วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในสมัยพระเยซูเจ้า

 

“ประมาณช่วงเวลานี้เองที่พระเยซูปรากฏตัวขึ้นมา. เขาเป็นคนที่ปรีชาฉลาด หากเป็นเรื่องถูกต้องที่จะเรียกเขาว่าคน เพราะเขาได้ทำกิจการหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ามหัศจรรย์” โยเซฟุสเขียนไว้ในปีค.ศ. 93
 
ฟลาวีอุส โยเซฟุส(Flavius Josephus) เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ในศตวรรษที่1 แต่หนังสือประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเขาได้เข้ามาอยู่ในแวดวงวรรณกรรมคลาสสิก และคริสตชนบางท่านได้อ้างอิงจากหนังสือนี้ที่แสดงถึงข้อพิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระแมสซิยาห์
 
ชาวยิวหลายคนในสมัยของเขาประณามโยเซฟุสตั้งแต่เวลานั้นเรื่อยมา เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกที่เข้าข้างคริสตชน
 
โยเซฟุส เบน แมตทีอัส เกิดในปีที่ 37 หรือ 38 จากตระกูลนักบวชที่เป็นชนชั้นสูงในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่ออายุ 16 ปีเขาทำสิ่งที่เราเคยได้ยินจากพระวรสาร เขาเข้าไปในถิ่นทุรกันดารกับสมาชิกฤาษีคณะหนึ่งในนิกายนักบวชชาวยิวที่ทำงานอยู่ในช่วงเวลาของพระเยซู เขาอยู่ที่นั่นนาน 3 ปี ซึ่งนานกว่าการประทับในถิ่นทุรกันดารของพระเยซู
 
จากนั้นเขาก็กลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มและเข้าร่วมกับพวกฟาริสี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ศรัทธาชาวยิวที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติโตราห์อย่างเคร่งครัด สารานุกรมบริแทนนิกาบรรยายถึงพวกฟาริสีว่า “แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกลุ่มลัทธิชาตินิยมของชาวยิวที่มีอยู่ในบางนิกาย อาทิเช่น กองทัพผู้รักชาติ Zealots และเต็มใจที่จะยอมจำนนต่อการปกครองของโรมัน ขอแต่เพียงให้ชาวยิวสามารถรักษาความเป็นอิสระทางศาสนาได้เท่านั้นก็พอ”
 
ในการเดินทางไปยังกรุงโรมในปีค.ศ. 64 โยเซฟุสก็รู้สึกประทับใจในวัฒนธรรมโรมันและความสามารถทางการทหารเป็นอย่างมาก เขาถูกดึงให้เข้าร่วมการประท้วงของชาวยิวปีที่ 66 อย่างไม่เต็มใจและกลายเป็นผู้บัญชาการกลุ่มในกาลิลี จบลงด้วยการปกป้องป้อมปราการโจตาปาตา หลังจากการล่มสลายของเมือง, เขาเข้าไปหลบในถ้ำพร้อมกับผู้ก่อกบฏ 40 คนซึ่งต้องการฆ่าตัวตายแทนที่จะยอมจำนนต่อทหารโรมัน  การกระทำอัตวินิบาตกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นจริงในการล้อมที่ภูเขามาซาดา ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นที่เลื่องลือในอีกหลายปีต่อมา และเหตุการณ์นี้โยเซฟุสได้บันทึกเป็นพงศาวดารเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามที่โจตาปาตา โยเซฟุสทำให้กลุ่มผู้รักชาติเชื่อว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นสิ่งที่ผิดบทบัญญัติและศีลธรรม สิ่งที่ควรทำคือให้คนหนึ่งฆ่าอีกคนจนกว่าจะเหลือคนสุดท้ายที่ต้องฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ยอมจำนนต่อทหารโรมัน สารานุกรม Britannica เล่าว่า “โยเซฟุสออกอุบายให้จับสลากกันว่าใครจะเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย และโยเซฟุสเป็นหนึ่งในสองคนที่รอดชีวิตที่ยอมจำนนต่อทหารโรมัน”
 
