การเวียนว่ายตายเกิดในคริสต์ศาสนา
โดย คุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช C.Ss.R จากเว้บไซต์อิสระดอทคอม
ความหมายของการกลับชาติมาเกิด
คำสอนเรื่องการกลับชาติมาเกิด หรือการเวียนว่ายตายเกิดในภาษาของพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้น นักคิดทางตะวันตกใช้คำว่า Transmigration หรือ Metempsychosis ใช้อธิบายภาวะของวิญญาณเมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในรูปร่างใหม่ กายใหม่ จะเป็นกายมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้แล้วแต่ผลบุญหรือความดีที่ได้กระทำ เป็นการเริ่มต้นกระบวนการเติบโตใหม่อีกครั้ง นี้เป็นคำอธิบายแบบกว้าง ๆ เพราะในแง่รายละเอียดนั้นมีลักษณะการเกิดและเหตุผลของการเกิดต่างกันออกไปตามคติของแต่ละความเชื่อถือ
การเกิดใหม่ในธรรมเนียมศาสนาต่าง ๆ
ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่นั้นมีมานานหลายพันปีแล้ว ในความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณนั้นเชื่อว่าวิญญาณของคนเรานั้นกลับมาเกิดใหม่ได้ ธรรมเนียมการอาบศพและทำมัมมี่ก็มีพื้นฐานจากความเชื่อว่าสักวันหนึ่งวิญญาณจะกลับมาสู่ร่างอีกครั้ง และบางสายก็เชื่อว่าร่างนั้นเองที่ทำเป็นมัมมี่ไว้ เพราะว่าสักวันหนึ่งจะเดินทางไปสู่สวรรค์พร้อมกับจิตที่เรียกว่า คา (ka) ในธรรมเนียมกรีกโบราณ คำสอนเรื่องการเกิดใหม่นั้นพบหลักฐานในคำสอนของ ปีทากอรัส (570-500 BC) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์โบราณด้วย ตามคำสอนของท่านนั้นวิญญาณไม่สลายและไม่ตายถูกร่างกายคุมขังไว้ การเกิดแต่ละครั้งนั้นจะเป็นการชำระวิญญาณนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิญญาณนั้นจะบริสุทธิ์ และหลุดพ้นจากกฎหรือวงจรของการเกิดดับที่มีอยู่ พลาโต้ (428-348BC) สอนว่าวิญญาณนั้นเป็นนิรันดร์และเป็นจิตเมื่อเข้ามาอยู่ในร่างกายแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะเปื้อนด้วยกิเลศตัณหาของร่างกาย อย่างไรก็ตามวิญญาณนั้นก้พอจะจำสถานภาพก่อนเกิดได้บ้างเหมือนกันแต่ก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น หากวิญญาณนั้นทำกุศลและทำดีในแต่ละชาติ วิญญาณก็ค่อย ๆ บริสุทธิ์และย้อนกลับไปสู่ความบริสุทธิ์ดังที่เคยเป็นก่อนหน้าที่จะมาเกิด แต่ถ้าหากวิญาณไม่ได้พัฒนาตนในแต่ละครั้งที่เกิดแล้วไซร้วิญญาณนั้นก็จะไปถึงจุดจบที่ ตาตารุส (Tartarus) หรือสถานที่ลงโทษชั่วนิรันดร์ ความเชื่อเรื่องวิญญาณกลับมาเกิดใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเกิดในคน สัตว์ พืช หรือแม้แต่น้ำ ดินจนกลายเป็นเจ้าที่เจ้าทางนั้นมีอยู่ในความเชื่อของกลุ่มชาวอะบอริจินในออสเตรเลียด้วย พวกเขาเชื่อว่าหลังจากที่วิญญาณล่องลอยอยู่ในแดนคนตายจนหมดแล้ววิญญาณนั้นก็จะกลับมาหาทางเกิดใหม่ อาจจะเข้าไปอยู่ในร่างของหญิงที่ตั้งครรภ์หรือเข้าไปอยู่ในร่างของสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้ นอกนั้นพวกเขายังเชื่อว่ามีสถานที่หนึ่งที่เรียกว่า oknanikilla