วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พิจารณาไตร่ตรองเรื่องนรก

 
 

นรกเป็นแหล่งรวมความสกปรกทางจิตวิญญาณทั้งหมดของมนุษยชาติ
 
เราไม่ได้พูดถึงหลักคำสอนเรื่องนรกมากเท่าที่ควร และใช่,มันเป็นหลักคำสอนของความเชื่อ อันที่จริง,เราไม่ได้พูดถึง "สิ่งสุดท้ายของมนุษย์สี่ประการ" มากนัก อาจเป็นเพราะมันไม่ทันสมัย และความคิดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจเท่าไรนัก กระนั้นก็ตาม,ความปรารถนาที่จะไม่ตกนรก,เป็นแรงบันดาลใจให้บรรดานักบุญจำนวนมากดำเนินชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์
 
ถ้าคุณไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องเกี่ยวกับนรกเลย,คุณอาจกลายเป็นคนไม่มีความเชื่อและไม่แยแสกับเรื่องของนรก หวังว่าคุณจะมีความกลัวนรกและมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะดำเนินชึวิตเพื่อหลีกเลี่ยงนรก ความปรารถนาของคุณที่จะเอาชีวิตรอดจากนรกจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามาก
 
ลองนึกภาพบาปทั้งหมดที่คุณพยายามหลีกเลี่ยง ทีนี้ลองจินตนาการว่าบาปทั้งหมดนั้นไปรวมกันอยู่ในที่เดียว
 
นี่คือสิ่งที่นรกเป็น
 
ในหลักคำสอนเรื่องนรก,โดยคุณพ่อฟรองซัวส์ ซาเวียร์ ชูปเป้ เอส.เจ.(Rev. Father Francois Xavier Schouppe, S.J.) เราพบคำอธิบายที่น่ากลัวมากเกี่ยวกับนรก:
 
“นรกเป็นหลุมลึกของโลกและเป็นที่รองรับความสกปรกโสโครกทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ
 
ที่นั่น,ความไม่บริสุทธิ์,การดื่มสุราเมามาย,การดูหมิ่นศาสนา,ความหยิ่งจองหอง,ความอยุติธรรม และความชั่วร้ายทั้งหลายอันเป็นเหมือนสิ่งเน่าเปื่อยของวิญญาณ,กองสูงขึ้นเป็นภูเขา ความสกปรกโสโครกของวิญญาณนี้,ส่งกลิ่นเหม็นยิ่งกว่ากลิ่นเหม็นของโรงพยาบาลและของซากศพทั้งหมด
 
นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวว่า,ถ้าร่างของคนที่ถูกสาปแช่งเสื่อมสลายอยู่บนโลก,ร่างของเขาเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้โลกนี้อาศัยอยู่ไม่ได้ มันจะเต็มไปด้วยการติดเชื้อโรค,เหมือนซากศพที่อยู่ในบ้านที่เน่าเปื่อยแล้วจะแพร่เชื้อไปทั่วทั้งบ้าน”
 
“ความทุกข์ทรมานอีกประการหนึ่งของนรกคือสังคมอันน่าสยดสยองของปีศาจและคนที่ถูกสาปแช่ง มีคนบาปที่ชั่วช้าสามานย์บางคนบนโลก,ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขากำลังเดินไปสู่นรก,แล้วพวกเขายังรู้สึกสบายใจโดยพูดว่า "กูจะไม่อยู่ที่นั่นตามลำพัง!" คำพูดปลอบใจตัวเองที่น่าเศร้าจริงๆ! มันเป็นคำพูดของนักโทษที่ถูกพิพากษาให้สวมโซ่เหล็กติดเข้าด้วยกันในห้องขัง
 
มันยังพอเข้าใจได้สำหรับนักโทษที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับนักโทษประเภทเดียวกับเขา อนิจจา!, มันจะไม่เป็นเช่นนี้ในนรก,ที่ซึ่งผู้ถูกสาปแช่งจะถูกพิพากษาให้อยู่ร่วมกัน “ที่นั่น” นักบุญโทมัสกล่าว, “ผู้อยู่ในกลุ่มของความชั่วช้าเช่นเดียวกับเขา,ห่างไกลจากการบรรเทาใดๆ,มันจะยิ่งเพิ่มพูนการสาปแช่งมากขึ้น,จนทำให้เขาทนไม่ไหว” ในเวลาที่อยู่บนโลก,การมีสังคมกับบุคคลอื่นกับเพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเขาก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกสาปแช่งในนรกได้ พวกเขาถือว่าอยู่กับเสือและสิงโตยังมีความสุขมากกว่าอยู่กับญาติพี่น้องหรือพ่อแม่ของพวกเขาเอง
 
คุณอยากเห็นความยากจนและความขาดแคลนของนรกที่บรรดาผู้ที่ถือว่าสิ่งของของโลกนี้เป็นพระเจ้าของพวกเขาไหม,พวกเขาทนทุกข์ทรมานที่นั่นหรือไม่? ลองพิจารณาเศรษฐีผู้ชั่วร้ายในนิทานเปรียบเทียบในพระวรสารดูเถิด
 
ตลอดชีวิตของเศรษฐีผู้นี้,เขาเคยชินกับการกินเนื้อนุ่มๆที่เสิร์ฟในภาชนะเงิน, ดื่มไวน์ชั้นดีในแก้วทองคำ, สวมชุดเสื้อผ้าสีม่วงและผ้าลินินเนื้อดี หลังจากที่เขากลายเป็นชาวนรก, เขาพบว่าตัวเองถูกพาลงไปสู่จุดต่ำสุดของความขาดแคลนในทุกสิ่ง เขา,ผู้ที่ปฏิเสธลาซารัสที่น่าสงสาร,ที่ขอเพียงเศษขนมปังจากโต๊ะของเขา เมื่อถึงเวลาของเขาบ้าง,เศรษญีขอไม่ใช่อาหารอันโอชะ,แต่เป็นหยดน้ำเย็นๆสักหยดหนึ่งซึ่งเขายินดีรับจากนิ้วของลาซารัสคนโรคเรื้อน แต่เวลานี้,หยดน้ำเพียงหนึ่งหยดก็ถูกปฏิเสธ พระผู้ไถ่ไม่ได้ตรัสหรอกหรือว่า “วิบัติแก่ท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว วิบัติจงเกิดแก่ท่านที่อิ่มเวลานี้ เพราะท่านจะหิว” (ลูกา 6:25) “
 
“ไม่มีแสงสว่าง” นักบุญเทเรซาเขียน(อัตชีวประวัติ บทที่ 25) “ในหลุมนิรันดร, มีเพียงความมืดมิดเหมือนสีย้อมที่ดำที่สุด แต่กระนั้น, โอ้, ความลึกลับ! แม้ว่าจะไม่มีแสงส่องให้เห็น, แต่ทุกวิญญาณที่เจ็บปวดทรมานอย่างที่สุดก็สามารถรับรู้และมองเห็นได้ ในบรรดาสิ่งเหล่านั้นที่ทรมานดวงตาของผู้ถูกสาปแช่ง, สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือปีศาจ,ที่แสดงตัวออกมาในความน่าเกลียดน่ากลัวทั้งหมดของพวกมัน
 
นักบุญ เบอร์นาร์ดพูดถึงนักบวชคนหนึ่งซึ่งอยู่ในห้องพักของเขา, เขาส่งเสียงร้องอันน่าสะพรึงกลัวอย่างกะทันหัน,ซึ่งดึงดูดผู้คนในคณะ ผู้คนในคณะมาพบเขา,ขณะที่เขาพูดแต่ถ้อยคำอันเศร้าโศกว่า “ขอสาปแช่งวันที่ข้าพเจ้าเข้าสู่คณะ!” ด้วยความหวาดกลัวและเป็นทุกข์เพราะคำสาปแช่งนี้,ซึ่งเป็นเหตุที่พวกเขาไม่เข้าใจ ,พวกนักบวชพี่น้องของเขาจึงซักถามและให้กำลังใจเขา และพูดกับเขาให้มีความวางใจในพระเจ้า ในไม่ช้า,เขาก็คืนสติเงียบลงแล้วตอบว่า "ไม่, ไม่, ไม่ใช่ชีวิตนักบวชที่ข้าพเจ้าควรจะสาปแช่ง ตรงกันข้าม,เป็นบุญของข้าพเจ้าสำหรับวันที่ข้าพเจ้าได้เป็นนักบวช! พี่น้องทั้งหลาย, อย่าแปลกใจที่เห็นจิตใจของข้าพเจ้าถูกรบกวนเลย ปีศาจสองตนได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า,รูปร่างหน้าตาอันน่าสยดสยองของพวกมันทำให้ข้าพเจ้าเสียสติไป ปีศาจอะไรเช่นนี้! อา! รับความทนทุกข์ทรมานทั้งหมดยังดีกว่าเห็นพวกมันอยู่ต่อหน้าเสียอีก!”
 
“พระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้หนึ่งกำลังขับไล่ผีปีศาจ, และท่านได้ถามปีศาจว่ามันต้องทนทุกข์ทรมานในนรกอย่างไร “ไฟชั่วนิรันดร์” มันตอบ “ความอาฆาตชั่วนิรันดร์ ความเดือดดาลชั่วนิรันดร์ และความสิ้นหวังอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่สามารถจ้องมองพระองค์ผู้ทรงสร้างข้า” “เจ้าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในการได้เห็นพระเจ้า” ปีศาจตอบว่า “เพื่อที่จะได้เห็นพระองค์แต่เพียงชั่วครู่หนึ่ง ข้าจะต้องยินยอมที่จะทนรับความทรมานของข้าเป็นเวลา 10,000 ปี แต่นั่นเป็นความปรารถนาอันไร้สาระ! ข้าจะต้องทนทุกข์ทรมานตลอดไปอยู่แล้วและจะไม่มีวันได้เห็นพระองค์!”
 
“วันหนึ่ง,วิญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์ผู้หนึ่งกำลังพิจารณาไตร่ตรองถึงนรก, และเมื่อพิจารณาถึงความเจ็บปวดชั่วนิรันดร์, ความน่าสะพรึงกลัว “ตลอดเวลา… ไม่มีวันสิ้นสุด” เธอก็เกิดความสับสนอย่างมากกับเรื่องนี้, เพราะเธอไม่สามารถยอมรับความรุนแรงอันไม่อาจพรรณาได้นี้เมื่อเปรียบกับความดีอันศักดิ์สิทธิ์และความสมบูรณ์ครบครันของพระเจ้าได้ “ข้าแต่พระเจ้า” เธอกล่าว “ข้าพเจ้ายอมจำนนต่อคำพิพากษาของพระองค์ แต่ขออย่าให้พระยุติธรรมอันเข้มงวดของพระองค์รุนแรงมากเกินไปเลย”
 
“คุณเข้าใจไหม” ว่า “บาปคืออะไร? การทำบาปคือการพูดกับพระเจ้าว่าข้าพเจ้าจะไม่รับใช้พระองค์! ข้าพเจ้าดูหมิ่นกฎบัญญัติของพระองค์ ข้าพเจ้าหัวเราะเยาะการข่มขู่ของพระองค์!” “พระเจ้าข้า,ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่าบาปคือการสร้างความขุ่นเคืองต่อพระราชอำนาจของพระองค์” “ถ้าทำได้, ลองวัดความใหญ่โตของความชั่วร้ายของบาปดู” “ข้าแต่พระเจ้า ความร้ายแรงของความชั่วร้ายนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากมันโจมตีพระราชอำนาจของพระเจ้าอันไม่มีที่สิ้นสุด” “เช่นนั้นจึงต้องถูกลงโทษด้วยโทษทัณฑ์อันไม่มีที่สิ้นสุดมิใช่หรือ? เนื่องจากโทษทัณฑ์ไม่สามารถมีความรุนแรงจนไม่มีขอบเขตได้ พระยุติธรรมจึงเรียกร้องให้โทษทัณฑ์นั้นเป็นไปด้วยเวลาที่ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้, พระยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์จึงจะคงอยู่ในความเจ็บปวดชั่วนิรันดร: ความน่ากลัว 'ตลอดเวลา' ความน่ากลัว 'ไม่สิ้นสุด' ผู้ถูกสาปแช่งจะต้องแสดงความเคารพต่อพระยุติธรรมนี้และร้องออกมาท่ามกลางความทรมานของพวกเขา: 'ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระองค์ทรงเที่ยงธรรม พระวินิจฉัยของพระองค์ก็ถูกต้อง' (สดุดี 119: 137)”
 
ช่างเป็นภาพพจน์ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง.
 
ขอให้เราตั้งปณิธานว่าจะดำเนินชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์และใช้ประโยชน์จากศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ, เพื่อเราจะได้หลีกเลี่ยงจากนรกได้
 
แหล่งที่มา - “หลักคำสอนเรื่องนรก ภาพประกอบนำมาจากหนังสือประวัติศาสตร์อันศักดิ์สิทธิ์” โดย คุณพ่อ Francois Xavier Schouppe, S.J.
 
************************
 

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระสงฆ์ก็เป็นมนุษย์

 
 

ต้องเป็นคนที่พิเศษจริงๆในการตอบรับการเรียกของพระผู้เป็นเจ้าสู่ฐานะพระสงฆ์ ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเย้ายวนใจในอำนาจ, ความสุข, และการตามใจตัวเอง เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจถึงความกล้าหาญ, การเสียสละ, และการปฏิเสธตนเองที่เขาต้องใช้เพื่อปฏิญานว่าจะดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์, ความยากจน, และความบนนอบเชื่อฟัง,เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
 
ผู้คนอาจจะคิดว่าพวกเขาเป็นนักบุญ, ดูเหมือนว่าผู้คนจะไม่ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของพระสงฆ์ในพระศาสนจักรอย่างเต็มที่ คริสตชนคาทอลิกและผู้ไม่มีความเชื่อต่างมองว่าพระสงฆ์ต้องมีมาตรฐานที่สูงส่งอย่างเหลือเชื่อ แต่พวกเขาจะผิดหวังเมื่อพวกเขาเห็นพระสงฆ์องค์หนึ่งทำสิ่งที่ผิดพลาด แล้วพวกเขาก็ตำหนิวิพากษ์วิจารณ์
 
เราทุกคนต้องได้รับการเตือนถึงสิ่งหนึ่ง: พระสงฆ์ก็คือมนุษย์เช่นเดียวกับคุณและผม
 
พระสงฆ์มีความเข้มแข็งและความอ่อนแอ
 
พระสงฆ์ไม่ใช่หุ่นยนต์ พวกเขาเป็นมนุษย์ แม้หลังจากการเรียนในสามเณราลัยและกล่าวคำปฏิญาณแล้ว พวกเขายังคงเป็นมนุษย์ที่มีความเข้มแข็งและความอ่อนแอ ผมมักจะผงะเสมอเมื่อมีคนพูดว่า “พระสงฆ์ท่านนี้ฉลาดมาก ท่านจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ท่านเลือกที่จะมาเป็นพระสงฆ์…” หรือ “ท่านมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจ, น่าเสียดาย!”
 
