วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การแต่งงานในหมู่เครือญาติ

Inbreeding

ในปี พ.ศ. 2398 บาทหลวงชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ C. Brooks ได้กล่าวเตือนสังคมอเมริกันในขณะนั้นให้สนใจปัญหาการวิวาห์ระหว่างบุคคลที่เป็นญาติกัน เพราะบาทหลวงได้สังเกตเห็นว่า ทายาทที่เกิดจากคู่สมรสที่เป็นญาติกัน มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเป็นคนพิการทางร่างกาย (และจิตใจ) การถกเถียงในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางได้ผลักดันให้รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาถึง 30 รัฐ ออกกฎหมายห้ามคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องสมรสกันอย่างเด็ดขาด
             สังคมในสมัยโบราณ ตามปกติจะมีขนาดเล็ก และการติดต่อระหว่างผู้คนต่างถิ่นไม่มี เมื่อสังคมตัดขาดโลกภายนอกเช่นนี้ โอกาสที่ชายหญิงต่างถิ่นจะรู้จักกัน หรือสมรสกัน จึงแทบไม่ค่อยจะมี ดังนั้น เมื่อถึงวัยสมควร คนที่เป็นญาติกัน จึงต้องเข้าพิธีวิวาห์กัน ไม่เพียงแต่ครอบครัวทั่วไปเท่านั้น ที่มีประเพณีเรือล่มในหนองทำนองนี้ แม้แต่ราชวงศ์โบราณบางราชวงศ์ก็มีประเพณีอภิเษกสมรสในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน เช่น เมื่อองค์จักรพรรดิ Cambyses แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ทรงปฏิพัทธ์พระขนิษฐภคินี พระองค์ได้ตรัสถามปราชญ์ประจำราชสำนักว่า ประเทศมีกฎหมายห้ามพี่น้องท้องเดียวสมรสกันหรือไม่ และเมื่อปราชญ์ทูลตอบว่า ไม่มี พระองค์ก็ได้ทรงเข้าพิธีมงคลสมรสกับพระขนิษฐภคินีทันที ในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ก็มีการกล่าวถึงพิธีแต่งงานระหว่างโมเสสกับน้าสาว และอับราฮัมแต่งงานกับน้องสาวต่างมารดาเช่นกัน

เมื่อถึงสมัยปัจจุบัน ประเพณีสมรสระหว่างญาติก็ยังมีปฏิบัติกันอยู่ การสำรวจสถานภาพการสมรสของครอบครัวในบางหมู่บ้านของอินเดีย และปากีสถานที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ ทำให้ได้ตัวเลขที่แสดงว่า บางพื้นที่มีคู่สมรสที่เป็นญาติกันมากตั้งแต่ 20-50% เพราะผู้ปกครองของทั้งฝ่ายชายและหญิง ใช้วิธีหมั้นหมายเด็กตั้งแต่เกิด และทันทีที่เด็กหญิงเริ่มมีประจำเดือน พ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ก็จัดพิธีวิวาห์ทันที การแต่งงานกันตั้งแต่สตรีมีอายุน้อยนี้ ทำให้ผู้หญิงมีครรภ์ถี่ และครอบครัวมีสมาชิกมาก
            สำหรับเหตุผลที่คนนิยมล่มเรือในหนองใช้ในการอ้าง สำหรับการวิวาห์ลักษณะนี้คือ สายเลือดของครอบครัวจะได้บริสุทธิ์หมดจด ไร้พวกตระกูลชั่วมาปะปน การเป็นญาติกันทำให้คู่ชาย-หญิงได้เห็น ได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด จิตใจและวิสัยทัศน์ของกันและกัน รู้จักจุดด้อย จุดดีของกัน รู้แม้กระทั่งว่า มรดกที่คู่สมรสของตนจะได้มีอะไรบ้าง

