วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สมโภชพระวรกายพระโลหิตของพระคริสตเจ้า


ในหลายประเทศวันฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า ตรงกับวันอาทิตย์ แต่ตามธรรมเนียมดั้งเดิมนั้นวันฉลองนี้ตรงกับวันพฤหัสบดี หลังจากวันอาทิตย์พระตรีเอกภาพ
 
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้เคยตรัสเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2010 เกี่ยวกับประวัติของวันฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า ซึ่งนักบุญจูเลียนาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเป็นคนแรกและทำให้เกิดวันฉลองนี้ในพระศาสนจักร ต่อไปนี้เป็นพระดำรัสของพระองค์
* * *
พี่น้องชายหญิงที่รัก
 
เช้าวันนี้ข้าพเจ้าขอแนะนำสตรีผู้หนึ่งให้ท่านรู้จัก ถึงแม้เธอไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนักแต่พระศาสนจักรเป็นหนี้บุญคุณเธอผู้นี้มาก ไม่แต่เฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของเธอเท่านั้น แต่เธอยังได้ทำสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เธอได้ทำให้เกิดพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดในปีพิธีกรรมนี้ นั่นคือ วันฉลองพระวรกายและพระโลหิต พระคริสตเจ้า
 
เธอคือ นักบุญจูเลียนาแห่งคอร์นิลลอน ( St Juliana de Cornillon) เป็นที่รู้จักกันในนาม นักบุญจูเลียนาแห่งลีจจี ( St Juliana of Liège) เรารู้ เรื่องราวของเธอหลายอย่างซึ่งมาจากการเขียนประวัติของเธอโดยบุคคลท่านหนึ่งซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานจากผู้คนที่ได้ติดต่อกับท่านนักบุญโดยตรง
 
จูเลียนาเกิดใกล้เมืองลีจจี ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างปี 1191-1192 เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึงสถานที่เกิดของเธอ เพราะในเวลานั้นสังฆมณฑลลีจจีเป็น สถานที่ซึ่งมีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท เป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จูเลียนาเกิดมา นักเทววิทยาผู้มีชื่อเสียงหลายท่านได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่ามหาศาลของศีลมหาสนิท และที่ลีจจีนี้เช่นเดียวกัน ได้มีกลุ่มสตรีที่อุทิศตนในการนมัสการศีลมหาสนิทและเทิดทูนศีลมหาสนิท พวกเธอได้รับการแนะนำและด้วยแบบอย่างจากพระสงฆ์ พวกเธออาศัยอยู่ร่วมกันใช้เวลาในการสวดภาวนาและทำกิจการกุศล
 
จูเลียนาเป็นเด็กกำพร้าเมื่ออายุ 5 ขวบ เธอมีพี่สาวชื่อ อักเนส ซึ่งต่อมาทั้งสองได้เป็นซิสเตอร์ในคณะออกุสติเนียนและอยู่ในอารามที่เลโปรซาเรี่ยมที่มองต์คอร์นิลลอน( leprosarium of Mont-Cornillon)
 
จูเลียนาได้รับการสั่งสอนจากซิสเตอร์ชื่อ ซาเปียนซา”(แปลว่าปรีชาญาณ) ซึ่งรับหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาจิตใจของเธอจนกระทั่ง จูเลียนาได้รับการบวชและกลายเป็นแม่ชีของคณะออกุสติเนียน
 
เธอเล่าเรียนได้ดีมากจนเธอสามารถอ่านหนังสือของบรรดานักปราชญ์ของพระศาสนจักรได้ อาทิเช่น หนังสือของ น.ออกุสติน และน. เบอร์นาร์ด ซึ่งเป็นภาษาลาติน เธอมีความเฉลียวฉลาดและยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษของการเพ่งรำพึง เธอสัมผัสได้ถึงการปรากฏของพระคริสต์ โดยได้มีประสบการณ์ในขณะที่อยู่เบื้องหน้าศีลมหาสนิท เธอจะรู้สึกดื่มด่ำอยู่ในการเพ่งรำพึงนั้น บ่อยครั้งเธอต้องหยุดการเพ่งรำพึงเมื่อรำพึงถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า จงรู้ไว้เถิดว่า เราจะอยู่กับท่านตลอดเวลาตราบจนสิ้นพิภพ (มท. 28:20)
เมื่อจูเลียนาอายุ 16 ปี เธอได้รับนิมิตเป็นครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในระหว่างการเคารพศีลมหาสนิท  ในนิมิตเธอเห็นดวงจันทร์ส่องแสงสุกสกาว มีเส้นสีดำลากผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ พระเยซูเจ้าทรงทำให้เธอเข้าใจถึงความหมายของภาพนี้ ดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของพระศาสนจักรบนโลกนี้ เส้นทึบสีดำหมายถึงพิธีฉลองอย่างหนึ่งซึ่งยังขาดหายไป ซึงจูเลียนาถูกขอร้องให้เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดขึ้น วันฉลองนี้ ก็คือ การเคารพศีลมหาสนิท ซึงจะช่วยเพิ่มพูนความเชื่อของคริสตชนมากยิ่งขึ้นและทำให้การปฏิบัติคุณงามความดีก้าวหน้ามากขึ้นและเป็นการชดเชยความผิดของผู้ที่ทำทุรจารต่อศีลมหาสนิทด้วย
 
