วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วัดเพลง


ปี ค.ศ. 1846 ในสมัยที่รัชกาลที่ 4 ยังมิได้ขึ้นครองราชย์และทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบันนี้  พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์  เป็นผู้ปกครองมิสซังสยามในเวลานั้น   มีมิชชันนารีมาแพร่ธรรมในสยามประเทศประมาณ 21 องค์   การแพร่ธรรมได้ผลดีมาก  จำนวนสัตบุรุษคริสตัง แทบทุกแห่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการก่อตั้งกลุ่มคริสตังเพิ่มขึ้นหลายกลุ่มในบริเวณห่างไกลจากเมืองหลวง  นับเป็นยุคสมัยแห่งความเจริญของคริสตศาสนาในสยามเลยทีเดียว

การกำเนิดวัดคาทอลิกใหม่ๆแทบทุกแห่งในสยามประเทศ   ส่วนมากมักจะเกิดจากการโยกย้ายหรืออพยพเพื่อหาที่ทำกินของคริสตังชาวจีน ญวน หรือเขมร  ที่ตำบลบางนกแขวก  มีคริสตังอพยพมาจากตำบลสี่หมื่นเพื่อหักร้างถางพงหาที่ทำกินและพวกเขาได้สร้างวัดใหม่ขึ้น เรียกว่า "วัดศาลาแดง"  พวกเขาเรียกชื่อสถานที่นี้ว่าบางนกแขวกซึ่งจะเป็นชื่อที่เรียกตำบล , คลอง และวัดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ต่อมาอาศัยการนำของคุณพ่อมาแร็ง เมื่อได้จัดเตรียมที่ดินเรียบร้อยแล้วก็ได้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ โดยขยายให้ใหญ่โต ทั้งปรับปรุงให้งดงามกว่าเดิม และตั้งชื่อวัดว่า วัดแม่พระบังเกิดบางนกแขวก ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางนกแขวก   ( ต่อมา ปี ค.ศ.1890 คุณพ่อราบาร์แดล ได้เริ่มสร้างวัดบางนกแขวกหลังปัจจุบันเป็นตึกถาวร  การก่อสร้างกินเวลา 6 ปี และเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี 1896 )

ในปี ค.ศ.1863 คุณพ่อราบาร์แดล ได้มาอยู่ที่วัดบางนกแขวก  ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีใจร้อนรนขยันขันแข็งต่องานแพร่ธรรมของวัดบางนกแขวก คุณพ่อเอาใจใส่สอนคริสตชนให้มีความเชื่อจนมีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก นอก จากวัดบางนกแขวกแล้วยังมีวัดดอนกระเบื้องและวัดเพชรบุรีที่คุณพ่อต้องเอาใจใส่ดูแลตลอดเวลา

ไม่ไกลจากบางนกแขวกมากนัก  มีอำเภอเล็กๆชื่อ อำเภอวัดประดู่ เพราะเป็นสถานที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอครั้งแรก ซึ่งอยู่ริมคลองวัดประดู่  บริเวณหน้าวัดประดู่อ้อม ต.จอมประทัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "อำเถอวัดเพลง"  ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจาก ประเพณีของชาววัดเพลง  คือคนที่นี่ชอบเล่นเพลง  ทั้งเพลงกล่อมเด็ก เพลงเรือ เพลงปรบไก่ จนได้ชื่อของอำเภอว่า "วัดเพลง"

ว่ากันว่า แต่ก่อนถ้าล่องเรือในแม่น้ำแควอ้อมจะได้ยินเสียงเพลงกล่อมเด็กเจื้อยแจ้วดังแว่วมา  ในยามเย็นก็จะได้ยินเพลงพื้นบ้านดังมาจากใต้ถุนเรือน   ประชากรในอำเภอวัดเพลงผสมผสานกันระหว่างชาวไทย ชาวมอญ ชาวจีน ชาวกะเหรี่ยง 

วันหนึ่งพระสงฆ์คณะมิสซังจากกรุงปารีสได้ยินว่าไม่ไกลจากวัดบางนกแขวกมากนักมีวัดพุทธอยู่วัดหนึ่งชื่อว่าวัดบางกล้วย  จึงอยากเข้าชมวัดนี้สักครั้งหนึ่ง  พระสงฆ์จึงนั่งเรือออกจากวัดบางนกแขวก  ล่องไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร วัดบางกล้วยเป็นวัดพุทธและมีสมภารปาน  เป็นเจ้าอาวาสจำพรรษาอยู่   ท่านสมภารเป็นคนเคร่งในศาสนา   เมื่อท่านเห็นพระสงฆ์ฝรั่งต่างศาสนานั่งเรือมา  จึงได้ไล่พระสงฆ์คณะมิสซังไปเสีย  

