วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

นักบุญคัทรีนแห่งเซียนนาและวิกฤตการณ์ในพระศาสนจักร

 

นักบุญคัทรีนแห่งเซียนนา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 14 ในอิตาลี ยุคสมัยนั้นเกิดความวุ่นวายในพระศาสนจักรและประเทศต่างๆในยุโรป จนทำให้ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดอวสานของโลก
 
เกิดกาฬโรคระบาดไปทั่วยุโรปที่ทำให้ชาวยุโรปล้มตายไปถึง 60 % รัฐอิสระของพระสันตะปาปาถูกแบ่งเป็นสองส่วนเนื่องจากสงคราม มีการซื้อตำแหน่งสูงทางศาสนา และมีการสืบทอดตำแหน่งพระสังฆราชให้แก่สมาชิกในวงศ์ตระกูล ในระหว่างสงคราม พระสันตะปาปาต้องหลบไปลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสนานถึง 70 ปี และถึงแม้พระองค์จะเสด็จกลับมาอยู่ที่โรมแล้วก็ตาม ก็ยังเกิดความแตกแยกตามมาหลังจากนั้นไม่นาน มีผู้ประกาศตนว่าได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาถึงสามคน “ประชาชนชาวยุโรปในยุคสมัยนั้นพากันคิดว่า ใกล้ถึงวันอวสานของโลกแล้ว”
 
สถานการณ์ของโลกและของพระศาสนจักรในสมัยนี้ แตกต่างจากในสมัยนั้นโดยมีความวุ่นวายที่แตกต่างกัน ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับพระสงฆ์ในอเมริกาและยุโรปเวลานี้ก็ทำให้มีความวุ่นวายไปทั่วโลกไม่แพ้กัน
 
เมื่อนักบุญคัทรีนพูดถึงพระศาสนจักร เธอจะพูดในฐานะที่พระศาสนจักรเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า
 
เธอพูดว่า “ใบหน้าของพระศาสนจักรนั้นเป็นใบหน้าที่งดงาม แต่พวกเราได้ขว้างปาสิ่งสกปรกใส่ เราได้ทำให้พระกายของพระคริสต์เสียโฉมไปด้วยบาปของพวกเราเอง”
 
ในเรื่องความอื้อฉาวนี้ เราควรตอบสนองอย่างไร ให้ลองพิจารณาดูแบบอย่างของนักบุญคัทรีนแห่งเซียนนา
 
คัทรีนเป็นใคร?
 
คัทรีนเกิดเมื่อ 25 มี.ค. 1347 เป็นลูกคนที่ 25 ของครอบครัว  ที่อาศัยอยู่ในเมืองเซียนนา  และเป็นชนชั้นกลางในอิตาลี พี่น้องของเธอราวครึ่งหนึ่งเสียชีวิตไปในวัยเด็ก
 
เธอเป็นผู้ที่มีความศรัทธามากตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อบิดามารดาต้องการให้เธอแต่งงานกับสามีของพี่สาวคนหนึ่งของเธอที่เสียชีวิตไป เธอก็คัดค้านด้วยการอดอาหารและตัดผมจนสั้นเพื่อที่จะไม่เป็นที่สนใจรักใคร่ เธอได้สาบานถวายพรหมจรรย์ของเธอแด่พระคริสต์   เธอได้รับประสบการณ์การแต่งงานอย่างลึกลับกับพระคริสต์เมื่ออายุ 21 ปี
 
คัทรีนไม่ได้สมัครเป็นนักบวชเข้าสู่อารามคอนแวนต์ เธอกลับเลือกสมัครเป็นโดมินิกันชั้นที่สามด้วยการสวดภาวนาและทำกิจใช้โทษบาปที่บ้านแทน   คัทรีนใช้ชีวิตหลายปีอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆใต้บันไดของบ้าน ใช้เวลาตลอดวันในการสนทนากับพระคริสต์   หลังจากใช้ชีวิตเช่นนี้นานหลายปี ขณะที่เธออายุ 20 ปี เธอได้ยินเสียงของพระเยซูเจ้าตรัสให้เธอใช้ชีวิตที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
 
