วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562

องค์ปรีชาญาณ



พระคริสตเจ้าองค์ปรีชาญาณ และความรู้ทั้งปวง
 
ความรู้ และ ความเข้าใจ แม้ว่าจะเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกัน แต่พระคัมภีร์ถือว่าสองคุณลักษณะนี้แตกต่างกัน ในทำนองเดียวกัน พระพรของพระจิตก็ถือว่า ปรีชาญาณ และความเข้าใจเป็นพระพรที่ต่างกัน แต่แตกต่างอย่างไรนั้น เราไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัด
 
คนทั่วไปมักคิดว่าปรีชาญาณเกี่ยวข้องกับวัยชรา เพราะผู้สูงวัยย่อมได้พบเห็นสิ่งต่างๆในชีวิตมามาก คนในทุกวัฒนธรรมทั้งแก่และเด็กย่อมแสวงหาปรีชาญาณ ในยุคโบราณ ชนชาติต่างๆยกย่องเชิดชูบุคคลที่ฉลาดสุขุม ปรีชาญาณยังเกี่ยวข้องกับความสุขุมรอบคอบด้วย ในอิสราเอล ถ้าไม่นับโมเสส และโยเซฟ ดูเหมือนจะไม่มีใครที่แสดงปรีชาญาณมากนัก แต่แล้วปรีชาญาณก็ปรากฏขึ้นในตัวกษัตริย์โซโลมอน หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่1 กล่าวว่า พระเจ้าประทานความเข้าใจแก่โซโลมอน เพื่อให้แยกแยะระหว่างความดี และความชั่ว ระหว่างสิ่งถูก และสิ่งผิด จากนั้นก็มีการทดสอบพระพรนี้ สตรีสองคนมาหาพระองค์ แต่ละคนอ้างตัวว่าเป็นมารดาของเด็กคนเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ยอมรับเป็นมารดาของเด็กที่เสียชีวิตแล้ว เมื่อโซโลมอนพิพากษาอย่างยุติธรรม ชาวอิสราเอลพากันตื่นตะลึง เพราะเล็งเห็นว่าปรีชาญาณของพระเจ้าประทับอยู่ในพระองค์ เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
 
พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ถือว่าปรีชาญาณมาจากพระเจ้า เป็นคุณลักษณะที่สามารถพิเคราะห์แยกแยะความดีจากความชั่วได้ คนฉลาดคือผู้เชี่ยวชาญในศิลปะของการดำรงชีวิตเขารู้ว่ามีอะไรในหัวใจมนุษย์ (พจนานุกรมเทววิทยาพระคัมภีร์ หน้า 658) ชาวอิสราเอล เชื่อว่าปรีชาญาณของมนุษย์ได้มาจากพระเจ้า ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราถือว่าปรีชาญาณคือขุมทรัพย์ที่เหนือกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง (ปรีชาญาณ 7:7-14)
 
ในพระตรีเอกภาพ องค์ปรีชาญาณดำรงอยู่ตลอดนิรันดร และมีกำเนิดจากพระวาจาที่ตรัสจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า จึงเรียกว่า พระวจนาตถ์ และพระองค์เป็นองค์ปรีชาญาณของพระเจ้า องค์ปรีชาญาณ (ในภาษากรีกและละตินใช้คำว่า SOPHIA และ SAPIENTIA เป็นคำเพศหญิง) คือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ เป็นภาพสะท้อนของแสงสว่างนิรันดร เป็นกระจกเงาสะท้อนกิจกรรมของพระเจ้า และเป็นภาพลักษณ์ของความเลิศล้ำของพระองค์ องค์ปรีชาญาณประทับอยู่ในสวรรค์ ร่วมบัลลังก์กับพระเจ้า และดำรงชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระองค์
 
พันธสัญญาใหม่ระบุว่าองค์ปรีชาญาณคือพระคริสตเจ้า เป็นพระบุตรและพระวาจาของพระเจ้า พระองค์ประทานกฎแห่งชีวิต ซึ่งมากกว่าข้อกำหนดในบัญญัติ 10 ประการ นั่นคือกฏแห่งความรัก "จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ สิ้นสุดสติปัญญา และจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง"
 
"เราคือหนทาง ความจริง และชีวิต" คือพระดำรัสของพระคริสต์ ที่ปรากฏในพระวรสารนักบุญยอห์น (ยอห์น 4:14, 6:35, 7:37) ทำให้เราสามารถเข้าใจบุคลิกภาพอันลึกลับของพระองค์ได้มากขึ้น พระศาสนจักรของอัครสาวกถือว่าพระองค์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดปรีชาญาณ แต่ทรงเป็นองค์ปรีชาญาณเอง นับแต่นิรันดรกาล พระองค์คือพระวจนาตถ์ผู้ทรงซ่อนพระองค์ในพระเจ้า และทรงถูกเผยแสดงต่อชาวโลกเมื่อ พระวจนาตถ์ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์
 
สำหรับคำที่สองคือ "ความรู้" เรารับทราบจากผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ว่า ชาวอิสราเอล ถือว่าความรู้มีความหมายมากกว่าความเข้าใจ ความรู้ (ภาษาฮีบรู คือ yd)  เป็นมากกว่ากระบวนการอันลึกลับของความเข้าใจ เราจะเห็นความแตกต่างของสองคำนี้  ทั้งสองเป็นกระบวนการรับรู้ และการใช้สติปัญญา หรือความคิด แม้ความรู้ของพระเจ้าจะไร้ขอบเขต และพระเจ้าทรงรู้ทุกสิ่ง แต่เราคงไม่คิดว่าในองค์พระเจ้าจำเป็นต้องมีกระบวนการของความเข้าใจ
 
