วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สงครามที่เลปันโต


เกือบจะตั้งแต่จุดเริ่มต้นของศาสนาอิสลาม  ก็มีสงครามระหว่างคริสตชนกับมุสลิมเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน  สงครามครูเสดครั้งใหญ่ๆเกิดขึ้น 7 ครั้งและสงครามย่อยเกิดขึ้นอีกหลายครั้งกินเวลานานนับศตวรรษ สงครามที่เลปันโตเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามครูเสดและเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์คริสตศาสนา




ชัยชนะของชาร์ล มาร์เตลที่พอยเทียร์,ฝรั่งเศส ได้ทำให้การรุกรานของมุสลิมต่อยุโรปตะวันตกหยุดชะงักลง ทางฝ่ายคริสตชนตะวันออกก็มีการต่อสู้กับมุสลิมอย่างดุเดือดเช่นกันจนกระทั่งปี 1453 โมฮัมเม็ดที่ 2 ได้ยกทัพใหญ่มายังกรุงคอนสแตนติโนเปิล และวันที่ 29 พ.ค. 1453 เมืองหลวงของอาณาจักรไบเซนไทน์ก็ถูกยึดครองโดยกองทัพมุสลิม  ตั้งแต่ปี 1571 มุสลิมก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในยุโรปได้อย่างมั่นคง กองเรือของมุสลิมควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่อ่าวบอสฟอรัสไปจนถึงอ่าวยิบบอลตาร์ และจะคุกคามเรือของประเทศคริสตชนทุกลำที่แล่นเข้ามายกเว้นแต่เรือจะชักธงของฝรั่งเศสขึ้น






ปลายรัชสมัยของพระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ในปี 1571 พระองค์พยายามรวมกลุ่มประเทศในยุโรปให้เป็นกองทัพของพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อหยุดยั้งและโต้กลับศัตรูชาวมุสลิมที่ทำการคุกคามอยู่ทั่วทวีปยุโรป  กษัตริย์สเปน,พระเจ้าฟิลิปที่2และทรงเป็นกษัตริย์ของออสเตรียด้วย ทรงตอบรับ ส่วนกองทัพมุสลิมได้ยกเข้าตีและยึดไซปรัสซึ่งเป็นเกาะในครอบครองของสาธารณรัฐเวนิส

ถึงแม้ผู้ปกครองของเวนิสอยากจะเจรจาและทำสัญญาสันติภาพกับสุลต่าน  แต่ด้วยอิทธิพลของพระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ทางเวนิสจึงยอมเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์  ต่อมาเจนัวและลุคคา , ดยุ๊กแห่งซาโวรี , ปาร์มา, เฟอร์รารา และอุรบิโน ก็เข้ามาร่วมกลุ่มด้วย




กองเรือรบของพระสันตะปาปาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย พระสันตะปาปาทรงขอให้พระเจ้าฟิลิปทรงแต่งตั้ง ดอนฮวนแห่งออสเตรีย (อายุ 25 ปีบุตรของจักรพรรดิชาร์ลที่5)ให้เป็นแม่ทัพใหญ่ในแผนการต่อสู้ขับไล่มุสลิม พระสันตะปาปาทรงประทานแถบผ้าเครื่องหมายกองทัพพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ดอนฮวนโดยผ่านทางพระคาร์ดินัลแกรนวาล์ลา แล้วกองเรือรบของดอนฮวนก็แล่นจากเจนัวไปเนเปิลในวันที่ 26 มิ.ย. 1571




นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ก่อนที่จะดอนฮวนจะนำกองเรือออกไป พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงประทานพระรูปแม่พระแห่งกัวดาลูเปให้แก่ดอนฮวนด้วย  พระรูปที่ประทับอยู่บนเสื้อคลุมของฮวน ดิเอโก ชาวเม็กซิกันเมื่อ 40 ปีก่อน  และดอนฮวนได้นำพระรูปไปประดิษฐานไว้ในโบสถ์น้อยบนเรือ  ยอห์น แอนดรู โดเรีย ชาวเจนัวได้วอนขอให้แม่พระทรงคุ้มครองการต่อสู้ขับไล่มุสลิมครั้งนี้ด้วย




วันที่ 16 ก.ย. กองเรือคริสตชนได้ออกสู่ท้องทะเล  ดอนฮวนมาถึงคอร์ฟูและได้ทราบข่าวว่ากองทัพมุสลิมได้ยึดเมืองและหมู่บ้าน และทำร้ายประชาชน  เลปันโตที่อยู่ในอ่าวแห่งโครินทร์ก็มีกองเรือของมุสลิมประจำอยู่ตลอด