ซึ่งเป็นที่วิญญาณรอคอยเพื่อไปเกิดใหม่ ดังนั้นหญิงคนใดที่ต้องการมีลูกก็จะพากันไปขอตามสถานที่ดังกล่าวนี้และหญิงอะบอริจินบางคนก็เชื่อว่า แม้แต่เดินผ่านไปในสถานที่ดังกล่าวดยมิได้ตั้งใจวิญญาณก้อาจเข้าสิงและมาเกิดในครรภ์ของเขาได้ ในโลกตะวันตกและยุโรปเองก่อนที่คริสต์ศานสนาจะพัฒนามาเป็นระบบอย่างปัจจุบันนั้นร่องรอยของความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดก้พบได้ในยุคแรก ๆ ราวศตวรรษที่ 3 เช่น คำสอนตามแนวคิดของ มานี ซึ่ง น.ออกัสติน (354-430 AD) เองก็หลงไหลในปรัชญาแนวทางนี้อยู่นานก่อนที่จะปฎิเสธและกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจของแนวคิดนี้ในภายหลัง
ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดนี้มีพัฒนาการเป็นระบบมากที่สุด ในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ฮินดูนั้นมีมาก่อนพุทธศาสนาและได้สอนเรื่องกฏของการเวียนว่ายตายเกิดที่มีพื้นฐานมาจากคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งสอนว่า อัตตาถูกครอบไว้ด้วยกายซึ่งไล่ไปตั้งแต่กายหยาบไปจนถึงกายละเอียด กายละเอียดนั้นเมื่อคนเราตายแล้วก็จะทิ้งร่างซึ่งเป็นกายหยาบไปหาร่างใหม่ตามกฎแห่งกรรมที่ได้ทำไว้ว่า ดีหรือเลวมากน้อยเพียงใด ถ้ามีกรรมดีมากก็จะได้ร่างหรือเกิดใหม่ที่ดีกว่าชีวิตเก่า ตราบใดที่วิญญาณยังไม่ถึง นิรวานก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย ๆ ตามกรรมที่ทำไว้ พระคัมภีร์บอกว่ามีการเกิดการตายเปลี่ยนรูปไปเรื่อย ๆ ถึง 8 ล้าน 6 แสน 4 หมื่นรูป ฮินดูถือว่าการได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากยิ่งและมนุษย์เท่านั้นมีสิทธิ์บรรลุภาวะนิรวาน จากจุดนี้เองก็มีการจินตนาการไปตามความต้องการและเงื่อนไข เช่น คำว่า ร่างใหม่ดีหมายถึงไปเกิดในครอบครัวดี เศรษฐี มีทรัพย์ มีฐานะ ฯลฯ หรือกรรมเก่านั้นจะสนองกลับมาตอบแทนได้เช่น ชาติก่อนเป็นชายที่ชอบทำร้ายผู้หญิง ชาติต่อมาก็จะเกิดมาเป็นหญิงถูกเขาทำร้ายต่อเพื่อใช้กรรมดังนี้เป็นต้น คำสอนของฮินดูจึงเน้นการทำความดีเพื่อไปเกิดในชาติที่ดีกว่าเดิม คำสอนคล้าย ๆ กันนี้ต่อมาได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งในพุทธศาสนาซึ่งมองคำว่า อัตตา ต่างจากฮินดู อัตตาในพุทธศาสนานั้นคือเป้าหมายที่ต้องกำจัดเพราะมันก่อให้เกิดความทุกข์และเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ การกำจัดอัตตาไม่ให้เหลือก็จะนำไปสู่นิพพาน การผูกติดอยู่กับอัตตานั้นล้วนเป็นทางนำไปสู่ความทุกข์ไม่มีสิ้นสุด และเป็นการต่อวงจรของกรรมไปเรื่อย ๆ พุทธศาสนามีการวิเคราะห์เรื่องของร่างกายและจิตได้ละเอียดมากกว่าทางฮินดู และได้สอนกฎ ปฎิจจสมุปบาท หรือกฎซึ่งอาสัยกันและกันหนุนกันก่อให้เกิดวิเคราะห์ออกเป็นองค์ประกอบ 5 ขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ กายคือองค์รวมของธาตุคือดิน น้ำ ลม ไฟ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยงเช่นกัน การตายคือการสลายการรวมของขันธ์ห้านั่นเอง