วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีย์เสมอ

 


โดย FR. MATTHEW MACDONALD
 
ความทรงจำดีๆอย่างหนึ่งที่ผมมีในช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฟรานซิสกันแห่งสตูเบนวิลล์ คือตอนที่ผมไปชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เวลาเที่ยงคืนเรื่อง The Passion of the Christ ของเมล กิ๊บสัน ในวันพุธรับเถ้าที่ 25 กุมภาพันธ์ 2004 ผมไปที่โรงภาพยนตร์พร้อมกับผู้คนประมาณสองถึงสามร้อยคนจากหอพักทรินิตี้ฮอลล์ ผมมีสอบกลางภาคในเช้าวันรุ่งขึ้นในวิชาปรัชญายุคกลาง และกำลังยุ่งอยู่กับการเรียนก่อนที่จะไปดูหนัง เมื่อถึงเวลาที่หนังเรื่องนี้จบลง ทุกคนต่างน้ำตาซึมบางคนร้องไห้ ผู้คนเดินออกมาในความเงียบและรู้สึกสะเทือนใจในการนำเสนอที่เมล กิบสันเสนอบนหน้าจอภาพยนตร์ เกี่ยวกับพระมหาทรมานที่พระเยซูเจ้าทรงยอมรับเพื่อเป็นค่าไถ่บาปของพวกเราด้วยความรักและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์
 
ในยุคปัจจุบัน คริสตชนกำลังมีประสบการณ์คล้ายกันกับละครซีรี่ส์ทางโทรทัศน์เรื่อง“ผู้ถูกเลือกสรร(The Chosen)” ของดัลลัส เจนกินส์ เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏในพระวรสารเหมือนที่เมล กิบสันทำเมื่อสิบแปดปีก่อนในเรื่อง The Passion of the Christ มีข้อคิดที่สวยงามและแง่บวกมากมายที่ผู้คนได้รับจากการดูซีรีส์ทางทีวีนี้ที่ทำให้เราเหมือนได้เดินไปพร้อมกับพระคริสต์ ทว่าในตอนพิเศษล่าสุดของเทศกาลคริสต์มาสที่ชื่อ “ผู้ส่งสาร” เป็นตอนที่พูดถึงพระแม่มารีย์และการประสูติของพระเยซูเจ้านั้น ดูเหมือนจะล้มเหลวในการถ่ายทอดความจริงที่เกี่ยวกับความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ (virginitas in partu) สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามต่อไปนี้: อะไรคือความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์และเชื่อมโยงกับชีวิตแห่งความเชื่ออย่างไร? มีขอบเขตที่เหมาะสมแค่ไหนในการพูดถึงพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏในพระวรสาร?
 
ความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ (virginitas in partu) เป็นความเชื่อที่ว่าพระนางมารีย์,พระมารดาของพระเจ้าทรงเป็นพรหมจารีย์ทั้งก่อน,ระหว่าง,และหลังการประสูติของพระเยซูคริสต์ ความเชื่อเรื่องพรหมจารีย์นิจกาลของพระนางมารีย์นี้มีนัยสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูเจ้าและพระศาสนจักรและสาวกแต่ละคน พระศาสนจักรเชื่อว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นสาวพรหมจารีย์ก่อนการประสูติของพระคริสต์ตามที่พระวรสารกล่าวไว้ว่า พระนางทรงตั้งครรภ์พระเยซูเจ้า “ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิต” (บทข้าพเจ้าเชื่อของอัครสาวก) สิ่งนี้อ้างอิงถึงในอิสยาห์ 7:14 ที่กล่าวว่า “ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะประทานเครื่องหมายให้ท่าน ด้วยพระองค์เอง หญิงพรหมจารีย์ผู้หนึ่งจะตั้งครรภ์ (Ecce virgo concipiet) และให้กำเนิดบุตรชาย (et pariet) และนางจะเรียกเขาว่า”อิมมานูเอล” ในลูกา 1:28 อัครเทวดากาเบรียลได้แจ้งต่อพระนางมารีย์ว่าพระนางจะทรงตั้งครรภ์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิต และพระนางมารีย์ทรงถามว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารีย์” (quomodo fiet istud quoniam virum non cognosco? – ลก 1:34) ในคำถามนี้ พระนางมารีย์ไม่สงสัยในสิ่งที่ทูตสวรรค์กาเบรียลแจ้งต่อพระนางเกี่ยวกับกระแสเรียกของพระนาง แต่ทรงสงสัยและตั้งคำถามถึงการที่พระเจ้าจะดำเนินการได้อย่างไรทั้งที่พระนางยังเป็นพรหมจารีย์อยู่ สิ่งนี้แตกต่างจากการตอบสนองของเศคาริยาห์ต่อการแจ้งสารของทูตสวรรค์กาเบรียลที่บอกกับเขาว่าเอลิซาเบธจะตั้งครรภ์บุตรชายคนหนึ่งที่จะได้รับชื่อว่ายอห์นผู้จะเป็นประกาศกของพระเจ้า ถึงแม้ว่านางเอลิซาเบธจะเป็นหมันและอยู่ในวัยชราแล้ว เศคาริยาห์สงสัยในสารที่เขาได้รับ เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะแน่ใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร ข้าพเจ้าชราแล้วและภรรยาของข้าพเจ้าก็อายุมากแล้วด้วย” (unde hoc sciam ego enim sum senex et uxor mea processit ใน diebus suis – Lk 1:18) ความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ยังบอกเป็นนัยว่าพระนางไม่ได้ทรงมีความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสกับนักบุญโยแซฟ และไม่มีบุตรอื่นๆนอกเหนือจากพระเยซูเจ้า,ผู้ทรงเป็นบุตรชายหัวปีของพระนาง รากเหง้าของความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ที่การตอบสนองของพระนางมารีย์ต่ออัครเทวดากาเบรียล "เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารีย์" (ลูกา 1:34) นักบุญโทมัส อไควนัส และบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรหลายท่านได้ตีความถ้อยคำเหล่านี้ในการอ้างถึงคำปฏิญาณของพระนางมารีย์ว่าจะถือพรหมจรรย์ โดยกล่าวถึงความตั้งใจที่พระนางมารีย์ทรงยึดถือและปฏิบัติมาตลอดชีวิต (Summa Theologica, III, q. 28, a. 4 & q. 29, a. 2, reply obj. 3)
 
ด้วยความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ (virginitas in partu) ในเวลาที่กำหนดไว้,พระเยซูเจ้าทรงละจากพระครรภ์ของพระนางมารีย์ พระองค์ทรงกระทำสิ่งนี้ในลักษณะที่เป็นอัศจรรย์โดยไม่ได้ทำให้พรหมจารีย์แห่งร่างกายของพระนางมารีย์เสื่อมเสียไป บรรดาบรรพชนของพระศาสนจักรในยุคแรกๆ เช่น นักบุญจัสติน มรณสักขี (เสียชีวิตปี 107) และนักบุญอิรานาอุสแห่งลียอง (เสียชีวิตปี 202) ยึดถือความเชื่อนี้ดังที่มีเขียนไว้ใน ลูกา 1:28 และอิสยาห์ 7:14 มุมมองของพวกท่านสรุปได้ในความคิดที่ว่า “แสงสว่างส่องผ่านกระจกโดยไม่ทำอันตรายต่อกระจกฉันใด พระเยซูเจ้าก็เสด็จผ่านพระครรภ์ของพระนางมารีย์โดยไม่ทำอันตรายต่อความเป็นพรหมจารีย์ของพระนางฉันนั้น” (Mark Miravalle, Introduction to Mary, บทที่ 4, Kindle Edition) นักบุญออกัสตินสอนด้วยว่า “ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้า,พระเจ้าของเรา ทรงแสดงอัศจรรย์ที่โดดเด่น ทรงบังเกิด,หลังจากที่ทรงรับเนื้อหนังแล้ว,จากหญิงพรหมจารีย์ ทั้งนี้พระองค์ทรงประสงค์จะตรัสแก่เราว่า บรรดาศิษย์ของพระองค์จะบังเกิดจากพรหมจารีย์ของพระศาสนจักรโดยอาศัยพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน” (De Sacra Virginitatis, n. 6)
 
