โดยคุณพ่อยอห์นชัยยะ กิจสวัสดิ์
มาระโก 10:2-16
คำถามเรื่องการหย่าร้าง
(2)ชาวฟาริสีบางคนทูลถามหวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” (3)พระองค์ตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร (4)เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้” (5)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อหยาบกระด้างของท่าน โมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้ (6)แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง (7)ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา (8)และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน (9)ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (10)เมื่อกลับเข้าไปในบ้านแล้ว บรรดาศิษย์ทูลถามถึงเรื่องนี้อีก (11)พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม (12)และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน”
พระเยซูเจ้าและเด็กเล็ก ๆ
(13)มีผู้นำเด็กเล็ก ๆ มาเฝ้าพระเยซูเจ้าเพื่อทรงสัมผัสอวยพร แต่บรรดาศิษย์กลับดุว่าคนเหล่านั้น (14)เมื่อทรงเห็นเช่นนี้ พระองค์กริ้ว ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้ (15)เราบอกความจริงกับท่านว่า ผู้ใดไม่รับพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างเด็กเล็ก ๆ เขาจะไม่เข้าสู่พระอาณาจักรนั้นเลย” (16)แล้วพระองค์ทรงอุ้มเด็กเหล่านั้นไว้ ทรงปกพระหัตถ์ และประทานพระพร
******************
ฟาริสีบางคนทูลถามพระเยซูเจ้าหวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา”
พระองค์ตอบโดยอ้างหนังสือปฐมกาลซึ่งกล่าวว่า “เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไปแต่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:6-7 เทียบ ปฐก 1:27; 2:24)
จากสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างมานี้ จะเห็นว่ามีประเด็นที่สำคัญสองประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรกคือ พระองค์ทรงถือว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ (พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง) ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของผู้ชายที่จะขว้างทิ้งไปเมื่อใดก็ได้ตามที่ชาวยิวถือปฏิบัติกันมา ยิ่งไปกว่านั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวยิวได้ยินว่า “ถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน” ซึ่งเท่ากับว่าผู้หญิงก็เริ่มมีสิทธิทางกฎหมายเทียบเท่าผู้ชายในอันที่จะเป็นฝ่ายบอกหย่าได้
ประเด็นที่สองก็คือพระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของอุดมคติมากกว่าเรื่องของกฎหมาย
พวกฟาริสีถามพระองค์ว่าหย่าร้างได้หรือไม่ พระองค์ไม่ได้ตอบว่าได้หรือไม่ได้ แต่กลับสอนสิ่งที่เป็นอุดมคติสำหรับการสมรสที่พวกเขาควรจะต้องไปให้ถึง เพราะ “ทุกสิ่งถูกกฎหมายก็จริง แต่ก็ใช่ว่าทุกสิ่งจะมีประโยชน์หรือช่วยเสริมสร้าง” ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายถึงชาวโคริธ์ (1 คร 10:23)
ทรงมีความคิดเช่นนี้ พระเยซูเจ้าจึงอธิบายว่าโมเสสไม่ได้เต็มใจอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่จำยอมเพราะ “ใจดื้อหยาบกระด้าง” ของพวกเขา อีกทั้งการที่โมเสสบังคับให้เขียนหนังสือหย่าร้าง ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการปกป้องการแต่งงาน เพราะว่าชาวยิวในสมัยของโมเสส (รวมถึงชาวเสมิติกซึ่งอาศัยอยู่ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง) นิยมใช้หลักการที่เรียกกันว่า “triple express” คือหากสามีแสดงความปรารถนาจะหย่าร้างกับภรรยาสามครั้ง ต่อหน้าพยานสองคน ก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าการหย่าร้างอาจเกิดจากอารมณ์โกรธชั่ววูบ แต่ถ้าต้องเขียนหนังสือหย่าร้างซึ่งในสมัยนั้นมีแต่สมณะที่พระวิหารเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ กระบวนการหย่าร้างก็ต้องกินเวลาเป็นเดือน ซึ่งเวลาที่ทอดยาวออกไปก็อาจช่วยเยียวยาความบาดหมาง จนทำให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกันได้
เกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่างร้าง มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจ 2 ประการด้วยกัน
