ครั้งหนึ่งนักบุญออกัสตินสังเกตเห็นว่า
“เรื่องราวและความหมายในพระธรรมใหม่ถูกซ่อนไว้ในพระธรรมเก่าและเรื่องราวในพระธรรมเก่าถูกเปิดเผยในพระธรรมใหม่”
ในสมัยแรกที่ท่านยังเชื่อถือในลัทธิมานีเคอยู่นั้น น.ออกัสตินมีความยากลำบากในการแปลความหมายของพระคัมถีร์ไบเบิล เมื่อท่านกลับใจแล้ว ท่านจึงเข้าใจว่าสาเหตุแห่งความเย่อหยิ่งในความฉลาดของตนเองนั้นก็มาจากการไม่เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์นี่เอง ดังนั้น
หลังจากกลับใจท่านได้เรียนรู้การแปลความหมายและสัญญลักษณ์ต่างๆในพระคัมภีร์จากนักบุญอัมโบรส ผู้สอนให้ท่านเรียนรู้เรื่องราวฝ่ายจิตที่ไขแสดงในพระคัมภีร์ ดังนั้นท่านจึงยกคำพูดของ น. อัมโบรสมากล่าวว่า
“ตัวอักษรทำให้ตาย แต่จิตวิญญาณให้ชีวิต”
ด้วยเหตุนี้
น.ออกัสตินจึงครุ่นคิดพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวฝ่ายจิตที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ ในเวลาต่อมาท่านได้เขียนหนังสือ Commentary on the Sermon on the Mount (คำอธิบายบทเทศนาบนภูเขา) ในปี 393
ท่านมีความเชี่ยวชาญในการแสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าที่ทรงเปิดเผยให้ทราบผ่านทางพระคัมภีร์ ท่านเขียนหนังสือด้วยจิตใจแบบเด็กๆ มิใช่แบบผู้ทรงภูมิปัญญา ท่านรู้สึกยำเกรงในพระเป็นเจ้า
ท่านอธิบายอย่างชัดเจนและลึกซึ้งเหมาะสำหรับคนทุกวัย
น.ออกัสติตเริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า
“ใครก็ตามที่พิจารณาไตร่ตรองบทเทศนาบนภูเขานี้ด้วยความกระหายใคร่รู้และศรัทธา
(ตามพระคัมภีร์ น.มัทธิว) –
ข้าพเจ้าเชื่อว่าเขาจะได้พบมาตรฐานที่สมบูรณ์แบบของหลักในการดำเนินชีวิตคริสตชน”
ซึ่งประทานมาให้แก่เราโดยพระอาจารย์ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว คือ
พระเยซูคริสตเจ้า
คำเทศนาบนภูเขาบอกถึงหลักสำคัญของความยุติธรรม ช่วยนำทางเราไปสู่หนทางแคบๆของการเป็นนักบุญ
เป็นการเหมาะสมแล้วที่
น.ออกัสตินจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของท่านในการพิจารณาและเขียนคำอธิบายบทเทศนาบนภูเขา
หรือ มหาบุญลาภแปดประการ
ในยุคแห่งความมืดมนของยุโรป
มหาบุญลาภนี้ได้ถูกละเลยไปเสียจากผู้นำทางศีลธรรมคาทอลิก มีการแปลความหมายของมหาบุญลาภอย่างผิดๆ ในสมัยของเรานี้
มหาบุญลาภถูกแปลความหมายไปในแง่ของการปฏิรูปสังคมให้มีความยุติธรรม
เช่น
การยกระดับศักดิ์ศรีของคนยากจนและผู้ถูกเบียดเบียน การทำให้โลกมีสันติภาพ แต่ความจริงแล้ว น. ออกัสติน
ชี้แนะให้เราสนใจในเรื่องของภายในจิตวิญญาณมากกว่า ตามที่ Msgr.
Ronald Knox กล่าวไว้ว่า
“เราต้องมุ่งแสวงหาสิ่งที่อยู่ในสวรรค์
ไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนโลกนี้”
การอธิบายของ
น.ออกัสติน จะช่วยให้เราใส่ใจในความหมายที่สำคัญของมหาบุญลาภ นั่นคือการประกาศกฏเกณฑ์ทางด้านจิตใจที่สมบูรณ์แบบซึ่งถูกซ่อนไว้ในพระธรรมเก่าและถูกเปิดเผยโดยพระคริสต์ในพระธรรมใหม่ มหาบุญลาภเป็นกลักสำคัญของเทววิทยาทางด้านจิตใจของคาทอลิก น.โทมัส อไควนัสพูดถึงข้อเขียนของ
น.ออกัสตินนี้ว่า “เพื่อที่จะได้พระเป็นเจ้ามาครอบครองซึ่งเป็นความชื่นชมยินดีอันแท้จริงนั้น เราต้องตระหนักอย่างแน่ชัดว่า
สิ่งนั้นจะเป็นไปได้ก็แต่ในนิรันดรภาพเท่านั้น”
น. ออกัสติน
อธิบายว่า มหาบุญลาภ 7 ประการแรกเป็น “หลักของคำเทศนาทั้งหมดของพระองค์” ท่านแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างมหาบุญลาภ
7 ประการแรก กับมหาบุญลาภประการที่ 8
ท่านกล่าวว่า “มีหลักการเจ็ดอย่างที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบ” มหาบุญลาภ 7
ประการแรกนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจอิสระของเราที่จะทำหรือไม่ทำ มหาบุญลาภประการที่ 8
จะถูกกระทำเมื่อเราได้เลือกกระทำ 7 ประการแรกนั้นก่อน มหาบุญลาภประการที่ 8 กล่าวว่า
“เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความยุติธรรม เหตุว่าพระอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”
ความเพียรพยายามของเราพร้อมกับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าในการประกอบคุณธรรมที่อยู่ในมหาบุญลาภ
7 ประการแรก
ทำให้เราบรรลุถึงคุณธรรมในมหาบุญลาภประการที่ 8
โดยผ่านทางความทุกข์ยากลำบากของเรา
น.ออกัสตินอธิบายว่า “รางวัลที่ได้รับนั้น
ไม่ได้มาจากความทุกข์ยากลำบาก
แต่มาจากความเพียรอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากนั้นด้วยความยินดีและด้วยความเต็มใจโดยเห็นแก่พระคริสตเจ้า”
น.
