“ความสุข คือ ความหมายและวัตถุประสงค์ของชีวิต
เป็นจุดมุ่งหมายและจุดจบทั้งมวลของการดำรงอยู่ของมนุษย์”
อริสโตเติ้ล
นักปราชญ์ชาวกรีก ได้ให้ข้อสรุปที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยปฏิเสธไม่ได้ ..
ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
ใคร ๆ ต่างก็อยากมีความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์ให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ความสุขเป็นภาวะอารมณ์เชิงบวก
เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่น่าพึงพอใจ มีความสมหวัง ได้รับสิ่งที่ต้องการในชีวิต
เป็นความรู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิต อาจสะท้อนออกมาเป็นความสบายใจ
ความเพลิดเพลิน ความร่าเริงสนุกสนาน ความอิ่มเอมใจ
ความสุขตรงข้ามกับความทุกข์
ซึ่งเป็นภาวะอารมณ์เชิงลบ นำความหดหู่ ความเครียด ความเศร้ามาสู่ชีวิต
สะท้อนออกมาเป็นการร้องไห้ การโกรธ การบ่นต่อว่า จนถึงความหมดอาลัยตายอยากในชีวิต
เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ ผิดหวัง ล้มเหลว สูญเสีย
ทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ฯลฯ
เมื่อความทุกข์เป็นสภาวะที่ไม่น่าพึงประสงค์
ส่งผลให้คนมุ่งแสวงหาความสุข คนจำนวนไม่น้อยจึงให้ความสุขเป็น “เป้าหมาย” ในการดำเนินชีวิต ใช้ความสุขเป็นตัวตั้ง
เป็นเกณฑ์ตัดสินในการทำสิ่งต่าง ๆ สิ่งใดที่ทำแล้วมีความสุข ก็ทำไป
สิ่งใดทำแล้วไม่มีความสุข ก็เลิกทำ โดยต่างก็ให้นิยามความสุขของตนเอง อาทิ
ความสุขของบางคน คือ การทำงานอะไรก็ได้ให้มีเงินเยอะ ๆ เพราะเงินซื้อความสุขได้ บางคนคิดว่าความสุข
คือ การทำทุกอย่างที่ตนเองอยากทำ
ทำแล้วมีความสุข
คำถามคือ ถ้าเราให้ความสุขเป็นเป้าหมายจะเกิดอะไร?
...เราจะทำงานเพื่อให้ได้เงินมาก ๆ และคิดว่า เงินนั้นจะซื้อความสุขต่าง ๆ
ของชีวิตได้ แต่กลับต้องทนทุกข์ เพราะต้องทนทำงานที่ไม่มีความสุขเลยตลอดชีวิต
...เราจะทิ้งงานที่สำคัญ งานที่มีคุณค่า งานที่ต้องการความเสียสละ ความอดทน
ความยากลำบาก ไปง่าย ๆ เพียงเพราะงานนั้นทำแล้ว...ไม่มีความสุข
...เราจะใช้เวลา ใช้เงิน ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไร้คุณค่า
ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เพียงเพราะทำแล้ว...มีความสุข
ที่สำคัญ
การแสวงหาความสุข จะทำให้เราเสียเวลาแสวงหาความสุขตลอดชีวิต เพื่อเติมความต้องการอันไม่จบสิ้นตลอดชีวิต
และจากโลกนี้ไปโดยไม่ได้สร้างคุณค่าใดเหลือไว้เลย
ความปรารถนาความสุขไม่ใช่ความผิด
แต่ควรปรารถนาความสุขที่แท้จริง เราทุกคนควรอยู่อย่างมีความสุข
และสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ ถ้ามีความคิดที่ถูกต้อง
ในทัศนะของผม
ผมมองว่า ความสุขควรเป็น ‘ผลลัพธ์’ ไม่ใช่เป้าหมาย
ความสุขแท้ของชีวิตควรเป็น
ผลลัพธ์ จากการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มีเป้าหมาย มีอุดมการณ์ที่งาม
มิใช่มุ่งทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมาย ‘ความสุข’
เพราะนั่นจะมิใช่ ความสุขที่แท้จริง
ความสุขแท้ไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ แต่เป็นผลลัพธ์จากอุดมการณ์ของชีวิต
ความสุขที่แท้จริง
คือ ความสุขที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
เพื่อทำในสิ่งที่ตนเชื่อมั่นว่าถูกต้องดีงาม มีเป้าหมายชัดเจนว่า
จะใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไร เพื่อให้สิ่งใดเกิดขึ้น
มหาตมะ
คานธี กล่าวว่า “ความสุขจะเกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่คุณคิด
สิ่งที่คุณพูด และสิ่งที่คุณทำ สอดประสานกันอย่างกลมกลืน”
แม้ท่านมหาตมะ
คานธี ต้องทนทุกข์ลำบาก ต้องติดคุก ต้องอดอาหาร
แต่ท่านไม่เคยมีความทุกข์จากสิ่งเหล่านั้น เพราะท่านทำในสิ่งที่เชื่อ
ท่านเดินตามอุดมการณ์จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ผลที่เกิดขึ้น คือ
ความสุขแท้ที่ประเมินค่ามิได้
ความสุขจึงควรเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า
ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ไม่ว่าเราทำงานอะไร ควรเลือกงานที่มีคุณค่า
สอดคล้องกับความเป็นตัวตน แม้จะต้องเสียสละ อาจจะต้องยากลำบาก บ้าง
แต่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำให้สูญเสียความสุขไปจากใจได้
-----------------------------
ศ.ดร.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
-----------------------------
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
-----------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น