สมภารปาน  ครั้นมาระลึกได้ว่าตนได้ไล่พวกที่สอนศาสนา  ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควรจึงรู้สึกไม่สบายใจ ท่านเคยไปที่วัดบางนกแขวกมาครั้งหนึ่งแล้ว  ในตอนที่น้องสาวของท่านไม่สบายและท่านไปขอยาจากซิสเตอร์ที่วัดเพราะทราบข่าวว่าที่นี่มียาดี   ต่อมาท่านจึงได้ข้ามแม่น้ำไปพบปะสนทนากับบรรดาคุณพ่อและเริ่มเข้าใจกัน  ที่สุดท่านมีความสนใจและสมัครเรียนเรื่องศาสนาคริสต์  ท่านเรียนเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 2-3 ปี จนเกิดความเลื่อมใสจึงปรารถนาจะรับศีลล้างบาป  แต่การเปลี่ยนศาสนาของสมภารปานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  เพราะท่านเป็นถึงเจ้าอาวาสอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน  และยังเป็นลูกศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกุฏ(รัชกาลที่ 4)   เพราะสมภารปานได้บวชเข้านิกายธรรมยุติ อันเป็นนิกายที่เจ้าฟ้ามงกุฏเป็นผู้ก่อตั้งในขณะที่พระองค์ทรงผนวชอยู่  ท่านสมภารปานคงจะทราบอยู่บ้างแล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อท่านเขียนจดหมายไปถึงผู้ใหญ่เพื่อขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกล้วยและขอลาสิกขาบท  ท่านถูกเรียกตัวให้เข้าเมืองหลวงทันที  และได้รับการตำหนิอย่างมากมาย  ซึ่งท่านก็น้อมรับแต่ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นในความตั้งใจของท่าน  เรื่องนี้เป็นที่โจษจันเข้าไปถึงพระราชวัง  ซึ่งขณะนั้นรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว  ในที่สุดเมื่อเห็นว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจสมภารปานได้  ทางผู้ใหญ่จึงประชุมกันและอนุญาติให้ท่านลาสิกขาบทได้

ท่านสมภารปานได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อราบาร์แดล ที่วัดบางนกแขวก  ตรงกับวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1864 อายุ 67 ปี มีศาสนนามนักบุญเปาโลอัครสาวก  เรียกชื่อใหม่ว่า เปาโลปาน โดยคุณพ่อราบาร์แดล เป็นทั้งผู้โปรดศีลล้างบาปและเป็น พ่อทูนหัวเองด้วย เมื่อท่านสมภารปาน ได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตังแล้ว ท่านได้ไปชักชวนพี่น้องที่ตำบลบ้านห้วยหรือตำบลปากไก่ ปัจจุบัน  ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดิมของท่านให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ และพากันมาหาที่ทำกินที่ตำบลวัดเพลงปัจจุบัน คุณพ่อราบาร์แดลจึงพบที่แพร่ธรรมที่วัดเพลงอีกแห่งหนึ่งโดยมีท่านสมภารปานเป็นผู้เบิกทาง และนำคุณพ่อไปแพร่ธรรมที่วัดเพลงบ่อยๆ  คุณพ่อได้แต่งตั้งให้สมภารปานรับหน้าที่ดูแลคริสตชนแทน สมภารปานมีใจร้อนรนในการแพร่ธรรมมาก จำนวนคริสตชนจึงทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต่อจากเปาโล ปาน ก็มีบรรดาสานุศิษย์ของท่านและพระภิกษุอีกหลายรูป (พระภิกษุ 2 รูป และสามเณร 3 รูป) ได้รับศีลล้างบาปในเวลาต่อมา เปาโล ปาน มีความตั้งใจที่จะบวชเป็นพระสงฆ์แต่ท่านชรามากแล้ว มีอายุถึง 72 ปี ท่านได้รับศีลบวชขั้นอาโกลีตุส (ผู้ช่วยพระสงฆ์)จากพระสังฆราชดือปองด์   หลานชายคนหนึ่งของท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์ในเวลาต่อมา ชื่อคุณพ่อเกลเมนเต พริ้ง (ยอแซฟ พริ้ง) ซึ่งหลานผู้นี้ได้ถูกส่งไปแพร่ธรรมในมิสซังอีสานที่อุบลฯ และใช้ชีวิตที่นั่นจวบจนมรณภาพ

เปาโล ปาน เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในหมู่บ้านของท่าน ซึ่งทุกวันนี้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง มีวัดที่สวยงาม  มีชื่อเป็นทางการว่า “วัดพระคริสตหฤทัย”  แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดเพลง

เปาโล ปาน ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1873/2416 ซึ่งพิธีศพปลงศพทำที่อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ร่างของท่านฝังไว้ ณ สุสานวัดพระคริสตหฤทัยวัดเพลงแห่งนี้