นักบุญอัมโบรส ผู้เป็นที่ปรึกษาและเพื่อนของนักบุญออกัสติน ยังยืนยันคำสอนเดียวกันนี้เกี่ยวกับความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ (virginitas in partu) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลงสวดวันคริสต์มาสที่มีชื่อเสียงของท่าน Veni, Redemptor Gentium ในภายหลัง,นักบุญโทมัส อไควนัสจะกล่าวถึงเพลงของนักบุญอัมโบรสในบทข้อพิสูจน์ว่า (Summa Theologica, III, q. 28, a. 2) เพลงสวดนี้ควบคู่ไปกับการอ้างอิงอื่นๆระบุถึงความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ซึ่งกล่าวไว้ในบทข้าพเจ้าเชื่อของอัครสาวก(Nicene Creed) และในคำสอนโรมัน (บทภาวนาศีลมหาสนิท I) สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของหลักการที่กล่าวว่า “กฏแห่งการสวดภาวนาคือกฎแห่งความเชื่อด้วย” (lex orandi lex credendi) หลักการนี้สอนว่า “พิธีกรรมของพระศาสนจักรแสดงถึงความเชื่อของเธอและทำให้เราเข้าใจความคิดของพระศาสนจักรอย่างถ่องแท้ ขณะที่เธอดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้นในการประกอบพีธีนมัสการในที่สาธารณะ” (Brian Graebe, Vessel of Honor, 47)
 
นักบุญโทมัส อไควนัสอธิบายถึงความเหมาะสมของความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ที่มีมาตั้งแต่จุดกำเนิดดังนี้:
 
มีเหตุผลที่เหมาะสมสี่ประการในการที่พระคริสต์ควรประสูติจากหญิงพรหมจารีย์ 
ประการแรก เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มา เพราะในเมื่อพระคริสต์ทรงเป็นพระบุตรที่แท้จริงจากธรรมชาติของพระเจ้า จึงไม่สมควรที่พระองค์จะมีบิดาอื่นอีกนอกจากพระเจ้า ด้วยเกรงว่าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นบิดาที่เป็นของพระเจ้าจะถูกโอนไปยังอีกคนหนึ่ง
 
ประการที่สอง สิ่งนี้เหมาะสมกับพระบุคคลของพระบุตรเอง ผู้ซึ่งทรงถูกส่งมา เพราะพระองค์ทรงเป็นพระวจนะของพระเจ้า และพระวจนะนั้นเกิดขึ้นโดยปราศจากมลทินใดๆจากภายใน อันที่จริง,มลทินใดๆภายในนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความดีสมบูรณ์ของพระวจนาตถ์ ดังนั้น เนื่องจากพระวจนะของพระเจ้าทรงรับเอาเนื้อหนัง,เป็นเนื้อหนังของพระวจนะของพระเจ้า จึงควรที่จะให้กำเนิดโดยปราศจากมลทินใดๆของผู้ที่เป็นมารดาด้วย
 
