ภาพวาดโดยจิตรกร Giovanni Bellini
เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจนี้พูดถึงความลึกลับแห่งพระฤทธานุภาพของพระเยซูเจ้าในฐานะพระเจ้า และทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากเรื่องนี้
วันอาทิตย์นี้เป็นวันฉลองการเปลี่ยนแปลงพระวรกายอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงพา เปโตร,ยากอบและยอห์น ขึ้นไปยังภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา และเกิดเหตุการณ์ที่พระวรสารทั้งสามฉบับคือฉบับของ มัทธิว,มาระโกและลูกาได้กล่าวถึง “ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไปและฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า ทันใดนั้น บุรุษสองคนคือโมเสสและประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์ ทั้งสองคนปรากฏมาในสิริรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก เมื่อตื่นขึ้นก็เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์ ขณะที่บุรุษทั้งสองคนกำลังจะจากพระเยซูเจ้าไป เปโตรทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร ขณะที่เขากำลังพูดอยู่นั้น เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ เมื่ออยู่ในเมฆ เขากลัวมาก เสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลูกา 9:28-36)
เรื่องราวพระวรสารตอนนี้ยังถูกอ่านในช่วงเทศกาลมหาพรตด้วย
พระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงพิจารณาไตร่ตรองความหมายของเหตุการณ์นี้ในหนังสือ Jesus of Nazareth ของพระองค์
จากคำอธิบายของพระสันตปาปาเบเนดิกต์ เราสามารถดึงสัญลักษณ์เจ็ดประการจากการเปลี่ยนแปลงพระวรกายของพระเยซูเจ้านี้ออกมาได้ดีงนี้
1 อัครสาวกทั้งสามของพระเยซู
พระเยซูทรงพาอัครสาวกเพียงสามคนไปด้วย ได้แก่ เปโตร ยากอบ และยอห์น ซึ่งเป็นสามคนที่ใกล้ชิดกับพระเยซูในช่วงเวลาใกล้ถึงความทุกข์โศกเศร้าในสวนมะกอกเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฉากทั้งสองนี้แม้จะตรงกันข้ามกันแต่ก็ "เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก" การเปลี่ยนแปลงพระวรกายอย่างรุ่งโรจน์นำไปสู่พระมหาทรมาน และพระมหาทรมานนำกลับไปสู่สง่าราศีแห่งการเปลี่ยนแปลงพระวรกายอย่างรุ่งโรจน์
ในเวลาเดียวกัน อัครสาวกทั้งสามคนนี้เตือนเราถึง อพยพ 24 “ซึ่งโมเสสพาอาโรน นาดับ และอาบีฮูขึ้นไปพบพระยาห์เวห์บนภูเขา – และแม้ว่าจะมีผู้อาวุโสของอิสราเอลเจ็ดสิบคนติดตามไปด้วยก็ตาม”
2 บนภูเขา
ภูเขามีความสำคัญอย่างยิ่งในพระคัมภีร์ โดยมักจะหมายถึง “สถานที่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าเป็นพิเศษ”
สำหรับพระเยซู ภูเขาเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ: “ภูเขาแห่งการประจญทดลอง, ภูเขาแห่งการเทศนาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์, ภูเขาแห่งการอธิษฐานภาวนาของพระองค์, ภูเขาแห่งการเปลี่ยนแปลงพระวรกาย, ภูเขาแห่งความทุกข์ทรมานของพระองค์, ภูเขาแห่งไม้กางเขน และสุดท้าย ภูเขาของพระเจ้าผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์”
ภูเขายังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมากในพันธสัญญาเดิมอีกด้วย มีภูเขาซีนาย ซึ่งเป็นที่พระเจ้าทรงประทานพระบัญญัติสิบประการ ภูเขาโฮเรบ (อาจเป็นอีกชื่อหนึ่งของซีนาย) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพุ่มไม้ที่ลุกไหม้ และภูเขาโมริยาห์ ซึ่งอับราฮัมได้รับคำสั่งให้ถวายบูชาอิสอัค
“ภูเขาทั้งหมดนี้เป็นทั้งภูเขาแห่งพระมหาทรมานและภูเขาแห่งการสำแดงเปิดเผย(revelation)ในเวลาเดียวกัน และภูเขาทั้งหมดนี้ก็เป็นการบ่งบอกถึงพระวิหารบนภูเขา ซึ่งการสำแดงเปิดเผยได้ถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นพิธีกรรม” พระสันตปาปาเบเนดิกต์ทรงกล่าวในหนังสือ
3 พระพักตร์ที่ส่องแสงเจิดจ้า
พระสันตปาปาเบเนดิกต์อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงพระวรกายและพระพักตร์เป็นเหตุการณ์อันสืบเนื่องมาจากการอธิษฐานภาวนา “มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูทรงสนทนากับพระบิดาของพระองค์ นั่นคือการแทรกซึมอย่างลึกซึ้งระหว่างพระองค์กับพระบิดา ซึ่งจากนั้นก็กลายเป็นแสงสว่างบริสุทธิ์เจิดจรัส”
พระเยซูเจ้าคือ “แสงสว่างจากแสงสว่าง” และความจริงนี้รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส
“และพระองค์ก็ทรงมีพระวรกายเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าพวกเขา” มาระโกกล่าวอย่างเรียบง่าย ก่อนจะพูดเสริมเล็กน้อยเหมือนกับกำลังพูดติดขัดต่อหน้าความลึกลับนี้ “ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้” (มาระโก 9:2-3)
