เรื่องราวจากพระคัมภีร์วันนี้ เล่าถึงงานแต่งงานที่หมู่บ้านกานาในแคว้นกาลีลี และพระเยซูและแม่พระก็ได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด แม่พระทูลพระเยซูว่า เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว
และพระเยซูตรัสกับพระมารดาว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการอะไรจากลูก เวลาของลูกยังมาไม่ถึง”(ยอห์น 2:4)
ทำไมพระองค์จึงเรียกพระมารดาเช่นนั้น?
γυνη เป็นภาษากรีกแปลว่า “ผู้หญิง” เป็นคำเฉพาะเจาะจง เมื่อพระเยซูทรงเรียกพระมารดามารีย์โดยตรงในภาษากรีก เป็นคำเดียวกับที่พระเยซูทรงใช้เมื่อทรงปลอบโยนมารีย์มักดาลาอย่างอ่อนโยนที่หลุมฝังศพที่ว่างเปล่า (ยอห์น 20:15) แต่คำนี้กลับไม่ปกติที่ลูกชายจะใช้เรียกแม่ของเขา และไม่ใช่สำนวนในภาษาฮีบรูหรือภาษากรีก
มีเหตุผลที่เป็นไปได้ พระองค์อาจต้องการสะท้อนไปถึงข้อความในพระธรรมเดิมซึ่งใช้คำว่า “หญิง”
อย่างเช่นในพระคัมภีร์ปฐมกาล เมื่อพระเจ้าทรงสร้างหญิงจากซี่โครงของอาดัมและแนะนำเธอแก่อาดัม อาดัมพูดว่า “นี่จะต้องเรียกว่าหญิง เพราะหญิงมาจากชาย”(ปฐ. 2:23) ในงานแต่งงานที่หมู่บ้านกานานี้,พระเยซูทรงให้นิยามแก่แม่พระว่า เป็น”เอวา” สำหรับอาดัมใหม่ ซึ่งยิ่งเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญและความหมายแก่งานเลี้ยงการแต่งงานนี้
พระเยซูยังเรียกแม่พระว่า “หญิง” อีกครั้งในเวลาที่พระองค์ถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน เมื่อพระเยซูทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือลูกของท่าน”
แม่พระไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระเยซูเท่านั้น ยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมนุษย์ทุกคนด้วย เพราะในพระคัมภีร์ปฐมกาลเรียกเอวาว่า “มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย” (ปฐ3:20) และในพระธรรมใหม่,ด้วยพระวาจาของพระเยซูบนไม้กางเขน,พระนางมารีย์ทรงเป็นมารดาของทุกคนที่ได้รับชีวิตใหม่ในศีลล้างบาป
ที่งานแต่งงานในหมู่บ้านกานา พระนางมารีย์ทรงเป็นเอวาใหม่ที่ทำให้ระลึกถึงเอวาคนเก่า
เป็น”หญิง”ที่ชักนำอาดัมเก่าให้ทำบาปแรกในสวนเอเดน(สวนเปรียบได้กับงานเลี้ยงฉลอง) และเป็น “หญิง” เช่นกันที่ชักนำให้อาดัมใหม่ทรงทำอัศจรรย์ครั้งแรกในที่สาธารณะ
ต่อมาในพันธสัญญาใหม่ ภาพของเอวาปรากฏอีกครั้งในหนังสือวิวรณ์ ในบทที่ 12 เราพบ “สตรีผู้หนึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์” ซึ่งเผชิญหน้ากับ “งูโบราณที่เรียกว่ามาร” ภาพเหล่านี้ย้อนกลับไปถึงปฐมกาล ซึ่งเอวาเผชิญหน้ากับงูปีศาจในสวนเอเดน และพระเจ้าทรงสาปแช่งงู โดยสัญญาว่าจะ “ทำให้เป็นศัตรูกัน” ระหว่าง “ผู้หญิงและพงศ์พันธุ์ของนาง” กับมังกรและพงศฺ์พันธ์ของมัน (ปฐมกาล 3:15) อย่างไรก็ตาม ภาพในวิวรณ์ยังทำให้ระลึกถึงเอวาคนใหม่ด้วย ซึ่งให้กำเนิด “บุตรชาย” (ปฐ. 12: 5) ผู้ที่จะ “ปกครองประชาชาติทั้งหลายด้วยคฑาเหล็ก” บุตรชายคนนั้นจะเป็นใครไม่ได้นอกจากพระเยซูเท่านั้น ดังนั้น “สตรี” ในวิวรณ์ก็เป็นใครไม่ได้นอกจากพระมารดาของพระเยซูเท่านั้น
ดังนั้นในวิวรณ์,เอวาใหม่มีชัยชนะต่อปีศาจและความชั่วร้ายทั้งหมด ไม่เหมือนกับเอวาเก่าในสวนเอเดน
ทั้งเอวาเก่าและเอวาใหม่ต่างก็ถือกำเนิดขึ้นโดยปราศจากบาป(ปฏิสนธินิรมล) แต่มีเพียงพระนางมารีย์เท่านั้นที่ยังคงปราศจากบาปตลอดไปเพราะพระนางทรงนบนอบเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าเสมอ
บรรดาผู้นำพระศาสนจักรในยุคแรกกล่าวถึงพระแม่มารีย์ว่าเป็นเอวาใหม่ โดยพระศาสนจักรเชื่อเสมอมาว่าพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธินิรมล จนในที่สุดข้อความเชื่อนี้ก็ได้รับการรับรองและประกาศอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร
กวีในยุคกลางได้สรุปเรื่องนี้ไว้อย่างไพเราะโดยชี้ให้เห็นว่าคำว่า “อาเว” (คำทักทายในภาษาละติน) ของทูตสวรรค์กาเบรียลนั้นได้ย้อนกลับไปยังชื่อของเอวา และขณะเดียวกัน,ทูตสวรรค์กาเบรียลก็ได้ย้อนกลับไปถึงบาปกำเนิดที่เอวาทิ้งให้ลูกหลานของเธอ — และบาปนั้นถูกแทนที่ด้วยความนบนอบเชื่อฟังของแม่พระ
ในพระคัมภีร์วันนี้พระแม่มารีย์ทรงต้องการสอนเราด้วยเมื่อพระนางตรัสว่า “พระองค์บอกท่านให้ทำอะไร ก็จงทำเถิด”
************************