแนนเสียง 500,000 เสียงจากพรรคของเขา, แม้แต่พระเจ้าก็ไม่สามารถปลดเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เขาได้รับคะแนนเสียงตามที่ต้องการ แต่เขาล้มป่วยลงหนึ่งวันก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและเสียชีวิต
 
ในปี 1984 เนเวสลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยความช่วยเหลือของยูลิสซิส กิมาเรส เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของบราซิลเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1985 โดยการลงคะแนนเสียงทางอ้อมของคณะผู้เลือกตั้ง เนเวสล้มป่วยหนักในวันก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1985 และ 39 วันหลังจากนั้น เขาเสียชีวิตด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบและไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป 
 
เนเวสเป็นนักการเมืองชาวบราซิลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และเป็นนักการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์บราซิล ในเดือนกรกฎาคม 2012 เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 ชาวบราซิลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
 
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราสามารถสรุปได้ว่าอำนาจและเกียรติยศทั้งหมดเป็นของพระเจ้า
 
* * * * *
 
ในเมือง Campinas, ประเทศบราซิล มีกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งชวนกันไปเที่ยวตามประสาวัยรุ่น และกำลังขับรถเพื่อไปรับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่บ้านของเธอ แม่ของผู้หญิงคนนี้เดินตามไปส่งเธอที่รถ และรู้สึกวิตกมากเกี่ยวกับการออกไปเที่ยงของลูกสาว เพราะบางคนดื่มเหล้ว แม่จึงพูดกับลูกสาวว่า “ลูกเอ๋ย จงไปพร้อมกับพระเจ้านะและพระองค์จะทรงปกป้องลูก” ลูกสาวตอบว่า “ถ้าเพียงแต่พระเจ้าจะไปอยู่ท้ายรถ เพราะในรถเต็มแล้ว” ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มีข่าวว่าพวกเขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง และทุกคนในรถเสียชีวิต รถพังยับเยินจนจำไม่ได้ แต่น่าแปลกใจ,ท้ายรถไม่เสียหายอะไรเลย แม้แต่ตำรวจก็บอกว่าไม่มีทางที่ท้ายรถจะไม่เสียหายเลย และที่น่าประหลาดใจอีกอย่าง,ภายในรถมีตะกร้าใส่ไข่อยู่และไข่ที่อยู่ในตะกร้าไม่แตกเลยสักใบเดียว
 
ผู้ที่พูดจาเยาะเย้ยพระเจ้านั้น เขารู้หรือไม่ว่า เขากำลังทำอะไรอยู่ หรือเขาเพียงแค่พูดเล่นๆเท่านั้น
 
แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าทำไมพวกเขาจึงเยาะเย้ยพระเจ้า? คำตอบสั้นๆก็คือ บาปที่เป็นสาเหตุของการตกต่ำลงของมนุษย์ก็คือ ความหยิ่งจองหอง และบาปนี้ทำให้มนุษย์ถูกสาปแช่ง เขาหลอกตัวเองว่าเขาเป็นคนดี,เป็นคนมีเกียรติสูงส่งกว่าพระเจ้า เขาไม่มีความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง
 

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ฟรังซิสกับนก

 


ขณะที่ฟรังซิสกำลังเดินทางพร้อมกับบรรดาเพื่อนนักพรตผ่านหุบเขา Spoleto ในอิตาลี ฟรังซิสสังเกตุเห็นนกฝูงใหญ่รวมตัวเกาะอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ข้างทุ่งหญ้า และเขาสังเกตุว่าพวกนกกำลังจ้องมองเขาอยู่ราวกับว่าพวกมันหวังอะไรบางอย่าง โดยได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า,ฟรังซิสตัดสินใจที่จะเทศน์ให้ฝูงนกฟังเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าที่มีต่อพวกมัน ฟรังซิสเดินเข้าไปใกล้ต้นใม้และเริ่มต้นเทศน์ทันที
 
