วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แม่พระแห่งผลสำเร็จที่ดี (ตอนสุดท้าย)


วันสุดท้ายของประธานาธิบดี กาเบรียล  กราเซีย  โมเรโน
โดย  Marian T. Horvat, Ph.D.

ในการไปแสวงบุญที่ควิโต  สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการค้นหาคือเรื่องราวของ กาเบรียล  กราเซีย  โมเรโน  “ประธานาธิบดีคาทอลิกที่แท้จริง”  ผู้ที่แม่พระทรงทำนายว่าท่านจะมาในศตวรรษที่ 19 และจะยกถวายประเทศเอกวาดอร์แด่ดวงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
ในเวลานั้นสาธารณรัฐที่ตั้งขึ้นมาได้ไม่นานมีพรรคลิเบอรัลฟรีเมซอนเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา  พรรคฟรีเมซอนพยายามขับไล่คณะเยซูอิตและเบียดเบียนพระศาสนจักรอย่างรุนแรง  กราเซีย  โมเรโน  ผู้เป็นนักการเมืองจากต่างพรรคได้เข้ามาสู่วงการการเมืองการปกครองในปี 1860  ระยะเวลา 15 ปีในสมัยการปกครองประเทศของเขา  โมเรโนได้ทำให้ประเทศเล็กๆแห่งนี้เป็นที่รักของพระเยซูเจ้าและแม่พระเป็นอย่างยิ่ง – เป็นตัวอย่างของรัฐคาทอลิก
          ในฐานะประมุขแห่งรัฐ  สิ่งแรกที่เขาทำก็คือมอบอำนาจอันชอบธรรมให้แก่พระศาสนจักรซึ่งพวกปฏิวัติได้ปฏิเสธ  ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความเกลียดชังในกลุ่มสังคมนิยมและพวกหัวรุนแรง  พวกเขาเรียก โมเรโน ว่านักเผด็จการเพราะเขาปฏิเสธที่จะเจรจากับพรรคปฏิวัติ  พวกเขาต่อสู้กับโมเรโนอย่างเอาจริงเอาจัง  แต่โมเรโนก็ตอบโต้กลับ เขามีคติพจน์ว่า “เสรีภาพสำหรับทุกคนและสำหรับทุกสิ่ง  ต่อสู้กับความชั่วและผู้กระทำความชั่ว”
สิ่งหนึ่งที่เขาทำเป็นอันดับแรกๆก็คือทำสนธิสัญญาให้เสรีภาพแก่พระศาสนจักรในปี 1867  เขาจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญภายใต้พระคริสตเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ในปี 1870  ประเทศเอกวาดอร์เป็นเพียงประเทศเดียวในบรรดาประเทศทั่วโลกที่ประท้วงการเข้ารุกรานรัฐของพระสันตปาปาและให้การสนับสนุนพระสันตปาปาผู้ถูกขังให้อยู่โดดเดี่ยว  ในปี 1873 เขาได้ยกถวายประเทศเอกวาดอร์แด่ดวงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
ความโกรธแค้นของพวกสังคมนิยมและฟรีเมซอนที่ได้สูญเสียอำนาจของตนเมื่อ โมเรโนได้เป็นประธานาธิบดี  ทำให้คนพวกนี้หาเรื่องใส่ความเขา  แต่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมต่อผู้สัตย์ซื่อและมีคุณธรรมผู้นี้  ประชาชนกลับให้ชื่อโมเรโนว่า “บิดาของปวงชน”  ภายใต้การปกครองของโมเรโน  โรงเรียนคาทอลิกและมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง , หนี้สินของประเทศหมดสิ้นไป  ถนนและสาธารณูปโภคถูกสร้างขึ้นมา  อาชญากรถูกจับขังคุกหรือโดนแขวนคอ  และถนนหนทางก็ปลอดภัย
ยิ่งประชาชนรักโมเรโนมากเท่าไร  ยิ่งก่อให้เกิดความเกลียดชังในกลุ่มเมซอนมากเท่านั้น  ตามที่มีบันทึกไว้  พวกเมซอนพยายามลอบสังหารโมเรโนถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่เขาเป็นประธานาธิบดีในปี 1860  แต่ก็ล้มเหลว

         เมื่อโมเรโนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในปี 1875  พวกเมซอนนิกจากสำนักงานใหญ่ที่เยอรมนี ซึ่งนำโดยหัวหน้าใหญ่ที่ต่อต้านคาทอลิก นาย ออตโต วอน  บิสมาร์ก ( Otto von Bismarck) ก็ออกคำสั่งให้สังหารโมเรโนให้จงได้  มีผู้มาเตือนโมเรโนในเรื่องนี้  แต่โมเรโนได้เขียนบันทึกไว้ในจดหมายถึงพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ว่า “ดูเหมือนว่า  โลหิตของกระผมอาจจะมีค่าพอที่จะหลั่งออกมาเพื่อประเทศและพระศาสนจักรคาทอลิก”
ตอนต้นเดือนสิงหาคม 1875 ได้มีการจัดเตรียมการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกเข้ามาอีกครั้ง  มีเสียงร่ำลือที่กระจายไปทั่วควิโตว่า  แผนลอบสังหารประธานาธิบดีได้ถูกเตรียมไว้พร้อมแล้ว  วันที่ 5 ส.ค.  พระสงฆ์องค์หนึ่งขอร้องให้ผู้ช่วยของประธานาธิบดีไปเตือนเขาว่ามีการวางแผนที่จะสังหารเขาในวันรุ่งขึ้น  ท่านขอร้องประธานาธิบดีให้มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด.
