วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

คุณแม่เทเรซา นักบุญแห่งคนยาก


คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา แม้ว่าจะมีรูปร่างเล็กแต่ก็แข็งแรง ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่นของวัยชรา
แต่ก็ยิ้มได้ตลอดเวลาและมีดวงตาที่เปี่ยมด้วยความเมตตา มือของคุณแม่หยาบกระด้าง ส้นเท้าแตก และบวมจากการตรากตรำทำงาน คุณแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคปอด ท่านสวมชุดส่าหรีและรองเท้าสาน การทำงานของท่านเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่เต็มไปด้วยความรอบคอบ ชีวิตของท่านอุทิศแก่ผู้ยากจนที่สุดในบรรดาผู้ยากจน เช่น คนป่วย คนใกล้จะสิ้นใจที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามถนน การทำงานให้ความช่วยเหลือของท่านไม่มีการเลือกชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคริสตชน ฮินดู พุทธศาสนิกชน มุสลิม หรือแม้แต่พวกอเทวนิยม อจินไตยนิยม คอมมิวนิสต์ พวกเขาต่างชื่นชมการทำงานและท่าทีที่แสดงออกของคุณแม่เทเรซา นางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดียเคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อมีการเปรียบเทียบกันแล้ว พวกเราที่ทำงานในรัฐบาลเปรียบเหมือนเด็กๆ เทียบกับซิสเตอร์เทเรซาไม่ได้เลย" คุณแม่เทเรซาเป็นนักบวชเพียงท่านเดียวที่นายฟิเดล คาสโตร ได้เชิญชวนให้คณะของท่านไปทำงานในคิวบา ในปี ค.ศ. 1979 คุณแม่เทเรซาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

อัตชีวประวัติ

อักเนส กอนซา โบจาเซีย (นามเดิม ของคุณแม่เทเรซา) เกิดวันที่ 27 สิงหาคม 1910 ในครอบครัวชาวแอลบาเนียที่อบอุ่นและศรัทธาในเมืองสโคบเจ ประเทศยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันอยู่ในมาเซโดเนีย) บิดาของเธอคือ นิโคลา รู้จักกันดีในนามของนักธุรกิจก่อสร้างและดำเนินชีวิตอย่างคริสตชนที่แท้จริงโดยยอมเปิดบ้านของตัวเองสำหรับคนยากจน ส่วนมารดาคือนาง ดรอนดา ก็ได้รับความเคารพนับถือจากเพื่อนบ้านเพราะมีความเชื่อที่มั่นคง

สมาชิกของครอบครัวโบจาเซียมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เต็มไปด้วยความสุข (อักเนส มีน้องสาวชื่ออากา และน้องชายชื่อลาซาลัส) อักเนส ขณะที่ยังเป็นเด็กชอบเขียนบทกวี บทกลอน และยังมีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด พร้อมทั้งมีเสียงไพเราะ
อักเนสได้เคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนมารี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระสงฆ์คณะเยสุอิต เรื่องราวการทำงานของคณะเยสุอิตถูกนำมาถ่ายทอดในกลุ่ม เมื่อเธอฟังแล้วรู้สึกทึ่งและอยากมีส่วนร่วมในการทำงานแพร่ธรรม พอเธออายุได้ 18 ปี ขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยม เธอได้รับพระกระแสเรียกและตัดสินใจเป็นมิสชั่นนารีในประเทศอินเดีย โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะภคินีโลเรโต ดังนั้นเธอจึงต้องออกเดินทางจากเมืองสโคปเจไปยังไอร์แลนด์เพื่อรับการอบรมตามจิตตารมณ์ของคณะในปี ค.ศ. 1928 ในปี ค.ศ. 1929 เธอเริ่มงานสอนหนังสือที่อินเดีย และได้ปฏิญาณตนตลอดชีพในปี 1931 เธอเลือกชื่อนักบุญเทเรซา แห่ง ลิซิเออส์ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ประจำตัว

หลังจากที่คุณแม่เทเรซาเดินทางไปทำงานแพร่ธรรมที่อินเดียก็ไม่ได้พบกับครอบครัวอีกเลย บิดาถึงแก่กรรมในปี 1919 มารดาถึงแก่กรรมในปี 1972 และน้องสาวถึงแก่กรรมในปี 1973 ซึ่งขณะนั้นเมืองสโคบเจตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของคอมมิวนิสต์ นายเอ็นเวอร์ โฮซา ผู้เผด็จการตามลัทธิมาร์กซิสได้ประกาศว่า แอลเบเนียเป็นประเทศอันดับแรกที่ไม่นับถือพระเจ้า อาสนวิหารในเมืองหลวงติรานาได้ถูกแปลงโฉมเป็นโรงภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 1991 คุณแม่เทเรซาสามารถเปิดศูนย์ของคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมในบ้านเกิดเมืองนอนถึง 3 ศูนย์ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมา
 