พระองค์ตรัสว่า “บัดนี้ลูกจงออกไปและแบ่งปันผลพวงแห่งการพิจารณาไตร่ตรองของลูกให้กับผู้อื่น” คัทรีนเชื่อฟัง   เธอเข้าร่วมทำกิจชีวิตประจำวันของครอบครัว และเริ่มต้นรับใช้คนยากจนซึ่งไม่นานก็ได้กลายเป็นกิจเมตตาที่รับรู้กันไปทั่ว   เธอรวบรวมชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งหลายๆคนมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมีฐานะสูงในสังคม พวกเขามาเข้าร่วมกับเธอเพราะชอบในบุคคลิกที่อบอุ่นของเธอและชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ของเธอด้วย
 
คัทรีนเปิดเผยตัวสู่สาธารณะและการเมือง
 
เมื่อคัทรีนกลับมาสู่ชีวิตที่เปิดเผย  เธอได้รับรู้ถึงสถานการณ์ในพระศาสนจักรเวลานั้น   เวลานั้นพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 11 ทรงประทับอยู่ที่เมืองอาวิยองในฝรั่งเศส และกำลังทำสงครามกับสาธารณรัฐแห่งฟลอเรนซ์ ศัตรูถูกประกาศบัพชะนียกรรม พวกเขาไม่ได้รับศีลต่างๆและถูกคว่ำบาตรในด้านอื่นๆอีก
 
จากการใช้ชีวิตของการสวดภาวนาและจากการได้รับคำแนะนำจากวิญญาณารักษ์ คัทรีนเริ่มส่งจดหมายไปยังผู้แทนของพระสันตะปาปาและไปยังพระสันตะปาปาเองด้วย เธอพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในฟลอเรนซ์ เธอสนับสนุนให้มีการปฏิรูปสังคมที่กำลังมีการคอร์รัปชั่น
 
เมื่อเราพิจารณาถึงเหตุการณ์ในยุคสมัยของคัทรีนเปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์ในพระศาสนจักรยุคนี้ ถึงแม้จะแตกต่างกัน แต่ความตึงเครียดของเหตุการณ์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงไม่แพ้กัน
 
คัทรีนถูกดึงให้เข้าสู่การเมืองในพระศาสนจักรด้วยความจำเป็น เพราะเธอรักพระศาสนจักรและรักพระเจ้า เธอไม่ได้ต้องการเข้าไปมีส่วนในการเมืองของพระศาสนจักรเลย แต่เพื่อความดีของทุกคนจึงจำเป็นที่เธอจะต้องเข้าไปร่วมด้วย
 
ด้วยความพยายามของคัทรีนในการแก้ปัญหาของพระศาสนจักร คัทรีนได้เรียกร้องร่วมกับคริสตชนมากมายขอให้พระสันตะปาปากลับมาประทับที่กรุงโรม หลังจากส่งจดหมายสองสามฉบับวอนขอให้พระสันตะปาปาเสด็จกลับมาที่โรม เธอก็ออกเดินทางด้วยเท้าเปล่าพร้อมกับผู้ติดตามบางคนไปพบกับพระสันตะปาปาด้วยตนเอง เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แต่เธอยินดีที่จะทำทุกสิ่งเพื่อพระศาสนจักรเพราะพระศาสนจักรคือพระกายของพระคริสตเจ้า
 
ในระหว่างการพบกับพระสันตะปาปา คัทรีนได้เล่าความฝันบางส่วนที่พระสันตะปาปาทรงฝันถึง ซึ่งพระองค์ไม่เคยบอกเล่าให้ใครฟังเลย
 
พระสันตะปาปาทรงประหลาดพระทัยมากที่คัทรีนรู้ถึงความฝันของพระองค์ และนี่เป็นสิ่งที่พระองค์ถือว่าเป็นหมายสำคัญที่ชัดเจนจากพระเจ้าว่า พระเจ้าทรงตรัสกับพระองค์โดยผ่านทางสตรีผู้นี้ ดังนั้นหลังจากการลี้ภัยเป็นเวลานานหลายสิบปี และการมาพบกับพระสันตะปาปาของคัทรีนภายในไม่กี่สัปดาห์ พระสันตะปาปาก็ทรงเก็บรวบรวมเข้าของทุกสิ่งมุ่งหน้ากลับสู่กรุงโรม
 