แต่นักชีววิทยาไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่เลื่อนลอยนี้ โดยให้เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ตามปกติคนทุกคนมีพันธุกรรม (gene) ในร่างกาย ซึ่ง gene นี้ จะมีทั้งดีและชั่ว มีทั้งเด่นและด้อย ดังนั้น เวลาคนที่เป็นญาติกันมาแต่งงานกัน เพราะคนเหล่านี้จะมี gene ที่ค่อนข้างเหมือนกัน ดังนั้น ทายาทหรือลูกของเขาก็มีโอกาสมากที่จะพิการ หรือมีจิตใจที่ผิดปกติ เช่น หูหนวกหรือตาบอด เป็นต้น และทารกเหล่านี้มักจะเสียชีวิตไปก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังที่ L. Jorde แห่งมหาวิทยาลัย Utah ในสหรัฐอเมริกา ได้เคยสำรวจชาว Mormon เมื่อ 6 ปีก่อน และพบว่าเพราะชนเผ่านี้นิยมประเพณีสมรสกันระหว่างเครือญาติ ทำให้ลูกที่เกิดจากบิดา มารดาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน มีโอกาสเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุครบ 16 ปี สูงถึง 22% ซึ่งนับว่าสูงกว่ากรณีเด็กที่บิดา มารดาไม่ได้เป็นญาติกันถึง 9%
              ณ วันนี้ สังคมปัจจุบันตระหนักดีว่า การสมรสกันระหว่างญาติเป็นเรื่องที่ไม่ดีและมีอันตรายหลายรูปแบบ และถ้าจะให้ครอบคลุม เราก็หมายความรวมถึงการสมรสระหว่างพ่อหรือแม่กับลูกของตนด้วย แต่ถ้าจะถามว่า ญาติกันระดับไหน จึงจะเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น ถ้าการสมรสระหว่างลูกพี่ลูกน้องเป็นเรื่องผิด แล้วระหว่างหลานพี่หลานน้องจะผิดหรือไม่

Bill Amos แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ได้พยายามตอบคำถามนี้ โดยการศึกษาสัตว์ป่า และก็ได้พบว่า โอกาสที่สัตว์จะมีชีวิตรอดขึ้นกับว่า พ่อแม่ของสัตว์ตัวนั้นเป็นญาติกันหรือไม่ ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุสำคัญรอง
              เมื่อ 10 ปีก่อนนี้ นักชีววิทยาที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ไม่เคยคิดว่า ปัญหาการผสมพันธุ์กันระหว่างสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด จะเป็นปัญหาใหญ่คือ เขามักมีความคิดว่า ปัญหาเรื่องอาหารไม่พอเพียง ปัญหาการหาคู่ไม่ได้ หรือปัญหาสัตว์ถูกลอบยิง เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ค่อยรู้เรื่อง พฤติกรรมสมสู่กันระหว่างญาติๆ ของสัตว์ป่า คือ การล่วงรู้ความเกี่ยวข้องระหว่างสัตว์ป่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับคน เพราะตามปกติสัตว์ชนิดเดียวกัน มักมีหน้าตาเหมือนๆ กัน ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะรู้ว่าสัตว์ตัวใดเป็นแม่ และตัวใดเป็นลูก แต่ในกรณีของสัตว์ในสวนสัตว์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์มักรู้ว่า ตัวใดเป็นลูก ตัวใดเป็นพ่อ แต่ถ้าจะถามว่า ปู่ของสัตว์ตัวนี้กับยายของสัตว์ตัวนั้น เป็นอะไรกัน คนดูแลสัตว์และคนเลี้ยงดูสัตว์ ก็มักไม่มีข้อมูลจะตอบ

Lukas Keller แห่งมหาวิทยาลัย Zurich ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ศึกษาปรากฏการณ์สมสู่ในสัตว์ที่เป็นญาติกัน โดยใช้นกกระจอกบนเกาะ Mandarte ใกล้เมือง Vancouver ในแคนาดาเป็นนกทดลอง เพราะเกาะมีขนาดเล็กและเกาะมีต้นพืชขึ้นไม่มาก ดังนั้น การติดตามดูนกแต่ละตัว จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือยุ่ง Keller ได้พบว่า ถ้าอากาศหนาวจัด ประชากรนกที่มีพ่อแม่เป็นญาติกันกว่า 90% จะล้มตาย
            การเผยแพร่ผลการสังเกตนี้ เมื่อ 9 ปีก่อน ได้ทำให้ผู้คนสนใจมาก และหลังจากนั้น นักชีววิทยากว่า 50 คน ก็ได้หันมาสนใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น และก็ได้พบว่า พฤติกรรมสมสู่กันในบรรดาญาติๆ ของสัตว์ป่าเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย และแพร่หลาย แต่สำหรับกรณีคนนั้น นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า การแต่งงานกันระหว่างญาติมีข้อดี 2 ประการ คือ การที่คู่สมรสมีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ร่วมกัน ทำให้คนทั้งสองไม่มีปัญหามากในการปรับตัวเข้าหากัน และการสมรสกันเอง ทำให้เงินทองและทรัพย์สมบัติไม่รั่วไหลออกไปสู่คนนอกตระกูล ส่วนข้อดีด้านชีววิทยาของการแต่งงานกันในหมู่ญาตินั้น C.D. Darlington แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ในประเทศอังกฤษ ได้พบว่าจำนวนทายาทรุ่นหลานของคู่สมรสที่เป็นญาติกัน จะมากกว่าคู่สมรสที่ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่บรรดาทายาทนั้น จะมีสุขภาพดีหรือร้าย ก็ขึ้นกับว่าได้รับ gene ดีหรือร้ายจากบุคคลผู้เป็นพ่อเป็นแม่