นักบุญโทมัส อาไควนัส บอกเราว่า ปรีชาญาณหมายถึงการรู้ทุกสิ่งที่อยู่ในพระเจ้า ในขณะที่ความรู้หมายถึงการรู้ทุกสิ่งที่อยู่ในสิ่งสร้างของพระเจ้า ในความหมายทางเทววิทยา ปรีชาญาณไม่เพียงเกี่ยวข้องกับความเข้าใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงน้ำใจหรือความตั้งใจ (will ) ซึ่งควบคุมการกระทำของตนภายใต้การชี้นำของความเข้าใจ ในทางปรัชญา เราแยกปรีชาญาณและความรู้ออกจากกัน ผู้มีความรู้คือผู้ที่คงแก่เรียน และมีความรู้เพื่อใช้นำทางชีวิตของตนและของผู้อื่น
 
พระปรีชาญาณและความรู้ในพระเยซูคริสตเจ้า ก่อนอื่น หมายถึงความสมบูรณ์พร้อมของพระวจนาตถ์ในธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้า ความสมบูรณ์พร้อมของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นเนื่องจากพระเทวภาพพระเจ้าของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงร่วมสภาวะกับพระเจ้า พระเยซูเจ้าจึงทรงเห็นพระเจ้าแห่งสวรรค์(beatific vision) ในธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ และดังนั้น ปรีชาญาณ และความรู้ของพระองค์จึงเหนือกว่าของสิ่งสร้างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทูตสวรรค์หรือมนุษย์ผู้ได้รับเลือกสรร และนี่เป็นความคิดเห็นของโทมัส อาไกวนัส เอง
 
สำหรับความรู้ที่เกิดจากการทดลองหรือประสบการณ์นั้น พระกุมารเยซูย่อมเรียนรู้เหมือนมนุษย์ทั่วไป ภาษาละติน เรียกจิตใจของทารกเกิดใหม่ว่า tabula rasa  หรือกระดานชนวนที่สะอาด ไม่มีสิ่งใดถูกเขียนไว้เลย นักจิตวิทยาบอกเราว่าสิ่งต่างๆในจิตใจมนุษย์เกิดขึ้นผ่านประสาทสัมผัส เราสัมผัสวัตถุต่างๆโดยประสาทสัมผัส เรารู้จักความหนาว และความอบอุ่น รู้ว่าอะไรแข็งหรืออ่อนนุ่ม ขรุขระหรือเรียบ ขาวหรือมีสี หวานหรือเปรี้ยว เป็นต้น พระกุมารเยซูแห่งเบ็ธเลเฮ็ม ก็เรียนรู้ด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุนี้ นักบุญลูกา จึงกล่าวถึงพระองค์ว่า "พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณและพระชนมายุ" (ลก 2:52) พระปรีชาญาณและความรู้ในชีวิตของพระเยซูเจ้าแสดงให้ประจักษ์ทีละน้อย เมื่อทรงอายุเพียง 12 ปี เมื่อพระองค์ทรงอยู่ท่ามกลางนักปราชญ์ในพระวิหาร "พวกเขาประหลาดใจในปรีชาญาณและคำตอบของพระองค์" หลังจากที่พระองค์ทรงอ่านม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ ทุกคนประหลาดใจในถ้อยคำที่พระองค์ตรัส เขากล่าวกันว่า "นี่เป็นลูกของโยเซฟ มิใช่หรือ" (ลก 4:22) พวกเขายิ่งประหลาดใจเมื่อได้เห็นอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำรอบทะเลสาปกาลิลี และกล่าวว่า "คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น เขาทำให้คนหูหนวกกลับได้ยิน และคนใบ้กลับพูดได้" (มก 7:37)

ในยุคของเรา เมื่อพิจารณาศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าประทานแก่พระศาสนจักร และโครงสร้างอันน่าทึ่งของพระศาสนจักร เราเองก็อาจร้องด้วยความพิศวงเช่นเดียวกับชาวอิสราเอล ว่า "โฮซานนาแด่บุตรดาวิด โฮซานนา แด่พระองค์ผู้เสด็จมาในพระนามของพระเจ้า
 
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักบุญทั้งหลายเรียนรู้ปรีชาญาณสวรรค์จากต้นธารแห่งปรีชาญาณและความรู้นี้ นักบุญทั้งหลายได้เรียนรู้คุณค่าที่นำทางท่านไปสู่จุดหมายในสวรรค์ ดังนั้น เราจึงไปหาพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงเป็น หนทาง ความจริง และชีวิต เพื่อเรียนรู้ปรีชาญาณของบรรดานักบุญ  ปรีชาญาณสอนเรา
 
(1)    ให้แสวงหาพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และความรอดของวิญญาณของเราก่อนสิ่งอื่น
(2) ให้เลือกเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำเราไปสู่จุดหมายนี้ และตัดทุกสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้านี้ออกไปจากชีวิตของเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดึงดูดใจเพียงไรก็ตาม
(3)    ให้ใช้เครื่องมือนี้ด้วยความแข็งขัน ด้วยความเพียร และด้วยความตั้งใจจริง
 
 นักบุญโทมัส อไควนาสสอนเราว่า “ท่ามกลางการแสวงหาของมนุษย์ทั้งหมด  การแสวงหาปรีชาญานนั้นสมบูรณ์แบบยิ่งกว่า, มีเกียรติมากกว่า, มีประโยชน์มากกว่าและเต็มไปด้วยความสุข” ด้วยการแสวงหาครั้งนี้มนุษย์ “เข้าร่วม…กับพระผู้เป็นเจ้าด้วยมิตรภาพ” และปรีชาญาณนั้นคือองค์พระเยซูเจ้า ผู้ที่เราต้องแสวงหาด้วยพระกำลังและความตั้งใจทั้งหมดของเรา 

*******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น