โมเรโน ตอบว่า “มาตรการเพียงอย่างเดียวสำหรับภาวการณ์เช่นนี้ก็คือ  เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะไปปรากฏตัวเบื้องพระพักตร์พระเป็นเจ้า”  และเขาก็ทำงานของเขาต่อไป.
เวลาบ่ายของวันที่ 6 ส.ค.  โมเรโนก็ถูกลอบสังหารด้วยมีดยาว (machete) ตามด้วยการถูกยิงด้วยปืนรีวอร์เวอร์จากชายสามคน ที่ระเบียงทางเดินของวังประธานาธิบดี  โมเรโนถูกหามส่งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ไปยังอาสนวิหารและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ณ. แทบพระแท่นบูชาแม่พระมหาทุกข์
การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ
           กลุ่มแสวงบุญของเราได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร. ฟรานซิสโก ซาลาซาร์ อัลวาราโด  เป็นผู้บรรยายประวัติต่างๆ  ลุงทวดของ ดร.ฟรานซิสโก คือ นายพลฟรานซิสโก จาเวียร์ ซาลาซาร์  เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในสมัยประธานาธิบดี โมเรโน และเป็นมิตรสหายที่ไว้วางใจได้ของท่านประธานาธิบดี  ดร. ฟรานซิสโก  ได้ศึกษาประวัติศาสตร์นี้อย่างละเอียด

วันลอบสังหาร
วันที่ 6 ส.ค. 1875 วันศุกร์ต้นเดือน  ซึ่งระลึกถึงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า  ประธานาธิบดีโมเรโน กระทำกิจวัตรตามปกติของท่าน  ท่านเดินจากบ้านไปตามทางเดินของ Santo Domingo Plaza (ดูรูป)  เพื่อไปร่วมพิธีมิสซาเวลา 6.00 น ณ.โบสถ์ซานโตโดมิงโก  ที่ข้างระเบียงสำหรับคุกเข่ารับศีล  มีป้ายเขียนไว้ว่า “ดร.กาเบรียล กราเซีย โมเรโน ได้รับศีลมหาสนิทในวันศุกร์ต้นเดือน  6 ส.ค. 1875  ก่อนที่จะถูกลอบสังหาร”
ออกจากโบสถ์แล้วเขาเดินกลับบ้านและทานอาหารเช้ากับภรรยา มาเรียนา เวลา 9.30 น. โดยปกติหลังจากทานอาหารเขาจะเดินไปยังวังประธานาธิบดี  แต่ในวันนั้นเขายังอยู่ที่บ้านเพื่อทำงานในการเตรียมร่างสุนทรพจน์ที่จะพูดในรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค.