นักพรตที่ร่วมเดินทางไปกับฟรังซิสได้บันทึกคำพูดของฟรังซิสไว้ และบันทึกนั้นต่อมาได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือที่มีชื่อว่า The little Flowers of Saint Francis ฟรังซิสพูดว่า
 
“พี่น้องที่อ่อนหวานของฉัน,บรรดาวิหคแห่งท้องฟ้า พวกเธอถูกผูกไว้ในสวรรค์,ผูกไว้กับพระเจ้า พระผู้สร้างของพวกเธอ ในการโบกปีกไปมาทุกครั้ง,และการส่งเสียงร้องบรรเลงเพลงทุกตัวโน๊ตของพวกเธอ พระองค์ทรงประทานพระพรอันยิ่งใหญ่แก่พวกเธอ พระองค์ประทานอิสระเสรีแห่งท้องฟ้านภากาศ,พวกเธอไม่ต้องหว่านข้าว,ไม่ต้องเก็บเกี่ยว แต่พระองค์ทรงเตรียมอาหารที่เอร็ดอร่อยที่สุดแก่พวกเธอ ทรงประทานแม่น้ำและทะเลสาบเพื่อดับความกระหายของพวกเธอ ทรงประทานภูเขาและหุบเขาให้เป็นบ้านของพวกเธอ ทรงประทานต้นไม้เพื่อให้พวกเธอสร้างรัง และทรงประทานเสื้อผ้าที่สวยงามที่สุดแก่พวกเธอ คือทรงให้พวกเธอผลัดเปลี่ยนขนในทุกฤดูกาล พวกเธอแต่ละชนิดถูกรักษาไว้ในสำเภาของโนอาห์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระผู้สร้างทรงรักพวกเธอมาก เพราะพระองค์ทรงประทานพระพรแก่พวกเธออย่างอุดมบริบูรณ์ ดังนั้นพี่น้องของฉัน,จงระวังตัวจากบาปแห่งความอกตัญญูและจงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเสมอเถิด”
 
บรรดานักพรตที่บันทึกการเทศน์ของฟรังซิสแก่นก เขียนไว้ว่า บรรดานกฟังด้วยความตั้งใจ
 
“ขณะที่ฟรังซิสพูดถ้อยคำเหล่านี้ นกเหล่านี้ทุกตัวเริ่มเปิดปากของพวกมัน,ยึดคอของพวกมันและแผ่สยายปีกของพวกมัน พวกมันโน้มหัวลงแสดงความเคารพแผ่นดินและร้องเพลง พวกมันแสดงให้เห็นว่าฟรังซิสผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ให้ความยินดีอย่างยิ่งแก่พวกมัน ฟรังซิส “มีความชื่นชมยินดี”ในการตอบสนองของพวกนก ผู้จดบันทึกเขียนต่อไปว่า
 
“และฟรังซิสประหลาดใจเป็นอย่างมากในท่าทีของพวกนกเหล่านี้ ในความสวยงาม,ความตั้งใจฟังและความเชื่องของพวกมัน และเขาก็รู้สึกขอบพระคุณพระเจ้าด้วยความศรัทธาสำหรับบรรดานกเหล่านี้” พวกนกยังคงรวมตัวกันอยู่รอบๆฟรังซิส จนกระทั่งฟรังซิสได้อวยพรพวกมัน พวกมันจึงบินจากไป บางตัวมุ่นไปทางทิศเหนือ บางตัวไปทางทิศใต้ บางตัวไปทางตะวันออก บางตัวไปทางตะวันตก ไปทุกทิศทาง เสมือนว่าตามทางที่พวกมันไปนั้นพวกมันจะประกาศข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้าที่พวกมันเพิ่งได้ยินให้แก่สิ่งสร้างอื่นๆ รวมทั้งประกาศถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของฟรังซิสที่มีต่อพระเจ้าและความไว้วางใจอย่างลึกซึ้งในพระญาณเอื้ออาทรในพระเจ้าของเขา อันเป็นแบบอย่างสำหรับคริสตชนที่จะเลียนแบบ
 
************************
 

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ฉลองแม่พระแห่งลูรดส์

 