คุณแม่เทเรซาเริ่มงานในประเทศอินเดียโดยเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ในเมืองที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ท่านมีความสุขกับการสอนหนังสือเป็นอย่างมาก
 
ในคืนของวันที่ 10 กันยายน 1946 คุณแม่เทเรซาได้รับรู้ถึง "พระกระแสเรียกครั้งที่สอง" ท่านกล่าวว่า "ฉันได้แลเห็นความทุกข์ยากและเข้าใจอย่างดีถึงกระแสเรียกครั้งนี้" พระเป็นเจ้าเรียกท่านให้ออกจากชีวิตที่สะดวกสบายและความปลอดภัยจากคณะภคินีโลเรโต

วันที่ 16 สิงหาคม 1948 คุณแม่เทเรซาถอดชุดนักบวชของคณะโลเรโตคืนให้กับอธิการและดำเนินชีวิตไปตามถนนในเมืองกัลกัตตา "นั่นเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของฉัน" ท่านกล่าว
 
หลังจากที่ท่านได้ออกเดินไปตามถนนในเมืองกัลกัตตาก็ได้พบความจริงว่า คนยากจนในเมืองนี้อยู่ในสภาพที่เลวร้ายและน่าหดหู่มากเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ท่านเข้ารับการอบรมด้านพยาบาลกับภคินีเดนเจิสมิสชั่นนารีและสำเร็จหลักสูตรภายในเวลา 4 เดือน ท่านกลับมาสลัมโมติจฮิลซึ่งเต็มไปด้วยคนยากจนและเริ่มสอนหนังสือให้เด็กๆชาวเบงคลี โดยใช้พื้นดินเป็นกระดานดำ

ท่านต้องนอนบนกองฟาง อากาศก็สุดจะทน อุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส ความชื้น 95 % สลัมแห่งนี้เต็มไปด้วยขยะ,สิ่งของเหลือใช้ มีแมลงนานาชนิดบินว่อน แถมด้วยหนู, แมลงสาป ทำให้ท่านหวนนึกถึงชีวิตในคอนแวนต์ที่มีแต่ความสะดวกสบาย แต่มันเป็นเพียงอดีตไปแล้ว คุณแม่เทเรซาเดินเยี่ยมชาวบ้านจากกระท่อมหนึ่งไปอีกกระท่อมหนึ่ง เพื่อปลอบโยนให้กำลังใจคนตาบอด คนพิการ คนโรคเรื้อน ฯลฯ
 
จากประสบการณ์ครั้งแรกนี้เองทำให้ท่านตั้งกฎขึ้นมา "...การทำงานอภิบาลต้องกระทำเพื่อความรอดและอุทิศชีวิตสำหรับคนยากจนที่สุดในบรรดาคนยากจน..... ดำรงชีวิตท่ามกลางพวกเขาอย่างที่พวกเขาดำรงอยู่..." จากกฎข้อแรกนี้ท่านได้ตั้งคณะนักบวชขึ้นใหม่เพื่อช่วยเหลืองานแพร่ธรรมโดยมีชื่อว่า คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม ได้รับการรับรองจาก สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ในปี 1950

ภารกิจหน้าที่
 
วันหนึ่งคุณแม่พบชายคนหนึ่งกำลังใกล้จะตายในท้องถนน ท่านนำเขาไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุด แต่เขาเป็นมากแล้วจึงไม่สามารถเยียวยาได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านดำริสร้างบ้านสำหรับผู้ใกล้จะสิ้นใจอย่างน้อยจะได้ช่วยพวกเขาในวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการให้กำลังใจและให้เขารับรู้ถึงความรักของพระเป็นเจ้า คุณแม่ได้อาศัยที่ร้างแห่งหนึ่งทำเป็นที่พักพิงของผู้ใกล้สิ้นใจและให้ชื่อว่า "นิรมัล ฮริเดย์" หรือ "ดวงใจพิสุทธิ์" ชาวบ้านและพระในศาสนาฮินดูที่ทราบข่าวพากันต่อต้านและเดินขบวนประท้วงขับไล่ท่านและสมาชิก ตำรวจถูกเรียกมาให้ควบคุมสถานการณ์  หัวหน้าตำรวจได้พยายามพูดไกล่เกลี่ยและสัญญากับผู้ที่เดินประท้วงว่าจะปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ
ตำรวจถูกเรียกมาให้ควบคุมสถานการณ์  เมื่อเขาเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานของซิสเตอร์และออกมาเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงและนักข่าว, เขากล่าวว่า "ผมสัญญาว่าจะปิดศูนย์แห่งนี้และผมจะทำจริงๆ แต่ก่อนที่จะปิดศูนย์ขอให้บรรดาผู้ที่เป็นมารดา ภรรยา และพี่สาว หรือน้องสาวมาที่ศูนย์แห่งนี้และทำทุกอย่างเช่นเดียวกับที่ซิสเตอร์กำลังปฏิบัติอยู่ ในเทวาลัยของเรามีรูปปั้นเทพธิดาต่างๆมากมาย แต่ที่เทวาลัยแห่งนี้เรามีเทพธิดาที่ยังมีชีวิต" หลังจากนั้นต่อมามีพระที่นับถือเจ้าแม่กาลีท่านหนึ่งในบรรดาผู้ประท้วง, ถูกคุกคามด้วยวัณโรคที่น่ากลัวและได้แพร่ระบาดไปทั่วอินเดีย มีเพียงซิสเตอร์ของคุณแม่เทเรซาเท่านั้นที่ยอมดูแลรักษา ต่อมาพระท่านนั้นมีอาการดีขึ้นและกลายเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของคุณแม่เทเรซาและกิจการของท่าน

