วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า 2


พระสมณสาสน์ 3ฉบับเกี่ยวกับพระหฤทัย

กระนั้นก็ดี ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าได้แผ่ขยายในชีวิตส่วนตัวของคริสตชนมากกว่าในชีวิตส่วนรวม ผู้มีอำนาจปกครองพระศาสนจักรติดตามการแผ่ขยายความเลื่อมใสศรัทธานี้ ด้วยจิตตารมณ์ของนักอภิบาลที่มีวิจารณญาณ

นักบุญมาร์การีตา มารีย์ อาลาก๊อก เคยส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาต่อรูปของพระหฤทัย คือรูปดวงใจที่มีแผลเพราะถูกทิ่มแทง มีหนามล้อมรอบ ด้านบนดวงใจมีเปลวไฟและไม้กางเขน รายละเอียดของรูปนี้บ่งบอกว่าดวงใจนั้นต้องเป็นพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าอย่างแน่นอน แม้รูปนั้นมีแต่พระหฤทัยดวงเดียวที่ปราศจากพระพระพักตร์และพระวรกายของพระองค์ กระนั้นก็ดีรูปนี้ชวนสัตบุรุษให้มองพระหฤทัยที่แยกจากพระบุคคลของพระเยซูเจ้า และส่งเสริมให้นมัสการเพียงส่วนหนึ่งของพระวรกายของพระองค์ ผู้มีอำนาจปกครองพระศาสนจักรจึงไม่ยอมรับรองความเลื่อมใสศรัทธาต่อรูปพระหฤทัยนี้อย่างเป็นทางการเลย

ในปี 1687 สันตะสำนักปฏิเสธไม่ยอมอนุญาตให้มีวันฉลองพระหฤทัย เพราะผู้ขอให้แต่งตั้งวันฉลองทางพิธีกรรมไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการที่ถูกต้อง   ต่อมาในปี 1697 สันตะสำนักอนุญาตให้ทำวันฉลองพระหฤทัยได้ โดยใช้มิสซาและบททำวัตรประจำวันของวันฉลองรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 ของพระเยซูเจ้า ในปี 1729 คุณพ่อกาลลีเฟต์ ขอให้สันตะสำนักรับรองบททำวัตรเฉพาะที่ท่านได้แต่งขึ้นสำหรับวันฉลองพระหฤทัย แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะข้อความที่ท่านเขียนนั้นแสดงความคิดที่ว่า ดวงใจเป็นอวัยวะที่ใช้เพื่อรัก  ดังที่เราใช้ตาเป็นอวัยวะเพื่อมองเห็น  

เพียงแต่ในปี 1765 เมื่อบรรดาพระสังฆราชแห่งประเทศโปแลนด์ขอสันตะสำนักอนุมัติให้คริสตชนชาวโปแลนด์ทำวันฉลองพระหฤทัยทางพิธีกรรมโดยมีบททำวัตรโดยเฉพาะ ต่อมาในปี 1856 สันตะสำนักอนุญาตให้คริตสชนทั่วโลกทำวันฉลองพระหฤทัย และตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาสมเด็จพระสันตะปาปาทุกพระองค์ทรงส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยอย่างเป็นทางการ

ในปี 1899 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงประกาศพระสมณสาสน์ ปีศักดิ์สิทธิ์ (Annum Sacrum) ซึ่งเป็นพระสมณสาสน์เกี่ยวกับพระหฤทัยฉบับแรกในประวัติศาสตร์ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอธิบายหลักการทางเทววิทยาของการมอบถวายตน (consecration) แด่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า โดยเน้นเป็นพิเศษว่า กิจการใดๆที่แสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้านั้น เป็นการแสดงความเคารพต่อพระบุคคลของพระเยซูเจ้าโดยตรงอย่างแท้จริง  และในวันที่ 11 มิ.ย. 1899 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ประกอบพิธ๊ถวายโลกแด่ดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าอย่างเป็นทางการ

ในปี 1928  สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ทรงประกาศพระสมณสาสน์ พระผู้ไถ่ผู้ทรงเมตตากรุณาอย่างยิ่ง (Miserentissimus Redemptor) ในสมณสาสน์ฉบับนี้ พระองค์ทรงย้ำคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 เกี่ยวกับการมอบถวายตนแด่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยยังต้องมีลักษณะเป็นการชดเชยบาป นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงนิยามคารวะกิจต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าว่า เป็น แก่นแท้ของศาสนาคริสต์ทั้งหมด และยังเป็นบรรทัดฐานการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบเพราะความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยกระตุ้นใจเราให้รักพระเยซูเจ้าอย่างร้อนรนยิ่งขึ้น  และชวนเราให้ปฏิบัติตามพระฉบับของพระองค์ด้วยใจกว้าง

ในปี 1956 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงประกาศพระสมณสาสน์ จงตักน้ำ (Haurietis Aquas) ซึ่งเป็นพระสมณสาสน์ฉบับที่ 3 เกี่ยวกับคารวะกิจต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงปกป้องความถูกต้องของคารวะกิจนี้จากผู้ที่ไม่ยอมรับ และทรงชี้แนะแนวทางแห่งการปฏิรูปความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัย เพราะทรงยอมรับว่าวิธีปฏิบัติของคริสตชนหลายครั้งมีข้อบกพร่องและอาจจะเสี่ยงต่อข้อความเชื่อของพระศาสนจักร

สำหรับพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 คารวะกิจต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็น การยืนยันและการปฏิบัติศาสนาคริสต์อย่างถูกต้องเพราะเป็นการเคารพความรักของพระเจ้า ที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงแก่เรา  และเป็นแสดงความรักของเราต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์  ถึงกระนั้นก็ดี ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยดังที่ปฏิบัติกันมาอาจมีข้อบกพร่องบ้าง   สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงชี้แนะวิธีการปฏิรูป ทรงเขียนไว้ว่า จากสิ่งที่เราได้อธิบายมาจนถึงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า บรรดาสัตบุรุษต้องแสวงหาความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าจากพระคัมภีร์ จากธรรมประเพณี และจากพิธีกรรม  ประดุจจากสายน้ำใสบริสุทธิ์  หากเขาอยากรู้ซึ้งถึงธรรมชาติแท้ของความศรัทธานี้ และอยากได้รับอาหารเลี้ยงความกระตือรือร้นและความมั่นคงในศาสนา” (100) 

ที่มา - http://www.catholic.or.th/spiritual/article/article2009/article20.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น