คนร้ายที่จ้องโจมตีโมเรโนรู้สึกหัวเสียที่มีการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของเขา  แต่ก็ยังคงรอคอยอยู่ที่บริเวณนั้น
เวลาบ่ายโมง 1.00 น  โมเรโนไปยังวังประธานาธิบดี  มีเพียงผู้ช่วยประจำตัว นาย มานูเอล ปาลลาเรส (Manuel Pallares) ที่ตามไปด้วย  เขาหยุดที่ถนน Sucre Street  ซึ่งใกล้กับโบสถ์ของคณะเยซูอิต เป็นเวลาสั้นๆเพื่อทักทายกับลูกบุญธรรม  ซึ่งอยู่ในครอบครัว อัลคาซ่า
เขาหยุดสั้นๆอีกครั้งที่อาสนวิหารและเข้าไปในโบสถ์น้อยเพื่อเฝ้าศีลมหาสนิทที่ตั้งอยู่  เสร็จแล้วจึงไปยังวังประธานาธิบดีทันที
ผู้ปองร้ายเตรียมพร้อมแล้ว
ที่บันไดของวังเขาได้ทักทายกับคนหลายคน  รวมทั้ง เฟาสติโน  ราโย (Faustino Rayo) ผู้ซึ่งได้ใช้มีดที่เตรียมมาแทงโมเรโนอย่างโหดเหี้ยม  ราโย มีความโกรธแค้นโมเรโน  เพราะพลาดรับตำแหน่งหนึ่งซึ่งจะทำให้เขาร่ำรวย  แต่เพราะเขามีประวัติที่ไม่ซื่อสัตย์จึงพลาดตำแหน่ง  ราโยจึงอาสารับทำงานอันโหดเหี้ยมนี้  เขาแสร้งทำเป็นมิตรกับประธานาธิบดี
โมเรโนที่บาดเจ็บจากการถูก ราโย แทงด้วยมีดมาเช็ตเต้ ตะเกียกตะกายไปตามทางด้านข้างของบันไดเพื่อไปยังระเบียงที่มีเสาตั้งเรียงรายอยู่หลายต้น  ในเวลานั้นยังไม่มีรั้วกั้นระหว่างเสาเหมือนในเวลานี้  รั้วนี้โมเรโนเป็นผู้สั่งจากปารีสเพื่อจะมาติดตั้งแต่ได้กระทำภายหลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว
โมเรโนมาถึงแผนกคลังที่อยู่ในวัง  ราโยตามมาและใช้มีดแทงซ้ำ  มีดแรกถูกหมวกของโมเรโน ตกกระเด็นไปที่พื้น  ราโยแทงซ้ำอีก  มีผู้ร่วมงานตามราโยมาและใช้ปืนยิงโมเรโน  แต่กระสุนเฉียดร่างไป
            หลังจากนั้น ราโย ร้องออกมาว่า “ตายเสียเถอะ ทรราช”
โมเรโนตอบราโยว่า “Dios no muere!” “God does not die.พระเจ้าไม่มีวันตาย  นั่นคือคำพูดสุดท้ายของข้อความที่เขาเขียนบ่อยๆ “ผมเป็นเพียงมนุษย์ที่สามารถถูกฆ่าให้ตายและเข้าแทนที่ได้  แต่พระเจ้าไม่มีวันตาย”
ผู้ร่วมสังหารอีกคนหนึ่ง โรเบอร์โต แอนเดรียด ร้องออกมาว่า “ตายเสียเถอะ  เยซูอิต”  ชื่อของคณะนักบวชที่ถูกกลุ่มต่อต้านพระสงฆ์ขับไล่ออกนอกประเทศ  แต่เมื่อโมเรโนเป็นประธานาธิบดีแล้ว  เขาได้เชิญให้คณะเยซูอิตกลับมายังบ้านของคณะดังเดิม.
โมเรโนพยายามแย่งปืนเพื่อป้องกันตัวเอง  แต่บาดแผลทำให้เขาเจ็บปวด  ราโยแทงด้วยมีดอีกครั้งหนึ่ง  ฆาตกรโรเบอร์โต  แอนเดรียด, มานูเอล  คอร์เนโจ และอเบอราโด  มอนคาลโย ยิงปืนมาที่โมเรโน  แต่กระสุนเพียงแต่เฉียดร่างเท่านั้น
ราโยแทงครั้งสุดท้าย  ร่างของประธานาธิบดีร่วงหล่นลงจากระเบียงสูงประมาณ 10-12 ฟุต ตกยังพื้นดิน  ปัจจุบันมีป้ายหินติดที่กำแพงเป็นเครื่องหมายบริเวณที่ร่างของโมเรโนตกลงมา  ตามที่พยานได้ระบุไว้.
การยิงล้มเหลว
แขนของโมเรโนหัก  แต่เขายังมีชีวิตอยู่  เขาได้รับบาดแผลที่ยังไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต  ไม่มีใครที่ช่วยเหลือได้  บางคนสงสัยว่า  ผู้ติดตามประธานาธิบดี  นาย มานูเอล  ปาลลาเรสไปอยู่ที่ไหน?
แทนที่เขาจะเข้ามาช่วยป้องกันขัดขวาง  เขากลับวิ่งหนีไปขอความช่วยเหลือ  ทำให้ประธานาธิบดีไม่มีทางสู้  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วยหรือไม่?  ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้  แต่หลายคนยังคงสงสัย
             เสียงปืนทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณจัตุรัสและทหารที่ประจำอยู่ที่ พลาซ่า โดยมี นายพล ซาลาซาร เป็นผู้ประจำการในวันนั้น  สตรีที่อยู่ในบ้านใกล้ๆวิ่งมาบริเวณที่ประธานาธิบดีตกลงมา  ราโยและพรรคพวกรีบวิ่งลงมาเพื่อจัดการงานให้เสร็จ  เขาผลักสตรีผู้นั้นออกไป  และแทงประธานาธิบดี โมเรโนซ้ำด้วยมีดทำให้มีบาดแผลบริเวณกระโหลกศีรษะ  มีการยิงปืนซ้ำอีกแต่กระสุนก็เฉียดร่างไปเช่นเคย.