ตอนนี้โยเซฟุสกลายเป็นเชลยของชาวโรมัน แต่เขารอดชีวิตมาได้เมื่อเขาทำนายไว้อย่างถูกต้องว่าเวสปาเซียน Vespasian ผู้บัญชาการกองทัพโรมันในกาลิลีจะกลายเป็นจักรพรรดิ
 
ในเวลานั้นเองที่โยเซฟุสเข้าร่วมกับอาณาจักรโรมันอย่างเต็มตัว แม้กระทั่งการใช้ชื่อว่า Flavius ซึ่งเป็นชื่อครอบครัวของเวสปาเซียน Vespasian หลังจากนั้นเขาเข้าร่วมกับกองกำลังโรมัน แต่โชคไม่ดีที่เขาถูกเพื่อนชาวยิวจงเกลียดจงชัง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวโรมัน เขาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างทั้งสองฝ่ายตามที่ใฝ่ฝันได้ หลังจากการล่มสลายของกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารถูกทำลายแล้ว เขาจึงได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงโรม
 
ผลงานที่เขาแต่งขึ้นได้แก่ ประวัติศาสตร์สงครามยิวซึ่งเป็นแหล่งที่มาของ “หลักการประท้วงของชาวยิว” และ“เป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับยุทธวิธีและกลยุทธ์ทางทหารของโรมัน” สารานุกรมบริแทนนิกาบรรยายไว้
 
หนังสือชื่อ Antiquities of the Jews (มรดกทางโบราณคดีของชาวยิว) ของเขาซึ่งเขียนเสร็จในปีค.ศ. 93 เป็นประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วยการเนรมิตสร้างของพระเจ้า ในหนังสือเล่ม 18 จากผลงานทั้งสิ้น 20 เล่ม เขาได้กล่าวถึงพระเยซู ข้อความบางตอนเขียนว่า:
 
“ประมาณช่วงเวลานี้เองที่พระเยซูปรากฏตัวขึ้นมา. เขาเป็นคนที่ปรีชาฉลาด หากเป็นเรื่องถูกต้องที่จะเรียกเขาว่าคน เพราะเขาได้ทำกิจการหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ามหัศจรรย์ และเป็นอาจารย์ผู้สั่งสอนความจริงที่หลายคนชื่นชอบ. เขาชักนำผู้คนมากมายให้มาหาเขา ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติ. เขาคือพระคริสต์(พระแมสสิยาห์); และเมื่อปีลาตทำตามคำชี้แนะจากบรรดาคนสำคัญในหมู่พวกเราโดยตัดสินให้ตรึงเขาที่กางเขน คนที่รักเขามาตั้งแต่แรกไม่ได้ละทิ้งเขา เพราะเขากลับมามีชีวิตและปรากฏแก่คนเหล่านี้อีกในวันที่สาม ตามที่ประกาศกทั้งหลายของพระเจ้าได้บอกล่วงหน้าไว้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องอันน่ามหัศจรรย์ที่เกี่ยวกับเขาอีกนับหมื่นเรื่อง; และคริสชนซึ่งได้ชื่อมาจากเขา ไม่ได้สูญสิ้นไปในเวลานี้.”— (Antiquities 18:3:3).
 
 
นักวิชาการยอมรับว่าโยเซฟุสได้พูดถึงพระเยซู แต่พวกเขาสงสัยว่าคริสตชนอาจแก้ไขข้อความเพื่อแสดงให้เห็นภาพพระเยซูในแง่บวก ข้อความต่อไปนี้ซึ่งโยเซฟุสกล่าวถึงพระเยซูและยากอบ “น้องชาย” เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าพระเยซูมีชีวิตอยู่จริง:
 