จูเลียนา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบเรื่องนี้แต่เธอได้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับเป็นเวลานานถึง 20 ปี และในเวลาที่เธอได้เป็นอธิการของอารามแล้ว เธอจึงได้เปิดเผยให้แก่นักบวชสองคนซึ่งเป็นผู้ที่ศรัทธาในศีลมหาสนิทเป็นอย่างยิ่ง คนหนึ่งคือ บุญราศีเอวา ผู้ดำรงชีวิตเป็นฤษี และ อีกคนคือ อิซาเบลลา ซึ่งมาอยู่กับเธอที่อารามในมองต์คอร์นิลลอน สตรีทั้งสามคนได้ก่อตั้งกลุ่มซึ่งมีลักษณะเป็น สหพันธ์ฝ่ายจิต (spiritual alliance)โดยมีจุดประสงค์เพื่อเทิดเกียรติ ศีลมหาสนิท
 
พวกเธอยังได้เลือกพระสงฆ์ที่น่านับถือท่านหนึ่ง ยอห์นแห่งเลาซาน ( John of Lausanne) ให้เป็นที่ปรึกษา ท่านเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฏพิธีกรรมของสังฆมณฑลเซนต์มาร์ตินในลีจจี สตรีทั้งสามได้ปรึกษาท่านเกี่ยวกับเทววิทยาและพิธีกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการก่อตั้งนี้ และก็ได้รับคำปรึกษาและการยืนยันที่น่าพอใจ
 
สิ่งที่เกิดขึ้นกับจูเลียนาในชีวิตของการเป็นนักบุญ ยืนยันกับเราว่า แรงบันดาลใจซึ่งมาจากพระเป็นเจ้านั้นจำเป็นต้องอาศัยการสวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอและการรอคอยด้วยความอดทน จำเป็นต้องอาศัยมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีจิตวิญญาณดีงามท่านอื่นๆ และที่สุดต้องนำทุกสิ่งให้อยู่ในการตัดสินใจของผู้อภิบาลของพระศาสนจักร
 
พระสังฆราชโรเบิร์ต โทโรเท (Bishop Robert Torote) ของสังฆมณฑลลีจจี ในตอนแรกลังเลใจ แต่สุดท้ายก็อนุญาติในข้อเสนอของจูเลียนาพร้อมกับเพื่อนๆของเธอ และได้จัดพิธีกรรมอันสง่างามขึ้นเพื่อฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าในสังฆมณฑลของท่าน โดยมีการเคารพศีลมหาสนิทและการแห่แหนอย่างสง่า ต่อมาพระสังฆราชท่านอื่นๆได้เห็นตัวอย่างนี้และได้ทำตามในสังฆมณฑลของตนเองบ้าง
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อของพวกเขา   พระเยซูเจ้าทรงขอร้องให้นักบุญยอมรับการทดลองด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นแก่จูเลียนาโดยเธอได้รับการต่อต้านจากบุคคลบางกลุ่มซึ่งเป็นพระสงฆ์และบางคนก็เป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ซึ่งอารามของเธอต้องขึ้นตรงกับท่านเหล่านั้นด้วย
 
ด้วยเหตุนี้ จูเลียนาจึงตัดสินใจยอมออกจากคอนแวนต์แห่งมองต์คอร์นิลลอนพร้อมกับเพื่อนๆหลายคน เป็นเวลานานถึง 10 ปี ตั้งแต่ 1248 1258 เธอได้ไปพักอาศัยในอารามอื่นหลายแห่งในคณะซิสเตอร์เซียน Cistercian sisters
 
เธออธิบายและสอนทุกคนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เธอไม่เอ่ยปากวิพากษ์วิจารณ์และบ่นว่าคนที่ต่อต้านเธอและคนเหล่านั้นก็ยังคงขัดขวางการเผยแพร่การนมัสการศีลมหาสนิทอยู่ต่อไป
 
