วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

นักบุญโจเซฟ วาส อัครสาวกผู้แพร่ธรรมแห่งศรีลังกา


ฉลองวันที่ 16 มกราคม

หลายคนคงไม่เคยได้ยินชื่อของนักบุญองค์นี้มาก่อน  โจเซฟ วาส (Joseph Vaz) เป็นมิชชันนารีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในแถบเอเชียนับตั้งแต่นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ การเดินทางเพื่อแพร่ธรรมของท่านนับเป็นการผจญภัยน่าตื่นเต้นยิ่งกว่านิยายของเอียน เฟลมมิ่ง หรือ เจมส์ บอนด์เสียอีก การผจญภัยของท่านน่าอัศจรรย์ใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวในพระคัมภีร์พระธรรมเก่าเลย อย่างเช่น การแยกน้ำในแม่น้ำที่กำลังท่วมในระหว่างฤดูมรสุม การทำให้ช้างป่าสงบและเชื่อง  การต่อสู้กับปีศาจที่หมอผีของอาณาจักรแกนดียันในศรีลังกานับถือด้วยการสวดภาวนาให้ฝนตกลงมาในเวลาที่เกิดความแห้งแล้งอย่างสาหัส  เรื่องราวของการสวดภาวนาขอฝนนี้ถูกบันทึกไว้โดยพระภิกษุชาวพุทธเองในหนังสือพงศาวดาร‘Culavamsa’ ซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนถึงปี 1815 เล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญของกษัตริย์และพระราชวงศ์ในเกาะซีลอน
โจเซฟ วาส (Joseph Vaz) เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1651 ในเมืองกัวของอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ท่านเกิดในบ้านของปู่ที่อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆชื่อ Benaulim เวลานี้บ้านก็ยังคงอยู่ โจเซฟมีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ เมื่อตอนที่มีอายุ 7 ขวบมีผู้ที่เห็นท่านสวดภาวนาในโบสถ์ประจำหมู่บ้านตลอดทั้งคืน เมื่อเติบโตขึ้นท่านจึงเข้าศึกษาและบวชเป็นพระสงฆ์ ท่านรู้สึกว่ามีกระแสเรียกให้มีชีวิตนักบวช  แต่ในสมัยนั้นพระสงฆ์ท้องถิ่นในเอเชียถูกห้ามไม่ให้เข้าในคณะนักบวช ดังนั้นท่านจึงได้ก่อตั้งบ้านพักนักบวชขึ้นตามแบบอย่างของ น. ฟิลิป เนรี ในเมือง Sancoale ความศรัทธาของครอบครัว วาส นี้เห็นได้จากการที่มีหลานชายหลายคนของคุณพ่อโจเซฟได้ติดตามท่านเข้าบ้านพักนักบวชที่ท่านก่อตั้งขึ้น

 
มีข่าวเรื่องหนึ่งมาถึงคุณพ่อโจเซฟ เกี่ยวกับพระสงฆ์คาทอลิกในเกาะซีลอน (ศรีลังกา)ที่อยู่ติดกับอินเดีย คริสตชนคาทอลิกถูกชาวดัทช์ที่นับถือนิกายคาลวานิสต์เบียดเบียนอย่างเป็นระบบ คนเหล่านี้ได้เข้ายึดครองอาณานิคมของโปรตุเกสในเอเชียหลายแห่ง การแพร่ธรรมของชาวโปรตุเกสในอาณานิคมเหล่านี้เคยเป็นไปอย่างสงบสุขอยู่หลายศตวรรษนับตั้งแต่ น.ฟรังซิส เซเวียร์ ชาวคาทอลิกในเกาะซีลอนถูกชาวดัทช์ข่มเหงรังแกอย่างโหดร้าย  พระสงฆ์ที่อยู่บนเกาะทั้งหมดซึ่งเป็นชาวยุโรปผิวขาวถูกเนรเทศออกจากเกาะ ทำให้ชาวคาทอลิกขาดการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  เจ้าหน้าที่ชาวโปรตุเกสและพระสังฆราชแห่งโคชินซึ่งปกครองอาณาเขตนี้ก็ไม่สามารถช่วยเหลือหรือทำอะไรได้เลย

