วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

โรคระบาดในสยามประเทศ

 


 
โรคระบาดสำคัญของสยามได้แก่ อหิวาต์, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค
 
1. กาฬโรค ประมาณ ค.ศ. 1350 หรือราว พ.ศ. 1893 เป็นช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เกิดกาฬโรคระบาด ที่เรียกว่า“ความตายสีดำ” ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป มีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ จากนั้นจะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต
 
2. อหิวาตกโรค ในปีพ.ศ.2363 เกิดการระบาดของ “อหิวาตกโรค”มีผู้เสียชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงมากถึงราว30,000คน ต่อมาพ.ศ.2392 ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นช่วงเวลาราวหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานว่า มีการนำผู้เสียชีวิตไปที่วัดสระเกษ 2,765 ศพ วัดตีนเลน (วัดบพิตรพิมุขในปัจจุบัน) 1,481 ศพ และวัดบางลำพู (วัดสังเวช) 1,213 ศพ รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่าห้าพันคน จนกระทั่ง พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้ง และเวลาเพียงเดือนเศษหนังสือพิมพ์ ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกมากถึง 6,660 คน
 
อหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ในสยาม 

หลังจากที่ระบาดใหญ่เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 แล้ว โรคยังคงมีระบาดประปรายตลอดมา และได้เกิดระบาดใหญ่ขึ้นอีก 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2443 การระบาดทั้งสองครั้งนี้ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใด นอกจากในหนังสือ “McFarland of Siam” แต่งโดย Bertha Blount McFarland (พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2501) มีบันทึก
 
“พ.ศ. 2443 เป็นปีอหิวาต์ นับว่าเป็นการระบาดร้ายแรงที่สุดคราวหนึ่ง มีคนตายหลายหมื่นคน พี่ชายพระอาจวิทยาคม ชื่อ วิลเลียม แม็คฟาร์แลนด์ ก็ป่วยเป็นอหิวาตกโรคถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ…”
 
3. ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ประเทศไทยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยไข้ทรพิษมาแล้วแต่อดีต บุคคลสำคัญที่ป่วยเป็นไข้ทรพิษหลายท่าน เช่น สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษจนสวรรคต, สมเด็จพระนเรศวรเองก็เคยทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ โดยเมื่อครั้งที่สมเด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พร้อมด้วยพระนเรศวร ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงษาวดีตีลานช้าง เมื่อ ปี พ.ศ. 2117 พระนเรศวรประชวรด้วยไข้ทรพิษ
 
ในรัชกาลที่ 3 ก็ปรากฏว่ามีไข้ทรพิษระบาดมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำริให้หาแนวทางป้องกันควบคุมการระบาดแต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ จนนายแพทย์บรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารี ที่เข้ามาไทย (ปี พ.ศ. 2378) ได้ร่วมมือกับหมอหลวงท่าการเอาหนองจากผู้ป่วยปลูกเป็นผลสําเร็จ และในปี พ.ศ. 2383 นายแพทย์บรัดเลย์ได้สั่งพันธุ์หนองฝีจากเมืองบอสตัน เป็นการเริ่มปลูกฝีครั้งแรกในประเทศไทย
 
นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดอื่นๆอีก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเรื้อน และวัณโรค เป็นต้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โรคระบาดตั้งแต่ก่อนยุคกรุงสยามสู่รัฐชาติไทยที่คนรุ่นก่อนร่วมต่อสู้ฟันฝ่ากระทั่งผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์สาหัสมาได้จวบจนวันนี้
 
----------------
 
โรคระบาดทั่้วโลกในทุก 100 ปี
 
ปี 2263 (1720) - โรคระบาดกาฬโรค
ในปี 2263 กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ครั้งนั้นเป็นการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุโรป มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 100,000 คน ในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส
 
ปี 2363 (1820) - โรคระบาดอหิวาตกโรค
 
ในปี 2363 อหิวาตกโรค หรือ โรคห่า (Cholera) ได้ระบาดไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยตรงกับสมัย รัชกาลที่ ๒ การระบาดรุนแรงของอหิวาตกโรคครั้งแรกไว้ว่า ในปี 2363 ที่มีการระบาดจากอินเดีย เข้ามาไทย ผ่านทางปีนัง ทำให้มีคนตายจำนวนมาก จนเผาศพไม่ทัน กองอยู่ในวัดต่าง ๆ ถนนหนทางเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยซากศพ ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด การระบาดครั้งนี้มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 30,000 คน ทั่วโลกประมาณ 100,000 คน
 
ปี 2463 (1920) - โรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปน
 
ในปี 2463 โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งถือเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 50,000,000 คน
 
ปี 2563 (2020) - การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
 
ในต้นปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งมีที่มาจากประเทศจีน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานในตลาด หรือมีประวัติเดินทางไปที่ตลาดค้าส่งอาหารทะเลแห่งหนึ่งกลางเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รอบโลก (COVID-19) 24 มกราคม 64 ผู้ติดเชื้อรวม 99,298,747 ล้านราย ผู้เสียชีวิต 2,128,755 ราย
 
************************ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น