ฆาตกรตะโกนคำขวัญของมันว่า “ทรราชต้องพินาศ” “เราเป็นอิสระแล้ว”  และมันก็วิ่งหลบหนีไป  นายพลซาลาซาร์ได้ยินเสียงปืนจึงสั่งทหารให้ไปที่จัตุรัส  ทหารจับตัวราโยไว้ได้และนำไปที่กรมทหาร

ข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว “ประธานาธิบดีถูกยิง”  “ราโยเป็นฆาตกร”  และในความสับสนมีเสียงตะโกนว่า “ประหารเจ้าฆาตกรเสีย”
ทหารหนุ่มคนหนึ่งยิงปืนใส่ราโยที่กลางจัตุรัส  ในกระเป๋าของราโยเต็มไปด้วยเงินเปรู  เงินของยูดาสที่จ่ายให้โดยกลุ่มเมซอนเพื่อที่เขาจะหนีออกจากเอกวาดอร์ไปเปรู  ประชาชนลากร่างของเขาไปทิ้งที่ถนน
นายพลซาลาซาร์ มาถึงร่างของประธานาธิบดีและสั่งทหารแบกร่างของโมเรโนไปที่อาสนวิหาร  ร่างของประธานาธิบดีถูกวางไว้แทบพระรูปแม่พระมหาทุกข์  ซึ่งโมเรโนรักและศรัทธา  พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีผู้ตายถามประธานาธิบดีว่า เขาจะให้อภัยศัตรูไหม  โมเรโนใช้ความพยายามลืมตาและพูดว่าเขาให้อภัยก่อนที่จะเสียชีวิต
บนหน้าอกของประธานาธิบดีมีกางเขนสวมอยู่  และมีสายจำพวกพระมหาทรมานและดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าสวมอยู่  มีเหรียญรูปพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 คล้องอยู่ด้วย  ในกระเป๋าของเขามีหนังสือ “จำลองแบบพระคริสต์”  ในหน้าสุดท้ายที่เขาอ่านค้างไว้มีเส้นดินสอขีดที่ประโยค “พระเยซูคริสตเจ้า  องค์พระผู้ไถ่ของข้าพเจ้า  โปรดประทานความรักยิ่งใหญ่และความถ่อมพระองค์ของพระองค์แก่ข้าพเจ้า  และโปรดสอนข้าพเจ้าว่าสิ่งใดควรกระทำในวันนี้เพื่อเป็นการรับใช้และเป็นพระเกียรติของพระองค์”
แผนการของกลุ่มปฏิวัติ
กลุ่มก่อการปฏิวัติหวังว่าการสังหารประธานาธิบดีโมเรโน  จะเป็นการจุดประกายไฟปฏิวัติขึ้นในท่ามกลางประชาชน  ซึ่งถูกปลุกปั่นจากกลุ่มเมซอนนิกในเรื่อง  เสรีภาพ  ความเท่าเทียม และภราดรภาพ  ปฏิเสธพระศาสนจักรคาทอลิก  แต่แทนที่จะเป็นตามที่หวัง  ประชาชนพากันโศกเศร้าคร่ำครวญถึงประธานาธิบดี  ให้สมญาท่านว่า  บิดาและผู้ให้กำเนิดเอกวาดอร์  ประชาชนนับถือประธานาธิบดีโมเรโนเป็นมรณสักขีของพระศาสนจักร
แพทย์เย็บปิดแผลของประธานาธิบดี  น่าประหลาดที่ไม่มีอวัยวะสำคัญที่เสียหายหรือแตกหัก  เขาแต่งกายร่างของท่านด้วยชุดเครื่องแบบเต็มยศให้ร่างของท่านอยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้ในมุมหนึ่งของชั้นที่สองของลานอาสนวิหาร  มีนายทหารห้านายยืนประจำการอยู่ข้างหลัง  ประชาชนเดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อแสดงความคารวะ

ศพของท่านถูกฝังไว้ในอาสนวิหาร  แต่ก็ยังมีเรื่องรบกวน
แปดปีต่อมา  เกิดการปฏิวัติในประเทศมีความวุ่นวาย  บรรดามิตรสหายและญาติในครอบครัวของโมเรโนกลัวว่า  ศพของท่านอาจถูกเคลื่อนย้ายและไม่ได้รับการเคารพโดยพวกเสรีนิยม  ดังนั้นในเวลาเที่ยงคืน  พวกเขาจึงขุดเอาศพของท่านขึ้นมาและนำไปไว้ในที่ซ่อนเร้น  ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน  จนกระทั้ง ดร. ซาลาซาร์ มาศึกษาเรื่องของโมเรโน ในปี 1973  และเริ่มค้นหาจนพบศพของท่านประธานาธิบดี
____________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น