พระสงฆ์ไม่อยู่กับสังคมที่ต้องเป็นแม่แบบที่สมบูรณ์ของการจะเป็นสามีที่ดี, พ่อ, นักเรียน หรือพนักงานทั่วไป  เขาต้องทำงานอภิบาลประชากรของพระเจ้า เราจึงควรแสดงความยินดีในความฉลาด, พรสวรรค์, จรรยาบรรณในการทำงาน, และแม้แต่ความน่าดึงดูดใจของพระสงฆ์ของเรา คุณลักษณะเหล่านี้จะไม่สูญเปล่าเพราะการไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะสามีหรือพ่อ พวกเขาสรรเสริญความดีของพระเจ้าด้วยวิธีที่มีเอกลักษณ์และทรงพลังผ่านทางฐานะพระสงฆ์
 
พวกเขาทำความผิดพลาดได้
 
พระสงฆ์ไม่ใช่ไม่เคยทำสิ่งที่ผิดพลาด พวกเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบ พวกเขาไม่ใช่พระเจ้า เราต้องเตือนตัวเองเป็นครั้งคราวเมื่อเราคิดถึงแต่เพียงความผิดพลาดที่พวกเขาทำ,ทั้งเล็กและใหญ่ ขณะที่พวกเขาอยู่ในตำแหน่งสาธารณะเพื่อรับใช้พระเจ้าและรับใช้ประชากรของพระองค์ พวกเขายังคงมีความผิดพลาดและอาจจะทำสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนชอบหรือเห็นด้วย อาจย่อหย่อนบ้าง จงให้อภัยพวกเขาเมื่อพวกเขาทำให้คุณผิดหวังและเดินหน้าต่อไป
 
ในทำนองเดียวกัน เราไม่ควรยึดติดกับพระสงฆ์ที่เรารักและเห็นด้วยและวางพวกเขาไว้บนแท่นบูชาที่สูงจนเราตั้งพวกเขาไว้ในที่ที่ของพระเจ้า ซึ่งก็เท่ากับการบูชาคนเป็นพระเจ้า เมื่อเราพบพระสงฆ์เช่นนี้สักคน, มันง่ายที่จะจดจำทุกคำพูดของเขา อย่างไรก็ตาม, เราต้องต่อสู้กับแรงดึงดูดนี้ โดยตระหนักว่าพระสงฆ์เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ไม่ใช่เป็นพระเจ้าเอง
 
พวกเขาต้องการคำภาวนาของเรา
 
พระสงฆ์กำลังเดินทางไปสวรรค์เช่นเดียวกับพวกเรา แต่แตกต่างจากพวกเราตรงที่ กระแสเรียกของพวกเขามีไว้สำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็ตาม  เราไม่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา ผมรู้สึกขอบคุณที่โลกไม่ได้คอยเฝ้าดูทุกการเคลื่อนไหวของผมในฐานะสามีและพ่อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ที่พินิจพิเคราะห์,อย่างที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่มักจะประสบ
 
พระสงฆ์ต้องการคำภาวนาของเรา เราทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อค้นหาสิ่งที่ดี คิดถึงงานนับไม่ถ้วนที่พระสงฆ์ต้องทำทุกวันโดยไม่มีใครสังเกตเห็น เช่น การไปโรงพยาบาล, การเข้าถึงชุมชน, โปรแกรมการศึกษาต่อเนื่อง, นอกเหนือจากพิธีมิสซา, การฟังสารภาพบาป, และการจัดการกับโบสถ์ที่มีรายได้น้อย – น่าแปลกใจที่ยังจะมีใครคิดเข้าสู่ฐานะพระสงฆ์อีกไหม
 
แต่พวกเขาก็เลือกที่จะเป็นพระสงฆ์
 
เมื่อทราบถึงความเสียสละ, การยอมถูกเยาะเย้ย, และการกล่าวหาต่างๆที่พวกเขาจะได้รับจากโลกนี้ บางสิ่งบางอย่างยังคงบีบบังคับให้มนุษย์ทั่วโลกรับหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของโลก นั่นก็คือการนำพระคริสต์มาสู่ประชากรของพระองค์ ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็นหนี้ต่อพระสงฆ์เป็นอย่างมากและต้องสวดภาวนาเพื่อพวกเขา
 
#Catholic 4 Life
 
************************
 

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระวาจาวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2023 สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

 
โดยคุณพ่อยอห์นชัยยะ กิจสวัสดิ์  
มาระโก 1:1-8 
การประกาศของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง 
 (1)การเริ่มต้นข่าวดี เรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า (2)มีเขียนไว้ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ว่า 
ดูซิ เราส่งผู้นำสารของเราไปข้างหน้าท่าน 
เพื่อเตรียมทางสำหรับท่าน 
(3)คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า 
จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า 
จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด 
(4)เพื่อให้ข้อความนี้เป็นจริง ยอห์นจึงทำพิธีล้างในถิ่นทุรกันดาร เทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการกลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป (5)ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบเขา รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน (6)ยอห์นแต่งกายด้วยผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า (7)และประกาศว่า “มีอีกผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะก้มลงแก้สายรัดรองเท้าของเขา (8)ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่าน เดชะพระจิตเจ้า”
******************
 
 
 
พระเจ้าตรัสผ่านประกาศกอิสยาห์ในบทอ่านที่หนึ่งวันนี้ว่า พระองค์จะเสด็จมาด้วยพระอานุภาพ เพื่อช่วยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากบาป โดยจะมีเสียงหนึ่งร้องว่า “จงเตรียมทางของพระยาห์เวห์ในถิ่นทุรกันดารเถิด”
 
นักบุญมาระโกยืนยันในพระวรสารวันนี้ว่า ยอห์นผู้ทำพิธีล้างนี่แหละคือผู้ที่ส่งเสียงร้องในถิ่นทุรกันดารตามที่ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายไว้ ยอห์นมาเพื่อเตรียมทางให้พระเยซูเจ้า และวันนี้เราก็กำลังเตรียมตัวรับเสด็จพระเยซูเจ้าด้วยเช่นกัน
 
เทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงการเสด็จมาบังเกิดของพระเยซูเจ้าในอดีตเมื่อสองพันปีก่อนแล้ว ยังเป็นการเตรียมรับเสด็จการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ในอนาคต คือในวันสิ้นพิภพ เพื่อรับบรรดาผู้ชอบธรรมไปอยู่กับพระองค์ตลอดนิรันดรอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ในสมัยของนักบุญเปโตร มีบางคนคิดว่า บรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆ ที่เชื่อและติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดต่างก็ตายไปเกือบหมดแล้ว พระองค์ก็ยังไม่เสด็จกลับมารับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์สักที พระองค์คงไม่รักษาสัญญาแล้วกระมัง เพราะฉะนั้นคงไม่จำเป็นต้องรอคอยรับเสด็จพระองค์อีกต่อไปแล้ว
 
วันนี้ในบทอ่านที่สอง นักบุญเปโตรจึงเตือนความทรงจำของเราคริสตชนว่า สำหรับพระเจ้า หนึ่งวันก็เหมือนกับหนึ่งพันปี และหนึ่งพันปีก็เหมือนกับหนึ่งวัน นั่นคือสำหรับเราอาจจะรู้สึกว่ารอให้พระองค์เสด็จกลับมาเป็นพันปีแล้ว แต่สำหรับพระเจ้าพึ่งจะผ่านพ้นไปเพียงวันเดียว พระองค์จะปฏิบัติตามพระสัญญาแน่นอน แต่ที่พระองค์ยังรออยู่ ยังไม่เสด็จกลับมาพิพากษาเราโดยเร็ว เป็นเพราะพระองค์ไม่ต้องการให้ใครพินาศ แต่ต้องการให้เราทุกคนกลับใจและเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิต
 
นักบุญเปโตรยังลงท้ายบทอ่านที่สองวันนี้ว่า “ขณะที่ท่านกำลังรอคอยเหตุการณ์เหล่านี้ จงพยายามให้พระเจ้าทรงพบท่านดำเนินชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ”
 
แล้วเราจะปฏิบัติตามคำเตือนของนักบุญเปโตร ที่ต้องการให้เราดำเนินชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ ได้อย่างไร?
 