เมื่อร่างกายตายแล้วจิตจะเหลืออยู่และจะวนเวียนไปตามกฎของกรรมดีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้ ไปเกิดตามภพต่าง ๆ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ตัณหาหรือความอยากของวิญญาณนั้นจะเป็นตัวชูทำให้มีการเกิดการดับไปเรื่อย ๆ หากตัณหาไม่หมดก็ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในวงจรของเกิดับต่อไปตามผลของกรรมที่ทำไว้ สรุปแล้วเพื่อที่จะไม่เกิดอีกนั้นบุคคลต้องถึงภาวะนิพพานโดยการตัดกิเลศตัณหาต่าง ๆ และบำเพ็ญกรรมดีสะสมไว้ในชาตินี้ วิญญาณจะเกิดใหม่ในลักษณะใดไม่ชัดเจน พุทธแต่ละนิกายก็มีการอธิบายต่างกันออกไป
เหตุผลที่คาทอลิกปฏิเสธความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด
ศาสนาใหญ่ ๆ ในโลกนี้จะมีหลักของความเชื่ออยู่บนพระคัมภีร์และมีการพัฒนาความเชื่อนั้นควบคู่ไปกับหลักเหตุผละและปรัชญา คริสตศาสนาก้เช่นกันได้พัฒนาความเชื่อขึ้นมาตามพื้นฐานของพระคัมภีร์ ความเชื่อเรื่องการเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียวและได้รับการตัดสินพิพากษาตามความดีงามที่ทำในชีวิตก่อนตายของคริสต์ศาสนานั้นพัฒนามาจากความเชื่อของศาสนายูดาห์ เรื่องการเกิดครั้งเดียวก็มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์ใหม่ในจดหมายถึงชาวฮีบรู บทที่ 9 ข้อที่ 27-28 ว่าดังนี้
และดังเช่นที่มนุษย์เราตายเพียงครั้งเดียวเท่านั้นแล้วหลังจากนั้นก็ได้รับการพิพากษาตัดสิน ในลักษณะเดียวกัน พระคริสตเจ้าได้มอบพระองค์เองเป็นบูชาเพียงครั้งเดียวและได้ลบล้างบาปมากมาย จะไม่มีคำถามเกี่ยวกับบาปอีกต่อไปเมื่อพระองค์เสด็จมาอีกเพื่อช่วยกอบกู้ผู้ที่กำลังรอคอยพระองค์ (ฮบร.9:27-28) ถ้าดูกันตามตัวอักษรแล้ว พระคัมภีร์ก็ไม่ได้บอกว่าคนเราเกิดกี่ครั้ง มีการพูดถึงเรื่องการเกิดใหม่ ตอนที่พระเยซูเจ้าพูดกับนิโคเดมัส (ยน.1-12) แต่นั่นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเกิดในลักษณะของเวียนว่ายตายเกิดอย่างที่เราซึ่งอยู่ในอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้าใจ แต่เป็นการเกิดใหม่ในพระจิตคือการกลับใจ เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่มาในหนทางพระเจ้า ดังนั้นคริสตชนจึงยึดถือธรรมเนียมเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว ตายแล้วก็ได้รับการพิพากษาตัดสินจากพระเจ้า ทีนี้ก็เกิดมีคำถามว่าการพิพากษาตัดสินนั้นเกิดเมื่อไรหลังจากความตาย พิพากษาทันทีหรือต้องรอไปก่อน (นี่คือวิธีคิดของเราที่อยู่ภายในกาลเวลาแต่ภาวะนอกกาลเวลาคำถามนี้อาจไม่มีความหมายเลยก็ได้) อันนี้ก้เข้าอยู่ในปัญหาของวิชาอันตกาลวิทยาหรืออวสานวิทยาซึ่งพวกคุณพ่อทุกคนต้องเรียนแต่ผมไม่กล่าว ณ ที่นี้
