วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

สามเณรชาวโปแลนด์ที่ช่วยชีวิตหญิงชาวยิว

By ROGER COHEN

ระหว่างฤดูร้อนปี 1942  มีหญิงสองคนในกรุงคราคอฟ  ของโปแลนด์ ถูกประกาศว่าเป็นชาวยิว และถูกนำตัวไปขังคุก  ทั้งสองอยู่ในคุกไม่กี่เดือนก็ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเบลเซค  และในเดือนตุลาคม ทั้งสองก็ถูกฆ่าด้วยการรมก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ที่ผลิตจากเครื่องยนต์ดีเซลภายในห้องรมก๊าซที่ทหารนาซีสร้างขึ้น
ชื่อของทั้งสองคือ ฟรีเมตา เกลบันด์ และ ซาโลเม ซีเรอร์  ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน  ปรากฏว่า ฟรีเมตา เป็นคุณยายของภรรยาของผม  ส่วน ซาโลเม – รู้จักในชื่อ ซาล์ลา – มีลูกสาวสองคน  ลูกสาวคนหนึ่งสามารถรอดชีวิตมาได้จากสงคราม(สงครามโลกครั้งที่ 2)  แต่อีกคนหนึ่งเสียชีวิต
ลูกสาวที่รอดชีวิตเป็นลูกสาวคนโต  มีชื่อว่า อีดิธ  ซีเรอร์  Edith Zierer  เวลานั้นคือเดือน มกราคม 1945 เธออายุ 13 ปี  เธอหลบหนีจากค่ายแรงงานนาซีที่อยู่ในเชสโตโชวา , โปแลนด์  อยู่ในสภาพจวนเจียนจะตาย  ไร้บ้านไร้ครอบครัว  เธอไม่รู้ว่าพ่อแม่และน้องสาวของเธอถูกฆ่าตายแล้วโดยทหารเยอรมัน  เธอเดินไปอย่างอิดโรยมุ่งหน้าไปสถานีรถไฟ  และที่สถานีเธอปีนขึ้นรถตู้สัมภาระ  รถไฟเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ  ลมที่หนาวเหน็บพัดผ่านกระทบตัวของเธอ  เมื่อความหนาวเย็นมีมากขึ้นจนไม่สามารถทนต่อไปได้  เธอจึงลงจากรถไฟที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ Jedrzejow  ที่มุมๆหนึ่งของสถานีรถไฟ  เธอนั่งงอตัว  ไม่มีใครเหลียวแลมองดูเธอเลย  ถึงแม้เธอจะสวมใส่เสื้อผ้านักโทษซึ่งเป็นแถบริ้ว  นั่นเป็นเวลาปลายของสงคราม  เธอไม่อาจเคลื่อนไหวไปไหนได้  เธอได้แต่นั่งรอความตาย
มีชายหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาใกล้เธอ “หน้าตาดีมาก” อีดิธระลึกถึงความหลังและเล่าให้ฟัง  เขาสวมเสื้อคลุมยาวและท่าทางคล้ายพระสงฆ์ เขาถามเธอว่า “หนูมาจากที่ไหน?” และ “หนูกำลังจะทำอะไร?”  อีดิธตอบเขาไปว่า  เธอกำลังหาทางไปที่คราคอฟเพื่อพบกับพ่อแม่ของเธอ
ชายหนุ่มคนนั้นหายตัวไปพักหนึ่ง  เขากลับมาพร้อมกับถ้วยน้ำชา  อีดิธดื่มน้ำชานั้น  เขาบอกเธอว่าจะช่วยพาเธอไปคราคอฟ  แล้วเขาก็หายตัวไปอีกครั้งหนึ่ง  เขากลับมาพร้อมกับขนมปังและเนย  ทั้งสองพูดคุยกันเกี่ยวกับทหารโซเวียตที่กำลังเข้ามาขับไล่นาซี นั่นเป็นเดือนมกราคม 1945  ห้าเดือนก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปจะสิ้นสุดลง  อีดิธบอกเขาว่า  เธอเชื่อว่าพ่อแม่และน้องสาวของเธอยังมีชีวิตอยู่
 “ลองยืนขึ้นซิ” ชายหนุ่มเอ่ย  อีดิธพยายามจะยืนแต่ก็ล้มลง  เขาจึงแบกเธอขึ้นหลังเดินเป็นระยะทางสามกิโลเมตรไปยังสถานีรถไฟอีกหมู่บ้านหนึ่ง  และที่นั่นเขาวางเธอไว้บนตู้รถไฟที่ใช้ขนวัวซึ่งมุ่งหน้าสู่กรุงคราคอฟ  มีครอบครัวอื่นอยู่ในนั้นด้วย  ชายหนุ่มนั่งข้างๆอีดิธ  เอาเสื้อคลุมของเขาสวมให้เธอและก่อกองไฟเล็กๆ
อีดิธได้ไปถึงคราคอฟในปี 1945  ครอบครัวที่อยู่บนตู้รถไฟด้วยกันนั้นเป็นชาวยิวเช่นเดียวกัน  พวกเขาเตือนเธอว่า เขาอาจพาเธอไปคอนแวนต์และขังเธอไว้ที่นั่น  ชีวิตในค่ายกักกันทำให้เธอไม่ไว้ใจใคร เธอจึงคิดที่จะหลบหนีเมื่อเป็นไปได้  เมื่อรถไฟไปถึงคราคอฟ  ชายหนุ่มช่วยพาอีดิธลงจากรถไฟ  ขณะที่เขาหันหน้าไปทางอื่น  อีดิธคิดว่านี่เป็นโอกาสที่เธอจะหนีได้แล้ว  เธอจึงรีบวิ่งทันที
เธอยังจำเวลาที่ชายหนุ่มเรียกชื่อของเธอ “อีดิธตา  อีดิธตา” ซึ่งเป็นชื่อของเธอในภาษาโปแลนด์  เธอวิ่งหนีเข้าไปอยู่ในฝูงชน  เป็นเวลาอีกหลายปีทีเดียวที่เธอจะได้พบกับชายหนุ่มผู้นี้อีกครั้ง
อีดิธเป็นชาวยิวเพียงไม่กี่คนที่โชคดีมีชีวิตรอดจากค่ายกักกันของนาซีได้  แต่ต่อมาเธอก็รู้ว่าพ่อแม่และน้องสาวของเธอเสียชีวิตแล้ว
 
