วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทำดีย่อมได้ดี

 


 
นานมาแล้วมีชาวนาชาวสก็อตยากจนผู้หนึ่งชื่อ "เฟลมิง"
 
วันหนึ่งเขาทำงานอยู่ในไร่ เฟลมิงได้ยินเสียงร้องให้ช่วยดังมาจากบึง เขารีบวางมือจากงานที่ทำอยู่แล้ววิ่งตรงไปที่บึงอย่างรวดเร็ว
 
ภาพที่เห็นคือ เด็กหนุ่มคนนึงกำลังถูกโคลนดูด ในเสี้ยวเวลาแห่งความตายนั้น, ชาวนาเฟลมิงเสี่ยงตายลุยโคลนไปช่วยจนเด็กหนุ่มรอดชีวิตมาได้ในที่สุด!
 
วันต่อมา มีรถหรูหรามาจอดเทียบหน้าบ้านชาวนาเฟลมิง ขุนนางผู้สูงศักดิ์ก้าวลงมาจากรถม้า แนะนำตัวว่าเขาเป็นบิดาของเด็กหนุ่มที่ชาวนาได้ช่วยไว้ ขุนนางต้องการตอบแทนที่ชาวนาได้ช่วยชีวิตลูกชายเขาไว้ แต่ชาวนาไม่ต้องการเรียกค่าตอบแทนใดๆ
 
ทันใดนั้นลูกชายของชาวนาเดินออกมาจากบ้าน ขุนนางจึงตกลงว่าต้องการช่วยลูกชายของชาวนาให้ได้เรียนหนังสือมากเท่าที่เขาจะพอใจ เพราะหากลูกชายเขาเติบโตมาเป็นเหมือนพ่อเขาแล้วคงต้องเป็นคนที่ดีของสังคมอย่างแน่นอน
 
เฟลมิงตกลงรับข้อเสนอนั้น
 
ลูกชายเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด หลังจากนั้นจึงจบจากรร.แพทย์ของรพ.เซนต์แมรี่ ลอนดอน ชายหนุ่มคนนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลกในนาม "เซอร์อเล็กซานเดอ เฟลมิง" ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะ นั่นเอง
 
ต่อมาภายหลังลูกชายของขุนนางผู้สูงศักดิ์ที่ชาวนาเฟลมิงได้ช่วยไว้เกิดล้มป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ แล้วอะไรล่ะที่ได้ช่วยชีวิตเขาไว้อีกครั้ง? ก็คือยาที่คิดค้นโดยลูกชายของชาวนาเฟลมิงนั่นเอง
 
ชื่อของชายผู้สูงศักดิ์นั้นคือ “ลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิล” และลูกชายเขาที่แฟลมิงช่วยไว้ คือ "เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1953
 
นี่คือเรื่องราวอันเหลือเชื่อของการกระทำความดี ผลของความดีที่เราทำไว้ย่อมได้รับผลตอบแทนกลับมา
 
เหมือนชาวนาเฟลมิงได้ช่วยชีวิตเด็กชายไว้ เขาจึงได้รับผลตอบแทนดีๆตกถึงลูกชาย จนได้กลายเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์แก่โลกใบนี้
 
ส่วนขุนนางได้ทำความดีตอบแทนผู้มีพระคุณ ผลสุดท้ายความดีที่กระทำก็ส่งผลให้ลูกชายรอดชีวิตจากยาที่คิดค้นจากลูกชาวนานั่นเอง
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เมื่อทำดีต้องได้ดีอย่างแน่นอน
 
หมายเหตุ – เรื่องราวที่วินสตัน เชอร์ชิล ได้รับการช่วยเหลือให้รอดชีวิตสองครั้งนี้แพร่หลายไปในอินเตอร์เน็ต แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่บางคนแต่งขึ้นมาในช่วงปี 1943 และไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่ง
 

************************ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น