ภาพของพระแม่แห่งลูร์ดปรากฎอยู่และทุกคนมองเห็นได้ แต่ความจริงที่บริเวณนั้นเป็นที่ว่างเปล่า
 
From Catholic news agency
 
ผู้ที่ไปเยี่ยมชมโบสถ์น้อยของอาสนวิหารแม่พระแห่งลูร์ดในเมือง Alta Gracia ในจังหวัดกอร์โดบา ประเทศอาร์เจนตินา จะได้เห็นปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้ นั่นคือ ในช่องว่างที่เป็นส่วนหนึ่งของแท่นบูชาเหนือพระแท่น, สามารถมองเห็นรูปพระแม่มารีได้ แม้ว่าพื้นที่นั้นจะว่างเปล่าก็ตาม 
 
ตามรายงานของสำนักข่าว Argentine news agency (AICA) ของอาร์เจนตินา สิ่งที่เห็นไม่ใช่ภาพสองมิติ แต่เป็นภาพสามมิติที่มีรอยพับบนเสื้อผ้าด้วย นอกจากนี้ยังไม่ใช่ภาพลวงตาทางจิตวิทยาที่เกิดจากความศรัทธาที่เกินจริงของผู้แสวงบุญ
 
ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความเชื่อหรือไม่ก็ตาม ต่างก็เห็นสิ่งนี้ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังปรากฏในรูปภาพที่ถ่ายที่นั่นอีกด้วย ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ภาพดังกล่าวสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากประตูหน้าของโบสถ์ จากนั้นจะค่อยๆ จางลงเมื่อผู้แสวงบุญเดินเข้าไปใกล้พระแท่นบูชาอย่างช้าๆ
 

แหล่งข่าวจาก อาสนวิหารแม่พระแห่งลูรดส์ ใน Alta Gracia บอกกับ ACI Prensa ซึ่งเป็นพันธมิตรข่าวภาษาสเปนของ CNA ว่าแม้จะไม่มีคำแถลงการณ์ที่เฉพาะเจาะจงจากอัครสังฆมณฑลกอร์โดบาซึ่งเป็นที่ตั้งของอาสนวิหาร แต่ “ปรากฏการณ์นี้ยังคงเหมือนเดิมและไม่มีคำอธิบายใหม่”
 
ข่าวล่าสุดจากคุณพ่ออธิการอาสนวิหาร
 
ในคำแถลงเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ถึง ACI Prensa ซึ่งเป็นพันธมิตรข่าวภาษาสเปนของ CNA คุณพ่อ Pablo Pavone คุณพ่ออธิการอาสนวิหารได้แสดงความคิดเห็นว่า “เมื่อเวลาผ่านไป เราจะพบว่าพระมารดาของพระเจ้าไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ผมหมายความว่าอย่างไรนะหรือ? พระนางไม่ได้ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พระนางทรงเป็นมารดา ดังนั้นพระนางจึงรู้จักลูกๆแต่ละคนและรู้ว่าพวกเขามีความต้องการที่แตกต่างกัน”
 
“แต่ละคนมีรายละเอียดเฉพาะของตัวเอง และถ้าเราต้องพูดถึงเหตุผล มีเหตุผลมากมายเท่ากับหัวใจของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมอาสนวิหาร และสิ่งที่พระมารดาของเราทำคือต้อนรับทุกคนและสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเราแต่ละคน” คุณพ่อกล่าวต่อ
 
คุณพ่อยังกล่าวอีกว่า "สิ่งที่สองคือทัศนคติที่เรามีเมื่อมาที่อาสนวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราได้เห็นการแทรกแซงช่วยเหลือมากมายของพระแม่มารีย์เพื่อตอบสนองต่อศรัทธาของบุคคลนั้น และคุณพยายามหาจุดร่วมในทั้งหมดนี้ ในตัวผู้คนที่มีประสบการณ์อันทรงพลัง นั่นก็คือความไว้วางใจที่พวกเขามาที่นี่"
 
