วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

จิตใจวอกแวกเวลาสวดภาวนา

บทความนี้นำมาจากหนังสือ Saintly Solutions to Life’s Common Problems ของ Fr Esper ซึ่งหาซื้อได้ที่สำนักพิมพ์ Sophia Institute Press.

น.เบอร์นาร์ดเดินทางไปกับชาวนาคนหนึ่งซึ่งยากจนและไร้การศึกษา  ชาวนาคุยโอ้อวดว่า “ผมไม่เคยมีใจวอกแวกเวลาสวดภาวนาเลย” น.เบอร์นาร์ดแย้งว่า “ผมไม่เชื่อหรอก  ผมขอท้าพนันกับคุณ  ถ้าคุณสามารถสวดบทข้าแต่พระบิดาโดยใจไม่วอกแวกเลย   ผมจะให้ลาที่ผมขี่นี้แก่คุณ  แต่ถ้าคุณทำไม่ได้  คุณต้องมากับผมและบวชเป็นนักพรต”  ชาวนาตกลงและเริ่มสวดภาวนาด้วยเสียงดังอย่างมั่นใจ  “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย  พระองค์สถิตในสวรรค์  พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ....” แล้วเขาหยุดสวดพักหนึ่งหันมาถาม น. เบอร์นาร์ดว่า “รวมอานและบังเหียนด้วยหรือเปล่าครับ?”