ในปี 1879/2422 คุณพ่อการ์โลเปตี(บาทหลวงมิสชันนารีมิสซังต่างประเทศชาวฝรั่งเศส) ได้เข้ามาดูแลกลุ่มคริสตชนบ้านเพลงแห่งนี้  และเห็นว่าโบสถ์พระหฤทัย เดิมที่เป็นโบสถ์ไม้ ได้ผุพังไปตามกาลเวลา  ท่านจึงได้รื้อโบสถ์ไม้และสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันตั้งแต่ปี 1880/2423 ซึ่งแล้วเสร็จในปี 1903/2446 คุณพ่อการ์โลเปตี ได้ถึงแก่กรรมในปี 1918/2461 ร่างของท่านถูกฝังไว้ ณ สุสานวัดพระคริสตหฤทัยวัดเพลงเช่นกัน

 โบสถ์หลังใหม่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ลักษณะโครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก  ถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มไม้ ผนังก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะโดยรวมงดงามมาก
 

ภาพเขียนบนกำแพงหลังพระแท่นกลางวัดนี้  คุณพ่อวิตราโน ในสมัยที่เป็นสามเณรและได้มาอยู่ที่วัดเพลง ท่านเห็นว่าผนังกำแพงด้านหลังพระรูปบริเวณพระแท่นยังว่างเปล่าดูไม่สวยงาม  ถ้ามีรูปภาพสีสวยๆอยู่จะทำให้ดูดีกว่า  จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณพ่อการ์โลเปตี  และขออนุญาติวาดภาพที่ผนังกำแพง เพราะท่านมีฝีมือทางด้านวาดภาพระบายสึอยู่แล้ว  เมื่อได้รับอนุญาติ  ท่านจึงวาดระบายสีภาพบนผนังกำแพงเอาไว้  นับว่าเป็นสิ่งล้ำค่าเป็นอย่างยิ่ง  คุณพ่อวิตราโนบรรจงวาดอย่างประณีตสวยสดงดงาม   เป็นภาพที่เตือนถึงความหวังและความรอดนิรันดร์ ในดวงหทัยที่เปี่ยมด้วยความรักและพระเมตตา   ที่มีต่อผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า

และนี่เป็นบันทึกในปี 1884 ของพระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ พระสังฆราชมิสชันนารี คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ซึ่งเป็นประมุขมิสซังสยามในเวลานั้น ...... ที่เขียนบรรยายในเอกสารรายงานประจำปี ที่มิสซังกรุงสยามต้องเขียนรายงานต่อบ้านศูนย์กลางคณะที่ฝรั่งเศสทุกปี และนี่เป็นความภูมิใจในความเชื่อที่คริสตังไทยแท้ แห่งวัดเพลงมีต่อศาสนาใหม่ที่พวกเขานับถือ และต้องยกเครดิต ให้เปาโลปาน ผู้เป็นอาโกลีตุส (Acolytus = Acolyte ผู้ช่วยพิธีกรรม) แต่เสียดายที่เปาโล ปาน หรือสมภารปานแห่งวัดบางกล้วยในอดีต อายุมากแล้ว และก็เสียชีวิตก่อนที่จะเป็นพระสงฆ์ ..... และนี่เป็นเรื่องเล่าของกลุ่มความเชื่อที่วัดเพลง :-  มีครอบครัวหนึ่งที่ได้รับศีลล้างบาปทั้งครอบครัว ผู้ที่เป็นแม่ต้องสู้รบกับพ่อแม่ของตนที่ต้องการให้เธอทิ้งศาสนา ถึงขนาดวางแผนกล่าวโทษเธอต่อข้าหลวงประจำจังหวัด แต่เธอก็ยังยึดมั่นในศาสนาอย่างไม่สั่นคลอน แต่เหตุการณ์ที่ทดสอบความเชื่อของเธอคือ เธอป่วยเป็นอหิวาตกโรค เพื่อนบ้านของเธอ รีบไปเชิญหมอผีเพื่อมาปรุงยา และทำพิธีทางไสยศาสตร์ เธอจึงไม่รับ แต่เธอยังมีความเชื่อเข้มแข็งและมีความไว้ใจอย่างเต็มที่กับแม่พระ เธอหยิบสายประคำและเอาเหรียญแม่พระที่ห้อยคอ จุ่มลงไปในน้ำถ้วยหนึ่ง แล้วก็ดื่มน้ำในถ้วยนั้น ความเชื่อของเธอไม่ทำให้เธอผิดหวัง ทันที่ที่เธอดื่มน้ำนั้น เธอก็ลุกขึ้นและหายเป็นปรกติ เมื่อคนต่างศาสนาที่เห็นการอัศจรรย์นี้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแม่พระของพวกคริสตังนี้เป็นผู้ทรงอำนาจจริงๆ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น