ประการที่สาม สิ่งนี้เหมาะสมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์ซึ่งปราศจากบาป และด้วยเหตุนี้เอง บาปของโลกจึงถูกกำจัดออกไป ตามยอห์น 1:29ที่กล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (นั่นคือ ลูกแกะที่ปราศจากมลทิน) “ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” บัดนี้เป็นไปไม่ได้ในธรรมชาติที่เสื่อมทรามแล้ว ที่เนื้อหนังซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางเพศ,จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากบาปกำเนิด ดังที่ออกัสตินกล่าวว่า (De Nup. et Concup. i): “ในความสัมพันธ์นั้น” กล่าวคือ การแต่งงานของพระนางมารีย์และโยเซฟ “เป็นการสมรสซึ่งปราศจากสิ่งนี้ นั่นคือ ปราศจากราคะทางเนื้อหนังซึ่งเกิดจากบาป เพราะในเนื้อหนังที่มีมลทิน,สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และเป็นพระประสงค์ของพระองค์ในการจะมาปฏิสนธิ,พระองค์ผู้ทรงปฏิสนธิโดยปราศจากบาป
 
ประการที่สี่ ในช่วงสุดท้ายของการมาบังเกิดของพระคริสต์ ซึ่งก็คือการที่มนุษย์จะได้บังเกิดใหม่เป็นบุตรของพระเจ้า “เขาไม่ได้เกิดจากความปรารถนาทางธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยอห์น 1 :13) นั่นคือฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ซึ่งพระคริสต์จะต้องปรากฏเป็นแบบอย่าง (Summa Theologica, III, q. 28, a. 2).
 
ภายหลังโทมัสจะพูดถึงความเจ็บปวดของพระนางมารีย์ในการคลอดบุตรในลักษณะดังต่อไปนี้:
 
ความเจ็บปวดของการคลอดบุตรเกิดจากการที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดา มีการกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว (28, 2, Replies to objections), ว่าพระคริสต์เสด็จออกมาจากครรภ์ที่ปิดสนิทของพระมารดาของพระองค์ และด้วยเหตุนี้ โดยไม่เปิดทางนั้น ดังนั้นจึงไม่มีความเจ็บปวดในการบังเกิด เนื่องจากไม่มีมลทินใดๆ ในทางตรงข้าม มีความยินดีอย่างยิ่งที่มนุษย์-พระเจ้า “ได้บังเกิดมาในโลก” ตามที่อิสยาห์ 35:1-2 กล่าวไว้ “ถิ่นทุรกันดารและแผ่นดินแห้งแล้งจงยินดีเถิด ทุ่งเวิ้งว้างจงเปรมปรีด์และผลิดอกเหมือนต้นดอกดิน สถานที่นี้จงผลิดอกอย่างอุดม จงเปรมปรีด์และขับร้องด้วยความยินดี เพราะได้รับสิริรุ่งโรจน์” (Summa Theologica, III, q. 35, a. 6)
 
พระสันตะปาปาเปาโลที่ 4 ในสังคายนาแห่งเทรนต์,ภายหลังจะยืนยันถึงความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ โดยเตือนผู้ที่คัดค้านว่า “พระแม่มารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งไม่เพียงแต่ทรงเป็นพระมารดาที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น พระนางยังทรงเป็นพรหมจารีย์เสมอไปด้วย กล่าวคือ ก่อนทรงคลอดพระคริสต์,ระหว่างการคลอดและตลอดไปเป็นนิจกาลหลังคลอด” (DH 1880 as cited in Graebe, Vessel of Honor, 51)
 
พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ตรัสถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์อย่างอัศจรรย์และความเป็นมารดาของพระแม่มารีย์ในความสัมพันธ์กับความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ดังนี้:
 