น.ฟรังซิส อัสซิซี  เมื่อเข้าไปในโบสถ์เพื่อร่วมพิธีมิสซาหรือเพื่อสวดภาวนา  ท่านจะพูดว่า”โลกและความคิดไร้สาระทั้งหลาย  เจ้าจงอยู่ที่ประตูนี้จนกว่าฉันจะออกมา” แล้วท่านก็เข้าไปในโบสถ์  สวดภาวนาด้วยความศรัทธ
บางครั้งการวอกแวกมีสาเหตุจากการไม่ใส่ใจอย่างเพียงพอในการสวดภาวนา  น.แครล์แห่งริมินี  เคยใช้ชีวิตอย่างอิสระและคิดว่ากิจกรรมทางศาสนาไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากนัก  เมื่ออายุ 34 ปี เธอเข้าไปในโบสถ์ในวันหนึ่ง  เธอได้ยินเสียงจากสวรรค์ว่า “แครล์ จงพยายามสวดบทข้าแต่พระบิดาและวันทามารีย์เพื่อสรรเสริญพระเป็นเจ้า โดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น”  ด้วยเสียงตำหนินี้  เธอจึงทำหน้าที่ทางศาสนาด้วยความใส่ใจมากขึ้น
“คนพวกนี้สรรเสริญเราแต่ปาก แต่จิตใจของเขาห่างไกลจากเรา”(อสย. 29:13)  ด้วยพระวาจานี้ คพ. โทมัสแห่งโครี พระสงฆ์ฟรังซิสกัน จึงยืนยันว่า บทภาวนาต้องสวดอย่างช้าๆและจิตใจคล้อยตามไปด้วย  ท่านกล่าวว่า “ถ้าหัวใจไม่ได้สวดภาวนา  ลิ้นก็ทำงานอย่างไร้ผล”
พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ถึงความสำคัญของการสวดภาวนาด้วยจิตใจทั้งหมด  พระองค์ทรงให้แบบอย่างในการสวดภาวนาต่อพระบิดาของเรา (มท. 6:9-13)  เมื่อบางคนมาถาม บราเดอร์ จอร์แดน แห่ง แซกโซนี ในเรื่องวิธีการสวดภาวนาที่ดีที่สุด  ท่านกล่าวว่า”วิธีสวดภาวนาที่ดีที่สุด ก็คือวิธีที่คุณสามารถสวดภาวนาด้วยสิ้นสุดจิตใจของคุณ”
น. เอ็ดมุนด์บอกกับเราว่า “สวดบทข้าแต่พระบิดาอย่างสิ้นสุดจิตใจเพียงบทเดียว ยังดีกว่าสวดเป็นพันๆบทด้วยจิตใจที่วอกแวกและปราศจากความศรัทธา”  น.โทมัส อควินัส ได้เตือนเราว่า “การยอมให้จิตใจวอกแวกในเวลาสวดภาวนา  ถือเป็นบาปและมันกีดขวางการสวดภาวนาไม่ให้บังเกิดผล”  ถ้าเราพยายามเพ่งจิตใจของเราในการสวดภาวนา  นอกจากจะเป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้าแล้ว  ยังทำให้เราก้าวหน้าด้านจิตใจด้วย  น.หลุยส์ เดอ มงฟอร์ต กล่าวว่า “ผู้ที่พยายามอย่างที่สุดในการต่อสู้กับการวอกแวกเวลาสวดภาวนาแม้บทภาวนาที่เล็กน้อยที่สุดด้วยความซื่อสัตย์  เขาก็จะซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ด้วย”
การจะประสบความสำเร็จได้นั้น  ให้เราทำตามคำแนะนำของ น.เทเรซา แห่ง อาวิลลา “อย่าสวดภาวนาต่อพระเป็นเจ้าเมื่อท่านกำลังคิดถึงเรื่องอื่นอยู่”  พระเป็นเจ้าต้องอยู่ในความสนใจของเราอย่างเต็มที่
บางครั้งบุคคลรอบข้างเป็นสาเหตุทำให้เราวอกแวกเวลาสวดภาวนา  บางทีมีบางคนในโบสถ์ไม่มีความสงบหรือทำอะไรบางอย่างจนทำให้เรารู้สึกไม่มีสมาธิในการสวดภาวนา  น. เทเรซา แห่ง ลีซีเออร์ เคยมีประสบการณ์เช่นนี้และเธอเขียนไว้ในหนังสือ “ประวัติของวิญญาณดวงหนึ่ง” ว่า “เป็นเวลานานหลายปี ที่ดิฉันต้องคุกเข่าพิจารณาไตร่ตรองอยู่ใกล้ๆซิ สเตอร์ผู้หนึ่งซึ่งจิตใจไม่สงบและทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา  ดิฉันพยายามนิ่งเงียบ  แต่รู้สึกเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ  และการสวดภาวนาของดิฉันเต็มไปด้วยความทุกข์  แต่ในที่สุด  ดิฉันก็พยายามหาวิธีบางอย่างที่จะอดทนสิ่งนี้ด้วยความสงบและด้วยความยินดี  อย่างน้อยก็ส่วนลึกในหัวใจของดิฉัน”<
น. เทเรซากล่าวต่อไปว่า “หลายครั้งดิฉันมีใจวอกแวก  แต่เมื่อดิฉันรู้ตัว  ดิฉันก็สวดภาวนาเพื่อคนที่ทำให้จิตใจของดิฉันวอกแวก  ด้วยวิธีนี้ คนเหล่านั้นจึงทำประโยชน์ให้แก่ดิฉันด้วย”  จงพูดกับเขาด้วยความรักและผ่อนคลาย  เหมือนที่เราพูดกับเพื่อนสนิท  เป็นวิธีที่เราจะชนะจิตใจที่วอกแวกได้