พระวรสารโดยนักบุญมาระโกวันนี้ ให้แนวทางแก่เราไว้ 2 ประการด้วยกัน
 
ประการแรก นักบุญมาระโกเล่าว่า ยอห์นคือเสียงร้องในถิ่นทุรกันดาร ยอห์นทำพิธีล้างในถิ่นทุรกันดาร และประชาชนก็เข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อรับพิธีล้างจากยอห์นด้วย
 
นั่นคือ เพื่อเราจะมีชีวิตอย่างสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ “เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร”
 
การเข้าไปในถิ่นทุรกันดารก็คือการปล่อยวางจากทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางจากหน้าที่การงาน ปล่อยวางจากผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบข้าง รวมถึงปล่อยวางจากการปฏิบัติศาสนกิจตามความเคยชินอีกด้วย ตราบใดที่เรายังยึดติด ยังหวัง และยังวางใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าจำเป็นที่สุดและมีความหมายกับชีวิตของเรามากที่สุด พระเจ้าก็คงไม่สามารถช่วยเราให้มีชีวิตที่สันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิได้ เพราะเมื่อหัวใจของเราเต็มเสียแล้วก็ไม่มีใครสามารถเข้ามาได้แม้แต่พระเจ้า เราจึงต้องปล่อยวางสิ่งที่ทำให้หัวใจของเรายึดติดออกไปเสียก่อน เราจึงจะสามารถอ้าแขนต้อนรับพระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเราได้
 
ยอห์นคือแบบอย่างของการปล่อยวาง ท่านอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่งกายด้วยผ้าขนอูฐ ใช้หนังสัตว์คาดสะเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่า ท่านแสดงให้เราเห็นว่าชีวิตที่มีความหมายนั้น มิได้อยู่ที่การมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่อยู่ที่การมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้า
 
เราเรียกการปล่อยวางเช่นเดียวกับยอห์นนี้ว่าการเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร และนี่คือเงื่อนไขประการแรกสำหรับการเตรียมรับเสด็จพระเยซูเจ้า
 
ประการที่สอง เพื่อจะมีสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ นักบุญมาระโกบอกว่า “ประชาชนจากทั่วแคว้นยูเดีย และชาวกรุงเยรูซาเล็มทั้งหลายไปพบยอห์น รับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน”
 
นั่นคือ เมื่อประชาชนเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารแล้ว ผลที่ตามมาก็คือการกลับใจและการสารภาพบาปของตน
 
ในการกลับใจและสารภาพบาปที่แท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องสารภาพกับ 3 บุคคลด้วยกัน
 
บุคคลแรกคือ ตนเอง การสารภาพบาปต่อตนเองหรือการสำนึกผิด คือย่างก้าวแรกสู่พระหรรษทานแห่งการคืนดีกับพระเจ้า
 
ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลูกล้างผลาญ จุดเปลี่ยนของเรื่องอยู่ตรงที่บุตรคนเล็กสำนึกผิดและคิดว่า “ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด’” (ลก 15:18-19)
 
และผลลัพธ์ที่ตามมาจากการ “กลับไปหาพ่อ” นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่บุตรคนเล็กคาดคิดไว้มากมายนัก !
 
บุคคลที่สองคือ คู่กรณี คงไม่มีประโยชน์มากนักหากเราจะบอกพระเจ้าว่า “ลูกเสียใจ” โดยที่เราไม่ “ขอโทษ” บุคคลที่เราได้ล่วงเกิน ได้ทำร้าย หรือได้ทำให้เขาเสียใจเสียก่อน
 
จำเป็นที่เราจะต้องกำจัดสิ่งกีดขวางระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองออกไปให้หมด ก่อนที่พระเจ้าจะยกสิ่งกีดขวางระหว่างเรากับพระองค์ออกไป
 
บุคคลที่สามคือ พระเจ้า การสารภาพบาปต่อพระเจ้าคือจุดจบของความหยิ่งจองหอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ให้อภัย”
 
เมื่อใดก็ตามที่เรากล่าวว่า “ลูกได้ทำบาป” เมื่อนั้นเราเปิดโอกาสให้พระเจ้าตรัสว่า “เราให้อภัย” ! แล้วทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้พระเจ้าได้ให้อภัยเราล่ะ ?
 
พี่น้องครับ ชาวยูเดียและชาวกรุงเยรูซาเล็มเตรียมรับเสด็จพระเมสสิยาห์ด้วยการเดินทางเข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อรับพิธีล้าง และสารภาพบาป เพื่อแสดงถึง “การกลับใจ” อันนำมาซึ่งชีวิตที่มีสันติ ปราศจากมลทิน และไร้ข้อตำหนิ
 
คำถามสำหรับพี่น้องจะได้คิดและไตร่ตรองตลอดเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ก็คือ “พี่น้องจะเตรียมรับเสด็จพระกุมารเจ้าอย่างไร ?”
 
***************************


วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566

4 สัปดาห์ของการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

 
 

การเตรียมรับเสด็จพระคริสต์มี 4 สัปดาห์ 
ซึ่งหมายถึงการเสด็จมาของพระคริสต์ 4 ครั้ง 
ลองเดาดูสิว่า ทั้ง 4 ครั้งนี้มีอะไรบ้าง?
 
เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้เคยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สิ่งที่ปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้มีขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9
 
คุณรู้ไหมว่าเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า(Advent) มีสี่สัปดาห์? เรียงลำดับกันโดยปกติจะมีวันอาทิตย์สี่วันเสมอ และสัปดาห์สุดท้ายจะจบลงที่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า Advent เริ่มต้นเมื่อใด: โดยอาจเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนหรือ 3 ธันวาคม
 
เกร็ดประวัติ
 
หนึ่งในบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดของ Advent พบได้ใน St. Gregory of Tours 'History of the Franks นักบุญเกรกอรีรายงานว่านักบุญแปร์เปทูส(St. Perpetuus) ประมาณปี ค.ศ. 480, ได้มีคำสั่งให้เตรียมสำหรับคริสต์มาสเริ่มตั้งแต่วันฉลองนักบุญมาร์ติน (11 พฤศจิกายน) จนถึงวันคริสต์มาส ช่วงเวลา 43 วันนี้จึงเรียกว่า “ช่วงมหาพรตของนักบุญมาร์ติน(St. Martin’s Lent)” เพื่อเลียนแบบมหาพรตสำหรับเทศกาลอีสเตอร์
 
ต่อมา,สภาพระศาสนจักรท้องถิ่นในเมืองตูร์, ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 567 ได้ก่อตั้งเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์ 24 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมถึง 24 ธันวาคม จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 9 พระสันตปาปานักบุญนิโคลัสที่ 1 ได้กำหนดกรอบเวลาที่เรายังคงใช้อยู่ สำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์: สี่วันอาทิตย์ โดยวันแรกเป็นวันอาทิตย์ที่ใกล้กับวันเซนต์แอนดรูว์มากที่สุด (30 พฤศจิกายน) และระยะเวลายาวไปถึง 22 ถึง 28 วัน
 
การเสด็จมาของพระคริสต์
 
มีความหมายอันลึกซึ้งของโครงสร้างของ Advent คำว่า " Advent = การมาถึง" เดิมเป็นคำภาษาละติน แปลว่า "การมา" จุดประสงค์ของเทศกาลนี้ก็คือเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระคริสต์
 
ดอม เกรังเงร์(Dom Gueranger) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมชาวฝรั่งเศส ชี้ให้เห็นว่า "การบังเกิดครั้งใหม่ของพระผู้ไถ่ของเราจะเกิดขึ้นหลังจากสี่สัปดาห์ เช่นเดียวกับการบังเกิดครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากสี่พันปี" ตามลำดับเหตุการณ์ในพันธสัญญาเดิม
 
เราได้รับเชิญในเทศกาล Advent เพื่อเป็นหนึ่งเดียวฝ่ายจิตกับผู้มีความเชื่อในพันธสัญญาเดิมที่รอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ตลอดระยะเวลาประมาณ 4,000 ปี
 
Jacobus de Voragine ,ในหนังสือ The Golden Legend บันทึกการตีความในยุคกลางอีกประการหนึ่งว่า: “การมาถึงของพระเยซูคริสต์มีการเฉลิมฉลองเป็นเวลาสี่สัปดาห์ เพื่อแสดงว่าการเสด็จมาของพระเจ้าครั้งนี้มีสี่ครั้ง”
 
เขาบอกว่าพระเยซูเสด็จมา...
 