คัทรีนเป็นแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ของสตรีสามัญที่มีความมุ่งมั่นอันแกร่งกล้าและไม่มีความเกรงกลัวที่จะทำสิ่งดีๆเพื่อพระศาสนจักร เธอรู้ปัญหาทุกอย่างของพระสงฆ์และเธอเชื่อว่าควรได้รับการปฏิรูป
 
ความสามารถอย่างหนึ่งของคัทรีน ก็คือเธอสามารถสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ เธอให้ความเคารพนับถือต่อพระศาสนจักรและต่อพระสันตะปาปาไปพร้อมกัน เธอทำสิ่งนี้ได้ก็เพราะการมีชีวิตจิตที่ลึกซึ้งและจากการสวดภาวนา คัทรีนไม่ใช่สตรีที่ได้รับการศึกษาสูง เธอเป็นเพียงสตรีฆราวาสที่มีภูมิหลังธรรมดาและไม่เป็นที่รู้จักในสังคม
 
แต่คนอื่นๆ ผู้ติดตามเธอ บรรดาพระสงฆ์และพระสันตะปาปา ต่างรับฟังสิ่งที่เธอพูด เพราะเธอพูดในสิ่งที่ถูกต้องและด้วยความจริงใจ สิ่งที่เธอพูดนั้นมาจากการสวดภาวนาของเธอและมาจากพระวรสาร
 
โดยสรุป คัทรีนเขียนจดหมายอย่างน้อย 381 ฉบับในชั่วชีวิตของเธอ สามปีก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้เขียนหนังสือชื่อ “Il Libro” (“The Book”) เป็นการรวบรวมคำสอนฝ่ายจิตและการสนทนากับพระเจ้าซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อหนังสือ “The Dialogue”.
 
เรื่องราวที่น่าสนใจในหนังสือ “The Dialogue”นี้อยู่ในบทที่ 110-134 เป็นแง่คิดของเธอเกี่ยวกับการปฏิรูปพระศาสนจักรที่จำเป็นสำหรับยุคสมัยนั้น คัทรีนเขียนว่า “พระบิดานิรันดร”ตรัสกับเธอว่า "ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่เผชิญหน้ากับพระสงฆ์ผู้ฝักใฝ่ทางโลกในสมัยของเธอนั้นก็คือ เงิน"   และในสมัยปัจจุบันนี้ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังเผชิญหน้ากับพระสงฆ์ในคณะนักบวชก็คือ การรักร่วมเพศ homosexuality
 
แต่ในขณะที่เธอวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ เธอก็ขอให้มีความเคารพนับถือพระสงฆ์เหล่านั้นด้วย เพราะพวกเขาเป็น “พระคริสต์” บนโลกนี้ผู้ซึ่งได้นำพระเยซูเจ้ามายังโลกโดยผ่านทางศีลมหาสนิท
 
เธอเขียนในหนังสือThe Dialogue - พระบิดาตรัสว่า “พวกลูกต้องรักพวกท่าน (พระสงฆ์) ด้วยเหตุผลของคุณธรรมและศักดิ์ศรีแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ และด้วยเหตุผลนั้นพวกลูกจึงควรเกลียดชังสิ่งที่ทำให้พระสงฆ์เหล่านี้เบี่ยงเบนไป ทำให้พวกเขาตกในบาปอันน่าเศร้าใจ แต่นี่มิใช่เป็นเหตุให้ลูกตัดสินพิพากษาพระสงฆ์เหล่านั้น เราขอห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะพระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระคริสต์ของเรา พวกลูกควรรักและให้ความเคารพนับถือในอำนาจหน้าที่ซึ่งเรามอบให้แก่พระสงฆ์เหล่านั้น”
 
คัทรีนประสบความสำเร็จในการนำพระสันตะปาปากลับคืนสู่กรุงโรม และสร้างสันติภาพระหว่างฟลอเรนซ์กลับนครนัรันดร อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม ความวุ่นวายอันยิ่งใหญ่ หรือ ความวุ่นวายของโลกตะวันตก ก็เริ่มบังเกิดขึ้นในระยะเวลาสองปีก่อนที่คัทรีนจะเสียชีวิต
 
คัทรีนรู้ถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้และรู้สึกกลัวมาก เพราะความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรเป็นสิ่งจำเป็น
 