ในแวดวงของคริสต์ศาสนานั้นจะมีนักการศาสนาที่คอยปกป้องความเชื่อจากความคิดที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อพื้นฐานความเชื่อของคริสตศาสนา เราเรียกกลุ่มนักการศาสนานี้ว่า Apologists ที่หลายคนเป็นทั้งนักการศาสนาและนักปรัชญา คริสตศาสนาได้พัฒนาปรัชญาของตนเองมาจากหลายสาย เป็นต้นปรัชญากรีกที่มีอิทธิพลมากในยุโรปยุคโบราณก่อนที่คริสต์ศาสนาจะเกิดขึ้น นักปรัชญาเหล่านี้ได้นำเอาหลักเหตุผลของพลาโต้ (428-348 BC) อาริสโตเติล (348-322 BC) และของคนอื่นๆมาดัดแปลงอธิบายคำสอนของคริสต์ศาสนาเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นเหตุผลแบบตะวันตกจึงคู่กับคำสอนของคริสต์ศาสนาเรื่อยมารวมทั้งคำสอนด้านจริยธรรมต่าง ๆ ด้วย ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือการกลับชาติมาเกิดนั้น นักคิดและนักปรัชญาชาวคริสต์พวก Apologistst เขายึดหลักอะไรถึงไม่ยอมรับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ? จากหนังสือ Handbook of Christian Apologetics เขาให้เหตุผลดังนี้คือ
1. เขาเห็นว่าเรื่องเวียนว่ายตายเกิดนั้นขัดกับเรื่องการรับเอากายหรืออวตารของพระเยซูเจ้าเพื่อไถ่บาป และทำให้เห็นว่าแผนการของพระเจ้าในการกอบกู้มนุษยชาตินั้นเป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง และนอกนั้นยังทำให้เข้าใจว่าการตายของพระองค์เป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น พวกเขาเห็นว่าหากเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้วพระเยซูเจ้าก็ไม่ผิดอะไรกับนักปรัชญาคนหนึ่งเท่านั้นเองแทนที่จะเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่คริสตชนเชื่อ
2. คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้น นำมาใช้อธิบายแผนการความรอด แผนการกอบกู้มนุษยชาติและเรื่องของบาปไม่ได้
3. ถ้าเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดก็เหมือนกับยอมรับว่าพระเจ้าวางแผนผิดพลาดเมื่อให้วิญญาณมาเกิดในร่างกายเรา และร่างกายก็ถูกมองว่าเป็นเพียงที่คุมขังวิญญาณเท่านั้นเอง ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคริสตชนที่ว่าร่างกายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า
4. คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเป็นการปฎิเสธคำสอนเรื่องจิตและร่างกายเป็นหนึ่ง ร่างกายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์
5. คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้นทำให้มองร่างกายเป็นเพียงคุกขังวิญญาณและเป็นการลงโทษวิญญาณ การมาเกิดเป็นเพียงการใช้โทษผิดของอดีตเท่านั้น
6. ถ้าเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจะทำให้เกิดความสับสนอย่างมากในเรื่องบาป เรื่องความโง่เขลา เรื่องอิสระเสรี
7. ความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดทำให้มองว่าเราเกิดมาเพื่อขัดเกลากิเลศและชดเชยความผิดที่ได้กระทำ แต่ปัญหาคือเมื่อคนเราเกิดมาแล้วก็ไม่จำสิ่งที่ได้ทำในอดีตเช่นนี้แล้วจะขัดเกลาได้อย่างไร และการชดใช้ความผิดในอดีตที่ตัวเราไม่รู้นั้น ก็ขัดกับความยุติธรรม และขัดกับเรื่องเจตจำนงเสรี การเรียนรู้ก็เช่นกัน เราต้องมีความทรงจำก่อนจึงจะเรียนรู้ได้ แต่นี่เราไม่เคยจำอะไรในอดีตเลย การเกิดมาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาจากจุดที่ได้ขาดไปเพราะความตายนั้นจะทำได้อย่างไร?