“ในเนื้อหนัง” เมื่อพระองค์ประสูติจากพระนางมารีย์ในเมืองเบธเลเฮม 
“เข้าสู่ใจของเรา” เมื่อเราเป็นสมาชิกในพระศาสนจักรของพระองค์โดยการรับศีลล้างบาป และรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์โดยอาศัยพระหรรษทาน 
“ในความตาย” เมื่อเราแต่ละคนได้รับเรียกให้มาปรากฏต่อพระพักตร์พระองค์เป็นรายบุคคล 
“ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย” เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ “เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย”
 
เตรียมตัวเราเองสำหรับการเสด็จมาทั้งสี่ครั้ง
 
ในบทอ่านพระวรสารที่พระศาสนจักรกำหนดในแต่ละวันอาทิตย์ทั้งสี่แห่งเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า กำลังเตรียมเราให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาทั้งสี่ครั้งนี้
 
— วันอาทิตย์แรกของเทศกาล Advent มุ่งเน้นไปที่การเสด็จมาของพระคริสต์ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย ในพระวรสารปีนี้ (มาระโก 13.33-37) เราได้รับการเตือนถึงหมายสำคัญที่จะเกิดขึ้นก่อนการมาถึงนี้ และเตือนว่า “วันนั้นจะกระทบต่อทุกคนที่อาศัยอยู่บนพื้นโลก”
 
— พระวรสารสำหรับวันอาทิตย์ที่สอง (มาระโก 1:1-8) แสดงให้เราเห็นยอห์นผู้ชำระล้างด้วยน้ำ “ประกาศการรับศีลชำระแห่งการกลับใจ” พระศาสนจักรกำลังเตรียมเราให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระคริสต์ในความตาย
 
— พระวรสารของวันอาทิตย์ที่สาม (ยอห์น 1:6-8) ดำเนินต่อจากพระวรสารของวันอาทิตย์ที่สอง ที่นี่ยอห์นให้คำแนะนำเมื่อมีคนถามเขาว่า “เราควรทำอย่างไร” ยอห์นให้คำแนะนำเพื่อเตรียมเราให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระคริสต์เข้าสู่ใจเราเช่นกัน
 
— ในวันอาทิตย์สุดท้ายของ Advent การอ่านพระวรสารเป็นเรื่องราวของการที่แม่พระเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ (ลูกา 1:26-38) การเสด็จมาของพระคริสต์ในประวัติศาสตร์ใกล้เข้ามาแล้ว และพระศาสนจักรแสดงให้เราเห็นพระนางมารีย์ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่ “เชื่อว่าสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้จะสำเร็จ” พระนางมารีย์ทรงเป็นเบธเลเฮมแรก เพราะพระคริสต์เสด็จมาครั้งแรกในพระครรภ์ของพระนาง
 
นักบุญเบอร์นาร์ดแห่งแคลร์โวซ์(St. Bernard of Clairvaux)สอนว่าการเสด็จมาเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างลึกลับ พระบุตรของพระเจ้าได้รวมพระองค์เองเข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ เพื่อว่าพระองค์จะทรงรวมเราเข้ากับพระองค์เองโดยเสด็จเข้ามาในใจของเรา และด้วยวิธีนี้จะเตรียมเราให้พร้อมที่จะยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ในความตายและในการพิพากษาครั้งสุดท้าย เพื่อที่เราจะได้รับส่วนแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในสวรรค์ชั่วนิรันดร
 
************************
 

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“ปารูเชีย(Parousia)” คืออะไร

 


“ปารูเชีย(Parousia)” คืออะไร และเกี่ยวข้องกับเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า(Advent)อย่างไร?
 
โดยทั่วไปแล้วช่วงครึ่งแรกของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้า(Advent)จะอุทิศให้กับ "ปารูเชีย” หรือ “การเสด็จมาครั้งที่สอง" ของพระเยซู
 
คำหนึ่งที่มักใช้ในช่วง Advent คือคำภาษากรีก parousia ปารูเชีย คำนี้ใช้ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ของชาวกรีก และส่วนใหญ่มักหมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์เมื่อสิ้นสุดกาลเวลา
 
คำนี้หมายถึง "การมาถึง" หรือ "การปรากฏ" และเป็นสัญญาณถึงวันที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาด้วยพระสิริรุ่งโรจน์
 
การเสด็จมาของพระเยซูมีความเกี่ยวพันกับความเชื่อของคริสตชนมาโดยตลอด เนื่องจากการเสด็จมาครั้งแรกของพระเยซูในคริสต์มาสทำให้เรานึกถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์โดยธรรมชาติ ซึ่งเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม
 
คำภาวนาสำหรับวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต์(Advent)สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงนี้
 
ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ,ขอทรงโปรดประทานความซื่อสัตย์แก่ข้าพเจ้าเถิด 
ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะไปเข้าเฝ้าพระคริสต์ของพระองค์ด้วยการกระทำอันชอบธรรมเมื่อพระองค์เสด็จมา 
ดังนั้น,เมื่อมารวมกันที่พระหัตถ์ขวาของพระองค์ 
พวกเขาอาจจะคู่ควรที่จะครอบครองอาณาจักรแห่งสวรรค์ 
โดยผ่านทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา, พระบุตรของพระองค์ ผู้ทรงดำรงชีพและครองราชน์ร่วมกับพระองค์พร้อมทั้งพระจิต พระเจ้าองค์เดียวสืบๆไปชั่วนิรันดร
 
พระวรสารวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้ากล่าวถึงความจำเป็นในการเตรียมตัวรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูในทำนองเดียวกัน
 
ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด! เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร 
มาระโก 13:35
 
นอกจากนี้ คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกยังยืนยันหัวข้อทางจิตวิญญาณของ Advent นี้ว่า “เมื่อพระศาสนจักรเฉลิมฉลองพิธีกรรมของการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าในแต่ละปี,พระศาสนจักรได้นำเสนอความคาดหวังในสมัยโบราณเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์,โดยการเตรียมตัวอันยาวนานสำหรับการเสด็จมาครั้งแรกของพระผู้ช่วยให้รอด, ผู้มีความเชื่อรื้อฟื้นความปรารถนาอันเร่าร้อนของพวกเขาอีกครั้งสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์” (CCC 524)
 
โดยทั่วไปการมุ่งเน้นไปที่ parousia จะคงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เมื่อพระศาสนจักรเปลี่ยนจุดสนใจจากการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซู มาเป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ในวันคริสต์มาส
 
เมื่อเตรียมตัวสำหรับคริสต์มาส, ให้คำนึงถึงแง่มุมของการเตรียมรับเสด็จที่มักถูกลืมนี้ และตั้งตารอคอยเวลาที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาอีกครั้งและพระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดและยุติความทุกข์ทรมานทั้งหมดบนโลกนี้อย่างเด็ดขาด
 
************************
 

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พิจารณาไตร่ตรองเรื่องสวรรค์

 


โดย Vincent Gorre
 
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะแสวงหาความสุข แต่มนุษย์ใม่เคยพอใจกับความสุขในโลกนี้เพราะมันไม่สมบูรณ์แบบ แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จซึ่งมีความมั่งคั่งทางวัตถุ ชื่อเสียง และอำนาจก็ยังไม่พบความสุข และพวกเขาก็ไขว่คว้าหาความสุขด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็เป็นแค่ความสุขชั่วคราวและไม่เพียงพอต่อจิตใจของเขา
 