คุณพ่อโจเซฟ วาสอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เวลานั้นมีเอกสาร Propaganda Fidei ของวาติกันที่สั่งห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชาวดัทช์ และยังมีศาลโปรตุเกสที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปที่เกาะซีลอน ต่อมาคำสั่งเหล่านี้ถูกยกเลิก ดังนั้นคุณพ่อโจเซฟจึงลักลอบเข้าไปที่เกาะซีลอนโดยปลอมตัวเป็นกรรมกรธรรมดา  แต่เรือที่ท่านนั่งไปเกิดแตกที่บริเวณแหลมทางตอนเหนือของเกาะซีลอน ท่านลอยคออยู่ในทะเลและขึ้นฝั่ง Mannar ได้ในเดือน พฤษภาคม หรือ มิถุนายน ปี 1687 โดยไม่มีเข้าของติดตัวเลย ท่านต้องเริ่มต้นภารกิจการแพร่ธรรมในสภาวะเช่นนี้

ท่านต้องเล่นเกมส์แมวไล่จับหนูกับเจ้าหน้าที่ชาวดัทช์ซึ่งคอยสอดส่องตามหาพระสงฆ์คาทอลิกที่จะแอบเข้ามาในประเทศ  คุณพ่อโจเซฟได้ติดต่อกับกลุ่มชาวบ้านคาทอลิกและประกอบพิธีมิสซาและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พวกเขา มีการประกอบพิธีแต่งงาน พิธีล้างบาป และพิธีรับศีลสง่า อย่างสม่ำเสมอ ชาวบ้านไม่ได้รับศีลมหาสนิทและศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มาเป็นเวลานานมากแล้ว
ต่อมามีผู้ทรยศคนหนึ่งได้ไปแจ้งเรื่องของคุณพ่อโจเซฟแก่เจ้าหน้าที่ชาวดัทช์  ทหารได้มาล้อมรอบบ้านที่ท่านกำลังประกอบพิธีมิสซาอยู่  คุณพ่อโจเซฟเดินออกมาจากบ้านอย่างสงบ ท่านสวมอาภรณ์ที่ประกอบพิธีมิสซาและถือจอกกาลิกษ์  และท่านเดินผ่านหน้าทหารออกไปโดยที่พวกเขามองไม่เห็นท่าน


คุณพ่อโจเซฟได้หนีออกจากเขตแดนของชาวดัทช์โดยไม่ถูกจับกุม ท่านหลบไปอยู่บริเวณเทือกเขาที่อยู่ด้านในของเกาะ แต่ในที่สุดท่านก็ถูกทหารชาวดัทช์จับกุมได้ ท่านถูกตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับและถูกนำตัวขึ้นศาลของกษัตริย์ Vimaladharmasoriya II ซึ่งอยู่ในเมืองแกนดี ท่านถูกจองจำอยู่ในวังของกษัตริย์ตลอดปี 1692  Robert Knox ชาวอังกฤษก็มีประสบการณ์แบบเดียวกับคุณพ่อโจเซฟ เขาเขียนหนังสือชื่อ ‘A historical relation to the island of Ceylon and it’s peoples’ เขาถูกจองจำเป็นเวลานานถึง 20 ปีก่อนที่จะสามารถหลบหนีออกมาได้

แต่คุณพ่อโจเซฟทำให้ผู้คุมไว้วางใจท่านได้สำเร็จ พวกเขารู้สึกประทับใจในความศรัทธาของท่านและการให้คำแนะนำอันเฉลียวฉลาดของท่านต่อพวกเขา  เมื่อเกิดความแห้งแล้งอย่างสาหัสจนทำให้การปลูกพืชต่างๆไม่ได้ผลในอาณาจักรกานดียันที่เป็นอิสระ  คุณพ่อโจเซฟได้เสนอตัวที่จะสวดภาวนาต่อพระเจ้าขอให้ฝนตกเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวท่านให้เป็นอิสระ  มีการสร้างเวทีใหญ่ขึ้นที่หน้าพระราชวัง  หมอผีและพระสงฆ์ของกษัตริย์แห่งอาณาจักรแกนดียันได้ท้าทายด้วยการทำพิธีขอฝนของพวกเขาด้วย  แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  คุณพ่อโจเซฟถูกนำตัวขึ้นไปบนเวที  บันทึกจากหนังสือพงศาวดาร Culavamsa chronicles บอกว่า “ในทันทีที่คุณพ่อโจเซฟเริ่มสวดภาวนา ก็เกิดฟ้าผ่า ฟ้าแลบบนท้องฟ้าและฝนก็ตกกระหน่ำลงบนทุกสิ่ง ยกเว้นแต่บริเวณที่คุณพ่อโจเซฟคุกเข่าอยู่”  เป็นอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ต่อหน้าสายตาของทุกคน  กษัตริย์จึงอนุญาติให้คุณพ่อโจเซฟสร้างโบสถ์ในอาณาเขตของเมืองแกนดี ในบริเวณที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่ของชาวพุทธและชาวฮินดู