คุณพ่อ Pavone เน้นย้ำว่า “ที่นี่ประตูเปิดกว้างสำหรับผู้ที่ต้องการมา เราขอเชิญทุกคนมา” ในวันนี้หรือในโอกาสอื่นๆ เพราะ “พระแม่มารีย์ไม่ได้ระบุวันนัดพบสำหรับทุกคน”
 
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
 
โบสถ์น้อยของพระแม่มารีย์แห่งอัลตา กราเซียตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งในปี 1916 ได้มีการสร้างแบบจำลองถ้ำ Massabielle ในเมืองลูร์ด ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระแม่มารีย์ทรงประจักษ์ต่อนักบุญเบอร์นาแด็ตต์ ซูบีรูในปี 1858
 
ในปี 1922 มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อสร้างโบสถ์น้อยใกล้กับถ้ำ โดยวางศิลาก้อนแรกในปี 1924 และในปี 1927 บิชอปแห่งกอร์โดบาได้มาเสกโบสถ์น้อยแห่งนี้ เป็นเวลาหลายปีที่ประดิษฐานรูปปั้นพระแม่มารีย์แห่งลูร์ดอยู่ตรงกลางแท่นบูชาของโบสถ์
 
ในช่วงกลางปี 2011 รูปปั้นนี้ถูกรื้อออกจากช่องหรือฐานเพื่อบูรณะ และปัจจุบันตั้งอยู่ที่ด้านข้างของช่องที่ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่า
 
วันหนึ่ง พระสงฆ์ผู้ดูแลอาสนวิหารกำลังจะปิดโบสถ์น้อย และจากประตูหลัก เขาเห็นพระรูปซึ่งดูเหมือนทำด้วยปูนปลาสเตอร์อยู่ในช่องว่าง
 
เขาเข้าไปใกล้หลายครั้ง และทุกครั้งที่เข้าไป เขาสังเกตเห็นว่าพระรูปที่เขาเห็นจากระยะไกลค่อยๆ จางลง ความจริงคือไม่มีพระรูปอยู่จริง แต่เขากลับมองเห็นว่ามีพระรูป
 
เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวที่ใครๆ ก็มองเห็นได้ คณะภราดาคาร์เมไลท์สวมรองเท้า discalced Carmelite friars ของอาสนวิหารจึงออกแถลงการณ์ในปี 2011 โดยระบุว่า “การปรากฏของพระรูปพระแม่มารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ในขณะนี้”
 
“ประชาชนของพระเจ้าต้องตีความสิ่งนี้ว่าเป็นเครื่องหมายเพื่อเพิ่มพูนและเสริมสร้างศรัทธาคริสตชน และสร้างแรงบันดาลใจในใจมนุษย์ให้หันมารักพระเจ้าและมีส่วนร่วมในชีวิตของพระศาสนจักร” พวกเขากล่าว
 
การเฉลิมฉลองพระแม่มารีย์แห่งลูร์ดในปี 2025
 
ในปีนี้ ผู้ศรัทธาหลายหมื่นคนได้เดินทางด้วยเท้าไปแสวงบุญที่อาสนวิหารพระแม่มารีย์แห่งลูร์ดเป็นครั้งที่ 48 ในช่วงฤดูร้อนของอาร์เจนตินา
 
เมื่อคืนนี้ ผู้แสวงบุญเริ่มออกเดินทางเวลา 21.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น จาก Plaza de las Américas ในเมืองกอร์โดบา และมาถึงอาสนวิหารในเมืองอัลตา กราเซีย เวลาประมาณ 05.30 น. ของวันนี้ (11 ก.พ.) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 25 ไมล์
 
มีการสวดมิสซาเที่ยงคืน สวดสายประคำตอนรุ่งสางเวลา 05.30 น. จากนั้นจะมีพิธีมิสซาสำหรับผู้แสวงบุญในเวลา 06.00 น. โดย Alejandro Musolino บิชอปผู้ช่วยแห่งกอร์โดบา
 