ไม่มีใครรอดพ้นจากความทุกข์ในโลกนี้ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย, ป่วยหรือมีสุขภาพดี, มีคุณธรรมหรือชั่ว, ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว มนุษย์ทุกคนได้รับผลของบาปกำเนิด แต่สำหรับมนุษย์ที่มีจิตใจดี มีความคิดปลอบใจอย่างหนึ่ง นั่นคือ แนวคิดเรื่องสวรรค์ โจเซฟ ไพเพอร์(Josef Pieper) นักปรัชญาคาทอลิก อ้างคำพูดของนักบุญโทมัส อไควนัส เขียนไว้ว่า “ในชีวิตปัจจุบัน,ความสุขอันสมบูรณ์ไม่สามารถเป็นได้” และ “พระเจ้าเพียงผู้เดียวทรงความดีบริบูรณ์,นั้นเป็นผลจากพระธรรมชาติพระองค์” แต่ผู้คนทุกยุคทุกสมัยต่างไม่ล่วงรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของความสุข และถูกพลังแห่งความชั่วร้ายโจมตีอย่างต่อเนื่องด้วยคำสัญญาที่ว่างเปล่าของ“ความสุขทางวัตถุ” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าการหันเหไปจากการปฏิบัติคุณธรรมที่แท้จริง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการได้รับความสุขที่แท้จริงในสวรรค์ โดยการปฏิเสธพระเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ และโอบกอดวัตถุนิยมของโลก มนุษย์กำลังปฏิเสธธรรมชาติของตนเอง: “วัตถุนิยม”ปฏิเสธสิ่งใดๆที่เหนือธรรมชาติ มันรับรู้แต่เพียงสิ่งที่เป็นวัตถุที่ให้ความสุขธรรมดาและความสะดวกสบายฝ่ายร่างกายในชีวิตประจำวัน และมันยังส่งเสริมความเจริญทางวัตถุหรืออารมณ์ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม,ธรรมชาติเหล่านี้หาได้เกี่ยวข้องกับความปรารถนาฝ่ายจิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์”
 
มนุษย์แสวงหาความสุข ความสุขที่สมบูรณ์แบบ,อย่างไรก็ตาม,สิ่งนี้พบได้ในสวรรค์เท่านั้น
 
การคิดถึงสวรรค์ไม่ใช่เป็นเพียงการปลอบใจในท่ามกลางความทุกข์,ไร้ซึ่งความสุขในโลกนี้เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันเป็นความรอดพ้น เพราะการรู้ถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเรานั้นจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย
 
อย่างไรก็ตาม, พวกที่ไม่เชื่อพระเจ้าก็ถือว่าจุดจบของชีวิตอยู่ที่ความตาย ในการให้สัมภาษณ์กับ The Guardian, นักจักรวาลวิทยาสตีเฟน ฮอว์กิน(Stephen Hawking) กล่าวว่า "ผมถือว่าสมองเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ที่จะหยุดทำงานเมื่อส่วนประกอบต่างๆของมันล้มเหลว ไม่มีสวรรค์หรือชีวิตหลังความตายสำหรับคอมพิวเตอร์ที่พัง นั่นเป็นเทพนิยายสำหรับคนที่กลัวความมืด”
 
สิ่งที่ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับสวรรค์และวิธีการไปสวรรค์นั้นแตกต่างกันไปตามภูมิหลังหรือความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา ภายนอกพระศาสนจักรคาทอลิก, แนวคิดเรื่องสวรรค์นั้นคลุมเครือ ไม่สร้างแรงบันดาลใจ และที่แย่กว่านั้นคือเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดและความเข้าใจผิด เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่สวรรค์ได้รับการขนานนามว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าสถานที่แห่งพิณ เพลงสวด มงกุฎทองคำ ถนนปูด้วยอัญมณี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสุขไม่รู้จบ อาจดีสำหรับจินตนาการ แต่ขาดความหมายทางปัญญา
 
โดยไม่ต้องเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติของพระเจ้ากับธรรมชาติของมนุษย์, แนวคิดเรื่องสวรรค์นี้ยังไม่สมบูรณ์และไม่น่าดึงดูดใจ ศาสนาอื่นมีทัศนคติที่เลวร้ายกว่ามากเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายซึ่งไม่สมควรที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ แต่ความจริงก็คือมนุษย์มีความปรารถนาอย่างมากต่อสวรรค์และเป็นความพยายามที่คุ้มค่าที่จะส่งเสริมแนวคิดที่แท้จริงเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์
 
ความจริงเกี่ยวกับสวรรค์
 
มีหนังสือมากมายที่เขียนเกี่ยวกับสวรรค์ แต่มีเล่มหนึ่งที่รวบรวมคำสอนคาทอลิกเกี่ยวกับสวรรค์ได้เป็นอย่างดีด้วยวิธีที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ดีมากคือหนังสือชื่อ “ความสุขแห่งสวรรค์”( The Happiness of Heaven) โดยคุณพ่อเจ. บูโดร เอส.เจ.(Father J. Boudreau, S.J.,) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1872 ในอัญมณีล้ำค่าของหนังสือเล่มนี้ คุณพ่อบูโดรใช้ตัวอย่างง่ายๆ เพื่ออธิบายว่านักศาสนศาสตร์เขียนเกี่ยวกับอะไรในภาษาทางเทคนิคที่ซับซ้อน
 
คุณพ่อบูโดรให้นิยามสวรรค์ว่าเป็น “การได้ครอบครองและได้รับความชื่นชมยินดีพระเจ้าในนิมิตบรมสุข(Beatific Vision) และมีความพึงพอใจอย่างสมบูรณ์ของความปรารถนาที่สมเหตุสมผลในธรรมชาติของเราในการฟื้นคืนชีพอันรุ่งโรจน์ของร่างกาย” จากคำจำกัดความง่ายๆ นี้ คุณพ่อบูโดรอธิบายต่อไปถึงความหมายของแต่ละคำหรือวลีในคำจำกัดความข้างต้นเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพสวรรค์ตามหลักเทววิทยา
 
“การได้ครอบครองและได้รับความชื่นชมยินดีของพระเจ้าในนิมิตบรมสุข”
 
นิมิตบรมสุข(Beatific Vision(หรือการได้เห็นภาพสิ่งที่เต็มไปด้วยความสุข)เป็นส่วนสำคัญของความสุขนิรันดร์ หากไม่มีนิมิตบรมสุข ความพึงพอใจหรือความสุขจากสวรรค์ก็เป็นไปไม่ได้ คุณพ่อบูโดรอธิบายประเด็นนี้ด้วยภาพประกอบต่อไปนี้ “บุรุษผู้มีร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ไม่เพียงแต่สนุกสนานกับชีวิตเท่านั้น แต่ยังได้รับความเพลิดเพลินจากความงดงามของธรรมชาติเช่นกัน โดยการอ่านจากข้อเขียนทางวรรณกรรม, หรือจากความสนุกสนาน, และการเข้าสังคม บัดนี้,สมมติว่าเขาสูญเสียสุขภาพและนอนป่วยอยู่บนเตียง นั่นทำให้เขาไม่สามารถเพลิดเพลินกับชีวิตหรือความสุขของมันได้อีกต่อไป
 
แล้วความงามของวัตถุทางโลกหรือสวรรค์สำหรับเขาในตอนนี้เป็นอะไรล่ะ? ความสนุกสนานคืออะไร และความสุขแห่งประสาทสัมผัสซึ่งเมื่อก่อนเขาพอใจมากนั้นคืออะไร? สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่สามารถให้ความสุขแก่เขาได้ เพราะเขาสูญเสียสุขภาพอันเป็นสิ่งซึ่งทำให้เขามีพลังที่จะจัดสรรความสุขแห่งชีวิต ดังนั้นเราจึงกล่าวว่าสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เพื่อสนุกกับชีวิตเท่านั้น แต่ยังเพื่อเพลิดเพลินกับความสุขด้วย ในสวรรค์ก็เช่นกัน, นิมิตบรมสุขเป็นสิ่งจำเป็นไม่เพียงแต่เพื่อชื่นชมชีวิตในสวรรค์เท่านั้น แต่ยังเพื่อชื่นชมสิริรุ่งโรจน์ซึ่งพระเจ้าจะทรงทำให้ความสุขของผู้เลือกสรรของพระองค์สมบูรณ์แบบ”
 
การเห็นพระเจ้า “หน้าต่อหน้า”
 
ตอนนี้เรารู้ถึงความสำคัญของนิมิตบรมสุขแล้ว คำถามต่อไปคือ มันคืออะไร? คุณพ่อบูโดรอธิบายว่ามีการกระทำสามประการในนิมิตบรมสุข แม้ว่าจะแตกต่างจากกัน,แต่ก็แยกจากกันไม่ได้ และหากไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นิมิตบรมสุขก็จะไม่มีอยู่อีกต่อไป
 
