วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รอยบาดแผลทั้งห้าของพระเยซูเจ้า



นักบุญเยอร์ทรูด ได้รับการเปิดเผยจากพระเยซูเจ้าว่า พระองค์ทรงมีบาดแผลบนพระกายระหว่างการถูกเฆี่ยนตีเป็นจำนวน 5466 รอย  ด้วยเหตุนี้เยอร์ทรูดจึงสวดภาวนา 5,466 ครั้งในแต่ละวันเพื่อเทิดพระเกียรติแด่รอยบาดแผลทั้งหมดของพระคริสต์ ต่อมาการสวดภาวนาได้รับการพัฒนาเป็นบทภาวนา 15 บทสำหรับสวดในแต่ละวันแทน
 
ในจำนวนรอยแผล 5,466 รอยนี้ รอยแผล 5,461 รอยเกิดจากการเฆี่ยนตีของทหารโรมันและจากรอยมงกุฎหนามบนพระเศียร รอยแผลอีก 5 รอยคือรอยแผลที่มือ ที่เท้า และที่สีข้างของพระองค์

ที่บนกางเขน พระเยซูเจ้าทรงถูกทหารโรมันใช้หอกแทงที่พระสีข้าง แล้วโลหิตและน้ำก็ไหลออกมาจากรอยแผลนั้น (ยน. 19-34) พระโลหิตนั้นหมายถึงศีลมหาสนิทและน้ำหมายถึงน้ำศีลล้างบาป เราทั้งหลายได้รับความรอดโดยอาศัยน้ำทั้งสองอย่างนี้ พระศาสนจักรก็ถือกำเนิดจากรอยแผลของพระคริสต์นี้ในลักษณะเดียวกันกับที่เอวาถือกำเนิดจากซี่โครงบริเวณสีข้างของอาดัม
 
หลังจากพระเยซูเจ้าทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์แล้ว รอยแผลทั้งหมดบนร่างกายของพระองค์ได้หายไป เหลืออยู่แต่เพียงรอยแผล 5 รอยนี้เท่านั้น
 
พระเยซูเจ้าทรงประทานพระสัญญาแก่นักบุญเยอร์ทรูดและแก่ผู้ศักดิ์สิทธิ์คนอื่นหลายคนว่า จะทรงประทานความรอดนิรันดรแก่ผู้ที่แสดงความศรัทธาด้วยการสวดภาวนาและจูบรอยแผลทั้ง 5 ของพระองค์ทุกวัน
 
พระวรสารโดยนักบุญยอห์น และพระวรสารโดยนักบุญลูกา ได้เขียนไว้ตรงกันว่า รอยบาดแผลทั้งห้านี้อยู่บนพระกายของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงปรากฏแก่อัครสาวกในวันอิสเตอร์ครั้งแรก และหนังสือพระคัมภีร์วิวรณ์กล่าวว่า รอยบาดแผลนี้จะยังคงเห็นได้เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเสด็จมาในวันพิพากษาครั้งสุดท้าย (วว. 1:7)
 
ทำไมพระเยซูเจ้าจึงให้รอยแผลทั้งห้านี้ยังคงปรากฏอยู่บนร่างกายของพระองค์?
 
นักบุญโทมัส อไควนัสได้ให้เหตุผล 5 ข้อต่อคำถามนี้
 
1  เพราะรอยแผลทั้งห้านี้เป็นการประกาศถึงพระเกียรติและชัยชนะของพระคริสต์
 
2  เพื่อยืนยันแก่บรรดาศิษย์และทำให้พวกเขามีความเชื่อและมีความหวังในการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ เพื่อที่พวกเขากล้าที่จะทนทุกข์เพื่อพระนามของพระองค์
 
3 เพื่อที่พระองค์จะได้นำพวกเขาถวายแด่พระบิดาเจ้าสวรรค์และวอนขอเพื่อพวกเรา
 
4 เพื่อทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงไถ่กู้มาด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ตระหนักว่าพระองค์ทรงมีพระเมตตามากสักเพียงใดในการช่วยเหลือพวกเขา โดยทรงแสดงรอยบาดแผลของพระองค์ต่อหน้าพวกเขา
 
