วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอและวิกฤตการณ์ในพระศาสนจักร



นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ เกิดในปี 1538 เป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มาร์ติน ลูเทอร์เริ่มก่อการประท้วงในปี ค. ศ. 1522 ด้วยการตีพิมพ์ญัตติ 95 ข้อ หลังจากการปฏิรูปของโปรเตสแตนต์ ทำให้ชาวยุโรป 12 ล้านคน (ซึ่งเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น) ละทิ้งพระศาสนจักรคาทอลิก และจะมีคนติดตามกระแสนี้มากขึ้นในอนาคต

พระศาสนจักรยุคกลางที่ครั้งหนึ่งเคยแข็งแกร่งก็ถึงกาลแตกสลาย อันที่จริงคริสตศาสนาในยุคกลางทั้งหมดกำลังอยู่ในความสับสนอลหม่านโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและกลอุบายใดๆทั้งในพระศาสนจักรเองหรือจากภายนอก

แน่นอนว่าเรื่องนี้ฟังดูคุ้นหูกับพวกเราในยุคนี้ พระศาสนจักรทุกวันนี้ก็กำลังประสบปัญหาการแบ่งแยกจากภายในที่ลึกซึ้ง ด้วยเรื่องอื้อฉาวการล่วงละเมิดทางเพศและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นใน Amazonian Synod ที่อื้ออึงซึ่งเต็มไปด้วยภาพที่สับสนและน่าตกใจและยังมีข้อเสนอแนะการเปลี่ยนแปลงที่กระทบจิตใจของผู้มีความเชื่ออีกด้วย ในเดือนธันวาคมนี้ German Synod ก็จะเริ่มต้นขึ้นที่มีวี่แววว่าจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนใหญ่ของการแตกแยกที่น่ากลัวนี้มาจากสถาบันพระสงฆ์ ไม่ใช่จากประชาชนที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า

ปัญหาในยุคของ นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ก็คล้ายกัน สถาบันพระสงฆ์ต้องการการปฏิรูปอย่างมากและเร่งด่วน มันเป็นยุคที่ขาดแคลนพระสงฆ์และบิชอป ครอบครัวขุนนางชาวยุโรปผู้มั่งคั่งได้รวบรวม ตำบล, วัดและผลประโยชน์อื่นๆเอาไว้เป็นเจ้าของเพื่อความยิ่งใหญ่มากกว่าเพื่อความรักหรือความสนใจทางจิตวิญญาณ เป็นเรื่องปกติที่สิ่งเหล่านี้จะตกเป็นมรดกให้แก่บุตรในครอบครัวเหล่านี้ ถึงแม้จะมีพวกเขาบางคนบวชเป็นพระสงฆ์ แต่พวกเขาแทนที่จะทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษในตำบลต่างๆในเขตของตน (และในสังฆมณฑล) แต่กลับมอบหน้าที่ให้กับพระสงฆ์อื่นๆ ความรู้เกี่ยวกับภาษาละติน, พระคัมภีร์และพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริงขาดไปอย่างเห็นได้ชัด พระสงฆ์เหล่านี้เทศน์สอนอย่างน่าเบื่อ ชีวิตทางจิตวิญญาณของพระสงฆ์เสื่อมโทรมและประชาชนก็ขาดผู้นำฝ่ายจิตใจ ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มาร์ติน ลูเธอร์และนักปฏิรูปคนอื่นๆ สามารถดึงดูดประชาชนจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย ประชาชนซึ่งไม่มีความรู้ในคำสอนมากนักและได้รับการอภิบาลที่ไม่ดีมาก่อน

เมื่อพระศาสนจักรเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิวัติ (โดยลูเธอร์และคนอื่นๆ ) ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภายในพระศาสนจักรเอง พระสันตปาปาทรงเรียกประชุมบิชอปทำให้เกิดสังคายนาแห่งเทรนต์ ขึ้นในระหว่างปี 1545 -1563. นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ มีบทบาทสำคัญในสังคายนานี้และในภายหลังด้วย ท่านทำงานในฐานะหัวหน้า (ท่านเป็นเลขานุการของพระสันตะปาปาปิอุสที่4) ในการจัดประชุมสังคายนาแห่งเทรนต์ขึ้นอีกครั้งซึ่งถูกระงับไปเนื่องจากสงคราม และหลังจากหลายเดือนของการเจรจาและกำจัดปัญหาทางการเมืองเสร็จเรียบร้อย สังคายนาก็ได้เริ่มขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1561 ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ไม่เพียงแต่ประสานงานกิจกรรมของการประชุมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองที่ละเอียดอ่อนมากมายในฐานะตัวแทนของพระสันตปาปา ท่านต้องทำงานอย่างระมัดระวังเพื่อเอาชนะความแตกต่างระหว่างตัวแทนบางคน ในที่สุดสังคายนาแห่งเทรนต์ก็ได้ข้อสรุปในเดือนธันวาคมปี 1563 ก่อนที่พระสันตะปาปาปิอุสที่4 จะสิ้นพระชนม์

