อัศจรรย์วันคริสต์มาส
ปี ค.ศ. 1914 อันเป็นปีแรกแห่งมหาสงครามโลกครั้งที่
1 นั้น องค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15
ได้วอนขอให้ชาติมหาอำนาจหันหน้าเข้าเจรจากันทางการทูตเพื่อสงบศึก
พระสันตะปาปาทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาเห็นประเทศซึ่งเป็นคริสตชนเหมือนกันมาทำการเข่นฆ่ากันเอง
พระองค์ทรงสวดอธิษฐานขอให้สงครามนี้ยุติโดยเร็ว
ใครจะรู้บ้างว่าด้วยแรงอธิษฐานของพระสันตปาปาเพื่อสันติภาพ
ทำให้สวรรค์ดลบันดาลให้พระประสงค์ของพระองค์เป็นจริงในวันคริสต์มาสอีฟนั้นเอง
ได้มีสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้น
จากคำบอกเล่าของทหารผ่านศึกกล่าวว่า
ในคืนวันก่อนครบรอบคริสตสมภพนั้น ท้องฟ้าเหนือสมรภูมิตำบลอีปร์ (Ypres) ในประเทศเบลเยี่ยมปกคลุมไปด้วยหมอกไอเย็นและมืดสนิท มีเพียงสายลมหนาวที่กรีดบาดไปตามผิวที่อยู่นอกผ้าของเหล่านายทหารชาติอังกฤษที่อยู่เวรตามแนวหน้า
เนื่องจากเป็นกลางฤดูหนาวพอดี
จึงมีหิมะโปรยปรายลงมาสร้างบรรยากาศให้พื้นดินแถวนั้นขาวโพลนไปหมด
เมื่อเวลาคล้อยเที่ยงคืนไปเล็กน้อย เสียงเพลงหวานจับใจดังมาจากแนวรบฝ่ายเยอรมันจับความได้ว่าเป็นเพลงคริสต์มาสแครอลชื่อ
"ชติล น๊าคท์" (Silent Night) หรือเพลง
"คืนสงัด" ที่เรารู้จักกันดี
นอกจากนี้ยังมีแสงเทียนวอบแวมมาจากแนวรบฝ่ายเยอรมัน
เนื่องด้วยมีการจุดเทียนเล่มน้อยขึ้นวางตามต้นไม้ตามประเพณีของเยอรมนีที่ต่อมาเผยแพร่เข้าไปในประเทศอังกฤษสมัยเจ้าชายอัลเบิร์ตพระราชสวามีในสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย
จากนั้นเพื่อฉลองในคืนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระคริสต์นี้ก็มีการร้องเพลงคริสต์มาสแครอลสลับให้แก่กันฟัง
พร้อมทั้งกล่าวคำอวยพรแลกเปลี่ยนกันระหว่างทหารทั้งสองชาติ
ทันใดนั้นพลทหารเยอรมันนายหนึ่งได้ยกมือสองข้างเดินออกมาจากแนวรบมุ่งหน้าสู่แนวรบอังกฤษโดยได้นำขนมเล็กๆน้อยๆมามอบให้
ฉากต่อไปก็คือการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกันไม่ว่จะเป็นเหล้ารัม ซิการ์
ขนมหรือผลไม้เล็กๆน้อยๆ เท่าที่พอจะหาได้ระหว่างทหารคู่อริทั้งสองชาติในบริเวณที่เป็นดินแดนระหว่างแนวรบ
(No man's land)
นายทหารทั้งสองฝ่ายเริ่มคุ้นกันมากขึ้นแล้ว
ได้มีการจัดเตะฟุตบอลแข่งกันขึ้นตามที่ต่างๆ
พวกใดไม่มีลูกบอลก็ใช้กระดาษขยำเป็นก้อนหรือกล่องอาหารเท่าที่จะหาได้เตะแทน
จดหมายจากนายทหารอังกฤษนายหนึ่งที่เขียนส่งถึง
บ้านแสดงออกถึงความสุขของทหารสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี
"เราได้นำลูกฟุตบอลออกมาเพื่อชวนสหายเยอรมันเตะกัน
เมื่อถึงเวลาอันสมควรฝ่ายเยอรมันชนะเรา 3 ; 2 โดยการอ่อนข้อให้เพื่อมิตรภาพอันดีวันคริสต์มาสนั่นเอง......."
