วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ศึกษาประวัติศาสตร์พม่า

 


 
เหตุใดพม่าจึงเสียเอกราชให้กับอังกฤษ
 
ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า คือราชวงศ์คองบอง มีกษัตริย์ทั้งหมด 11 พระองค์ เมืองหลวง 5 เมือง สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2295 หรือ 265 ปีที่แล้ว ก่อนจะล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2428 รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 133 ปี
 
ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์คองบอง คือ พระเจ้าอลองพญา ตอนนั้นเมืองหลวงของพม่าอยู่ที่เมืองอังวะ ซึ่งอยู่ตอนบนของประเทศ
 
กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าสีป่อ
 
........................................................................
 
ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวตะวันตกรู้จักและมีความสนใจแค่ 2 มหาอำนาจในดินแดนตะวันออกไกล ซึ่งก็คืออินเดียและจีน เท่านั้น
 
จุดเริ่มต้นจริงๆ ที่ทำให้ประเทศในดินแดนในแหลมอินโดจีนโดนคุกคาม นั้นมาจากพม่าที่เริ่มต้นไปกระตุกหนวดเสือ
 
เพราะพม่าคิดว่าตัวเองเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่มีอิทธิพลอยู่ในแถบนี้ จึงส่งกองทัพไปบุกโจมตีเพื่อจะขยายอำนาจเข้าไปในเบงกอล ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐอิสระในเขตอิทธิพลของอังกฤษในอินเดีย แต่สงครามจบลงด้วยการพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพม่า และที่สำคัญคือการทำให้อังกฤษสนใจจะขยายอำนาจจากอินเดียที่ตนครอบครองอยู่แล้ว เข้ามาสู่พม่าและดินแดนถัดไปในแหลมอินโดจีน ที่มีไทยอยู่ในจุดศูนย์กลาง
 
ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าคือชาติมหาอำนาจในดินแดนแถบนี้ แล้วเวลาผ่านไปพม่าก็เริ่มเสื่อมลง แต่พม่ายังคงเข้าใจว่าตัวเองยิ่งใหญ่
 
เมื่ออังกฤษมีอำนาจเหนืออินเดีย พม่าจึงลองของ หวังจะแสดงฤทธานุภาพ
 
เช่นเดียวกับจีน ที่ ณ เวลานั้นความยิ่งใหญ่จากยุคที่เคยเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในอดีต ทำให้จีนยังคงลำพอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยพัฒนาอะไรใหม่ขึ้นมาเลย
 
ผิดกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จ จนเป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยี
 
เมื่ออังกฤษมาถึง ทั้งจีนและพม่าจึงพ่ายแพ้อย่างยับเยิน เพราะประเมินตัวเองสูง แต่ประเมินอังกฤษไว้ต่ำ
 
........................................................................
 
ในขณะที่ไทยเรา หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมากู้แผ่นดิน ตามต่อมาด้วยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ตั้งใจทะนุบำรุงบ้านเมือง
 
จากรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 ที่เป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเริ่มขยายอำนาจมาถึง ไทยก็เป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียไปแล้ว
 
ในหลวงรัชกาลที่ 4 บวชเรียนอยู่หลายสิบปี ศึกษาศิลปวิทยาทั้งไทยและเทศ จนเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
 
เมื่อขึ้นครองราชสมบัติก็จ้างฝรั่งมาทำงาน รวมทั้งจ้างฝรั่งมาสอนภาษาและศิลปวิทยาการสมัยให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา ข้าราชบริพาร
 
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ครองราชย์ และมีอำนาจเต็มเมื่อพระชนมพรรษา 20 ก็ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่เรียบร้อยแล้ว จนมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ทรงได้รับการยกย่องจากชาติตะวันตก ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่สมาร์ทที่สุดในเอเชีย
 
สมาร์ทในที่นี้หมายถึง ความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ รวมทั้งหมายถึงการแต่งกายและการเข้าสังคมแบบชาวตะวันตก
 