5 เพื่อที่ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย รอยแผลทั้งห้านี้จะปรากฏให้ทุกคนได้เห็น แม้แต่ผู้ที่ถูกสาปแช่งด้วย เป็นเครื่องยืนยันว่าการลงโทษของพวกเขานั้นยุติธรรมเพียงใดเนื่องจากการที่พวกเขาปฏิเสธการไถ่กู้อันยิ่งใหญ่ของพระคริสต์

นักบุญเปโตรได้เขียนไว้ในจดหมายว่า “โดยอาศัยรอยบาดแผลของพระองค์ พวกท่านจึงได้รับการเยียวยารักษา”( 1 ปต. 2: 24)
 
นักบุญเปาโลเขียนถึงชาวฟิลิปปีว่า “ข้าพเจ้าต้องการรู้จักพระองค์ รู้จักพระฤทธานุภาพของการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ ต้องการมีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของพระองค์ โดยมีสภาพเหมือนพระองค์ในความตาย จะได้บรรลุถึงการกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายด้วย”(ฟิลิปปี 3:10-11)
 
นักบุญเบอร์นาร์ดแห่งคลาวองส์ได้เขียนไว้ว่า “ที่ใดเล่าซึ่งเป็นที่มั่นอันแข็งแรงสำหรับผู้อ่อนแอผู้แสวงหาที่พักผ่อน ถ้าหากไม่ใช่อยู่ในรอยบาดแผลของพระผู้ไถ่? ที่นั้น คือความปลอดภัยโดยอาศัยอำนาจของพระองค์ โลกเกรี้ยวกราดใส่ข้าพเจ้า ร่างกายของข้าพเจ้าถ่วงข้าพเจ้าให้ต่ำลง ปีศาจวางบ่วงกับดักของมัน แต่ข้าพเจ้าจะไม่ล้มเพราะข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่บนก้อนหินแข็งแกร่ง ข้าพเจ้าเคยทำบาปหนัก จิตสำนึกคอยย้ำเตือนความผิดของข้าพเจ้า – แต่ข้าพเจ้าไม่สิ้นหวังเพราะข้าพเจ้าจะระลึกถึงรอยบาดแผลของพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า”
 
เพราะฉะนั้นจึงเป็นรอยบาดแผลของพระคริสต์ผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์แล้ว ที่เราทุกคนต้องรีบมาพึ่งพระเมตตาและวอนขอการเยียวยารักษา นี่คือเหตุผลว่าทำไมเทียนปัสกาจึงถูกจุดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำให้ระลึกถึงรอยบาดแผลของพระองค์ เพราะบัดนี้รอยบาดแผลแห่งความทุกข์ทรมานของพระองค์ได้รับเกียรติแล้วจากการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์
 
(บทภาวนาในวันฉลองรอยบาดแผลศักดิ์สิทธิ์ของคณะพาสชั่นนิสต์ Passionist Prayer for the Feast of the Glorious Wounds).
 
“พระเยซูเจ้าข้า พระหัตถ์ พระบาทและพระสีข้างของพระองค์ถูกแทง แล้วพระโลหิตก็ได้หลั่งออกมาเพื่อความรอดของโลก รอยบาดแผลในพระกายที่กลับฟื้นคืนพระชนม์แล้วของพระองค์ช่วยให้บรรดาอัตรสาวกเข้มแข็งในความเชื่อต่อการกลับฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ โปรดทำให้พวกเราศรัทธาในข้อพิสูจน์ของความรักของพระองค์นี้ด้วยเถิด และโปรดช่วยให้เราใกล้ชิดกับพระมหาทรมานของพระองค์ เพื่อที่พวกเราจะกลับคืนชีพและได้อยู่กับพระองค์ เราวอนขอทั้งนี้โดยอาศัยพระองค์ผู้ทรงครองราชย์ร่วมกับพระบิดา พร้อมกับพระจิตพระเจ้าหนึ่งเดียวตลอดนิรันดร อาแมน”

***************************
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น