ความสำคัญของสังคายนาแห่งเทรนต์ไม่สามารถมองข้ามได้ พระราชกฤษฎีกาฟื้นฟูพระศาสนจักรยุคกลางมีขนาดใหญ่และซับซ้อน และจะทำหน้าที่เป็นแสงนำทางสำหรับสี่ศตวรรษถัดไป อย่างไรก็ตาม, ในขณะนี้กฤษฏีกาของสังคายนายังไม่ได้รับการต้อนรับหรือมีความเข้าใจหรือนำไปใช้อย่างกว้างขวางนัก ผลงานของ ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ จึงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

ขั้นตอนต่อไปของ ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ คือการเขียนคำสอนและเผยแพร่ ท่านแต่งตั้งนักเทวศาสตร์โดมินิกันสามคนให้ทำงานภายใต้การดูแลของท่าน คำสอนของสังคายนาแห่งเทรนต์เสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งปี จากนั้นท่านก็สั่งให้แปลเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อที่พระสงฆ์ทุกคนจะนำไปปฏิบัติในการอภิบาลประชาชน ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ยังทำงานก่อตั้งสามเณราลัยและวิทยาลัยสำหรับพระสงฆ์ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้น

ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ยังมีส่วนร่วมในการกำหนดพิธีกรรม มีการปฏิรูปเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมโดยการส่งเสริมการพัฒนาดนตรีศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องอาศัยผู้มีฝีมือในการชี้นำเพื่อให้แน่ใจว่าเพลงจะไม่น่าเบื่อจนเกินไปและต้องทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องนี้ท่านทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักดนตรี Palestrina

ท่านใช้ตำแหน่งที่มีอิทธิพลในกรุงโรมเพื่อช่วยในการดำเนินการประชุมสังคายนา นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ได้ร้องขอพระสันตะปาปาปิอุสที่ 5 ว่าให้ท่านปฏิบัติหน้าที่นี้ตลอดไปในชีวิตของท่าน แม้ว่าพระสันตะปาปา จะแต่งตั้งท่านให้เป็นคาร์ดินัลบิชอปแห่งมิลาน แต่ท่านก็ยังคงต้องอยู่ในกรุงโรมในฐานะเลขานุการของพระสันตะปาปา ท่านจึงไม่ได้ไปอยู่ที่มิลานซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในเวลานั้น; ในความเป็นจริงมันเป็นเรื่องยากในสังฆมณฑลที่ใหญ่กว่าที่บิชอปจะอยู่ประจำตลอดเวลา สังฆมณฑลขนาดใหญ่เหล่านี้เหมาะสมมากกว่าสำหรับครอบครัวที่ร่ำรวยซึ่งลูกชาย(ซึ่งมักจะบวชเป็นพระสงฆ์)จะเก็บรายได้และไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆในงานอภิบาลสัตบุรุษ สังฆมณฑลจึงมักจะบริหารงานโดยลูกน้อง

ไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดการล่วงละเมิดและการทุจริตจึงเกิดขึ้นภายใต้ระบบนี้ ที่ไม่มีบิชอปอยู่ประจำ ข้อผิดพลาดจึงไม่ได้รับการแก้ไขและการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย

หลังจากหลายเดือนของการเจรจากับพระสันตะปาปาปิอุสที่ 5 (ผู้ต่อต้านความคิดของท่าน) ในที่สุดชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ก็ได้รับอนุญาตให้ไปประจำอยู่ในสังฆมณฑลมิลาน ท่านออกเดินทางไปมิลานด้วยความกระตือรือร้นยิ่ง เพื่อที่จะดำเนินการปฏิรูปตามสังคายนาแห่งเทรนต์ ท่านเรียกประชุมโบสถ์ท้องถิ่นหลายแห่งที่นั่น และจัดตั้งสามเณราลับเพื่อฝึกอบรมพระสงฆ์ ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ยืนยันว่าพระสงฆ์ต้องอยู่ประจำโบสถ์และอภิบาลในโบสถ์ของตน ท่านยังได้ก่อตั้ง Confraternity for Christian Doctrine (CCD) เพื่อสั่งสอนฝึกฝนเด็กๆ ให้มีความเชื่อ และได้รับเด็กมาเรียนคำสอนถึง 40,000 คนในช่วงสองสามปีแรก ท่านเริ่มต้นการเยี่ยมโบสถ์ทุกตำบลในเขตปกครองของท่าน แม้แต่โบสถ์เล็กๆในเขตเทือกเขาแอลป์ที่ห่างไกล

ไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบการปฏิรูปของชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ บางทีการต่อต้านที่ใหญ่ที่สุดก็มาจากพระสงฆ์และนักบวชของท่านเอง ซึ่งคนหนึ่งในนั้นดึงปืนออกมาและยิงท่าน (โชคดีที่กระสุนเพียงแค่เฉียด)! แม้จะมีการต่อต้าน แต่นักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ก็เริ่มการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จมากมายในพระศาสนจักรที่มิลาน การปฏิรูปเหล่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่พิธีกรรม; ชีวิตฝ่ายจิต, การฝึกฝนและวินัยของพระสงฆ์ และการฝึกอบรมฆราวาสในวิถีแห่งความเชื่อ

เมื่อสังเกตสถานการณ์ที่ยากลำบากของเราในทุกวันนี้ และกลับไปพิจารณาดูยุคสมัยของนักบุญชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน แบบอย่างของท่านเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเราในยุคนี้ จำเป็นต้องมีการสอนความเชื่อด้วยความกระตือรือร้นและใช้ความ พยายามอย่างเต็มที่ตามความสามารถที่มีในการสอนคำสอนที่ชัดเจนให้มากขึ้น

ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่พระสงฆ์และนักบวชทุกคน ท่านมีความกระตือรือร้นยิ่งใหญ่และซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและความเชื่อ ท่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่บรรดาบิชอปเพื่อที่จะเลียนแบบตัวอย่างของท่าน ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ ได้มอบชีวิตของท่านเป็นแบบอย่าง ด้วยความเสียสละและอดทนต่อการทดลองหลายครั้งเพื่อสั่งสอนความเชื่อและเยี่ยมบรรดาประชาชนในการดูแลของท่าน ท่านดูแลผู้ป่วยอย่างกล้าหาญในช่วงเกิดโรคระบาดและทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ด้านพิธีกรรม

งานทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสุขภาพของท่าน ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 46 ปีในช่วงเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1584 ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมโบสถ์แห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ขณะที่มีไข้สูง

นักบุญ ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ โปรดภาวนาเพื่อเราในยุคสมัยนี้ด้วยเทอญ

---------------------------------------------

วันที่ 31 ตุลาคม 1517

วันนี้เมื่อ 502 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้นำประกาศที่เรียกว่า "ญัตติ 95 ข้อ" (The 95 Theses) ไปปิดไว้ที่ประตูหน้าโบสถ์เมืองวิตเทนบูร์ก

นับเป็นวันเริ่มต้นของการปฏิรูปศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ และเป็นที่มาของนิกายโปรเตสแต้นท์ (Protestants แปลว่า ผู้ประท้วงต่อต้าน)

หลักการของโปรเตสแต้นท์ประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ข้อคือ: พระคัมภีร์ พระคุณ และความเชื่อ
1. พระคัมภีร์ พระคัมภีร์เท่านั้นเป็นสิ่งที่คริสเตียนต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ไม่ใช่ขนบธรรมเนียมประเพณี
2. พระคุณ พระคุณเท่านั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้มาแบบเปล่าๆ โดยทางกางเขนของพระเยซูคริสต์ เพื่อทุกคนที่เชื่อจะได้รับความรอด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ซื้อขายแลกเปลียนกันได้
3. ความเชื่อ ความเชื่อเท่านั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงพอพระทัย ไม่ใช่การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับพระเจ้า
"เพราะ‍ความเที่ยง‍ธรรมที่พระ‍เจ้าช่วยให้รอดพ้นถูกเปิดเผยในข่าวดีนี้ ความเที่ยงธรรมดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเชื่อ และนำไปสู่ความเชื่อดังที่มีเขียนไว้ในพระ‍คัม‌ภีร์ว่า ผู้ชอบ‍ธรรมจะมีชีวิตโดยอาศัยความเชื่อ" - โรม 1:17
                        -------------------------------------------
ความจริงมาร์ติน ลูเธอร์และหลักการของโปรแตสแต้นท์นั้นสอนผิดหลายอย่าง เช่น เรื่องความเชื่อ เป็นต้น เพราะตั้งแต่สมัยของอัครสาวก นักบุญยากอบก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วในจดหมายของท่าน ลูเธอร์สอนว่าคนเราได้รับความรอด (ไปสวรรค์) ได้โดยอาศัยความเชื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องกระทำความดีเพื่อพระเจ้า แต่นักบุญยากอบอธิบายในจดหมายของท่านดังนี้

พี่น้องทั้งหลาย จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า "จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด" แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว
อาจมีผู้พูดว่า "บางคนมีความเชื่อ บางคนมีการกระทำ" ถ้าเป็นเช่นนั้นจงแสดงความเชื่อที่ไม่มีการกระทำให้ข้าพเจ้าเห็นเถิด แล้วข้าพเจ้าจะแสดงความเชื่อให้ท่านเห็นด้วยการกระทำ ท่านเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวหรือ ดีแล้ว แม้พวกปีศาจก็เชื่อเช่นนั้นและยังกลัวจนตัวสั่นด้วย.....ท่านทั้งหลายเห็นแล้วว่า มนุษย์จะเป็นผู้ชอบธรรมได้ก็ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยความเชื่อแต่อย่างเดียว
(ยากอบ 2: 14-25)

------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น