ทรงไม่ได้รับมือ มหาอำนาจของโลกด้วยการทหาร อย่างจีนและพม่า แต่ทรงใช้วิธีพัฒนาประเทศและบุคลากรให้ทันสมัยเทียมหน้าฝรั่ง รวมทั้งทรงใช้ทูตเป็นเครื่องมือในการต่อกรกับมหาอำนาจฝรั่ง
 
ความสามารถทางการทูตของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ชัด ทั้งการเดินทางไปเจรจาทางการทูตด้วยพระองค์เอง และทั้งส่งพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเป็นตัวแทนพระองค์
 
วันที่พม่าเสียเมือง คณะราชทูตไทย และคณะราชทูตพม่าอยู่ที่อังกฤษเรียบร้อยแล้ว แต่พม่าเดินเกมส์การเมืองผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ยากจะเยียวยา
 
วันนั้น คณะราชทูตพม่า ประเทศที่เคยเป็นศัตรูสู้รบกันมาหลายร้อยปี ยังไม่ทันมีโอกาสจะเข้าเจรจาการทูต เพราะพม่าเสียเมืองให้อังกฤษไปเสียก่อนแล้ว จึงมาขอเข้าพบเพื่อปรับทุกข์กับคณะราชทูตของไทย
 
คณะราชทูตพม่าต้องมานั่งร้องไห้เสียใจกับคณะราชทูตของไทย กับการเสียเมืองในคราวนั้น
 
........................................................................
 
ในอดีต พม่าประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ กว่า 135 ชนชาติ จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้แบ่งการปกครองในพม่าออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตพม่าแท้และเขตภูเขา
 
โดยเขตพม่าแท้อยู่ทางตอนกลางของประเทศ เขตภูเขามี 7 รัฐ คือ ฉาน กะเหรี่ยง มอญ กะยา กะฉิ่น ชิน ยะไข่ โดยเฉพาะ “รัฐฉาน” มี 34 เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าฟ้าปกครองดูแล
 
รัฐฉาน หรือเมืองไต เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นผืนป่าและภูเขาสูง เป็นรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรรมชาติ
 
ตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปี 2502 รัฐฉานได้ปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า หรือคล้ายๆ กับเจ้าเมืองปกครอง โดยเจ้าฟ้าสืบทอดเชื้อสายในตระกูล
 
ในบันทึกประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ รัฐฉานมีเจ้าฟ้าปกครองทั้งสิ้น 34 หัวเมือง
 
อังกฤษบอกว่าถ้าต้องการได้รับเอกราชจากอังกฤษ ต้องรวมการปกครองให้เป็นหนึ่งเดียวเสียก่อน เขตพม่าแท้จึงชักชวนเขตภูเขาให้มารวมตัวเป็นประเทศเดียวกันเป็นการชั่วคราว
 
........................................................................
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นายพลอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี ได้หันมาโน้มนาวให้รัฐต่างๆ รวมถึงรัฐฉานร่วมกับพม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
 
ด้วยความที่ไม่เชื่อใจพม่ามาตั้งแต่ต้น ทางเจ้าฟ้าจึงได้ขอให้มีการทำข้อตกลงกันไว้ที่เมืองป๋างโหลง ทางใต้ของรัฐฉานเมื่อปี 2490 ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “สัญญาป๋างโหลง”
 
ซึ่ง 1 ใน 9 ข้อตกลงนั้นระบุไว้ว่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษและอยู่ร่วมกับพม่าครบ 10 ปี รัฐฉาน รัฐชินและรัฐคะฉิ่นที่เข้าร่วมลงนามสัญญาป๋างโหลงมีสิทธิ์แยกตัวออกจากพม่าไปตั้งประเทศได้ตามที่ต้องการ
 
ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าก็มีการเขียนไว้ด้วยว่า ‘รัฐฉานสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ในปี 2501’
 
หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐต่างๆ และพม่าได้รวมตัวก่อตั้งเป็นสหภาพพม่าขึ้น มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีและใช้ระบบสภา
 