เวลา 09.00 น. จะมีพิธีมิสซาสำหรับชุมชนและกลุ่มต่างๆ เวลา 11.00 น. จะมีพิธีมิสซาสำหรับครอบครัวอีกครั้ง และเวลา 18.00 น. จะมีพิธีมิสซาสำหรับคนป่วย โดยมีพระคาร์ดินัล Ángel Sixto Rossi อาร์ชบิชอปแห่งกอร์โดบาเป็นผู้กำหนดพิธี
 
เวลา 19.00 น. จะมีขบวนแห่รูปปั้นแม่พระแห่งลูร์ดที่อาสนวิหาร
 
************************
 

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ความถ่อมตนที่ไม่ถูกต้อง

 

ความถ่อมตนทำให้เราเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า ความอ่อนโยนทำให้เราเป็นที่ยอมรับของมนุษย์
 

นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ เขียนเกี่ยวกับความถ่อมตนที่ไม่ถูกต้องในหนังสือ Introduction to the Devout Life โดยอธิบายว่าความถ่อมตนนั้นมีลักษณะอย่างไร:
 
"เราอาจเคยพบผู้คนที่ไม่ต้องการใช้ความสามารถของตนในการทำกิจการบางอย่างเพื่อพระศาสนจักร โดยพวกเขาบอกเราว่ามีคนอื่นที่ดีเหมาะสมมากกว่าเขา พวกเขาไม่รู้สึกว่าตนเองเหมาะสมคู่ควรกับสิ่งนั้น บ่อยครั้ง,พวกเขาไม่กล้าที่จะให้มีคนมาติดต่อด้วย เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่เหมาะสมที่จะรับหน้าที่นั้น พวกเขากลัวว่าจะทำให้องค์กรศาสนาเสื่อมเสียชื่อเสียง เนื่องจากความอ่อนแอและความเปราะบางของพวกเขา ในขณะที่มีอีกหลายคนปฏิเสธที่จะใช้ความสามารถของตนในการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เพราะพวกเขารู้จุดอ่อนของตนเอง และกลัวที่จะหยิ่งผยองหากทำสิ่งที่ดี เพราะกลัวว่าขณะที่ช่วยเหลือผู้อื่น อาจเป็นการทำลายตัวเองไปด้วย ท่าทีนี้อาจดูเหมือนความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง" นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์อธิบายต่อไปว่า:
 
“แต่ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงเลย และมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่หลอกลวงเท่านั้น แต่ยังเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ชั่วร้าย ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระพรของพระเจ้าอย่างเงียบๆและเป็นความลับ และใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นข้ออ้าง ในขณะที่ยกย่องความรักตนเอง, ความพอเพียง, ความเกียจคร้าน, และอารมณ์ร้ายอย่างแท้จริง”
 
นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์อธิบายว่า แนวทางของคริสตชนคือ ต้องไม่ปฏิเสธพระพรของพระเจ้า แต่ต้องยอมรับอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและใช้พระพรเหล่านั้นเพื่อความรุ่งโรจน์ที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์:
 
"เมื่อพระเจ้าประสงค์จะประทานความโปรดปรานแก่เรา มันจะเป็นความเย่อหยิ่งในการปฏิเสธพระพรนั้น เพราะพระพรของพระเจ้าจำเป็นต้องได้รับการยอมรับ และความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริงอยู่ที่การเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างแท้จริง! พระเยซูตรัสในลักษณะเดียวกันในพระวรสาร โดยเตือนสาวกของพระองค์ไม่ให้วางตะเกียงแล้วเอา "ถัง" ครอบไว้ หรือนำพระพรของตนไปฝังดินโดยไม่ใช้พระพรเหล่านั้น
 
สิ่งสำคัญคือต้องยกความดีทั้งหมดให้กับพระเจ้าเสมอสำหรับสิ่งดีๆ ที่เราทำ พระเจ้าทรงใช้เราเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในโลก เราเพียงแค่ต้องปล่อยให้พระองค์ทำสิ่งนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง, เพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระองค์"
 
************************
 

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

พระเยซูเจ้าในวัยเยาว์

 


พระวรสารของนักบุญลูกา ท่านได้เรียบเรียงลำดับชีวิตในวัยเยาว์ของพระเยซูไว้มากกว่าพระวรสารอื่น ดังรายการข้างล่างนี้
 
