ตามธรรมประเพณีกล่าวว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์เป็นหมันไม่สามารถมีลูกได้ จนกระทั่งพระเจ้าทรงสดับฟังคำภาวนาของพวกเขา
ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับปฐมวัยและครอบครัวของพระนางมารีย์ อย่างไรก็ตามข้อความโบราณจากปี 145 ที่เรียกว่า The Protoevangelium of James เป็นเรื่องเล่าที่นักบุญหลายคนหันมาสนใจเมื่อต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระนางมารีย์
ตามที่ผู้เขียนนิรนามเขียนไว้ว่า ชายผู้หนึ่งชื่อโจอาคิมรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถมีลูกกับนางอันนาภรรยาของเขาได้ มีบันทึกไว้ว่า “โจอาคิมเสียใจมากและไม่ได้มาอยู่ต่อหน้าภรรยาของเขา แต่เขาออกไปที่ทะเลทรายและตั้งเต็นท์ขึ้น เขาอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนโดยพูดกับตนเองว่า: ฉันจะไม่กลับไปรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำจนกว่าพระเจ้า,องค์พระผู้เป็นเจ้าของฉันจะทอดพระเนตรฉันและสดับฟังคำอธิษฐานด้วยการอดอาหารและน้ำของฉัน”
ในทำนองเดียวกันนางอันนา “คร่ำครวญด้วยการไว้ทุกข์สองครั้ง,และร่ำไห้สองครั้งโดยกล่าวว่า: ฉันจะคร่ำครวญถึงความเป็นม่ายของฉัน ฉันจะคร่ำครวญถึงความไร้บุตรของฉัน” จากนั้นนางอันนา “ได้เห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง เธอไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้นและสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าโดยกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของบรรพบุรุษของเรา, โปรดอวยพรข้าพเจ้าและฟังคำอธิษฐานของข้าพเจ้า ดังเช่นที่พระองค์ทรงอวยพรครรภ์ของนางซาราห์และทรงประทานอิสอัคบุตรชายให้แก่เธอ”
ในระหว่างที่นางอันนากำลังอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น,ทูตสวรรค์ได้ปรากฏมาและพูดว่า "พระเจ้าทรงสดับฟังคำอธิษฐานของเธอแล้ว เธอจะตั้งครรภ์และจะให้กำเนิด และเชื้อสายของเธอจะถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก” ในเวลาเดียวกันทูตสวรรค์ปรากฏต่อโจอาคิมและพูดกับเขาว่า “โจอาคิม,โจอาคิม พระเจ้าทรงสดับฟังคำอธิษฐานของท่านแล้ว ด้วยเหตุนี้,จงกลับไปบ้านเถิด เพราะดูเถิด,อันนาภรรยาของท่านจะตั้งครรภ์”
นางอันนาได้ตั้งครรภ์หลังจากนั้นไม่นาน จากนั้นเรื่องดำเนินต่อไป “เมื่อถึงกำหนดทศมาสและในเดือนที่เก้านางอันนาได้คลอดลูกออกมา เธอพูดกับหญิงทำคลอดว่า: ฉันคลอดลูกผู้ชายหรือผู้หญิง? และเธอก็ตอบว่า: ลูกผู้หญิงค่ะ อันนาจึงกล่าวว่า: จิตวิญญาณของฉันเต็มเปี่ยมด้วยความยินดีแล้วในวันนี้ และเธอก็วางลูกลง เมื่อครบกำหนดเวลา,อันนาเข้าพิธีถือศีลชำระ เธอป้อนนมแก่ทารกและตั้งชื่อเธอว่ามารีย์”
เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนเรื่องราวมากมายในพันธสัญญาเดิมที่สามีภรรยาต่างเป็นหมันจนกระทั่งพวกเขาร้องทูลขอต่อพระเจ้า ทูตสวรรค์มักเป็นผู้แจ้งข่าวดีแก่พวกเขาโดยประกาศว่าพวกเขาจะคลอดบุตร แต่ในกรณีนี้แทนที่จะเป็นเด็กผู้ชายกลับเป็นการแจ้งสารถึงเด็กผู้หญิงผู้ซึ่ง "จะถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก"
แม้ว่าเรื่องราวจะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พระศาสนจักรกล่าวถึงบิดามารดาของพระนางมารีย์ว่าคือโจอาคิมและอันนา
ไม่ว่าจะเรื่องราวจะเป็นอย่างไร,ก็เป็นการเหมาะสมที่การกำเนิดของพระนางมารีย์จะเป็นเรื่องอัศจรรย์ เนื่องจากพระศาสนจักรสอนว่า พระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิในครรภ์มารดาโดยปราศจากบาปกำเนิด (The Solemnity of Mary’s Immaculate Conception) มีการเฉลิมฉลองการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์เป็นประจำทุกปีในวันที่ 8 ธันวาคม,เก้าเดือนก่อนวันฉลองการบังเกิดของพระนางมารีย์ในวันที่ 8 กันยายน
************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น