แต่อาจกล่าวได้ว่า การรวมกันเป็นสหภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายพลอองซาน มาตั้งแต่ต้น แต่มาจากริเริ่มของเจ้าฟ้าไทใหญ่ ที่พยายามก่อตั้งสหภาพขึ้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2488 โดยในตอนแรกมีแนวคิดจะร่วมกับรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน แต่ไม่รวมกับพม่า
 
หลังจากพม่ารวมประเทศ "เจ้าฟ้าส่วยแต๊ก" แห่งเมืองหย่องห้วย (ยองห้วย) รัฐฉาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า มีนายอองซานได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
 
ต่อมานายอองซานถูกลอบสังหาร นายอูนุจึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ
 
จนกระทั่งครบ 10 ปี รัฐต่าง ๆ จึงขอแยกตัวเป็นอิสระตามข้อตกลงใน “สัญญาปางโหลง”
 
แต่นายอูนุ ไม่ยอมเนื่องจากกลัวว่าจะสูญเสียรายได้จำนวนมากที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนของรัฐต่างๆ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างต่อเนื่อง
 
ความพยายามขอแยกตัวออกมาจากพม่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2502 เจ้าฟ้าถูกขอให้สละอำนาจ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกับพม่า
 
แต่ความไม่ชอบมาพากลเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อกองทัพพม่าได้ส่งทหารพม่าเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน โดยใช้ข้ออ้างเข้ามาปราบปรามทหารก๊กมินตั๋งที่ถอยร่นมาจากประเทศจีน
 
แต่ฝันร้ายที่สุดของรัฐฉานเกิดขึ้นจนได้ในปี 2505 เมื่อนายพลพม่านามว่า ‘เนวิน’ ได้ยึดอำนาจและปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร
 
จากความอ่อนแอของรัฐบาลชุดนายอูนุ ทำให้นายพลเน วิน ผู้บัญชาการทหารบกของพม่าขณะนั้น ปฏิวัติยึดอำนาจในปี พ.ศ.2505 ประกาศยุบสภา ส่งผลให้สัญญาปางโหลงกลายเป็นโมฆะไป
 
บรรดาพระเทวี เจ้าชาย เจ้าหญิง ตามเมืองต่างๆ จึงต้องหนีตายกันจ้าละหวั่น หลังจากการรัฐประหาร บรรดาเจ้าถูกกวาดล้างและถูกควบคุมในวัง จะไปไหนอย่างไรต้องรายงานทหารและถูกควบคุม
 
หลังเนวินยึดอำนาจในปี 2505 เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ทุกพระองค์ถูกยึดทรัพย์ และถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ในย่างกุ้งเป็นเวลานานเกือบนับ 10 ปีในฐานะนักโทษทางการเมือง
 
เจ้าฟ้าบางพระองค์สิ้นพระชนม์ในคุก หนึ่งในนั้นคือเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วยที่สิ้นพระชนม์จากโรคหัวใจล้มเหลว หลังอยู่ในคุกนานกว่า 8 เดือน
 
เจ้าส่วยแต้กดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศพม่า ในหนังสือ ‘The White Umbrella’ ได้กล่าวไว้ว่า ในงานพิธีศพของเจ้าส่วยแต้กที่จัดขึ้นที่วังหยองห้วยนั้น มีประชาชนจำนวนมาก ทั้งชาวไทใหญ่ ชาวพื้นเมืองที่เดินเท้ามาจากภูเขาอันห่างไกลเป็นเวลาหลายวันเพื่อมาเคารพศพของเจ้าส่วยแต้กเป็นครั้งสุดท้าย
 
ภาพของผู้คนจำนวนมากที่มาร่วมงานศพของเจ้าฟ้าองค์นี้กลายเป็นภาพที่แสดงออกถึงการต่อต้านไม่ยอมรับกองทัพพม่าโดยปราศจากอาวุธ
 
เป็นงานศพเจ้าฟ้าที่จัดอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติและเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นในรัฐฉาน
 