ประการแรก พระเยซูเจ้าไม่ได้ห้ามสามีภรรยาแยกกันอยู่ แต่สิ่งที่พระองค์ทรงห้ามคือการหย่าร้างแล้วไปแต่งงานใหม่
ประการที่สอง หากผู้ใดแต่งงานไปโดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งงานเพียงพอ หรือไม่เต็มใจ หรือค้นพบภายหลังแต่งงานแล้วว่าคู่ครองไม่สามารถดำเนินชีวิตเยี่ยงสามีภรรยาได้ เขาหรือเธอก็สามารถยื่นเรื่องขอให้พระศาสนจักรพิจารณาเพื่อประกาศว่าการแต่งงานเป็นโมฆะตั้งแต่แรก และเขาหรือเธอก็สามารถแต่งงานใหม่ได้
การประกาศว่าการแต่งงานเป็นโมฆะตั้งแต่แรกนี้ พระศาสนจักรไม่ได้ถือว่าเป็นการหย่าร้าง แต่ถือว่าไม่เคยมีการแต่งงานเกิดขึ้น จึงมิได้ขัดแย้งกับคำสอนอันเป็นอุดมคติของพระเยซูเจ้า
พี่น้องครับ ชีวิตสมรสและครอบครัวคริสตชนทุกวันนี้ตกอยู่ในวิกฤติ จึงจำเป็นที่เราผู้มีความเชื่อจะต้องเข้าใจและยืนหยัดในสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการแต่งงาน คือการเป็นเนื้อเดียวกันของสามีและภรรยา และการไม่แยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ แม้ชีวิตส่วนตัวของเราเองอาจจะยังไม่บรรลุถึงอุดมคติของพระองค์ก็ตาม
มีอีกประเด็นหนึ่งที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ชีวิตสมรสของคริสตชนนั้นชอบการทนทุกข์ทรมาน (Masochism vs Sadism) เพราะบทอ่านที่สองวันนี้ซึ่งเป็นจดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวว่า “พระเจ้าผู้ทรงสร้างและค้ำจุนทุกสิ่งมีพระประสงค์จะนำบุตรจำนวนมากเข้ามารับพระสิริรุ่งโรจน์ จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่พระองค์จะทรงทำให้ผู้ที่นำมนุษย์ให้รอดพ้นนั้นสมบูรณ์โดยผ่านการทนทุกข์ทรมาน”
พูดสั้นๆ ก็คือ พระเยซูเจ้าจะสมบูรณ์ได้ก็โดยผ่านการทนทุกข์ทรมานเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้เราเข้าใจผิดก็คือ เราเข้าใจคำว่า “สมบูรณ์” ต่างจากชาวยิวในพระคัมภีร์
สำหรับเรา “สมบูรณ์” หมายถึงการปราศจากตำหนิหรือข้อบกพร่อง แต่พระคัมภีร์หมายถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของพระเยซูเจ้าคือเป็นผู้นำมนุษย์ให้รอดพ้น แต่เนื่องจากมนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่ใช่เฉพาะในชีวิตสมรสเท่านั้น แต่ในชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในการทำงาน ความอ่อนแอทั้งฝ่ายกายและวิญญาณ รวมถึงการดิ้นรนต่อสู้กับการประจญล่อลวงต่างๆ นานา
เพราะฉะนั้น เพื่อจะเป็นผู้นำความรอดพ้นให้แก่มนุษย์ที่จำต้องทนทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์ พระเยซูเจ้าจึงต้องผ่านการทนทุกข์ทรมานเสียก่อน
ในเมื่อพระองค์ทรงมีประสบการณ์ของการทนทุกข์ทรมานมาแล้ว พระองค์จึงเป็นผู้ที่เข้าใจและสามารถช่วยเราให้ผ่านพ้นความทุกข์ทรมานในทุกๆ สถานการณ์ได้
นี่คือความสมบูรณ์แบบของพระเยซูเจ้าในฐานะผู้นำความรอดพ้น ดังที่จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวว่า “เราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป” (ฮบ 4:15)
นี่จึงเป็นข่าวดีทั้งสำหรับผู้ที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว และสำหรับเราคนบาปทุกคน เพราะบางครั้งเราอาจถูกประจญให้ท้อแท้สิ้นหวังเหมือนยูดาสที่คิดว่าพระเยซูเจ้าคงไม่เข้าใจและคงไม่ให้อภัยเมื่อเราทำผิดหรือทรยศพระองค์
แต่จริงๆ แล้วพระองค์ทรงเข้าใจธรรมชาติของเรามนุษย์และพร้อมจะให้อภัยหากว่าเราสำนึกผิดเหมือนเปโตร
วันนี้ จึงขอให้พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะใด โสดหรือสมรส ขอให้ระลึกถึงถ้อยคำแห่งกำลังใจที่จดหมายถึงชาวฮีบรูบอกเราว่า “ดังนั้น เราจงเข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทานด้วยความมั่นใจเพื่อรับพระกรุณา และพบพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราต้องการ” (ฮบ 4:16)
ในบูชามิสซาวันนี้ ขอให้เราถามตนเองว่าเราได้เข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทานเพื่อรับพระกรุณาและพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราอ่อนแอ ยามที่เรามีปัญหา หรือตกอยู่ในบาป ครั้งสุดท้ายเมื่อใด? และจะดีไหม หากเราจะเข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทานเพื่อรับพระหรรษทานเกื้อกูลเราตั้งแต่วันนี้ และทุกๆ วันตลอดไป
***************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น