คลื่นความสุขนี้หาได้มีแต่ระดับพลทหารไม่
หากแต่แผ่ไปถึงนายทหารที่ควบคุมกองร้อยจนถึงนายทหารระดับสูงในเต็นท์บัญชาการด้วย
ดังเช่น กัปตันเซอร์เอ็ดเวิร์ด ฮัลช์ แห่งกองระวังภัยสก็อต มาตรวจเวรเมื่อตอน 8
โมงเช้าวันคริสต์มาสเพื่อที่จะพบว่าไม่มีทหารของตนประจำอยู่ในแนวรบเลย
แต่คำตอบก็อยู่ไม่ไกล เพราะระหว่างทเซอร์เอ็ดเวิร์ดเดินออกไปดูที่โนแมนสแลนด์
ก็ได้ยินเสียงกลุ่มคนร้องเพลงทิพเพอรารี่ (it's a long way to tipperary) ของอังกฤษแว่วมา จากนั้นตามด้วยเสียงกระหึ่มของทหารเยอรมันร้องเพลง
"ด๊อยชลานต์ อูเบอร์ อาลส์ (Deut - schland Uber Alles)"
ซึ่งเป็นเพลงประจำชาติเยอรมัน ด้วยความประหลาดใจเขายังพบว่าเหล่าทหาร (ราว 150 คน)
ของตนกำลังพูดกับทหารเยอรมันอย่างยิ้มแย้ม การสนทนาเป็นไปอย่างสุภาพ
บ้างอวดรูปถ่ายครอบครัวกัน เพราะทหารเยอรมันบางคนพูดอังกฤษได้คล่อง
เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ตลอดทางที่เขาเดินตรวจแนวรบ
และจบลงด้วยการแลกของขวัญคริสต์มาส โดยทหารเยอรมันให้เบียร์ทั้งถังแก่ทหารอังกฤษ
และกล่าวกับเขาว่า
"เราไม่ต้องการยิงท่านและท่านก็บอกว่าไม่ต้องการยิงเรา
แล้วเราจะรบกันไปทำไม
ทำไมไม่สงบศึกเสีย"
เซอร์เอ็ดเวิร์ด
ได้รายงานการสงบศึกวันคริสต์มาสนี้
ให้แก่ผู้บังคับบัญชาที่ศูนย์บัญชาการทราบและได้เขียนบันทึกว่า
"...ข้าพเจ้าได้สนทนากับพลทหารเยอรมันนายหนึ่งในดินแดนระหว่างแนวรบด้วยความประหลาดใจ
เนื่องด้วยเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก แล้วข้าพเจ้าก็สิ้นสงสัยเมื่อเขาบอกว่า
เขาเคยอยู่ในมณฑลซัฟฟอร์ดของเรานี้เอง เขายังมีคู่รักและรถจักรยานยนต์ 3
แรงม้าคันโปรดทิ้งไว้อยู่ที่นั่นด้วย
พร้อมกันนั้นเขาขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วยส่งโพสการ์ดไปให้คู่รักของเขาในอังกฤษด้วย แล้วเราก็คุยกันเรื่องสัพเพเหระอีกสักพักหนึ่งก่อนแยกย้านกลับฐานของตน....."
