วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

ทำไมเด็กติดเกมส์

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่า ก็เพราะเขาสร้างเกมมาไว้ให้ติด ซึ่งถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเด็กทุกคนที่เล่นเกมส์ก็ต้องติดกันหมด แต่ความจริงเด็กไม่ติดกันทุกคน เด็กติดเกมต่างๆ เหล่านี้ ก็เพราะเนื้อหาเกมเข้าถึงความต้องการสามัญของมนุษย์ มีลักษณะที่ตอบสนองเด็ก ท้าทายให้เอาชนะ ให้ความสนุกสนาน ชวนติดตาม ไม่มีใครแย่งเล่น...

ทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อมีข้อเสียก็ต้องมีข้อดีบางอย่างอยู่บ้าง เช่น มีหลายเกมที่ช่วยฝึกการสังเกต ฝึกทักษะความไวในการโต้ตอบ ฝึกไหวพริบ สร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆบางเกมทำให้รู้สึกผ่อนคลายหลบจากโลกภายนอก แต่เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเองได้เหมือนกัน การเล่นอย่างขาดการควบคุมที่เรียกว่าติดเกมนั้น ส่งผลให้เด็กใช้เวลากับการเล่นเกมส์จนขาดความกระตือรือร้น ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะทำกิจวัตรประจำวัน และหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะส่วนใหญ่เมื่อได้เล่นเกมแล้วจะเล่นอย่างหมกมุ่น ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งเรื่องสายตา ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมอื่นๆ เด็กบางคนที่อยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือตู้เกมทั้งวัน จึงอาจกลายเป็นเด็กที่อยู่แต่กับตัวเอง ขาดทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เด็กที่ติดเกมหลายคนจะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ไม่รู้จักแบ่งปันคนอื่น ใจแคบ และหลายคนก้าวร้าวมากขึ้น

ส่วนคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจซื้อเกมให้ลูกเล่น เพราะทนลูกเรียกร้องไม่ไหว หรือกลัวว่าลูกจะไม่ทันเพื่อน หรือเพราะเห็นประโยชน์จากเกมอยู่ไม่น้อย เมื่อซื้อเกมให้ลูกเล่นแล้วก็ต้องคาดคำนึงพฤติกรรมในอนาคตของลูกไว้บ้าง ตลอดจนต้องใส่ใจกำกับดูแลการเล่นของลูกกันตั้งแต่ต้นให้ดีเลยทีเดียว

การดูแลมีจุดสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

ดูแลเวลาเด็กเล่นเกม และดูเกมที่ลูกเลือกเล่น ในประเด็นแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องมีกติกาชัดเจนว่าเล่นเกมได้เวลาไหน นานเท่าไหร่ เช่นจะให้เล่นได้หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว ไม่เกินครึ่งชั่วโมง กำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง พร้อมมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เป็นทางเลือกให้ลูกด้วย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไปเรื่อยๆ หรือใช้วิธีพูดโดยไม่มีท่าทางกำกับอย่างหนักแน่นจริงจังประการที่สองที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้เกมที่ลูกเล่นด้วย พูดคุยกับลูกเรื่องเกมที่เขาสนใจ เลือกเกมที่เป็นกีฬา การผจญภัย หรือเกมในทางสร้างสรรค์อื่นๆ มาเล่นกับลูก
การแก้ไข

ถ้าลูกเล่นเกมจนติดเกมไปแล้ว การแก้ไขก็จะต้องการความมั่นคงจากคุณพ่อแม่มาก ทั้งความมั่นคงทางอารมณ์ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เริ่มจากการตกลงกติกากันให้ชัดเจน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องกำกับให้เป็นตามข้อตกลง ในช่วงแรกเด็กจะหงุดหงิด และต่อต้านผู้ใหญ่ เพราะเขาเคยต่อรองได้ผลมาก่อน คุณพ่อและคุณแม่ต้องพยายามอย่าใช้อารมณ์กับลุก ด้วยท่าทีธรรมดา แต่มั่นคงว่า "เราตกลงกันแล้วก็ต้องทำตามที่ตกลง" อย่าเอาแต่พูดบ่นโดยไม่มีท่าทีเอาจริง ในช่วงแรกอาจต้องชักจูงให้ลูกมาสนใจในกิจกรรมอื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลากับเขาพอสมควร อย่าท้อถอยหรือพูดประชด เมื่อเด็กเห็นว่าต่อรองไม่ได้ก็จะทำตามในที่สุด

         นอกจากนี้ อีกทางเลือกหนึ่งคือการดึงความสนใจของลูกให้ออกห่างจากเกม โดยอาจแบ่งการใช้เวลาในวันหยุดของลูกๆ ออกอย่างเป็นกิจลักษณะ ตัวอย่างเช่น ในวันเสาร์ หากิจกรรมอื่นๆที่อยู่ในความสนใจของลูกให้ทำ เช่น ให้ลูกเข้าคอร์สเรียนดนตรี เรียนศิลปะ เต้นรำ เล่นกีฬา เรียนภาษาเพิ่มเติม เข้าค่ายเยาวชน พายามหากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขารู้จัก ให้เขาได้เลือกเอง สิ่งที่เด็กได้รับนอกจากเพิ่มทักษะด้านต่างๆ แล้วยังมีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน การหากิจกรรให้ลูกทำเหล่านี้ จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้น วันอาทิตย์สร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติการที่ลูกติดเกมไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย แต่การติดเกมทำให้การเรียนรู้ในชีวิตของเด็กขาดสมดุลไป ดังนั้นยังไม่สายที่คุณพ่อคุณแม่จะร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ขอย้ำว่าต้องใจเย็นและห้ามใช้อารมณ์เด็ดขาด

โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล
แหล่งที่มา http://www.healthoday.net/Thailand/family/family4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น