ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (UON) ประเทศออสเตรเลียก็ได้ทำการทดสอบนวัตกรรมใหม่ที่อาจเป็นคู่แข่งของ
Tesla คือ “Printed Solar Sheet” แผ่นโซลาร์เซลล์ที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์
ซึ่งครั้งนี้เป็นการทดสอบครั้งสุดท้ายก่อนที่จะผลิตออกสู่ตลาด
โซลาร์เซลล์ใหม่ที่ทั้งบางเบาและยืดหยุ่นนี้ทำด้วยการพิมพ์หมึกอิเล็คทรอนิกส์
(electronic ink)
ที่คิดค้นออกแบบมาโดยเฉพาะลงบนแผ่นพลาสติกใส
โดยใช้แท่นพิมพ์แบบธรรมดาที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
เครื่องพิมพ์จะพิมพ์โซลาร์เซลล์หลายๆชั้นก่อนที่จะเคลือบด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่งเพื่อความทนทาน
แผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์ที่ได้จะบางเฉียบเบาหวิว
มีน้ำหนักน้อยมากๆ น้อยกว่าแผ่นโซลาร์เซลล์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นร้อยเท่า
แผ่นโซลาร์เซลล์ทั่วไปมีน้ำหนักราว 10
กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่แผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์ใหม่นี้หนักแค่ 0.1
กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น
ทีมวิจัยที่นำโดย Paul Dastoor ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นทั้งหมึกอิเล็คทรอนิกส์และกระบวนการพิมพ์มานานกว่า
15 ปี กำลังทำการทดสอบแผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์จำนวน 100 ตารางเมตรที่ในบริเวณวิทยาเขตของ UON
“การติดตั้งเพื่อทดสอบในครั้งนี้นำเราเข้าไปใกล้กับการทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
มันจะช่วยให้เราได้รู้อายุการใช้งานและสมรรถนะของมัน” Dastoor กล่าว “มีการทดสอบที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ทั่วโลกแค่ 3
แห่ง
ดังนั้นออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในผู้นำที่จะสามารถทำให้เทคโนโลยีนี้ใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ได้”
นอกจากจะบางเบายืดหยุ่นได้ดีซึ่งจะทำให้การติดตั้งใช้งานทำได้สะดวกรวดเร็วแล้ว
ที่สำคัญแผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์ยังมีราคาต่ำมาก
ทีมวิจัยบอกว่าพวกเขาสามารถผลิตได้ที่ราคาต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร
(แผ่นโซลาร์เซลล์ปัจจุบันมีราคาเกิน 50 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร)
และยังสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว
“ราคาที่ต่ำและการผลิตได้อย่างรวดเร็วที่เทคโนโลยีนี้ทำได้มันน่าตื่นเต้น
โดยเฉพาะตอนนี้ออสเตรเลียต้องการวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วเพื่อจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบพื้นฐาน”
Dastoor กล่าว “แท่นพิมพ์ในห้องแล็บของเราเครื่องเดียวยังผลิตได้ยาวหลายร้อยเมตรต่อวัน
แท่นพิมพ์ใหญ่ระดับอุตสาหกรรมจะทำได้วันละหลายกิโลเมตร
ถ้ามีแท่นพิมพ์สักสิบเครื่องทำงานตลอดทั้งวันเราก็อาจผลิตโซลาร์เซลล์สำหรับใช้กับบ้านได้เป็น
1,000 หลังต่อวัน”
Dastoor
บอกว่าเทคโนโลยีนี้จะต่างกับแผ่นโซลาร์เซลล์ปัจจุบันตรงที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีแม้ในวันที่มีแสงน้อยและมีเมฆปกคลุม
และยังผลิตไฟฟ้าจำนวนเล็กน้อยภายใต้แสงจันทร์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ด้วยความที่แผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์บางเบาขนส่งสะดวกและราคาต่ำจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนา
หรือในกรณีเกิดภัยพิบัติซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้าแบบชั่วคราวโดยเร็วที่สุด
ทีมวิจัยคาดว่าแผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตเข้าสู่ตลาดได้ภายใน
3 ปี และมันไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้สำหรับบนหลังคาบ้านเท่านั้น
มันยังสามารถใช้ได้ที่ผนัง หน้าต่าง ที่รถยนต์ เต้นท์
และโครงสร้างเบาอื่นๆที่ไม่สามารถใช้แผ่นโซลาร์เซลล์แบบปัจจุบันได้ก็สามารถใช้แผ่นพิมพ์โซลาร์เซลล์ได้แบบสบายๆ
“เราคิดว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการผลิตพลังงานหมุนเวียน”
Dastoor สรุป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น