ในสมัยนั้น บรรดาพระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสได้เลือกผู้นำขึ้นเป็นพระสันตะปาปา และต่อมาสภาแห่งเมืองปิซาก็เลือกผู้นำอีกคนหนึ่งเป็นพระสันตะปาปาเช่นเดียวกัน และพระสันตะปาปาองค์นี้อยู่ฝ่ายเดียวกับคัทรีนและประทับอยู่ที่กรุงโรมด้วยคือ พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 คัทรีนได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่โรม เพื่อสวดภาวนาเพื่อพระสันตะปาปาและทำกิจใช้โทษบาปเพื่อพระศาสนจักร
 
คัทรีนสิ้นชีวิตในปี 1380 อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยเพราะเธอทำกิจใช้โทษบาปอย่างหนัก พระศาสนจักรตะวันตกยังคงอยู่ในความวุ่นวาย และเป็นเช่นนี้จนกระทั่งได้ข้อสรุปจากการสังคายนาแห่งคอนสแตนซ์ในปี 1418
 
นักประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความเชื่อบางคนกล่าวว่า ภารกิจของคัทรีนล้มเหลว เพราะเป้าหมายคือการนำพระสันตะปาปากลับมาสู่กรุงโรมเพื่อเยียวยารักษาความแตกแยกในพระศาสนจักร แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายในพระศาสนจักรตะวันตกเมื่อคัทรีนเสียชีวิตไปแล้ว นั่นย่อมหมายความว่าไม่ประสบความสำเร็จ
 
ความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้ อาจเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะเราไม่รู้ทุกแง่มุมของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อไม่มีคัทรีน แต่อย่างน้อยเธอได้ทำให้พระสันตะปาปาเสด็จกลับมาสู่กรุงโรมได้ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต และนี่เป็นส่วนสำคัญที่สุด
 
บทเรียนจากคัทรีนสำหรับพระศาสนจักรสมัยนี้
 
นักบุญคัทรีนจะพูดอย่างไรสำหรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ เป็นคำถามที่อันตรายทีเดียว เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่นักบุญคัทรีนคงจะบอกเราว่า “อย่าละทิ้งพระศาสนจักร นี่เป็นความผิดของมนุษย์ เป็นด้านที่ผิดพลาดในพระศาสนจักรที่สะท้อนออกมา แต่ด้านที่ดีของพระศาสนจักรยังคงอยู่และมันจะชำระล้างด้านที่ไม่ดีนั้น”
 
คัทรีนได้วางมาตรฐานที่สูงสำหรับความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบในการทำหน้าที่อภิบาลของพระสงฆ์ และมาตรฐานนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความวุ่นวายและทำให้ใกล้ชิดพระสันตะปาปามากขึ้น
 
เธอคงต้องแนะนำให้ประชาชนสวดภาวนามากยิ่งขึ้น 
 
มีบทเรียนสามอย่างจากชีวิตและแบบอย่างของคัทรีนในเรื่องนี้ ประการแรก ปฏิบัติการใดๆในการแก้ปัญหาต้องมีรากฐานอย่างลึกซึ้งมาจากการสวดภาวนาและการทำกิจใช้โทษบาป
 
ประการที่สอง คือการมีทัศนวิสัยที่ยาวไกลจากประวัติศาสตร์ พระศาสนจักรเคยรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่ยากลำบากและเรื่องอื้อฉาวมาก่อนแล้ว และพระศาสนจักรก็จะรอดพ้นได้อีก
 
ประการที่สาม คริสตชนคาทอลิกสามารถเรียนรู้จากนักบุญคัทรีนว่า เป็นไปได้ที่จะเป็นนักบุญถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการทดสอบของพระศาสนจักรก็ตาม
 
นักบุญคัทรีนอยู่ในสวรรค์แล้วในเวลานี้ เราต้องไม่เพียงแต่เงยหน้ามองดูท่านเท่านั้น แต่เราสามารถทำแบบเดียวกับท่านนักบุญได้ด้วย ขอให้เราทำตามแบบอย่างของเธอและวอนขอให้เธอช่วยเหลือเรา
 
ด้วยความรักในพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ให้เราจะเดินไปพร้อมกับพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร

***********************

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น