ต่อมากัปตัน ซี. ไอ. สต๊อกเวลล์
ผู้บัญชาการทหารปืนยาวเวลซ์ได้ออกมาเพื่อดูเหตุการณ์ที่น่าประหลาดนี้ด้วยตนเอง
ปรากฏว่าเมื่อถึงในโนแมนสแลนด์ กัปตันสต๊อกเวลล์ได้พบกับผู้บัญชาการทหารเยอรมันกับล่ามซึ่งกล่าวทักทายเป็นอย่างดีพร้อมกับนำเบียร์มาให้หนึ่งถัง
ซึ่งกัปตันสต๊อกเวลล์ไม่ได้เตรียมของขวัญมาแลกตามประเพณี แต่ด้วยปฏิภาณอันดี
เขาได้สั่งให้พลทหารนำพุดดิ้งลูกพลัมที่ทำเตรียมไว้มากสำหรับวันคริสต์มาสมามอบให้เพื่อตอบแทนน้ำใจของฝ่ายเยอรมัน
การพักรบครั้งนี้จึงได้ชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า
"ปฏิบัติการพุดดิ้งลูกพลัมวันคริสต์มาส"
พร้อมกันนั้นก็ได้ตกลงกันว่าจะให้มีการพักรบเฉพาะในวันคริสต์มาสนี่เป็นเวลาหนึ่งวันเพื่อที่จะได้ทำการนำศพเพื่อนทหารของแต่ละฝ่ายไปฝังให้ถูกต้องตามประเพณี
และการรบจะเป็นไปดังเดิมในเวลา 8 โมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามงานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา
การสงบศึกนี้ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงของกัปตัน ซี.ไอ. สต๊อกเวลล์ กับ
ผู้บัญชาการทหารเยอรมัน
โดยกัปตันสต๊อกเวลล์เป็นผู้ให้สัญญาณยิงปืนขึ้นฟ้าสองนัดในเวลา 8.30 น.
จากนั้นฝ่ายเยอรมันก็ยิงปืนขึ้นฟ้าอีกสองนัดเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้จะหมดช่วงสงบศึกแล้ว
แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็ยังเกิดต่อ เพราะไม่มีทหารฝ่ายใดยิงฝ่ายตรงข้ามเลย
มิหนำซ้ำทหารบางคนที่พอจะคุ้นเคยกันก็ยังกระโดดข้ามไปทักทายเพื่อนทหารเยอรมันอยู่เนืองๆด้วย
เหตุการณ์รื่นเริงระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายนี้ได้เกิดกับทหารชาติพันธมิตรอื่นอันได้แก่
ฝรั่งเศสและรัสเซียด้วย
หลังจากปรากฏการณ์การสงบศึกปี 1914 แล้ว
ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยในคริสต์มาสปีต่อๆมา
จวบจนสิ้นสงครามด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ
แต่เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจเราเสมอว่า มนุษย์นั้นย่อมมีทางเลือกอื่นเสมอ
หากเราใช้ความรักและความเมตตาเข้าหากันในการแก้ไขความขัดแย้งโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือสงครามแต่อย่างใดเลย
สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1
ไกเซอร์วิลเฮล์มที่2 (นั่งซ้ายมือ)และซาร์นิโคลัสที่2
(ยืนซ้ายมือและมีเครา)
ต่างเป็นพระราชนัดดาของควีนวิคตอเรีย (นั่งขวามือทรงมาลาแม่ม่าย)
ต้องมารบกันเองในสงครามโลกครั้งที่ 1
ต่างเป็นพระราชนัดดาของควีนวิคตอเรีย (นั่งขวามือทรงมาลาแม่ม่าย)
ต้องมารบกันเองในสงครามโลกครั้งที่ 1
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
หมู่มวลประเทศในยุโรปต่างอยู่กันด้วยความสงบ
เนื่องจากผู้เป็นประมุขของประเทศเป็นญาติกันบ้าง เป็นลูกพี่ลูกน้องบ้าง
ลูกแท้ๆเลยก็มี โดยเฉพาะสมัยของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่ได้ชื่อว่าเป็น