อีกหนึ่งเจ้าฟ้าที่ชีวิตพลิกผันนั่นคือ ‘เจ้าจายหลวงแห่งเมืองเชียงตุง’ เมืองใหญ่สำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐฉาน
 
เจ้าจายหลวงที่สำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศและเพิ่งได้ขึ้นบริหารเมืองเชียงตุงเพียง 15 ปี ถูกเนวินจับคุมขังเป็นเวลา 6 ปี ที่คุกอินเส่ง
 
มรสุมชีวิตของท่านยังไม่จบแค่นั้น ถึงแม้ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเชียงตุง ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ย่างกุ้งจนวาระสุดท้าย เจ้าจายหลวงวัย 70 ปี สิ้นพระชนม์ที่ย่างกุ้งเมื่อปี 2540 โดยไม่มีโอกาสได้เห็นบ้านเกิด ปิดฉากเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเชียงตุง
 
........................................................................
 
รัฐฉานน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของพม่า ที่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเป็นพม่า ได้นัดแนะจะรวมชาติเป็นสหภาพแห่งรัฐฉาน
 
แต่ด้วยเล่ห์เหลี่ยมของพม่า ที่ขอให้รัฐฉานมารวมกับพม่า เป็นสหภาพพม่า เพื่อรวมกำลังเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษก่อนแล้วค่อยแยกประเทศ
 
แต่เมื่อได้เอกราชจากอังกฤษ พม่าก็หักหลัง ฉีกสัญญาที่จะให้รัฐฉานเป็นอิสระ
 
ตอนจบของเรื่องนี้ พม่าเสียเมือง สิ้นแสงฉาน แต่สยามยังอยู่ยั้งยืนยงคงเอกราชเอาไว้ได้จนถึงปัจจุบันนี้
 
ก็เพราะพระบารมี พระปรีชาสามารถ และพระวิริยอุตสาหะในการบำนุทำรุงชาติและประชาชนของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
 
เกิดเป็นไทยแล้ว ต้องรู้คุณแผ่นดิน ต้องรู้คุณพระมหากษัตริย์ไทย อย่าได้ให้ใครมาทำร้ายลูกหลานเหลนโหลนของราชวงศ์จักรี ที่ทุ่มเททุกอย่างให้คนไทยมีแผ่นดินอยู่ได้อย่างผาสุขมาถึงทุกวันนี้
 
........................................................................
 
เหลียวดูพม่าแล้ว มองกลับมาที่ไทยเรา ใครที่หลอกคนไทย ว่าไทยไร้ซึ่งอิสรภาพ เสรีภาพและความเสมอภาค
 
ถึงแม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่เราคือหนึ่งในอันดับต้นๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนา และเราคือประเทศที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในแหลมทองอินโนจีนแห่งนี้
 
ประชาชนชาวพม่า ลาว กัมพูชา ผู้น่าสงสารนั้น บ้านเมืองเคยผ่านความไม่สงบสุข เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจนั้นถูกทำลาย
 
จนถึงทุกวันนี้พม่า ประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และทรัพยากรมากมายมหาศาลยังคงไม่เคยได้รับการพัฒนา เพราะการเมืองที่ขาดคนกลาง อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจอย่างที่คนไทยมี
 
และถึงแม้จะเปลี่ยนทั้งเมืองหลวงและชื่อประเทศมาหลายครั้ง ก็ยังคงมีปัญหาการเมืองไม่สิ้นสุด
 
ทุกวันนี้เราพบชาวพม่าต้องทิ้งถิ่นที่อยู่ออกมาขายแรงงานอยู่ทั้วไทย แต่ถ้าเรายังขาดสติและปัญญา ปล่อยให้นักการเมืองที่หวังเพียงผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องหลอกลวง ส้กวันเราอาจจะเป็นอย่างพม่า
 
ใช้สติและปัญญาทบทวนให้ดีๆ ว่าใครหวังดี ใครหวังร้ายต่อชาติและประชาชน
 
........................................................................
 
อัษฎางค์ ยมนาค
 
************************ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น