วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

นักบุญปีเตอร์ จูเลียน เอียมาร์ด-1

ถ้าจะมีคำใดที่ใช้บรรยายชีวิตของ น. ปีเตอร์ จูเลียน เอียมาร์ด Saint Peter Julian Eymard ได้แล้วก็คงเป็นคำว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” นั่นแหละ  ปีเตอร์รู้สึกตัวว่าได้รับกระแสเรียกให้เป็นพระสงฆ์ตั้งแต่วัยรุ่นและเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาลาตินเพื่อจะสามารถเป็นพระสงฆ์ได้  ปีเตอร์ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปีเพื่อทำงานในธุรกิจเล็กๆของบิดา  แต่คนในครอบครัวก็ต้องช็อคเมื่อรู้ถึงการตัดสินใจของเขา  ปีเตอร์เคยเล่าให้ฟังเสมอว่าการรับศีลมหาสนิทเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา  หลังจากรับศีลมหาสนิท  ปีเตอร์ขออนุญาตบิดาให้เขาติดตามกระแสเรียกและไปศึกษาเพื่อเป็นพระสงฆ์  เขาแน่ใจว่าบิดาคงเข้าใจความปรารถนาของเขาและอนุญาต  แต่กลับตรงกันข้าม  
บิดาตอบปฏิเสธถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคาทอลิกที่ดีก็ตาม  บิดาบอกปีเตอร์ให้ทำงานในธุรกิจเล็กๆของครอบครัวต่อไปเพื่อค้ำจุนครอบครัวด้านการเงิน  ปีเตอร์หัวใจแทบสลาย  เขาไม่เชื่อเลยว่าเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับเขา  ปีเตอร์ออกเดินทางไกลไปยังอาสนวิหารแม่พระแห่งเลาส์  และคุกเข่าแทบพระบาทของแม่พระ  เขาถามพระนางว่า เขาจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะติดตามความฝันที่จะเป็นพระสงฆ์?  เขาพูดอย่างซื่อๆกับแม่พระที่พระแท่นของวิหารแม่พระแห่งเลาส์  และพระนางได้ตอบเขาโดยผ่านทางพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่อยู่ในโบสถ์ในเวลานั้นด้วย  คุณพ่อ โตเช่ Fr. Touche  ซึ่งต่อมาได้เป็นมิตรสนิทของปีเตอร์
คุณพ่อโตเช่ขอให้ปีเตอร์เล่าเรื่องความทุกข์ใจของเขาเพื่อจะได้รู้ว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง  แล้วท่านก็ให้กำลังใจปีเตอร์  บอกให้เขามั่นคงในการตัดสินใจที่จะเป็นพระสงฆ์  ท่านแนะนำให้ปีเตอร์รับศีลมหาสนิททุกอาทิตย์  และเรียนภาษาลาติน  ปีเตอร์คิดว่าการพูดนั้นง่ายกว่าลงมือทำ  แต่เขาก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณพ่อโตเช่  เขาช่วยเหลืองานของบิดาต่อไป  แต่ในเวลาว่างเขาก็จะอ่านหนังสือสอนภาษาลาติน  เขาทำเช่นนี้เป็นเวลานานถึงสองปี  แล้วเขาก็คิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่บิดาควรจะอนุญาติให้เขากลับไปเรียนในวิทยาลัย  แต่ผลก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ตรงกันข้าม  บิดาตอบกลับอย่างโมโหว่า  เป็นไปไม่ได้ที่ครอบครัวจะนำเงินที่หามาได้อย่างยากลำบากเพื่อส่งเสียให้เขาไปเรียนในวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อเป็นพระสงฆ์  และปีเตอร์ก็จะต้องเป็นผู้รับช่วงธุรกิจต่อไป  จึงไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในวิทยาลัย
ปีเตอร์ในวิทยาลัย
            ถึงแม้จะแพ้ในยกนี้แต่ก็ยังไม่ท้อ  ปีเตอร์หาหนทางที่จะเรียนในวิทยาลัยโดยผ่านทางทุนสนับสนุนการเรียนที่ทางบ้านเมืองจัดสรรไว้  มีปัญหาอยู่เพียงอย่างเดียวคือ  ทุนนี้จะให้แก่คนยากจนขัดสนเท่านั้น  และถึงแม้ครอบครัวของปีเตอร์จะมีฐานะไม่ดีนัก  แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่ายากจนหรือขัดสน  ผู้อำนวยการวิทยาลัยรู้สึกหัวเสียที่ปีเตอร์เข้าเรียนในวิทยาลัยได้โดยอาศัยทุนนี้  และคอยรังควานปีเตอร์ตลอดเวลาที่เขาเรียนอยู่ที่นั่น  หลายปีต่อมาปีเตอร์เล่าว่า “ผมต้องประสบความยากลำบากมาก  ผมถูกดูหมิ่นและต้องอับอายขายหน้าหลายครั้งหลายหน  ผู้อำนวยการทำให้ผมต้องชดใช้เงินเพื่อการศึกษาด้วยวิธีต่างๆ....เขาไม่ยอมให้ผมสังสรรค์กับคนอื่น....แต่สั่งให้ผมทำงานจุดไฟเตาผิง  ถูพื้นห้องทำงานของเขาและห้องเรียน  และยังให้ทำงานอื่นๆอีกนับร้อยอย่าง”
           ส่วนบิดาของปีเตอร์  เขาเป็นคนที่หยิ่งในตัวเอง  เขาทำงานหนักเพื่อสร้างธุรกิจของเขา  เขาไม่ใช่คนยากจนและครอบครัวก็ไม่ได้ยากจน  เขาไม่พอใจที่ปีเตอร์ขอทุนการศึกษานี้  เขาพูดกับผู้อำนวยการวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องนี้  และผู้อำนวยการก็เห็นด้วยแต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่าง  ผู้อำนวยการบอกบิดาของปีเตอร์ว่า “ถ้าอย่างนั้น คุณก็บังคับให้ปีเตอร์ออกจากวิทยาลัยเสียซิ  ถ้าคุณรู้สึกเช่นนี้”  ในที่สุดปีเตอร์ก็ต้องออกจากวิทยาลัย  บิดารู้สึกพอใจมาก  ผู้อำนวยการก็รู้สึกพอใจ  ผู้เป็นทุกข์มากที่สุดก็คือปีเตอร์  เขาต้องแพ้อีกยกหนึ่งแล้ว  เขาต้องกลับมาทำงานของครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง  แต่เขาก็ยังไม่ยอมละเลิกความพยายาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น