วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การแพร่ธรรมในอินเดียของนักบุญโทมัสอัครสาวก

ในวันพระจิตเจ้าเสด็จมาทำให้อัครสาวกได้รับพระพรการพูดภาษาต่างๆได้ เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจยิ่ง หลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “พวกท่านจงไปเทศนาสั่งสอนนานาชาติ ทำให้ทุกคนมาเป็นศิษย์ของเรา”
 
แปดวันหลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จกลับคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงพบกับนักบุญโทมัสผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนช่างสงสัย พระองค์ทำให้โทมัสหายสงสัยในการกลับคืนพระชนม์ของพระองค์ นักบุญโทมัสยังได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “อัครสาวกแห่งอินเดีย” นักบุญโทมัสมาถึงอินเดียในราว ค.ศ. 52 ท่านประกาศข่าวดีแห่งการไถ่กู้ของพระคริสต์แก่ชาวอินเดียในสมัยนั้น
 
เมื่อกองเรือของวาสโก ดา กามา มาถึงอินเดียในปี 1498 ชาวเรือโปรตุเกสรู้สึกประหลาดใจมากที่ได้พบกับชุมชนคริสตชนอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย พวกเขายิ่งประหลาดใจขึ้นไปอีกที่พบว่ามีโบสถ์ที่สร้างขึ้นโดยนักบุญโทมัส นักเดินทางอีกหลายคนรวมทั้ง มาร์โค โปโล ได้รายงานว่า ที่ฝังศพของนักบุญโทมัสอยู่ที่โบสถ์นั้น นักบุญโทมัสได้เทศน์สอนชาวฮินดูและชาวยิวที่อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ทำให้คนนับพันกลับใจมารับความเชื่อ
 
นักประวัติศาสตร์มีความสนใจเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของนักบุญโทมัสผ่านทางตะวันออกกลาง พบว่ามีคริสตชนทั้งในซีเรียและอิรักที่มีความเกี่ยวข้องกับนักบุญโทมัส หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ In the Footsteps of St. Thomas เขียนโดย Serena Fass นักเขียนอายุ 80 ปี เธอเป็นนักเดินทางและนักถ่ายรูปที่ได้ติดตามเส้นทางการเดินทางของนักบุญโทมัส ในหนังสือของเธอกล่าวว่ามีหลักฐานยืนยันถึงเส้นทางเดินทางของนักบุญโทมัสผ่านบางประเทศในเอเชีย เป็นหลักฐานที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์หรือจากข้อความแหล่งอื่นซึ่งไม่น่าเชื่อถือ
 
มีชุมชนคริสตชนเพียงไม่กี่แห่งที่มีอายุย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาของบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า Serena Fass ได้พบหลักฐานมากมายที่สนับสนุนความเชื่อที่ว่าคริสตชนในอินเดียมีความเชื่ออย่างมั่นคงถึงแม้จะมีคนจำนวนมากที่คัดค้านพวกเขาในยุคแรกของการแพร่ธรรม อินเดียเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดยุโรปให้เดินทางมาทางตะวันออก แม้แต่เมื่อโคลัมบัสไปถึงทวีปอเมริกาและได้พบชาวอินเดียนแดง เขาก็ยังคิดว่าได้มาถึงอินเดียแล้ว อินเดียกลายเป็นแหล่งการค้าที่ให้กำไรอย่างงดงาม
 
ในเมื่องมัดราส ที่ Mylapore (ปัจจุบันคือเมือง San Thome) เชื่อกันว่านักบุญโทมัสสิ้นใจเพราะถูกหอกแทง และประชาชนเคารพไม้กางเขนอัศจรรย์ของนักบุญโทมัส ในสมัยของนักบุญยอห์น คริสซอสโตม มีการย้ายหลุมศพของนักบุญโทมัสไปอยู่ที่ Edessa ในซีเรีย ในปีต่อมา มีการนำอัฐิของท่านย้ายไปประเทศอิตาลี และประเทศโปรตุเกส
 