[พระนางมารีย์] ผู้ซึ่งทรงมีวิญญาณที่ปราศจากบาป,ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์,ทรงมีฐานะอยู่เหนือวิญญาณอื่นๆทั้งหมดที่พระเจ้าทรงสร้าง พระนางซึ่ง “ในนามของมนุษยชาติทั้งมวล” ทรงให้ความยินยอม “สำหรับการแต่งงานฝ่ายวิญญาณระหว่างพระบุตรของพระเจ้ากับธรรมชาติของมนุษย์ ” ภายในครรภ์พรหมจารีย์ของพระนาง พระคริสต์,พระเจ้าของเราทรงรับตำแหน่งศีรษะของพระศาสนจักรอันสูงส่งแล้ว; ในการให้กำเนิดอย่างอัศจรรย์ พระนางทรงนำพระองค์ออกมาเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตที่เหนือธรรมชาติ และแสดงพระองค์ที่เพิ่งบังเกิดในฐานะประกาศก,กษัตริย์,และพระสงฆ์ ต่อบรรดาผู้ที่มาจากท่ามกลางชาวยิวและคนต่างชาติ ซึ่งเป็นคนพวกแรกที่มานมัสการพระองค์ (Mystici Corporis, n. 110)
 
สังคายนาวาติกันที่สองได้ขยายความเข้าใจนี้โดยกล่าวว่า:
 
ในความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระมารดากับพระบุตรในงานแห่งความรอดนั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่การปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารีย์ของพระคริสต์จนถึงการสิ้นพระชนม์ ... ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ปรากฏชัดตั้งแต่กำเนิดขององค์พระเยซูเจ้า,ผู้ทรงไม่ลดทอนความบริสุทธิ์ของพรหมจารีย์ของพระมารดาแต่ทรงประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่พระนาง. (Lumen Gentium, n. 57)
 
คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกยืนยันคำสอนนี้เกี่ยวกับความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ด้วยว่า:
 
ความเชื่อที่ลึกซึ้งในเรื่องความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ทำให้พระศาสนจักรยอมรับในความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์อย่างแท้จริงแม้ในการให้กำเนิดพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์ อันที่จริง การประสูติของพระคริสต์ “ไม่ได้ทำให้พรหมจรรย์ของพระมารดาลดน้อยลงแต่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์” ดังนั้น พิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองให้พระนางมารีย์ทรงเป็น Aeiparthenos “พรหมจารีย์นิจกาล” (CCC, n. 499)
 
พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงสอนเกี่ยวกับความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ ด้วยว่า ร่างกายแสดงถึงส่วนลึกภายในของบุคคลด้วย ความบริสุทธิ์ทางกายของพระนางมารีย์เป็นการแสดงออกภายนอกของความลึกลับของพรหมจรรย์ภายในที่สมบูรณ์แบบของพระนาง และเนื่องจากพระนางมารีย์จะต้องเป็นพรหมจรรย์ในความบริสุทธิ์ฝ่ายวิญญาณและร่างกาย,พรหมจรรย์ของพระนางจึงสมบูรณ์แบบและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแต่ละคน (เปรียบเทียบ Mulieris Dignitatem, n. 17-22)
 
ความสำคัญของหลักคำสอนเรื่องความเป็นพรหมจารีย์นิจกาลของพระแม่มารีย์ คือเป็นการบอกเป็นนัยว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นสาวกที่สมบูรณ์แบบของพระเยซูเจ้า,พระบุตรของพระนาง คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกกล่าวถึงความเป็นจริงนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้:
 
พรหมจารีย์ของพระนางมารีย์แสดงถึงความคิดริเริ่มอย่างแท้จริงของพระเจ้าในการเสด็จมาบังเกิด...โดยการบังเกิดจากหญิงพรหมจารีย์ของพระองค์,พระเยซูเจ้า,อาดัมใหม่, นำการบังเกิดใหม่ของบรรดาบุตรบุญธรรมในพระจิตเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ การยอมรับชีวิตนี้ถือเป็นพรหมจารีย์เพราะเป็นของขวัญจากพระจิตที่ทรงประทานแก่มนุษย์ทั้งหมด เพราะกระแสเรียกแห่งการแต่งงานของมนุษย์กับพระเจ้านั้นสัมฤทธิผลอย่างสมบูรณ์ในการเป็นมารดาพรหมจารีย์ของพระแม่มารีย์ พระนางมารีย์ทรงเป็นสาวพรหมจารีย์ เพราะความเป็นพรหมจารีย์ของพระนางเป็นเครื่องหมายแห่งความเชื่อของพระนาง ที่“ไม่มีตำหนิด้วยข้อสงสัยใดๆ” และพระพรของพระนางเองในการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ความเชื่อของพระนางที่ทำให้พระนางทรงเป็นมารดาของพระผู้ช่วยให้รอด (CCC n. 503-507)
 