"พระอัยยิกาแห่งยุโรป" เพราะลูกหลานของสมเด็จฯท่านไปเป็นพระราชา ราชินี
ตามราชสำนักใหญ่ๆของยุโรปไปหมดและกว้างขวางไปจนถึงรัสเซียด้วย
พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่สองแห่งเยอรมันนี พระนางอเล็กซานตร้าแห่งรัสเซีย
ต่างเป็นพระเจ้าหลานเธอสายตรงของพระราชินีวิคตอเรียทั้งนั้น
เมื่อประมุขเป็นญาติกันการอยู่ด้วยกันก็มีความสงบสุข
การดำเนินชีวิตของประชาชนก็เป็นไปอย่างราบรื่น
เพราะแต่ละประเทศในยุโรปมีขนาดกะทัดรัดไปมาหาสู่กันสะดวก ชาวยุโรปแต่ละคนจึงพูดได้หลายภาษา
และวัฒนธรรมก็คล้ายคลึงกัน เป็นเหตุให้คุ้นเคยกันอย่างลึกซึ้ง อย่างที่เรียกว่า
"ไพร่ฟ้าหน้าใส" อยู่กันอย่างสุขสบายดี ซึ่งก็ควรเป็นดังนี้ไปเรื่อยๆ
ถ้าเพียงแต่ไม่มีเรื่องการแย่งกันเป็นใหญ่ทางราชนาวีและเศรษฐกิจระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษเกิดขึ้นเท่านั้น
กระทั่งเมื่อมีเหตุการณ์ลอบสังหารซึ่งไม่ได้เกิดในประเทศยุโรปใหญ่เลยด้วยซ้ำ
หากแต่เกิดที่กรุงซาราเจโวเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914
และบุคคลที่ถูกลอบสังหารคือ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์
ผู้ซึ่งเป็นทายาทแห่งราชอาณาจักรออสโตรฮังการีและพระชายาโซฟี จึงเป็นชนวนเหตุให้ประเทศที่เขม่นกันทางเศรษฐกิจอยู่แล้วแยกกระโดดกันเข้าถือหาง
ทันทีที่ออสโตรฮังการีประกาศสงครามกับเซอร์เบีย โดยอังกฤษร่วมกับฝรั่งเศส, รัสเซีย (ต่อมามีอิตาลีและสหรัฐอเมริกาด้วย
เมื่อเรือลูลิทาเนียของอังกฤษโดนโจมตี จมลงจากตอร์ปิโดของเรืออูเยอรมัน)
กลุ่มนี้ถือเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร(Central powers)
ส่วนเยอรมนีกับตุรกีนั้นเข้าร่วมกับออสโตรฮังการีเป็นฝ่ายอักษะ(Entente
powers)
และสงครามระหว่างประเทศก็เปิดฉากขึ้นทั้งที่พระประมุขเป็นญาติสนิทกันเอง
เรือลูลิทาเนีย เป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่
ถูกเยอรมันจม มีคนตาย 1000 คน
สงครามเริ่มต้นในปี 1914 สิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะในปี
1918 ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตถึง 9 ล้านคนและพลเรือนอีกนับล้านคน
โดยสงครามครั้งนี้ได้ชื่อว่าเป็น "สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งปวง (The war to end
all war) อันที่จริงสงครามโลกครั้งที่ 1
นี้เหมือนสงครามของพวกยุโรปด้วยกันเองมากกว่าที่จะเป็นสงครามโลก
แต่ประเทศของเราก็ได้ส่งทหารไทยไปเข้าร่วมรบด้วย
ชีวิตของทหารเด็กแนวหน้า
การรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการรบในบริเวณแนวหน้าด้านตะวันตกมากกว่าด้านตะวันออกดังที่เรียกกันว่า
"Western front"
โดยทหารแต่ละฝ่ายจะทำการรบอยู่ในแนวหลุมเพลาะยาว (Trenches)
และพื้นที่ระหว่างแนวรบนั้นจะกั้นไว้ด้วยลวดหนาม