บรรดาสถาปนิกและช่างก่อสร้างนับถือนักบุญโทมัสเป็นองค์อุปถัมภ์ ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายชาวอินเดียองค์หนึ่ง มอบเงินจำนวนมากให้ท่านเพื่อสร้างราชวัง แต่ท่านกล่าวว่า เอาเงินเหล่านี้ไปใช้เพื่อสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์ดีกว่า แล้วท่านก็เอาทรัพย์แจกจ่ายคนยากจน
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้ประกาศว่า นักบุญโทมัสเป็นอัครสาวกแห่งอินเดีย ใน ค.ศ. 1972 
 
นักบุญเกรโกรี่ ผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวว่า “การที่นักบุญโทมัสสงสัย ช่วยให้เรามีความเชื่อมั่นคงขึ้น มากกว่าความเชื่อของอัครสาวกองค์อื่นๆ”
 
เมื่อนักบุญโทมัสเสียชีวิตไปแล้ว มีการสร้างอาสนวิหารไว้บริเวณที่ฝังศพของนักบุญโทมัส กระดูกส่วนใหญ่ของท่านถูกเคลื่อนย้ายจากอินเดียไปยัง Edessa ในเมโสโปเตเมีย แล้วต่อมาถูกย้ายไปอยู่ที่เมือง Ortona ในอิตาลี
 
พระศาสนจักรสงวนท่าทีที่เป็นกลางในเรื่องที่ว่าศาสนาคริสต์อาจได้รับการสถาปนาขึ้นในอินเดียมานานก่อนที่จะมีในยุโรปส่วนใหญ่ มีหลักฐานที่แสดงว่านักบุญโทมัสใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่อินเดีย ในปี 1956 พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงอนุญาตให้ตั้งอาสนวิหารนักบุญโทมัสในมัดราสให้เป็น minor basilica (อาสนวิหารน้อย)
 
ในเมืองปารัว รัฐเกรละทางใต้ของอินเดีย พื้นหินของโบสถ์โกฏฆาวุอันเก่าแก่ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณจนขึ้นเงา ส่วนในโบสถ์หลังใหม่และใหญ่กว่าซึ่งอยู่ติดกัน อัฐิสีซีดๆ ชิ้นหนึ่งขนาดพอๆ กับเล็บนิ้วหัวแม่มือประดิษฐานอยู่ในโกศทองคำ ป้ายภาษาอังกฤษระบุว่าเป็นอัฐิของนักบุญโทมัส ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า นักบุญท่านนี้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในอินเดีย ณ สถานที่แห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 52
 
โบสถ์คริสต์ทั้งที่เมืองปารัวและเมืองอื่นๆ ในรัฐเกรละล้วนรุ่มรวยไปด้วยรูปเคารพต่างๆ ตั้งแต่ภาพนักบุญโทมัส พระนางพรหมจารีมารีย์ พระเยซูคริสต์ ไปจนถึงนักนักบุญยอร์จ แม้แต่ชาวฮินดูเองยังสวดอ้อนวอนต่อนักบุญยอร์จผู้สังหารมังกร เพราะเชื่อว่าท่านอาจช่วยปกป้องลูกๆ จากงูเห่า
 
*************************
 
แผ่นหินสลักที่มีรูปกางเขน อยู่บนพระแท่น ถูกค้นพบโดยชาวโปรตุเกสในปี 1547
มีอายุระหว่างศตวรรษที่ 6 – 8
กางเขนแบบนี้เรียกว่า Nestorian cross พบในศรีลังกา มีดอกบัวรองอยู่ใต้กางเขน
รอยบนหินนี้ถูกระบุว่าเป็นรอยเท้าของนักบุญโทมัส พบใน Malayattor ของอินเดีย
พระธาตุบางส่วนของนักบุญโทมัสถูกเก็บไว้ที่อาสนวิหารนักบุญโทมัส ในกรุงมัดราส
พระธาตุที่เหลือของนักบุญโทมัสถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่อาสนวิหารนักบุญโทมัส
ในเมืองออร์โตนา ของอิตาลี
Sakar พระสังฆราชออร์โธดอกซ์ชาวซีเรียที่โบสถ์นักบุญโทมัสในกรุงโมซุล ของอิรัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น