ส่วนในกรณีแมลง การผสมพันธุ์กันเองในบรรดาญาติๆ ก็สามารถตอบคำถามได้ว่า เหตุใดแมลงจึงสามารถพัฒนาภูมิต้านทานได้เร็วมากเพียงในเวลาข้ามคืน เพราะ gene ภูมิต้านทานเป็นยีนด้อย ดังนั้น การผสมพันธุ์กันในบรรดาญาติ จึงไม่ทำให้ยีนหายไปไหนเวลาแมลงเผชิญ DDT ยีนต้านทานของมันจึงยังคงมีอยู่ และจะแพร่หลายต่อไปเรื่อยๆ
             William Shields แห่งมหาวิทยาลัย New York College of Environmental Science ที่ Syracuse ได้พบว่า สัตว์หลายชนิดก็หลีกเลี่ยงการสมสู่ ในบรรดาญาติ เช่น พ่อแม่ กับลูก เช่น นกหนุ่มสาวเวลาออกจากรัง ก็มักบินออกไปทำรังในที่ไม่ไกลจากรังเดิม คือใกล้พอที่จะได้สมสู่กับบรรดาญาติลูกพี่ ลูกน้องของมัน แต่ไม่ชอบที่จะสมสู่กับพ่อแม่นก

ข้อสรุปจึงเป็นว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ณ วันนี้ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานหรือสมสู่กัน ในบรรดาญาติๆ ของสัตว์ (คน) แต่เราก็ต้องพิจารณาการห้ามข้อนี้ โดยการศึกษาและทดสอบพันธุกรรมของกันและกันก่อน เพื่อหา gene ที่ผิดปกติในร่างกายของทั้งหญิงและชาย ที่จะมาสมรสกัน ถ้าการทดสอบ gene ผ่าน ทั้งสองก็สมรสกันได้ แต่ถ้าการทดสอบแสดงให้เห็นโอกาสความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในทายาท เขาทั้งสองก็ต้องไม่แต่งงานกัน แต่ก็ยังรักกันได้ หรือถ้าจะยังดึงดันแต่งกัน ก็ไม่ควรให้มีทายาทร่วมกัน ครับ
 
จากการศึกษาราชวงศ์ฮับสเบิร์ก พบว่า พระเจ้า ชาร์ลที่ 2 กษัตริย์สเปนซึ่งมาจากราชวงศ์ฮับสเบิร์ก กำเนิดจากบิดามารดาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันมากที่สุดในระดับของพี่น้องหรือพ่อแม่กับลูก พระองค์มีความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งๆที่มีความผิดปกติเช่นนี้ พระองค์ทรงอภิเษกสมรสสองครั้ง เพื่อรักษาเชื้อสายของราชวงศ์เอาไว้ แต่ก็ไม่ทรงสมหวัง เพราะไม่มีบุตรหรือธิดาเลย พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่ออายุเพียง 39 ปี และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสเปนที่มาจากราชวงศ์ฮับสเบิร์ก
ความผิดปกติของชาร์ลที่ 2 เป็นผลมาจากการที่มีการแต่งงานระหว่างกันในเครือญาติที่ใกล้ชิดทางสายเลือดหลายต่อหลายรุ่นที่อยู่ในราชวงศ์ฮับสเบิร์ก พระบิดาของชาร์ลที่ 2 ,พระเจ้าฟิลิปที่ 4 เป็นลุงของยายทวดของกษัตริย์ชาร์ลด้วย คือ แอนนาแห่งออสเตรีย. ส่วนยายของชาร์ลคือ มาเรีย แอนนาแห่งออสเตรีย ก็เป็นป้าของกษัตริย์ชาร์ล !!??

**************************************************************************
Source : -
1. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท)
2. http://www.independent.co.uk/news/science/revealed-the-inbreeding-that-ruined-the-hapsburgs-1668857.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น