รุ่งอรุณของวันที่ 7 ต.ค. บริเวณปากอ่าวปาทราส กองเรือรบของคริสตชนและมุสลิมก็ได้ประจันหน้ากันในการสู้รบที่เลปันโต




กระแสลมและปัจจัยต่างๆทางทหารช่วยหนุนให้กับทางฝ่ายมุสลิม  แต่ดอนฮวนมีความเชื่อมั่น เขาขึ้นประจำเรือที่แล่นเร็วที่สุดและนำกองเรือทั้งหมด เขาตะโกนให้กำลังใจแก่ทหารทุกคน  ต่อมากระแสลมกลับเปลี่ยนทิศอย่างน่าประหลาดใจเป็นประโยชน์ต่อทางฝ่ายกองเรือคริสตชน  ผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการที่กระแสลมเปลี่ยนทิศนี้ว่า “เกิดจากปัจจัยที่ไม่รู้สาเหตุ”




ในเวลารุ่งเช้าของวันที่ 7 ต.ค. 1571 พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่งกำลังสวดสายประคำในอาสนวิหารซานตามาเรียแมกกิโอเร(Basilica of Santa Maria Maggiore) พระองค์ทรงขอให้ประชาชนทุกคนและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสงฆ์และนักบวชทุกองค์ร่วมกันสวดสายประคำ การสวดภาวนากระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่งอรุณถึงค่ำ เพราะเป็นเวลาที่กองเรือรบของคริสตชนและของมุสลิมกำลังต่อสู้กันที่เลปันโต ในที่สุดกองเรือของมุสลิมก็พ่ายแพ้ ต้องสูญเสียเรือรบไปอย่างน้อย 200 ลำจาก 270 ลำ เติร์กยังสูญเสียทหารไปประมาณ 30,000 คน ขณะที่ทางฝ่ายคริสตชนเสียทหารไปประมาณ 4,000 – 5,000 คน




สายประคำได้ช่วยให้ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทางทหารครั้งนี้ มีนายทหารหลายคนที่เกลียดสงครามและรักสันติภาพ ดอนฮวนก็เช่นเดียวกัน เขาได้ขอลาออกจากการเป็นทหารหลังจากชัยชนะที่เลปันโต  อีกไม่กี่ปีต่อมาเขาก็เสียชีวิตในขณะที่มีอายุ 31 ปี  ส่วน มิเกล เดอ เซอร์แวนติส ผู้มีส่วนร่วมรบในสงครามที่เลปันโตนี้ด้วย มีชีวิตที่ยืนยาวกว่าและได้เขียนบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเรื่อง ดอน ควิโซท (Don Quixote)




จากชัยชนะที่เลปันโตนี้ พระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ทรงประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไปให้การสวดสายประคำเป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาในทุกวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี  พระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 13 ผู้สืบทอดตำแหน่งจากพระสันตะปาปาปีโอที่ 5 ทรงตั้งวันฉลองแม่พระแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ในปี 1573 ทรงประกาศให้โบสถ์ทุกแห่งเฉลิมฉลองสายประคำศักดิ์สิทธิ์




ในปี 1671 พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10 ทรงขยายความศรัทธาต่อการสวดสายประคำและพิธีฉลองนี้ไปสู่ชาวสเปนทุกคน   12 ปีต่อมา กองทัพมุสลิมได้รุกรานยุโรปอีกครั้ง โดยส่งทหาร 200,000 คนมายึดเวียนนา  ทหารรักษาการณ์ชาวเวียนนากลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งได้ยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพมุสลิมอยู่นานนับเดือน  ต่อมากองทัพนำโดย ยอห์น โซบิสกี(John Sobieski) กษัตริย์แห่งโปแลนด์ ได้ยกทัพมาช่วยเวียนนา  พระองค์ทรงมีความศรัทธาต่อการสวดสายประคำเป็นพิเศษ พระองค์ได้รับชัยชนะสามารถขับไล่กองทัพมุสลิมได้สำเร็จ พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ทรงประกาศให้วันที่ 12 ก.ย. ให้เป็นวันฉลองพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระนางมารีย์  ต่อมากองทัพมุสลิมยกมาอีกครั้งแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่เจ้าชายยูจีนแห่งฮังการี พระองค์สามารถขับไล่กองทัพมุสลิมไปได้ที่ปีเตอร์วาร์เดนในฮังการี(Peterwardein in Hungary) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ส.ค. 1716 อันเป็นวันฉลองแม่พระแห่งหิมะ  ด้วยเหตุนี้พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 11 จึงทรงประกาศให้ทำการฉลองสายประคำในพระศาสนจักรทั้งมวล

--------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น