วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

คำพิพากษา



ในเมืองนิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1935 มีการพิพากษาคดีหนึ่งในยามหัวค่ำอันหนาวเหน็บของเดือนมกราคม หญิงชราคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีลักขโมยขนมปังหนึ่งก้อน
 
หญิงชรามีท่าทีเศร้าหมอง และภายใต้ความเศร้านั้นก็มีความละอายแก่ใจอยู่ด้วย คืนนั้น ฟิโอเรลโล ลากวาเดีย ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กในขณะนั้นเป็นผู้พิพากษา
 
ฟิโอเรลโล ถามหญิงชรา “คุณขโมยขนมปังไปจริงหรือ?”
หญิงชราก้มหัวตอบอย่างหดหู่ “ฉันขโมยขนมปังจริงๆ ค่ะท่าน”
ผู้พิพากษาถามต่อว่า “เพราะเหตุใดคุณจึงต้องขโมยขนมปัง คุณไม่มีอะไรจะกินหรือ?”
 
หญิงชราเงยหน้าขึ้นบอกผู้พิพากษา “ใช่ค่ะ ฉันหิวมาก แต่ฉันไม่ได้ขโมยขนมปังไปเพื่อกินเอง ลูกเขยของฉันทิ้งครอบครัวไป ลูกสาวของฉันล้มป่วย หลานสองคนของฉันไม่ได้กินอะไรมาหลายวัน ฉันไม่อาจทนเห็นหลานตัวเล็กๆ ทนหิวได้”
 
ห้องพิจารณาคดีเงียบกริบหลังได้ฟังคำอธิบายของหญิงชรา
 
ผู้พิพากษากล่าวกับหญิงชราว่า “ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย สำหรับข้อหาขโมยขนมปังคุณเลือกเอาว่าจะจ่ายค่าปรับ 10 เหรียญ หรือติดคุกเป็นเวลา 10 วัน”
 
หญิงชราตอบ “ท่านผู้พิพากษา ฉันยอมรับโทษในทุกสิ่งที่ฉันทำ หากฉันมีเงิน 10 เหรียญ ฉันจะไม่ขโมยขนมปังหรอก ดังนั้นโปรดจำคุกฉันเถิด แต่สิ่งเดียวที่ฉันห่วงคือใครจะดูแลลูกสาวและหลานของฉันในช่วงเวลาที่ฉันติดคุก”
 
ผู้พิพากษาหยุดคิดพักหนึ่ง แล้วเขาก็ล้วงกระเป๋าหยิบธนบัตรสิบเหรียญขึ้นมาถือในมือ แล้วกล่าวว่า “ผมจะจ่ายค่าปรับให้คุณสิบเหรียญ คุณกลับบ้านไปได้”
 
ผู้พิพากษาหันไปพูดกับคนที่มาฟังการพิจารณาคดีในที่นั้นว่า “นอกจากนั้น ผมขอปรับทุกคนในห้องนี้คนละ 50 เซนต์ โทษฐานที่พวกคุณเมินเฉยและไร้น้ำใจในสังคม หญิงชราคนนี้ไม่ควรจะต้องขโมยขนมปังเพื่อประทังชีวิตหลานและคนในครอบครัวหากพวกคุณให้การช่วยเหลือเธอ คุณไบลีฟ โปรดเก็บเงินจากทุกคน คนละ 50 เซนต์ แล้วมอบเงินนั้นให้ผู้ต้องหา”
 
ทุกคนในที่นั้นรวมไปถึงเจ้าของร้านขนมปังที่ฟ้องร้องนำหญิงชรามาขึ้นศาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้มาฟังการตัดสินรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการจ่ายค่าปรับคนละ 50 เซนต์ พวกเขายอมรับและยืนขึ้นปรบมือชื่นชมผลการตัดสิน
 
วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวการมอบเงินค่าปรับจำนวน 47.5 เหรียญ ให้กับหญิงชราผู้น่าสงสารเพื่อนำไปซื้ออาหารให้ครอบครัว
 
ผลการตัดสินคดีของผู้พิพากษากระตุ้นให้ผู้คนในสังคมได้เห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกข์สุขของกันและกัน และหากมีอาชญากรรมเนื่องด้วยเรื่องของปากท้องเช่นนี้เกิดขึ้นในชุมชน นั่นก็หมายถึงเราทุกคนมีส่วนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด
 
เราทุกคนต่างเกี่ยวเนื่องกัน หากคนหนึ่งทุกข์ คนอื่นๆ ก็จะทุกข์ตาม เราจะต้องคอยเป็นหูเป็นตาให้กัน เพื่อมิให้มีใครคนใดคนหนึ่งถูกลืมไปจากสังคม
 
คำพิพากษา เรียบเรียงมาจากเรื่องเล่าส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของ ฟิโอเรลโล ลากวาเดีย อดีตนายกเทศมนตรีผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับแห่งมหานครนิวยอร์ก
************************

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น