การประสูติของพระเยซูเจ้า ลูกา 2:1-24
 
พระเยซูเจ้าทรงเข้าสุหนัต ลูกา 2:21
 
การถวายพระกุมารในพระวิหาร ลูกา 2:23
 
บทเพลงของสิเมโอน,สิเมโอนกล่าวคำทำนาย,อันนาประกาศกหญิง ลูกา 2 :29-38
 
พระเยซูเจริญวัยในนาซาเร็ธ ลูกา 2:39-40
 
พระเยซูเจ้าในหมู่ธรรมาจารย์ ลูกา 2:41
 
1. พระศาสนจักรได้สมโภชการประสูติของพระเยซูเจ้าในวันที่ 25 ธันวาคม และต่อมาอีก 8 วันตามธรรมเนียมของชาวยิว ทารกจะได้รับการเข้าสุหนัต แต่เดิมพระศาสนจักรเคยฉลองวันเข้าสุหนัติของพระเยซูในวันที่ 1 มกราคม แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เข้าใจว่าพระเยซูกุมารได้รับการเข้าสุหนัตที่ศาลาธรรมในเบทเลเฮม และการเข้าสุหนัตนี้ถูกมองว่าเป็นครั้งแรกที่พระโลหิตของพระเยซูถูกหลั่งออกมา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการไถ่บาปของมนุษย์ และเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ และเป็นการเชื่อฟังธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์ นักเทววิทยาในยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเน้นว่าการเข้าสุหนัตนี้เป็นความทุกข์ทรมานที่หลั่งโลหิตครั้งแรกของพระเยซูในฐานะมนุษย์และเป็นการปูทางไปสู่พระมหาทรมานของพระองค์
 
2. หลังจากพระเยซูประสูติได้ 40 วัน นักบุญโยเซฟและพระแม่มารีย์ได้นำพระกุมารไปถวายแด่พระเจ้าในพระวิหาร พระศาสนจักรฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหารในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเท่ากับ 40 วันหลังจากวันคริสต์มาส ในวันนี้พระเยซูทรงเปิดเผยพระองค์แก่ผู้เฒ่าสิเมโอนและนางอันนา ประกาศกหญิง สิเมโอนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งได้กล่าวบทเพลงสรรเสริญ แต่ทันใดนั้น,ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนไป เขาได้กล่าวคำทำนายว่าทารกจะทำให้เกิดการโต้เถึยง และแม่พระเองก็จะเป็นทุกข์ด้วย
 
เบธเลเฮมตั้งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางใต้ประมาณ 6 ไมล์ (9 กม.)ในสมัยพระคัมภีร์ เมืองเบธเลเฮมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีทุ่งนา และยังมีแกะและแพะกินหญ้าอยู่บนเนินเขาด้วย
 
3. ต่อมาในลูกา 2:39-40 ลูกาบอกว่า หลังจากถวายพระกุมารในพระวิหารแล้ว นักบุญโยเซฟได้พาแม่พระและพระกุมารกลับไปที่นาซาเร็ธ สำหรับเรื่องนี้ลูกาคงจะรวบรัดเรื่องราวไปหน่อย เพราะตามที่เป็นจริง เรารู้ว่า นักบุญโยเซฟและแม่พระยังคงอยู่ที่เบธเลเฮม จนพระกุมารเจริญวัยขึ้นมาพอสมควร
 
ลูกาไม่ได้เล่าเรื่องของโหราจารย์อาจเป็นเพราะเห็นว่า มัทธิวได้เล่าเรื่องไว้แล้วจึงไม่ต้องการเล่าซ้ำ  ลูกาได้ทำการสอบถามแม่พระเกี่ยววัยเยาว์ของพระเยซูเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการเขียนเรื่องราวเหล่านี้
 