คุณพ่อโจเซฟยังได้สร้างบ้านพักนักบวชในเมืองแกนดีนี้ด้วย ตามแบบอย่างของนักบุญฟิลิป เนรีซึ่งได้สร้างบ้านพักนักบวชแห่งแรกขึ้นที่กรุงโรม  กษัตริย์ยังอนุญาติให้คุณพ่อโจเซฟเดินทางไปยังที่ต่างๆในอาณาจักรได้และมีสิทธิพิเศษจะไปที่ใดก็ได้ตามความพอใจ  ในไม่ช้าก็มีคุณพ่อจาโคเม กอนคาลเวส (Jacome Goncalves) และผู้อยู่ในบ้านพักนักบวชที่กัวมาร่วมสมทบด้วย  การแพร่ธรรมในเมืองแกนดีได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งและได้ขยายไปทางตอนเหนือของอาณาจักรแจฟน่า(Kingdom of Jaffna) รวมทั้งบริเวณชายฝั่งที่อยู่ในการปกครองของชาวดัทช์ด้วย

ในปี 1697 มีโรคฝีดาษระบาดในแกนดี  ทำให้ทุกคนในเมืองรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกษัตริย์ต้องละทิ้งเมือง  คุณพ่อโจเซฟและผู้อยู่ในบ้านพักนักบวชต้องคอยเฝ้าดูแลคนไข้และคนตายแต่เพียงลำพัง กษัตริย์Vimaladharmasuriya IIได้ยกย่องคุณพ่อโจเซฟเป็นอย่างมาก  เมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์เสด็จผ่านบ้านพักของคุณพ่อโจเซฟ  พระองค์จะทรงลงมาจากหลังช้างที่ประทับและดำเนินด้วยเท้าเปล่าผ่านไป ถึงแม้กษัตริย์จะไม่ได้ทรงกลับใจมารับความเชื่อ แต่พระนัดดาของพระองค์องค์หนึ่งได้มารับความเชื่อและได้เดินทางไปยังโปรตุเกส  และที่สุดก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์คาทอลิกด้วย


เป็นเวลาหลายปีของการแพร่ธรรมอย่างมุ่งมั่น วัฒนธรรมคาทอลิกก็ได้หยั่งรากลึกลงไปในแผ่นดินของเกาะซีลอน หนังสือศรัทธาต่างๆของคาทอลิกได้รับการแปลเป็นภาษาของขาวซิงกาห์ลีและทามิล คุณพ่อโจเซฟได้ไปรับรางวัลนิรันดรของท่านในวันที่ 16 มกราคม 1711

หลานชายของคุณพ่อโจเซฟ คือ คุณพ่อเซบาสเตียน โด ริโก และพระสงฆ์อีกท่านหนึ่งของบ้านพักนักบวชในเมืองกัวได้เขียนชีวประวัติของคุณพ่อโจเซฟในปี 1730  หนังสือกล่าวว่าพละกำลังในการแพร่ธรรมอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อโจเซฟได้มาจากการดำเนินชีวิตในการสวดภาวนาอย่างเงียบสงบของท่าน ร่วมด้วยความศรัทธาในการประกอบพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้คุณพ่อโจเซฟจะไม่ได้ยินดียินร้ายต่อชื่อเสียงของโลก  ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในซีลอนจากสมณะสภาการแพร่ธรรม  แต่ท่านได้หลีกเลี่ยงการไปรับการบวชเป็นพระสังฆราชที่ดินแดนของโปรตุเกสในอินเดีย

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บ้านพักนักบวชซึ่งตั้งขึ้นโดยคุณพ่อโจเซฟในซีลอนต้องชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  เพราะอยู่แยกจากบ้านพักนักบวชในเมืองกัวที่อินเดีย  ต่อมาบ้านพักในเมืองกัวเองก็ปิดตัวลงในปี 1835 เมื่อบ้านพักนักบวชทั้งหมดในอาณานิคมของโปรตุเกสถูกรัฐบาลเข้ายึดครอง  บ้านพักนักบวชในซีลอนจึงต้องปิดลงเช่นเดียวกัน 

พระธาตุชั้นหนึ่งของนักบุญคุณพ่อโจเซฟ วาส ไม่มีเหลืออยู่เลย และไม่มีใครรู้ว่าร่างของท่านถูกฝังไว้ที่ไหน  สิ่งที่ท่านเหลือทิ้งไว้ให้ก็คือโบสถ์ที่งามสง่าในศรีลังกา เป็นอนุสรณ์แด่คุณพ่อ โจเซฟ วาส ผู้แพร่ธรรมแห่งซีลอน

*********************

นักบุญโจเซฟ วาส โปรดภาวนาเพื่อพวกเราด้วยเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น