ข้อคิด
“การไปครุ่นคิดถึงสิ่งที่ทำให้เราวอกแวกเท่ากับตกลงไปในกับดักของมัน  สิ่งจำเป็นที่ต้องทำก็คือ  ต้องดึงความคิดของเรากลับมา  เพราะความคิดที่ทำให้เราวอกแวกเป็นสิ่งที่แสดงว่าเรากำลังยึดติดกับอะไรอยู่  การระลึกรู้สึกตัวจะทำให้เราเพิ่มพูนความรักของเราต่อพระเป็นเจ้าและจะนำเราให้มอบหัวใจทั้งหมดของเราแด่พระองค์เพื่อที่พระองค์จะชำระล้างให้บริสุทธิ์  ในสงครามนี้  เราต้องเลือกว่าจะรับใช้ผู้ใด” – คำสอนของพระศาสนจักร (Catechism of the Catholic Church, par. 2729)
 “เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆที่เราต้องทำ  คือพยายามอย่างที่สุดในการต่อสู้กับความคิด  ม่านที่ปิดบังความคิดและปกคลุมสติปัญญานี้ต้องถูกกำจัดออกไป แล้วนั้นจิตใจก็จะหันกลับมาเพ่งพินิจพระเป็นเจ้าอย่างไม่ยากลำบาก  เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงจิตใจที่วอกแวกไม่สงบนิ่ง”  - - St. Ammonas the Hermit
“ปีศาจวุ่นวายใจมากที่สุดเมื่อเห็นว่า เรากำลังสวดภาวนาวอนขอพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า  ทำไมหรือ?  ก็เพราะศัตรูมองเห็นว่าไม่มีเวลาใดเลยที่เราได้รับทรัพย์ดีๆจากสวรรค์อย่างมากมายเท่ากับเวลาที่เราสวดภาวนา” St. Alphonsus Liguor
สิ่งที่เราควรทำ
น.เทเรซาแห่งอาวิลลา แนะนำว่า  เวลาที่เริ่มสวดภาวนา เราควรปิดตาลง “เพื่อที่จะได้เปิดตาแห่งวิญญาณได้กว้างขึ้น” นี่จะเป็นการกำจัดโอกาสในการวอกแวก
น. เปาโล แห่งไม้กางเขนให้คำแนะนำที่ดีว่า “เมื่อท่านต้องการสวดภาวนา  ไม่สำคัญว่าท่านจะสามารถเพ่งพินิจได้หรือไม่ จงทำกิจการแห่งความรักแด่พระเป็นเจ้า  อย่างอ่อนโยนและไม่ต้องบังคับตัวเองให้มากนัก” ท่านกล่าวต่อไปว่า “เกี่ยวกับการวอกแวกและการประจญในระหว่างการสวดภาวนา  จงดึงจิตใจของท่านทั้งหมดไปสู่จิตใจเบื้องบนของท่านแล้วยกขึ้นไปสู่พระเป็นเจ้าด้วยจิตใจและความจริง”

บทกวีจาก  Ecclesiastes 11:4-5; Matthew 6:6-8.

      พระเจ้าข้า  โปรดทรงช่วย  จิตวิญญาณ
ที่ซมซาน  หลีกลี้  ไปจากข้า
เที่ยวเร่ร่อน  ไม่ยอมอยู่  ในมรรคา
ยามที่ข้า  สวดภาวนา หาพระองค์

     เหมือนเด็กน้อย ไม่อยู่สุข  ชอบยุกยิก
เหมือนมีปีก  ใจบินไป  ไร้ประสงค์
ยามที่อ่าน  พระคัมภีร์  มีจำนง
ใจยังคง  ลอยล่อง  ท่องนที

      มันอาจบิน  จากโลกนี้  สู่สวรรค์
วินาที  อาจบินผัน  กลับวิถี
คืนสู่ร่าง  ที่เป็นอยู่  ดังเดิมนี้
แล้วหลีกลี้  หนีไป  อีกเช่นเคย

      จะหาโซ่  กุญแจใด  มาล่ามได้
หรือลงโทษ  โบยตี  ให้อยู่เฉย
ก็ไม่ทำ  ให้มันกลัว  ชั่วจังเลย
ลื่นไหลเอย  เหมือนปลาไหล  ไวสิ้นดี

      ไปที่โน่น  ที่นั่น  ดังนกบิน
โอ้พระคริสต์  โปรดทรงยิน  คำวอนนี้
นำจิตใจ ความคิดข้า  กลับมาที
แล้วยึดไว้  อย่าให้หนี  ไปอีกเลย.....อาแมน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น