จูเลียนาเสียชีวิตที่ Fosses-La-Ville ในเบลเยี่ยม ปี 1258 เธอเสียชีวิตในห้องพักซึ่งมีศีลมหาสนิทตั้งวางไว้ ตามหนังสือชีวประวัติของเธอ จูเลียนาเสียชีวิตขณะที่ทำการเพ่งรำพึงอย่างดื่มด่ำในความรักของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นที่รักและเคารพเทิดทูนของเธอเสมอมา Jacques Pantaléon of Troyes เป็นพระสังฆราชผู้ได้ดำเนินการต่อมาในการฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าในระหว่างที่ท่านอภิบาลดูแลสังฆมณฑลในลีจจี และเป็นท่านซึ่งต่อมาได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาทรงพระนามว่า อูรบันที่ 4 ในปี 1264 พระองค์ทรงตั้งวันฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าอย่างเป็นทางการในพระศาสนจักร ให้ตรงกับวันพฤหัสบดีหลังจากวันอาทิตย์พระตรีเอกภาพ
ในสมณสาส์นการก่อตั้งซึ่งมีชื่อว่า Transiturus de hoc mundo, (11 Aug. 1264), พระสันตะปาปาอูรบัน ยังได้อ้างโดยตรงถึงประสบการณ์ของจูเลียนากับศีลมหาสนิท และทรงยืนยันในความน่าเชื่อถือ พระองค์ทรงเขียนว่า ถึงแม้ว่าศีลมหาสนิทจะได้รับการเฉลิมฉลองทุกวันอยู่แล้วก็จริง แต่เราเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะให้อย่างน้อยมีหนึ่งวันในปีหนึ่ง มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเคารพเทิดทูนศึลมหาสนิทนี้
 
“ เราจะได้รับรู้สึกถึงการปรากฏของพระคริสตเจ้าในจิตใจและความคิดของเราอย่างแท้จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราได้เห็นองค์พระคริสตเจ้าหรอกนะ ในทางตรงข้าม ถึงแม้ว่ารูปปรากฏจะเป็นอย่างอื่น แต่ในศีลมหาสนิทนี้ก็เป็นองค์พระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง พระเยซูคริสตเจ้ายังคงอยู่กับพวกเราด้วยพระองค์เองอย่างแท้จริง ขณะที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์นั้น พระองค์ตรัสว่า จงรู้ไว้เถิดว่า เราจะอยู่กับพวกท่านตลอดเวลาตราบจนสิ้นพิภพ (มท. 28:20)
 
พระสันตะปาปาทรงทำการฉลองพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้าขึ้นที่เมือง ออเวียตโต Orvieto เพราะพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงตรัสสั่งให้นำแผ่นศีลที่มีอัศจรรย์กลายเป็นเนื้อและเลือดที่เกิดขึ้นที่เมือง บอลซีนา Bolsena เมื่อปีที่แล้ว 1263 ให้นำมาไว้ที่อาสนิวหารของ ออเวียตโต  - และได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้
 
อัศจรรย์ศีลมหาสนิทเกิดขึ้น เมื่อพระสงฆ์ท่านหนึ่งซึ่งมีความสงสัยในความจริงเกี่ยวกับการปรากฏอย่างแท้จริงของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ในขณะที่ท่านกำลังเสกแผ่นศีลให้กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า เวลานั้นเองโลหิดก็เริ่มไหลออกมาจากแผ่นศีล เป็นการยืนยันความจริงในเรื่องนี้แก่พวกเรา
พระสันตะปาปาอูรบันที่ 4 ทรงขอให้นักเทววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ -- นักบุญโทมัส อควินัส ซึ่งในเวลานั้นอยู่กับพระองค์ที่ออเวียตโต ให้นิพนธ์บทพิธีกรรมที่จะใช้ในงานฉลองที่ยิ่งใหญ่นี้ และบทพิธีกรรมนี้ถือเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมทีเดียว ซึ่งยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้ (บทเพลง Pange Lingua  ตานตูมเอโก ) บทพิธีกรรมนี้ให้ความรู้สึกกินใจและตระหนักว่าศีลมหาสนิทเป็นองค์พระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งมาจากความรักของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่มนุษย์ ทำให้เรากลับคืนดีกับพระบิดาเจ้าและทำให้เราได้รับความรอด
 
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาอูรบันที่ 4 การเฉลิมฉลองพระวรกายพระคริสตเจ้าจำกัดวงอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมณี ฮังการี และอิตาลีตอนเหนือ ต่อมา พระสันตปาปายอห์นที่22 ในปี 1317 ได้ทรงเริ่มให้มีพิธีเฉลิมฉลองนี้อีกครั้งในพระศาสนจักรทั่วโลก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเฉลิมฉลองนี้ก็พัฒนาเรื่อยมาและคงอยู่ในหัวใจของคริสตชนทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง
*******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น