หลังจากพระเยซูประสูติแล้ว นักบุญโยเซฟคงหาที่อยู่ที่เป็นบ้านเรือนได้ใกล้ๆถ้ำที่ประสูติ จึงได้พาแม่พระและพระกุมารย้ายไปอยู่ในบ้าน มีสิ่งที่อ้างอิงในเรื่องนี้ได้ก็คือ ในพระวรสารนักบุญมัทธิว 2:11 บอกว่า โหราจารย์ทั้งสามได้พบพระกุมารในบ้าน ไม่ใช่ในถ้ำ และพวกเขาพบกับพระกุมาร ภาษาอังกฤษใช้คำว่า young child ไม่ใช่ an infant, ที่แปลว่า “ทารก” แสดงว่าพระเยซูเจริญวัยขึ้นมาบ้างแล้ว (Matthew 2:11 King James Version (KJV)And when they were come into the house, they saw the young child with Mary his mother, and fell down, and worshipped him: and when they had opened their treasures, they presented unto him gifts; gold, and frankincense and myrrh.)
 
โหราจารย์พบพระกุมารเยซูขณะที่พระองค์เจริญวัยขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเท่าไร กษัตริย์เฮรอดได้สอบถามโหราจารย์ถึงวันเวลาที่ดาวปรากฏ และคำนวณคร่าวๆว่า พระกุมารคงมีอายุไม่เกิน 2 ขวบ เมื่อโหราจารย์ไม่กลับมาบอกเฮรอดให้รู้ที่อยู่ของพระกุมาร เขาจึงสั่งทหารให้ไปฆ่าทารกที่มีอายุตั้งแต่ 2 ขวบลงมาในเมืองเบธเลเฮมและเมืองใกล้เคียง (อย่างไรก็ตาม,อายุที่แท้จริงของพระกุมารในเวลานั้นเป็นเท่าไรก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก)
 
นักบุญโยเซฟได้พาพระกุมารและแม่พระหนีไปอยู่ที่อิยิปต์จนเมื่อเฮรอดตาย จึงพาพระกุมารและแม่พระกลับ  เฮรอดตายหลังจากพระเยซูประสูตร 4 ปี เพราะฉะนั้น พระกุมารคงมีอายุได้ประมาณ 4-5 ปีแล้วเมื่อนักบุญโยเซฟพากลับมาที่อิสนาเอล  ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์กลับมาอยู่ที่อิสราเอล,มาอยู่ที่แควันกาลิลี ในเมื่องเมืองนาเซาเร็ธ (มท.2:23) “พระองค์จะได้รับพระนามว่าชาวนาซาเร็ธ
 
4. พระเยซูท่ามกลางธรรมาจารย์ในพระวิหาร (ลูกา 2:41) เมื่อพระเยซูเจริญวัยได้ 12 ปี นักบุญโยเซฟได้พาแม่พระและพระเยซูไปที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองเทศกาลปัสกาของชาวยิว ที่กินเวลาประมาณ 7-8 วัน
 
เทศกาลปัสกาเริ่มต้นในวันที่ 15 ของเดือนนิสาน(Nisan) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึง 25 เมษายนตามปฏิทินเกรโกเรียน วันที่ 15 เริ่มต้นในตอนเย็นหลังจากวันที่ 14 และรับประทานอาหารมื้อเซเดอร์(seder)ในเย็นวันนั้น
 
หลังจากสิ้นสุดวันฉลอง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูยังคงอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม พระองค์อยู่ในพระวิหารอยู่ท่ามกลางหมู่ธรรมาจารย์ที่ฟังและไต่ถามพระองค์ ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาในการตอบคำถามของพวกเขา นักบุญโยเซฟและแม่พระก็ประหลาดใจเช่นกันที่พบพระเยซูอยู่ท่ามกลางธรรมาจารย์ แม่พระถึงกับตัดพ้อพระเยซูที่ทำให้ท่านทั้งสองกังวลใจ และต้องประหลาดใจในคำตอบของพระเยซู “ท่านตามหาลูกทำไม ท่านไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดา” และพระเยซูก็ติดตามนักบุญโยเซฟและแม่พระกลับไปที่นาซาเร็ธ ทรงนบนอบเชื่อฟังท่านทั้งสอง
 
************************