การกระทำแรกคือการได้เห็นภาพของพระเจ้า ประการที่สองคือได้รับความรักของพระเจ้า ประการที่สามคือความชื่นชมยินดีของพระเจ้า ประการแรก,ภาพของพระเจ้าเป็นรากฐานหรือต้นตอของการกระทำอื่นๆ ซึ่งทำให้นิมิตบรมสุขสมบูรณ์ หมายความว่าสติปัญญาของเรา,ซึ่งเป็นความสามารถที่สูงส่งที่สุดในจิตวิญญาณของเรา “ได้รับการยกระดับขึ้นอย่างกะทันหันด้วยแสงสว่างแห่งความรุ่งโรจน์ และสามารถมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็น ด้วยการรับรู้ที่ชัดเจนและไม่บดบังถึงแก่นแท้อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
 
ดังนั้นจึงเป็นภาพนิมิตที่วิญญาณเห็นพระเจ้า,หน้าต่อหน้า ไม่ใช่ด้วยตาของร่างกาย แต่ด้วยจิตวิญญาณ เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นจิต และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาวัตถุ” เพื่ออธิบายประเด็นนี้ คุณพ่อบูโดรใช้การเปรียบเทียบของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างและความร้อน และดังนั้นจึงมีความจำเป็นสำหรับชีวิตและความสวยงามของโลก หากไม่มีดวงอาทิตย์, โลกก็จะมืดมนและกลายเป็นหลุมศพอันเงียบสงบของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ในทำนองเดียวกัน ภาพนิมิตแห่งแก่นสารอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นรากฐานหรือที่มาของนิมิตบรมสุข หากไม่มีสิ่งนี้ ความมืดและความโศกเศร้าก็จะเข้าครอบงำผู้ได้รับพระพร เพื่อให้นิมิตบรมสุขสมบูรณ์,วิญญาณจะต้องรักและชื่นชมยินดีกับพระเจ้าด้วย เพราะความรู้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถสนองความต้องการได้อย่างสมบูรณ์
 
เป็นไปไม่ได้ที่เมื่อเห็นพระเจ้าหน้าต่อหน้าแล้วและไม่ต้องการความรักและชื่นชมยินดีในพระองค์
 
การได้เห็นและรู้จักพระเจ้าในความงามและความดีงามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ย่อมทำให้เราต้องการรักพระองค์ด้วยพลังทั้งหมดในตัวเรา ในที่นี้, คุณพ่อบูโดรอธิบายโดยจินตนาการถึงไฟอันมหึมา ยิ่งอยู่ใกล้ก็ยิ่งรู้สึกร้อน การได้เห็นพระเจ้าในแก่นแท้อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ทำให้เราร้อนแรงด้วยความรักอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นธรรมชาติ, เข้มข้น, และสูงสุด องค์ประกอบที่สามของนิมิตบรมสุขคือการชื่นชมยินดีกับพระเจ้า
 
การกระทำนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากทั้งภาพนิมิตและความรักของพระเจ้า ความยินดีนี้จำเป็นต้องรวมถึงการครอบครองของพระเจ้าด้วย เพราะหากไม่มีพระเจ้า นิมิตบรมสุขก็จะไม่สมบูรณ์ เพื่อชี้แจงประเด็นนี้ให้ชัดเจน คุณพ่อบูโดรใช้ตัวอย่างต่อไปนี้: “เช่น ขอทานมองดูพระราชวังอันงดงาม เต็มไปด้วยความมั่งคั่งเหลือล้น และทุกสิ่งที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจได้
 
เพียงแค่เห็นก็ทำให้เขามีความสุขแล้วหรือ? ไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน, เพราะมันไม่ใช่และไม่มีทางเป็นของเขาได้ เขาอาจชื่นชมสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่และฝีมือประณีตของมัน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับความเพลิดเพลินเล็กๆน้อยๆบ้าง แต่เนื่องจากเขาไม่สามารถเรียกพระราชวังหรือความมั่งคั่งของพระราชวังนั้นว่าเป็นของตัวเองได้ ได้แต่จ้องมองดูและแม้แต่รักความงามของพระราชวังก็ไม่สามารถทำให้เขามีความสุขได้ ด้วยเหตุนี้ การครอบครองมันจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
 
รูปภาพ: กษัตริย์ดาวิดและบรรดาประกาศกสรรเสริญพระเจ้า วาดโดย Fra Angelico, 1447.
 
“สวรรค์คือการได้ครอบครองและได้รับความชื่นชมยินดีของพระเจ้าในนิมิตบรมสุข, และความพึงพอใจสมบูรณ์แบบของความปรารถนาอย่างมีเหตุผลทุกประการแห่งธรรมชาติของเราในการฟื้นคืนชีพอันรุ่งโรจน์ของร่างกาย”
 
คำอุปมาเรื่องเด็กกำพร้าตาบอด
 
ในการสรุปแนวคิดเกี่ยวกับนิมิตแห่งความสุข คุณพ่อบูโดรเล่าเรื่องที่สวยงามซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการกระทำทั้งสามประการของนิมิตแห่งความสุข: “กษัตริย์ผู้ใจดีองค์หนึ่ง ขณะออกล่าสัตว์ในป่า ได้พบเด็กกำพร้าตาบอดคนหนึ่งที่สิ้นเนื้อประดาตัวในทุกสิ่ง พระองค์จึงช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ ทำให้ชีวิตของเด็กสบายขึ้น พาไปวัง รับเป็นบุตรของพระองค์ สั่งสอนให้เด็กตาบอดเรียนหนังสือได้ แทบไม่จำเป็นเลยที่จะบอกว่าเด็กชายรู้สึกขอบคุณอย่างเหลือล้น และทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำให้กษัตริย์พอพระทัย
 
เมื่อเขาอายุครบยี่สิบปี ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดดวงตาของเขาซึ่งทำให้การมองเห็นของเขากลับคืนมา จากนั้นกษัตริย์รายล้อมไปด้วยขุนนางและท่ามกลางความโอ่อ่าและสง่างามของราชสำนัก ทรงประกาศให้เด็กหนุ่มเป็นหนึ่งในพระราชโอรสของพระองค์ และทรงบัญชาให้ทุกคนให้เกียรติและรักเขา ดังนั้นเด็กกำพร้าที่ครั้งหนึ่งเคยไร้มิตรจึงกลายเป็นเจ้าชาย และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นผู้รับส่วนในศักดิ์ศรีแห่งราชวงศ์ ความสุขและความสง่างามซึ่งพบได้ในวังของกษัตริย์”
 
ในอุปมาเรื่องนี้ การได้เห็นกษัตริย์ผู้แสนดีในความรุ่งโรจน์และความงดงามของพระองค์แสดงถึงการกระทำครั้งแรก ความรักอันแรงกล้าที่เกิดจากการเห็นพระราชาหมายถึงการกระทำที่ 2 และความเพลิดเพลินในสังคมของกษัตริย์และความสุขทั้งปวงที่เป็นผลให้หมายถึงการกระทำที่ 3 แน่นอนว่ากษัตริย์คือพระเจ้าเอง และเด็กกำพร้าก็เป็นตัวแทนของเราที่หลงทางในถิ่นทุรกันดารของโลกนี้
 
รูปภาพ : แม่พระทรงสวมมงกุฏล้อมรอบด้วยผู้อยู่ในสวรรค์
 
“ความพึงพอใจอันสมบูรณ์ของความปรารถนาตามธรรมชาติของเราอยู่ในการฟื้นคืนชีพอันรุ่งโรจน์ของร่างกาย”
 
ส่วนที่สองของคำจำกัดความของคุณพ่อบูโดรเกี่ยวกับสวรรค์เกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ ความสุขนิรันดร์ของมนุษย์จะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้กลับคืนสู่ร่างกายของตนเอง ซึ่งจะได้รับเกียรติเหมือนพระวรกายอันรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์,องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา,เมื่อพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์จากความตาย เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงอันรุ่งโรจน์นี้ คุณพ่อบูโดรเชิญชวนผู้อ่านให้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในอาณาจักรแร่และพืช: “เพชรคืออะไร? มันไม่มีอะไรมากไปกว่าคาร์บอนหรือถ่านที่ตกผลึก… แต่รูปลักษณ์และคุณค่าระหว่างอัญมณีล้ำค่านั้นกับฝุ่นถ่านหินที่ห่อหุ้มนั้นมีความแตกต่างกันมากขนาดไหน!” “พืชประกอบด้วยอะไรบ้าง? ล้วนประกอบด้วยธาตุ 4 อย่าง ซึ่งไม่มีความงามโดดเด่นในตัวเอง… ด้วยพลังและกฎแห่งชีวิต สิ่งเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็นความงาม สี กลิ่น และรสชาติอันหลากหลายไม่รู้จบ มันน่าทึ่งมากในโลกของผัก… บัดนี้ ถ้าตามกฎธรรมชาติแล้ว พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถและทรงเปลี่ยนสสารหยาบและไม่มีรูปร่างให้เป็นรูปแบบที่สวยงามและมีสง่าราศีได้ เราจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับความงามและความสมบูรณ์แบบที่พระองค์จะเปลี่ยนร่างกายหยาบของเรา!”
 