อีดิธเกิดในปี 1939 จากครอบครัวชาวยิวที่มีฐานะดีในเมือง Katowice ของโปแลนด์ และมีการศึกษาดี เมื่อเยอรมนียกทัพบุกเข้ามารุกรานโปแลนด์  ครอบครัวของเธอต้องหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง “เราต้องหลบซ่อนอยู่ในห้องใต้หลังคาของโรงนา อยู่ท่ามกลางฝูงไก่” อีดิธเล่าความหลังในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์
ไม่ช้าบิดามารดาและน้องสาวก็ถูกฆ่า  และอีดิธต้องมีชีวิตอยู่เพียงลำพังโดยไม่รู้เรื่องราวครอบครัวของเธอเลย  เธอถูกส่งไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธในค่ายแรงงาน Skarzysko-Kamienna ในโปแลนด์ “ฉันทำงานวันละ 12 ชั่วโมง  โชคดีที่ฉันพูดภาษาเยอรมันได้ดี  นายจ้างชาวเยอรมันจึงชอบฉัน  มิฉะนั้นฉันคงเสียชีวิตไปแล้ว  ฉันทำงานตั้งแต่ปลายปี 1942 จนถึงวันที่ 28 มกราคม 1945 ฉันต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลก ภายใต้อากาศที่หนาวจัด ต้องทำงานอย่างหนัก  ฉันซูบผอม  อ่อนแอ ไม่มีรองเท้า  เท้าจึงเย็นจนแข็ง”
ปลายเดือนมกราคม 1945  อีดิธหลบหนึออกจากค่ายแรงงานได้และไปอยู่ที่สถานีรถไฟในโปแลนด์ “ฉันผอมแห้งจนเห็นซี่โครง  ทั้งอ่อนเพลียและเหนื่อยจนแทบตาย  ฉันนอนอยู่ที่นั่น  ซึมเศร้าไม่เคลื่อนไหว” เธอเล่าในการให้สัมภาษณ์
“ทันใดนั้น  โดยไม่คาดฝัน  พระสงฆ์หนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านผู้คนตรงมาที่ฉัน  ฉันมองขึ้นไปและเห็นพระสงฆ์คาทอลิกในชุดเสื้อคลุมยาวสีน้ำตาลกำลังยืนอยู่ข้างหน้าฉัน  ด้วยแววตาอันสดใส  เขาหันมามองฉันในท่ามกลางผู้คนที่กำลังนั่งอยู่ที่สถานีรถไฟ  เขาถามฉันว่า “หนูน้อย  หนูมานั่งอยู่ที่นี่อย่างนี้ทำไม?”
              แล้วเขาก็นำน้ำชา  ขนมปังและเนยมาให้ฉันทาน “ฉันซูบผอม  อ่อนเพลียและป่วย  ทุกวันนี้ฉันยังจำได้ดีถึงคำแรกที่กัดขนมปัง...เมื่อฉันกินเสร็จ  เขาบอกให้ฉันยืนขึ้น “เพราะเรากำลังจะไปกัน” เขาพูด  ฉันไม่สามารถยืนได้เพราะขาไม่มีแรง  ฉันล้มลงกับพื้นของสถานี  เขาจึงใช้แขนพยุงฉัน และแบกฉันขึ้นหลัง “เราไปกันตามลำพังสองคน  ฉันอยู่บนหลังของเขา  เดินไปตามรางรถไฟจนถึงอีกสถานีหนึ่ง” อีดิธเล่า
ในกรุงคราคอฟ  อีดิธได้รับความอนุเคราะห์จากญาติของเธอ  ต่อมาเธอโชคดีได้เป็นหนึ่งในร้อยคนของเด็กกำพร้าที่ได้รับการช่วยเหลือจาก ลีนา คูชเลอร์ Lena Kuchler  เธอได้อพยพไปกับลีนาไปยัง Zakopane, เช็คโกสโลวาเกีย และ ฝรั่งเศส  คูชเลอร์ ถาม อีดิธว่าจะเขียนไดอารี่เล่าประสบการณ์ในค่ายกักกันไหม?  อีดิธเขียนในตอนเริ่มต้นของสมุดบันทึกว่า “ฉันไม่ต้องการเขียนเล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กเลย  ในมโนภาพของฉัน  ฉันเห็นทุกสิ่งในอดีตซึ่งเจ็บปวดมาก"