มัทธิวมีคำพูดที่ยกย่องมากกว่านั้นตามคำพูดของเขา: “พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเหมือนแสงสว่าง” (มัทธิว 17:2)
ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่เริ่มเล่าเรื่องราวโดยระบุจุดประสงค์ของการเสด็จขึ้นไปบนภูเขาของพระเยซูว่า พระองค์ “เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา” (ลูกา 9:28) ในบริบทของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซู ลูกาอธิบายถึงเหตุการณ์ที่สาวกทั้งสามจะได้เป็นพยานว่า “ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไป และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า” (ลูกา 9:29)
พระพักตร์ที่สว่างเจิดจ้าของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกับโมเสสในอพยพ 34 เมื่อโมเสสลงมาจากภูเขาหลังจากได้สนทนากับพระเจ้าแล้ว ใบหน้าของโมเสสส่องสว่าง อย่างไรก็ตาม แสงสว่างของโมเสสมาจากภายนอก ในขณะที่แสงของพระเยซูมาจากภายใน
4 ฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า
ผู้นิพนธ์พระวรสารพยายามอธิบายลักษณะฉลองพระองค์ของพระเยซู ซึ่งมีสีขาวเจิดจ้าเช่นกัน
พระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 กล่าวว่าฉลองพระองค์เหล่านี้พูดถึงอนาคตของเราเอง หนังสือวิวรณ์กล่าวถึงผู้ได้รับความรอดว่าพวกเขาสวมเสื้อผ้าสีขาว เสื้อผ้าของพวกเขาเป็นสีขาวเพราะถูกชำระให้สะอาดในพระโลหิตของลูกแกะ “นั่นหมายความว่าพวกเขาได้รวมเป็นหนึ่งกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าผ่านการรับศีลล้างบาป และพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าคือการชำระล้างที่คืนเสื้อผ้าเดิมที่สูญเสียไปจากบาปของเราให้กลับมาขาวสะอาด (ดู ลูกา 15:22) เราสวมเสื้อผ้าของพระเยซูในความสว่างและเราเองก็กลายเป็นความสว่าง”
5 โมเสสและเอลียาห์
โมเสสผู้ได้รับพระบัญญัติสิบประการที่จารึกด้วยพระหัตถ์ของพระเจ้าบนแผ่นศิลา โมเสสจึงเป็นตัวแทนของธรรมบัญญัติ เอลียาห์เป็นตัวแทนของบรรดาประกาศกผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้า
โมเสสและเอลียาห์เป็นตัวแทนของพระมหาทรมานและเป็นพยานของพระมหาทรมาน พวกเขามาสนทนากับพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับพระมหาทรมานที่พระเยซูจะต้องทรงรับในขณะที่อยู่บนโลก แต่การสนทนาเรื่องเหล่านี้กับพระเยซูระหว่างการเปลี่ยนแปลงพระวรกายทำให้เห็นได้ชัดว่าพระมหาทรมานนี้ทำให้ได้รับความรอด เต็มไปด้วยความรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระมหาทรมานถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นความสว่าง เป็นอิสระภาพและมีความชื่นชมยินดี
6 ก้อนเมฆ
“ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้ มีเสียงหนึ่งออกมาจากก้อนเมฆนั้นว่า ‘ผู้นั่เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด’” (มาระโก 9:7) ก้อนเมฆศักดิ์สิทธิ์หรือเชคินาห์(shekinah)เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า
นี่เป็นภาพเดียวกับที่เรามีในพันธสัญญาเดิม เมื่อเมฆที่ปกคลุมเต็นท์แห่งการนัดพบบ่งบอกแก่ชาวอิสราเอลว่าพระเจ้าทรงประทับอยู่
ขณะนี้ พระเยซูเองคือเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ และเมฆแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้าก็ปกคลุมผู้อื่นด้วยเช่นกัน
เราเห็นเมฆในพิธีล้างด้วยน้ำของพระเยซู โดยที่พระบิดาตรัสจากเมฆนั้นว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” (มาระโก 1:11)
7 พระวาจาของพระเจ้า
ตรงกันข้ามกับพระวาจาของพระบิดาที่ออกมาจากเมฆที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดน เวลานี้,สถานที่อยู่บนภูเขาแห่งการเปลี่ยนแปลงพระวรกาย พระบิดาตรัสบางอย่างที่มากกว่านั้นว่า “จงฟังท่านเถิด”
ที่นี่ อีกครั้ง, เราเห็นความคล้ายคลึงกับซีนาย และการเปิดเผยของพระเจ้าในพระบัญญัติสิบประการ
แต่พระสันตปาปาเบเนดิกต์ได้กล่าวไว้ว่าที่นี่มีบางอย่างที่มากกว่านั้น:
H. Gese ได้ให้คำอธิบายที่เฉียบแหลมเกี่ยวกับฉากนี้: “พระเยซูเองได้กลายเป็นพระวาจาแห่งการเปิดเผยจากพระเจ้า พระวรสารไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนและทรงพลังกว่านี้อีกแล้ว พระเยซูเองคือโตราห์” (Zur biblischen Theologie) พระบัญญัติข้อนี้ทำให้การสำแดงพระองค์สิ้นสุดลงและสรุปความหมายที่ลึกซึ้งที่สุด สาวกต้องร่วมเดินลงจากภูเขาไปกับพระเยซูและเรียนรู้ที่จะ “ฟังพระองค์” อีกครั้ง
************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น