บ้านพักแห่งนี้ต่อมาได้รับการปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับภาวนา ชั้นล่างเปิดต้อนรับทุกคน ที่มุมหนึ่งของห้องมีรูปปั้นแม่พระทรงสวมมงกุฏทอง ซึ่งมงกุฎทองนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาจากห่วงทองที่บรรดาสตรีชาวอินเดียมักเจาะจมูกและห้อยห่วงทองนี้ สตรีที่นำมาถวายอธิบายให้คุณแม่เทเรซาฟังว่า "การที่ดิฉันนำมาถวายก็เพราะดิฉันไมมีอะไรเลยบนโลกนี้จะถวายให้ได้นอกจากมงกุฎทองเพื่อพระมารดาของพระเป็นเจ้า"
บ้านของเด็กที่ถูกทอดทิ้งและเด็กกำพร้า
 
เมื่อหลายปีก่อนนักข่าวและช่างภาพรายงานว่าคุณแม่เทเรซาและสมาชิกได้ทำการขุดคุ้ยกองขยะทุกวัน และได้พบสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะพบ นั่นคือเด็กทารกที่เพิ่งเกิด ดังนั้นนักข่าวจึงได้ช่วยคุณแม่นำร่างทารกขึ้นมาจากกองขยะที่เน่าเหม็นและน่าขยะแขยง คุณแม่เทเรซาอธิบายว่า เหตุที่ท่านต้องมาขุดคุ้ยขยะก็เพราะต้องการช่วยชีวิตเด็กทารกที่ถูกนำมาทิ้งซึ่งมีจำนวนเป็นร้อยและขณะนี้ได้รับความปลอดภัยแล้ว แม้ว่าในจำนวนนี้จะมีเด็กที่เกิดมาผิดปกติหรือพิการและส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เกิดมาจากความไม่ต้องการของมารดา


คุณแม่ได้ก่อตั้งบ้านเด็กแห่งแรกโดยมีชื่อว่า "ชิชูพาวัน" หรือ "บ้านเด็ก" ในถิ่นของชาวเบงคลี ต่อมาบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยทารกซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้จากทั่วอินเดีย "ขณะนี้ดิฉันเป็นแม่ของเด็กที่ถูกนำมาทิ้งกว่าพันคน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ถูกเก็บมาจากข้างถนน ตามทางเดิน บางคนก็เก็บมาจากถังขยะและกองขยะก็มี บางคนตำรวจก็นำมาส่ง บางคนเป็นทารกที่เกิดในโรงพยาบาลซึ่งมารดามาคลอดทิ้งไว้ ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็นำมาให้เราเลี้ยง" คุณแม่เทเรซากล่าว "เด็กๆที่ดิฉันได้นำมาเลี้ยงป้อนข้าว ป้อนน้ำ อบรมสั่งสอน พวกเขาทำให้ดิฉันมีความสุข บางคนถูกขอไปเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวอินเดีย อเมริกัน ยุโรปฯลฯ แม้ว่าพวกเขาจากไปเพื่ออนาคตแต่ก็ไม่เคยลืมดิฉัน พวกเขาส่งรูปกลับมาให้ดิฉัน ยามใดที่ดิฉันดูรูป ดิฉันรู้สึกปลื้มใจและมีความสุขมาก ความรักของดิฉันที่มีต่อพวกเขานั้นเหมือนกับคนที่เป็นแม่จริงๆ ดังเช่นพระเยซูเจ้าทรงสอนดิฉัน แต่ก็ยังมีเด็กบางคนที่อยู่กับดิฉัน บางคนพิการ บางคนปัญญาอ่อน ฯลฯ แม้ธรรมชาติจะโหดร้ายกับพวกเขาอย่างไร แต่เขาก็ยังเป็นลูกของพระเป็นเจ้า และยังต้องการความรักเช่นเดียวกับพวกเรา ทารกบางคนคุณหมอให้คำแนะนำว่าควรจะปล่อยให้ตายดีกว่า แต่พวกเราทำไม่ได้ เพราะการปฏิเสธพวกเขาก็จะเท่ากับเป็นการฆ่าพวกเขาทางอ้อม"
ศูนย์โรคเรื้อน
ในปี 1959 คุณแม่เทเรซาได้เปิดศูนย์ผู้ป่วยโรคเรื้อนซึ่งท่านตั้งชื่อว่า "ความรักของคานธี"
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ระลึกแด่อดีตผู้นำประเทศอินเดียซึ่งให้การสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อน เป็นหมู่บ้านที่ช่วยเหลือตนเองอยู่ห่างจากกัลกัตตาประมาณ 200 ไมล์ ผู้ป่วยได้รับอิสระไม่ต้องหวาดระแวงหรือถูกรังแกข่มเหง ไม่ต้องเป็นส่วนเกินของสังคมอีกต่อไป มีบ้านที่สะอาด ทำงานในร้านขายของ ในทุ่งนา มีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วนที่มีอาการหนัก และมีอาสาสมัครคอยดูแล

บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์

คุณแม่เทเรซากล่าวว่า "ขณะนี้เราได้เปิดบ้านสำหรับผู้ป่วนโรคเอดส์ 2 แห่งในนิวยอร์ก และกำลังเตรียมเปิดอีกในหลายประเทศ เรากำลังมองหาสถานที่สำหรับทารกที่ติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ พวกเขาเป็นสิ่งสร้างที่บริสุทธิ์น่าสงสาร ชีวิตของพวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขารู้ว่าพระเป็นเจ้าทรงรักพวกเขาและเขาเป็นที่โปรดปรานของพระองค์"

คณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม

ในปี 1949 คุณแม่เทเรซาได้รับสมาชิกคนแรกสำหรับคณะนักบวชใหม่ของท่าน

สมาชิกคนแรกนี้ก็คือลูกศิษย์ของท่านจากโรงเรียนมัธยมที่ท่านเคยสอนสมัยที่เป็นภคินีในคณะโลเรโตนั่นเอง ปัจจุบันคณะมีสมาชิกประมาณ 4600 คน ปฏิบัติงานในศูนย์ของคณะกว่า 400 แห่งใน 126 ประเทศ


ในปี 1970 คุณแม่ได้ตั้งคณะสาขานักพรต ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในอารามเน้นการสวดภาวนา และในปี 1977 ได้ตั้งคณะสาขาผู้ชายซึ่งเรียกว่า "ภราดาธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม" มีคนมาเข้าสมัครในคณะท่านมากจนไม่สามารถรับได้หมด ชายหนุ่มหญิงสาวจากหลายชาติหลายภาษาได้เห็นแบบอย่างของท่าน จนเกิดแรงบันดาลใจให้ละทิ้งความสะดวกสบายฝ่ายโลกและติดตามท่าน ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรดูเหมือนจะมีแต่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีที่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังจนเป็นที่สะดุดใจสายตาของคนทั่วไปและมีคนติดตามมากมายแบบเดียวกันนี้
 
เมื่อคุณแม่เทเรซาจากไปจะมีอะไรเกิดขึ้นกับคณะบ้าง? เคยมีคนถามคำถามนี้กับท่าน ท่านตอบว่า "ถ้าคณะของดิฉันเป็นงานของพระเป็นเจ้าแล้ว


แม้ว่าดิฉันจะลาจากไปคณะก็ยังคงเจริญก้าวหน้าและพัฒนาต่อไปเพื่อความดีของพระศาสนจักรและต่อมนุษยชาติ แต่ทว่าเมื่อวันใดซิสเตอร์หมดความเชื่อในองค์พระเป็นเจ้า และไม่ทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ ดิฉันจะภาวนาขอให้คณะนี้ถูกทำลายไป"

มีบทภาวนาที่คุณแม่เทเรซาชอบสวดเป็นประจำเช่นเดียวกับนักบุญฟรังซิส อัสซีซี คือ



"พระเยซูเจ้าทรงเป็นความสุขในท่ามกลางพวกเรา
พระเยซูเจ้าทรงเป็นความจริงที่ต้องประกาศออกไป
พระเยซูเจ้าทรงเป็นชีวิตที่ให้ชีวิต
พระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่างที่จุดประกาย
พระเยซูเจ้าทรงเป็นความรักเพื่อที่จะรัก
พระเยซูเจ้าทรงเป็นความชื่นชมยินดีที่จะมอบให้ผู้อื่น
พระเยซูเจ้าทรงเป็นสันติเพื่อคนทั้งโลก"

**************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น