ออกัสตินแสดงให้เห็นว่าพระคริสต์ทรงเปิดเผยกฏเกณฑ์ที่ถูกซ่อนนี้ในพระธรรมเก่าอย่างไร
โดยท่านแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กันระหว่ามหาบุญลาภ (คือคุณธรรมและพระพรของพระจิต)
ที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวไว้ใน อส.11:2-3 ท่านพูดถึงพระผู้ไถ่ที่กำลังเสด็จมาว่า “พระจิตของพระเจ้าจะสถิตย์อยู่เหนือท่าน คือจิตแห่งปรีชาญาณและความเข้าใจ ,
จิตแห่งการสั่งสอนและอำนาจ , จิตแห่งความรอบรู้และความยำเกรงพระเป็นเจ้า” พระคริสต์เสด็จมาเพื่อทำให้กฏเกณฑ์และคำทำนายนี้สำเร็จสมบูรณ์ ในมหาบุญลาภ 7 ประการแรกพระองค์ทรงแสดงกฏเกณฑ์ที่ถูกซ่อนไว้ในคำพูดของประกาศกอิสยาห์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระพรทั้ง
7 ของพระจิต
ประกาศกอิสยาห์พูดถึงพระลักษณะที่ปรากฏในพระผู้ไถ่ที่กำลังจะเสด็จมา นั่นคือลักษณะจากระดับสูงสุดคือจิตแห่งปรีชาญาณไล่ลงมาถึงจิตแห่งความยำเกรงพระเป็นเจ้าที่อยู่ระดับต่ำสุด พระเยซูเจ้าทรงไล่เรียงลำดับคุณธรรมในมนุษย์จากระดับต่ำซึ่งเป็นคุณธรรมภายนอกจิตใจไปสู่คุณธรรมระดับสูงซึ่งเป็นคุณธรรมภายในจิตใจ
พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยความยำเกรงพระเป็นเจ้าเป็นขั้นตอนแรกไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือปรีชาญาณ สิ่งเหล่านี้คือคุณธรรมสำหรับผู้ที่มีความเพียรพยายามปีนขึ้นไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์
น. โทมัส
อไควนัส ได้ให้นิยามของมหาบุญลาภว่า เป็น
“ผลงานอันสมบูรณ์แบบที่มาจากคุณธรรมอันสมบูรณ์โดยอาศัยพระพรของพระจิต”
น.ออกัสตินเรียงลำดับและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมนั้นๆและพระพรฝ่ายจิต
· ความยากจนในจิตใจสอดคล้องกับความยำเกรงพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นการเริ่มต้นของปรีชาญาณ
·
ใจสุภาพอ่อนโยนสอดคล้องกับความศรัทธาและสัตย์ซื่อต่อคำสั่งสอนในพระคัมภีร์และเพียรพยายามประพฤติตาม
·
ความทุกข์ร้อนสอดคล้องกับพระพรแห่งความรอบรู้และการรู้จักแยกแยะความดีและความชั่ว
·
หิวกระหายความยุติธรรมสอดคล้องกับพระพรแห่งการมีใจรักความยุติธรรม
·
ใจเมตตากรุณาสอดคล้องกับพระพรแห่งการสั่งสอนให้คำแนะนำซึ่งทำให้เรายอมให้อภัยผู้อื่นและยอมรับการอภัยจากผู้อื่น
·
ใจบริสุทธิ์สอดคล้องกับพระพรความเข้าใจในสิ่งที่ตาไม่เคยเห็นและหูไม่เคยได้ยิน
· สร้างสันติสอดคล้องกับพระพรแห่งปรีชาญาณ น.ออกัสตินอธิบายว่า “ด้วยการสร้างสันติ สิ่งต่างๆจะเป็นระเบียบเหมาะสม ไม่ต่อต้านแต่จะยอมรับเหตุผล สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในจิตใจของมนุษย์เพราะจิตใจนั้นยอมเชื่อฟังพระเป็นเจ้า
สิ่งนี้เป็นการชิมลางของชัยชนะของจิตวิญญาณ
และ น.ออกัสตินคงรับรู้ในชัยชนะนี้เมื่อท่านพิจารณาไตร่ตรองบทเทศนาบนภูเขา
นักปราชญ์ของพระศาสนจักรท่านนี้แนะนำให้เราใส่ใจในพระวาจาของพระคริสต์ เมื่อพระองค์ตรัสว่า
“ทุกคนที่ได้ยินและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา
ก็เปรียบเหมือนคนฉลาดที่สร้างบ้านไว้บนหิน
เมื่อลมพายุพัดมา บ้านก็ไม่พังทลายลง”
แต่บ้านที่สร้างไว้บนทรายแห่งสิ่งของของโลกนี้ ก็มีหลายวิธีที่มันจะพังทลายลงไป ดังนั้นจึงมีเพียงวิธีเดียวที่บ้านจะตั้งอยู่ได้
นั่นคือการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของคริสตชน หรือ
ดำเนินชีวิตตามมหาบุญลาภซึ่งถูกซ่อนไว้ในพระธรรมเก่าและถูกเปิดเผยในพระธรรมใหม่จากบทเทศนาบนภูเขานั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น