โดยเหลือพื้นที่ตรงกลางเอาไว้เรียกว่า "ดินแดนกลาง (No man's land) " มีเรื่องน่าสลดใจของเหล่าทหารหาญที่เพิ่งถูกเปิดเผยไม่นานนี้ว่า
หมู่ประเทศอักษะโดยเฉพาะเยอรมนีนั้น
เป็นช่วงที่ประชากรวัยเด็กกับวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมาก
เมื่อเกิดสงครามจึงมีเด็กนักเรียนมาโกงอายุให้แก่ขึ้น
เพื่อสมัครเป็นทหารไปแนวหน้ากันมาก ที่อายุมากที่สุดก็เพียงจบโรงเรียนมัธยมเท่านั้น
ประมาณกันว่า 15 % ของทหารเยอรมันเป็นเด็กนักเรียนเท่านั้นเอง
และบ่อยๆที่สมัครกันมาทั้งห้องเรียน
เมื่อไปรบก็ไม่สามารถสู้กับทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาตลอดชีวิตอย่างทหารอังกฤษ
เด็กเหล่านั้นพากันล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง จนตำบลหนึ่งในเบลเยี่ยมได้จัดที่ให้เป็นสุสานของเด็กเหล่านี้โดยเฉพาะ
เรียกว่า "สุสานนักเรียน(Studentenfried - hof)"
ถ้าได้เห็นคำจารึกหลุมศพใกล้ๆแล้วจะตกใจ
เพราะเด็กบางคนอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น และเมื่อสมัครมาทั้งชั้นเรียนก็ย่อมจะมีอายุใกล้เคียงกันซึ่งมาจบชีวิตพร้อมกัน
ทางฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ไม่แพ้กันมีทหารเด็กที่อายุน้อยที่สุดเพียง
12 ขวบเท่านั้น ชื่อจอห์น คอนดอน เป็นชาวไอริช
เสียชีวิตเมื่อสงครามเริ่มไปแล้วเพียง 2 ปีเท่านั้น ได้มีพยาบาลอาสาสมัครขาวอังกฤษนามว่า
อีวา โดเบล เป็นผู้ดูแลทหารบาดเจ็บตามโรงพยาบาลหลายแห่งในช่วงสงคราม
เธอได้แต่งกลอนชื่อ "พลั๊ค"
ซึ่งกินใจมากเกี่ยวกับทหารซี่งเป็นเหยื่อสงครามว่า
"อนิจจา เจ้าพิการเสียแล้วเมื่ออายุ 17 ปี
แววตาของเจ้าเฝ้าแต่ถามว่าทำไม ชีวิตไม่ตายไปพร้อมกับขาที่แหลกละเอียดทั้งสองข้าง
แทนที่ต้องอยู่ต่ออย่างสูญเปล่า เจ้าพูดปดเพื่อให้ได้เป็นทหาร
เพื่อฝึกเดินฝึกสู้ในสนามรบ ในขณะที่เด็กอื่นยังเล่นบันเทิง
แต่ใจแกร่งของเจ้าบอกให้สู้ บางคราวเจ้าปวดแสนปวด
จนกายสั่นเมื่อเห็นรถทำแผลใกล้เข้ามา ซ่อนหน้าไว้ใต้ผ้าเพื่ออำพรางหัวใจที่ไหวหวั่น
แต่เสียงครางเบายังแผ่วออกมา แต่เมื่อถึงเวลาทำแผลเข้ามา
เจ้าจะเผชิญหน้าเราอย่างชาติทหาร
มองแผลด้วยสายตาเรียบเฉยและสูบวู้ดไบน์(บุหรี่อังกฤษ) อยู่เงียบๆ"
ทหารที่อายุน้อยเหล่านี้ยังไม่เคยเจอสงครามจริงๆที่โหดร้ายมาก่อน
เพราะชีวิตที่ผ่านมายุโรปอยู่เย็นเป็นสุขมาตลอด
เมื่อต้องมาประจำอยู่ในหลุมแนวหน้าระวังภัยในแนวหน้าจึงเกิดความเครียดสูงมาก
บ้างก็คิดถึงบ้าน บ้างก็คิดถึงคนรัก คิดถึงครอบครัวที่ตนจากมา
บางคนเครียดหนักจนเส้นประสาทเสีย เรียกว่า "เชลล์ช็อก (Shell shock) หรือภาวะเครียดจากสงคราม (Combat
stress reaction) มีอาการสำคัญคือหมดเรี่ยวแรง
สมองเบลอไม่รับรู้ต่อสิ่งแวดล้อม ได้แต่มองเหม่อไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย
บางคนจึงถูกข้าศึกยิงตายได้โดยง่าย หรือบางคนถูกยิงเป้าอย่างน่าสงสาร
เพราะถูกนึกว่าหนีทหาร
* * * * * * * * * * *
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น