ในการรับชมภาพยนตร์ซีรีย์ตอน The Chosen Christmas "The Messengers" สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตจุดแข็งควบคู่ไปกับข้อผิดพลาดและข้อจำกัด เราต้องไม่เปรียบเทียบความลึกลับของความเชื่อที่มีอยู่ในพระคัมภีร์,ธรรมประเพณี,และคำสอนของพระศาสนจักร ผ่านการพรรณนาถึงพระชนม์ชีพของพระคริสต์อย่างมีศิลปะตามที่เห็นในภาพยนตร์ แม้แต่ในการชมภาพวาดทางศิลปะที่ปราศจากข้อผิดพลาดทางเทววิทยา เราควรมองเห็นความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างศีลศักดิ์สิทธิ์กับสัญลักษณ์ทางศิลปะกับความลึกลับที่สัญลักษณ์นั้นมีอยู่และขีดจำกัดของมุมมองความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงจิตใจของผู้คนในที่ที่พวกเขาอยู่ในยุคปัจจุบัน,เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการประกาศพระวรสารอย่างมีประสิทธิภาพและสำหรับการเป็นสาวกของพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อ ทว่าความเชื่อมักมีองค์ประกอบเหนือกาลเวลาในทุกยุคทุกสมัย เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องไม่ปล่อยให้ความคิดเกินจริงมาขัดขวางกิจการของพระเจ้า ไม่ว่าจะโดยผ่านศิลปะหรือในการใช้ชีวิตของมนุษย์เราเอง เมื่อความความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นแรงผลักดันเพียงอย่างเดียว เราเสี่ยงที่จะทำให้พระวรสารปราศจากความหมายและอำนาจเพื่อมีชัยชนะต่อโลก
 
เมื่อเรารับชม The Chosen ตอน “ผู้ส่งสาร” ในคริสต์มาสนี้ ขอให้เรายืนยันความดี ความจริง และความสวยงามในการบรรยายถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ ความดีนี้สามารถเป็นแหล่งของการปลอบประโลมฝ่ายวิญญาณในคำภาวนาของเรา พร้อมกันนั้น ขอพระเจ้าทรงอวยพรและประทานปัญญาและพระหรรษทานแก่เรา ให้มองเห็นขีดจำกัดและข้อผิดพลาดของมนุษย์ สำหรับการเล่าเรื่องถึงพระชนม์ชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราในขอบเขตแห่งความเชื่อ,เทววิทยา,และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมาจาก มุมมองที่ไม่ใช่คาทอลิก ขอให้ภูมิปัญญานี้ทำให้เรามีความเชื่อและความเข้าใจที่ชัดเจนที่จะไม่สับสนกับการดำเนินเรื่องทางศิลปะสำหรับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงและความลึกลับของชีวิตของพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ที่ถ่ายทอดให้เราผ่านคำสอนของพระศาสนจักร ในการทำเช่นนั้นขอให้เราเติบโตขึ้นในความรักที่แท้จริงและความรักของพระเยซูเจ้า,ผู้ทรงเป็นกษัตริย์,พระกุมาร,และพระเจ้าของเรา นำเราออกจากเงามืดและอาศัยสัญลักษณ์ต่างๆที่ศิลปะในภาพยนตร์สามารถนำมาสู่การอธิษฐานภาวนาของเรา นำเรามาสู่ความจริงและมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยม
 
************************
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น