คุณลักษณะของร่างกายที่ได้รับเกียรติของเราในสวรรค์
 
พระพรเหนือธรรมชาติประการหนึ่งที่พระเจ้ามอบให้กับร่างกายที่ได้รับเกียรติของเราคือความจริงที่ว่าเราจะไม่ต้องการอาหาร เครื่องดื่ม และการนอนหลับอีกต่อไปเพื่อการยังชีพและความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามประสาทสัมผัสทั้งหมดของเราจะยังคงได้รับความพึงพอใจอย่างเต็มที่ ในที่นี้ คุณพ่อบูโดรเสนออุปมาดังต่อไปนี้: “เมื่อผีเสื้อยังเป็นหนอนผีเสื้อ มันก็กินใบไม้สีเขียวด้วยความยินดีและละโมบ พวกมันมีชีวิตของมันเอง แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็นผีเสื้อแสนสวยแล้ว มันมีชีวิตอยู่ด้วยน้ำผึ้งและกลิ่นหอมของดอกไม้ หากคุณให้ใบไม้ใบเดียวกับที่มันเคยชอบกินมากในขณะที่ยังเป็นหนอนอยู่ มันกลับจะดูหมิ่นใบไม้นั้น เพราะตอนนี้ใบไม้ไม่สามารถให้ความสุขแก่ผีเสื้อในสภาพที่เปลี่ยนรูปใหม่ได้แล้ว
 
ดังนั้นสิ่งนี้ก็จะเป็นกับเราภายหลังการฟื้นคืนชีพเช่นกัน รสนิยมของเราจะต้องได้รับการขัดเกลามากเสียจนเราจะดูหมิ่นความสุขของสัตว์อันต่ำต้อยซึ่งเหมาะสำหรับร่างกายที่เน่าเปื่อยของเราในปัจจุบันเท่านั้น” นอกเหนือจากการเป็นอิสระจากความจำเป็นของธรรมชาติแล้ว ร่างกายของเรายังขึ้นอยู่กับวิญญาณโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราเป็นอิสระจากกิเลสตัณหาซึ่งเราเคยต้องต่อสู้กับมันอย่างต่อเนื่องในชีวิตทางโลกของเรา
 
หนทางสู่ชีวิตในสวรรค์เริ่มต้นด้วยการดำเนินชีวิตอย่างดีในโลก
 
ความว่องไวคล่องตัว,ซึ่งเป็นพลังในการเคลื่อนย้ายตัวเราจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยความรวดเร็วของความคิด, และความละเอียดอ่อน,ซึ่งหมายถึงร่างกายที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาของเราจะมีความสามารถที่ทะลุทะลวงทุกสิ่งแม้กระทั่งสิ่งที่แข็งที่สุดของสสาร ลักษณะเช่นนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังแห่งร่างกายที่ฟื้นคืนชีพของเรา เป็นพระพรของการผ่านไปได้ทุกแห่ง,ปราศจากความยากลำบากโดยสิ้นเชิง และร่างกายที่ได้รับเกียรติจะเป็นอมตะไม่เน่าเปื่อย ซึ่งคุณพ่อบูดโรถือว่าเป็นพระพรอันยอดเยี่ยมของคุณลักษณะเหนือธรรมชาติทั้งหมด ทำให้พระพรเหนือธรรมชาติสมบูรณ์,ซึ่งพระเจ้าจะทรงประสงค์ที่จะประทานแก่ร่างกายของคนชอบธรรม
 
ชีวิตในสวรรค์
 
หลังจากที่ได้เห็นพระเจ้าหน้าต่อหน้าด้วยการกระทำทั้งปวงของนิมิตบรมสุขแล้ว,และบัดนี้ด้วยพระพรอันรุ่งโรจน์แห่งการฟื้นคืนชีพของร่างกาย,ซึ่งทำให้การทำงานของจิตวิญญาณสมบูรณ์และเป็นเกียรติแก่ประสาทสัมผัสทั้งหมด มนุษย์เริ่มต้นชีวิตในโลกใหม่แห่งความงามและความสมบูรณ์,มีความสงบ,การพักผ่อน,ความพึงพอใจทางปัญญา,ความรัก,และความเพลิดเพลินอันสมบูรณ์ เนื่องจากมนุษย์เป็นชีวิตทางสังคม, เขาจะมีความสุขกับชีวิตทางสังคมที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้มาจากคุณธรรม, การเรียนรู้, ความงดงาม, ความประณีต, ความรักซึ่งกันและกัน, และความผูกพันซึ่งกันและกัน ความสุขที่แต่ละคนจะมีในสวรรค์นั้นจะขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ได้รับในชีวิตนี้ ดังนั้นความสุขของเราในสวรรค์จะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับที่เราบรรลุคุณธรรมขณะอยู่ในโลกนี้
 
ระดับความสุขที่แต่ละคนจะมีในสวรรค์นั้นจะขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ได้ทำในชีวิตนี้ ดังนั้นความสุขของเราในสวรรค์จะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับที่เราบรรลุคุณธรรมขณะอยู่ในโลกนี้
 
หนทางสู่สวรรค์
 
นักบุญโรเบิร์ต เบลลาร์มีนกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว “ทุกคนที่เดินไปตามเส้นทางที่ถูกต้องจะต้องไปถึงที่หมายอย่างแน่นอน ในทางกลับกัน ผู้ที่หลงจากเส้นทางที่ถูกต้องจะไม่มีทางไปถึงจุดสิ้นสุดการเดินทางของตน” แต่สวรรค์เป็นเพียงรางวัลสำหรับการมีชีวิตที่ดีเท่านั้นหรือ? หรือเป็นผลจากการมีชีวิตที่ดี? นักเขียนในศตวรรษที่ 20, แฟรงก์ ชีด, เขียนว่า “ชีวิตนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทดสอบที่มนุษย์ต้องผ่านเพื่อรับรางวัลแห่งสวรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมการ,ซึ่งมนุษย์ต้องประสบความสำเร็จเพื่อที่จะมีชีวิตในสวรรค์” ศาสตราจารย์ ปลินิโอ กอร์เรีย เด โอลิเวรา นักคิดและนักประพันธ์คาทอลิกผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเขียนว่า “อาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงได้ในโลกหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับเราทุกคน มันเริ่มต้นได้รับตั้งแต่อยู่ในโลกนี้แล้ว เช่นเดียวกับสามเณรที่เริ่มปฏิบัติชีวิตนักบวช แม้ว่าจะเป็นเพียงการเตรียมตัวก็ตาม และในโรงเรียนทหาร ชายหนุ่มฝึกกองทัพด้วยการใช้ชีวิตแบบชีวิตทหาร” ด้วยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานเหนือธรรมชาติของพระเจ้า ผ่านความช่วยเหลือของพระมารดาและนักบุญของพระองค์, เรายังคงรักษาความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราไว้ต่อไปจนกว่าเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเรา นั่นก็คือ สวรรค์!
 
************************