8. ข้ออ้างที่ว่ามีคนจำอดีตชาติก่อนได้นั้น ดูจากจำนวนคนที่จำได้หรืออ้างว่าจำได้นั้นก็มีน้อยนิดเหลือเกินกับจำนวนคนที่เกิดมาในโลกนี้ ทำให้ไม่มีน้ำหนักพอ และอีกอย่างปรากฎการณ์จำอดีตได้นั้นก็สามารถอธิบายด้วยวิธีอื่น ได้เช่นบางคนสามารถติดต่อกับวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้วได้ เพราะฉะนั้นอาจเป็นได้ที่วิญญาณนั้นมาบอกอดีตของเขากับคนนั้น ๆ ดังนี้เป็นต้น
9. คำสอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่น่าเชื่อถือเพราะมีคำถามว่า
- เหตุใดวิญญาณถึงต้องถูกขังในร่างกาย?
- ชีวิตเป็นเพียงการทำโทษความผิดในอดีตเท่านั้นเองหรือ?
- ถ้านับชีวิตย้อนหลังไปยังชาติแรกสุดก่อนมาเกิดครั้งที่สองเพื่อชดเชยความผิดนั้น ชีวิตสมบูรณ์อยู่แล้วหรือเปล่า? ถ้าสมบูรณ์ครบครันอยู่แล้วทำผิดได้อย่างไร? ถ้าสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเกิดใหม่ทำไม? ถ้าเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดนั่น หมายความว่าเรากำลังวกไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์นั้นอีกครั้งใช่หรือไม่? ถ้าสมบูรณ์อยู่แล้วต้องมาเกิดเพื่อวกไปสู่ความเป็นอันเดิมนั้นทำไม? แล้วเมื่อไหร่จะสิ้นสุดสักที
- ถ้าเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดก็มองได้ว่าชีวิตเป็นเพียงเกมส์อย่างหนึ่งของพระเจ้าเท่านั้น เกมส์เทวะเช่นนี้คงจะเกมส์ที่โง่เง่าสิ้นดี เพราะถ้าพระเจ้าเปี่ยมด้วยความสมบูรณ์จริงพระองค์คงไม่เล่นเกมส์ประเภทที่ไม่สมบูรณ์เช่นนี้แน่ หรือว่าพระเจ้าเองก็ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าบอกว่าพระเจ้าไม่สมบูรณ์ก็ไม่ใช่ความเชื่อของคริสต์ศาสนาและไม่ใช่พระเจ้าของคริสตชนแน่นอน
- ถ้าเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เราจะไม่สามารถอธิบายธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพได้เลย และถ้าเชื่อเช่นนั้นก็เท่ากับว่าโครงสร้างของระบบคำสอนในคริสต์ศาสนากำลังจะพังทลาย
ปัญหาที่ยังเป็นปัญหาอีกต่อไป
จากข้ออ้างและหลักการของ Apologists ดังกล่าวข้างบนนั้นเป็นหลักการที่มีพื้นฐานมาจากเหตุผลของทางตะวันตกและที่สำคัญเป็นการปฏิเสธแนวคิดเรื่องการเกิดใหม่ที่มีอยู่ในยุโรปยุคแรก พวกเขามิได้ศึกษากับคำสอนเรื่องนี้จากทางฮินดูหรือพุทธศาสนาโดยตรง เพราะอย่างที่ทราบเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของแต่ละศาสนานั้นก็อธิบายต่างกันออกไปไม่เป็นระบบเดียวกัน ดังนั้น แม้คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของฮินดูและพุทธเองก็มีจุดบกพร่องและไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน คนที่พอรู้เรื่องนี้บ้างก็นำไปตีความเพิ่มเติมตามสภาพแวดล้อมของตนซึ่งก็ยิ่งทำให้วุ่นวายจับต้นชนปลายไม่ถูกมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญมันเป็นเรื่องของความเชื่อถือที่พิสูจน์อะไรได้ยาก