“เฟสทัสตอนนี้ก็ตายไปแล้วและอัลบินัส Albinus ยังมีชีวิตอยู่ แต่เร่ร่อนอยู่บนถนน; ดังนั้นเขา [Ananus อานานัส] จึงเรียกประชุมผู้พิพากษาสภาซันเฮดริน และนำน้องชายของพระเยซู(ผู้ซึ่งถูกเรียกว่าพระคริสต์) ซึ่งมีชื่อว่ายากอบมาอยู่ต่อหน้าพวกเขา ในข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เขาถูกตัดสินให้ถูกขว้างด้วยก้อนหินจนตาย” (Antiquities 20:9:1)
 
สารานุกรมคาทอลิกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1910 บอกว่าคริสตชนยุคแรกมีความกระตือรือร้นในการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ชาวยิวของโยเซฟุสนี้ และบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรอย่างเช่น นักบุญเจอโรมและแอมโบรส หรือนักประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในยุคแรกเช่น Eusebius ก็ชอบอ้างถึงข้อความจากหนังสือของโยเซฟุสในผลงานของพวกท่าน
 
"นักบุญยอห์น คริสซอสโตม เรียกโยเซฟุสว่าเป็นนักบันทึกเรื่องราวที่มีประโยชน์สำหรับหนังสือประวัติศาสตร์ของพันธสัญญาเดิม" (สารานุกรมคาทอลิก)
 
วิกิพิเดีย

โยเซฟ เบน แมดทิอัส (ฮีบรู: יוסף בן מתתיהו‎;[ ค.ศ. 37 – ราว ค.ศ. 100) เปลี่ยนชื่อเป็น ติตุส ฟลาวิอุส โยเซพุส (ละติน: Titvs Flavivs Iosephvs) หลังจากที่ได้เป็นพลเมืองโรมัน เป็นนักประวัติศาสตร์และนักเขียนพิทักษ์ปรัชญา (apologist) ในคริสต์ศตวรรษที่ 1
 
โยเซพุสมาจากครอบครัวที่เป็นนักบวชและราชวงศ์ ผู้รอดมาได้จากการทำลายเมืองเยรูซาเลมโดยโรมันในปี ค.ศ. 70 และมาบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลงานของโยเซพุสเป็นงานสำคัญที่ทำให้เข้าใจถึงเบื้องหลังของศาสนายูดาห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 1
 
โยเซพุสเป็นคนสำคัญของโลกของจักรวรรดิโรมันในด้านความรู้ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวยิว โดยเฉพาะในสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย โยเซพุสเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามประเพณีของชาวยิวอย่างสม่ำเสมอตลอดมา และทั้งสรรเสริญศาสนายูดาห์และพยายามให้การศึกษาและความเข้าใจแก่ผู้มิใช่ชาวยิว โยเซพุสมีความเชื่อมั่นในความคล้ายคลึงระหว่างศาสนายูดาห์กับปรัชญาของวัฒนธรรมกรีก-โรมัน และพยายามให้การศึกษาต่อบุคคลทั่วไปว่าศาสนายูดาห์เป็นศาสนาที่มีรากฐานมานานและเป็นศาสนาที่มีวัฒนธรรม หลักปรัชญา และความศรัทธา โยเซพุสคงจะต้องเป็นผู้ที่มีความสำคัญพอตัวเพราะยูซีเบียสกล่าวว่าโยเซพุสมีอนุสาวรีย์อยู่ในกรุงโรม
 
งานชิ้นสำคัญสองชิ้นของโยเซพุสคือ สงครามยิว ที่เขียนราวปี ค.ศ. 75 และ ประวัติศาสตร์ของชาวยิว ที่เขียนราวปี ค.ศ. 94 สงครามยิว เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติของชาวยิวระหว่างปี ค.ศ. 66 ถึงปี ค.ศ. 70 ในการต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิโรมัน ส่วน ประวัติศาสตร์ของชาวยิว เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เขียนจากทัศนคติของชาวยิว งานเขียนทั้งสองชิ้นเป็นงานเขียนที่มีค่าที่ทำให้เข้าใจถึงศาสนายูดาห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 และเบื้องหลังของศาสนาคริสต์ยุคแรก

*********************

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น