ในเวลานั้นสุขภาพของอีดิธยังไม่ดีนัก  เธอปวดหัวจึงทำให้ไม่สามารถเขียนบันทึกได้  แต่เมื่อเธอมีอาการดีขึ้นได้เขียนไดอารี่ต่อ และได้เขียนชื่อของชายหนุ่มผู้ช่วยชีวิตของเธอไว้ด้วย
ในปี 1951 อีดิธอพยพไปอยู่ที่อิสราเอล  และได้แต่งงานมีครอบครัวของตัวเอง  เธอทำงานเป็นทันตแพทย์    อีดิธจำรายละเอียดของวันที่ชายหนุ่มชาวโปแลนด์ช่วยชีวิตของเธอไว้  ได้ไม่มากนัก  แต่เธอจำได้ในท่าทีที่เขาร้องเรียกเธอขณะที่เธอวิ่งหนีไปจากเขา  และอีกสิ่งหนึ่งก็คือในขณะที่ทั้งสองอยู่ในตู้รถไฟ  ชายหนุ่มบอกเธอว่า  ชื่อของเขาคือ “คาโรล”  เขาพูดด้วยรอยยิ้มว่า “คาโรล  วอยติยา”
เธอได้ยินชื่อของชายหนุ่มผู้นี้อีกครั้งหนึ่งในปี 1978  เวลานั้นเธอกำลังทำอาหารในครัวและดูทีวีข่าวอยู่  เธอได้ยินจากทีวีว่า “พระสันตะปาปาองค์ใหม่ถูกเลือกแล้ว  พระองค์เป็นชาวโปแลนด์  พระนามของพระองค์คือ  คาโรล  วอยติยา”
หยาดน้ำตาหลั่งลงมาอาบแก้มของอีดิธ  เธอเฝ้ามองดูชายซึ่งขณะนี้อายุมากขึ้น  เขากำลังเดินออกมายืนอยู่ที่เฉลียงของอาสนวิหาร น.เปโตร
-                   ชายคนเดียวกับที่หยุดตรงที่เธอนั่งอยู่ในสถานีรถไฟและช่วยชีวิตของเธอ
-                   ชายคนเดียวกับที่ให้ชาและขนมปังแก่เธอ และแบกเธอขึ้นหลังพาไปยังสถานีรถไฟ
-                   รอยยิ้มอันอบอุ่นเช่นนั้น
-                   ความเมตตากรุณาอย่างเดียวกันนั้น
-                   ความสุภาพอ่อนโยนเช่นนั้น
นั่นคือ คาโรล  วอยติยา  - พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2
ในปี 1977 เป็นเวลานานที่อีดิธเขียนจดหมายไปยังวาติกัน  แล้วอีดิธก็ได้รับจดหมายจากพระสันตะปาปา
อีกหนึ่งปีด่อมา เมื่อพระสันตะปาปาเสด็จเยือนอิสราเอล และได้พบกับผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง  อีดิธที่อายุมากขึ้นก็ได้พบกับผู้ที่ช่วยชีวิตของเธอ  ด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่นเหมือนเดิม ด้วยความเมตตากรุณาและสุภาพเหมือนเดิม  และพระองค์ตรัสกับอีดิธว่า "หนูน้อย !..กลับมา"
นี่เป็นเรื่องจริงของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป   โดยอาศัยความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ของสามเณรหนุ่มชาวโปแลนด์  ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณพระเจ้าของเรา ขอบคุณพระสันตะปาปาของเรา และขอบคุณเจ้าของบล็อคนี่ที่ให้เราได้รู้จักพระเจ้าของเรามากขึ้นค่ะ ขอพระเจ้าที่แสนใจดีของเราอวยพรท่านและครอบครัวค่ะ

    ตอบลบ
  2. พระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 เป็นแบบอย่างของผู้มีจิตสำนึกที่ไม่นิ่งเฉยต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่น

    ตอบลบ