คนที่สอนเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ของการระลึกชาติเองและก็จำจากตำรามาว่ากันทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหานี้ก็จะยังคงเป็นปัญหาที่ลึกลับอีกต่อไป คนที่มีคำถามก็จะตั้งคำถามจากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมของตัวเองต่อคำสอนซึ่งส่วนใหญ่มาจากการพยายามอธิบายตำรา เช่น ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมญาติที่ฝรั่งเศสในวงสนทนานั้นเราหยิบปัญหาของการเวียนว่ายตายเกิดมาถกปัญหากัน มีคนหนึ่งให้ความคิดว่า สำหรับเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือ โดยให้เหตุผลว่าดูพลเมืองของโลกสินับวันจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากวิญญาณที่ตายไปแล้วไปเกิดใหม่ หรือวิญญาณของเรามาจากวิญญาณเก่ามาเกิดใหม่ จำนวนพลเมืองในอดีตมีน้อยกว่าในปัจจุบันมาก วิญญาณใหม่ ๆ นั้นมาจากไหน? มาจากการแบ่งวิญญาณหรือ? ถ้าแบ่งวิญญาณจริง ผลของกรรมที่ทำในอดีตจะมีการแบ่งด้วยหรือไม่? ถ้าแบ่งไปในอนาคตเรื่อย ๆ เอาอะไรมาวัด ดีทางสังคม ดีทางการเมือง หรือดีทางเชื้อชาติ เขาพูดตลกขื่น ๆ ว่า ถ้าเขาเลือกได้ชาติหน้าเขาอยากเกิดเป็นแมวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นทะนุถนอมและเลี้ยงดูแมวด้วยความรักยิ่งกว่าลูกของตัวเองเสีย…
โดยส่วนตัว ผมเองก็ไม่เชื่อถือในการเวียนว่ายตายเกิด เพราะมันอธิบายในสิ่งที่ค้างคาในใจหลาย ๆ เรื่องไม่ได้ (โดยไม่ต้องพูดเรื่องที่มันอธิบายความเชื่อและธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าไม่ได้) และอีกประการหนึ่งยิ่งคิด ก็ยิ่งหมดหวังในชีวิตเพราะโดยลำพังตัวเองแล้วไม่แน่ใจนักว่าความดีงามที่ทำอยู่นี้จะมีพลังพอที่จะทำให้หลุดจากวงจรของการเวียนว่ายตายเกิดได้ แน่นอนผมเคารพในมโนธรรมของคนที่ศรัทธาและเชื่อถือในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและไม่คิดดูหมิ่น ที่ไม่ศรัทธาเพราะผมหาคำตอบแบบจะ ๆ ในเรื่องนี้ไม่ได้เท่านั้นเอง อันที่จริงการอธิบายเรื่องที่มันเป็นความเชื่อถือนั้นก็อธิบายไม่ได้บริบูรณ์อยู่แล้วล่ะ นอกจากบุคคลนั้นจะได้สัมผัสและมีประสบการณ์เองเนื่องจากศาสนาไม่ใช่เรื่องของปรัชญาอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของเทววิทยาด้วย กล่าวคือไม่ใช่เรื่องของเหตุผลอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของความเชื่อ เพราะไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ใช่ศาสนา สรุปแล้วปัญหานี้จะยังคงเป็นปัญหาอีกต่อไปอีกนานและท้าทายนักคิดให้พยายามหาคำอธิบายและคำตอบที่น่าพอใจ
*********************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น