วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มงกุฏแห่งมรณสักขี


บทความนี้นำมาจากบางส่วนของหนังสือ The Apostles and Their Times

ศัตรูของพระเยซูเจ้าเชื่อมั่นว่าการประหารพระองค์จะเป็นแก้ปัญหาความไม่พอใจของพวกเขาที่มีต่อพระองค์ได้  นั่นเป็นวิธีการที่ผู้มีอำนาจชาวโรมันมักใช้ในการขจัดความยุ่งยากของการเคลื่อนไหวทางศาสนา  ที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในที่สาธารณะ  แต่เมื่อผู้นำที่เคร่งครัดถูกกำจัดและทรัพย์สมบัติก็ถูกยึด  ผู้ติดตามก็จะหมดความกระตือรือร้น  การตรึงกางเขนเป็นวิธีที่ทารุณโหดร้ายและน่าหวาดหวั่นมากที่สุด เป็นความตายที่ทรมานเป็นอย่างยิ่ง เป็นวิธีประหารชีวิตที่โหดร้ายที่สุดที่ชาวโรมันคิดค้นขึ้นมา มันเป็นวิธีที่จะใช้กับนักโทษที่มีโทษร้ายแรง และมันจะหยุดยั้งความเคลื่อนไหวได้ในทันทีทันใด  พระเยซูเจ้าเองก็ทรงตรัสว่า “เราจะเฆี่ยนตีนายชุมพาบาล แล้วฝูงแกะก็จะกระจัดกระจายไป”(มก. 14:27)

แต่การประหารชีวิตพระเยซูเจ้าไม่ได้แก้ปัญหาให้กับทหารโรมันหรือสมณะในพระวิหารแห่งกรุงเยรูซาเล็มหรือบรรดาฟารีสี  ตรงกันข้าม มันทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น  มีรายงานว่าพระคูหาฝังพระศพพระเยซูเจ้าว่างเปล่า  ความนิยมพระเยซูเจ้ากลับคืนมา  และความขัดแย้งยังดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้น  เวลานี้ศิษย์ของพระเยซูเจ้ากลับเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าเดิม

การถูกเบียดเบียนดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และกลายเป็นส่วนหนี่งในชีวิตของบรรดาศิษย์พระคริสต์  พระเยซูเจ้าเองเคยตรัสว่า “เราส่งท่านไปเหมือนแกะในท่ามกลางฝูงสุนัขป่า...บางคนในพวกท่านจะถูกพวกเขานำตัวไปประหารและจะมีการเบียดเบียน”(ลก. 11:49) พระองคัยังตรัสอย่างชัดเจนว่าการเบียดเบียนจะเกิดขึ้นทั่วไปทุกแห่ง พระองค์ยืนยันกับบรรดาศิษย์ว่า ถึงแม้การเบียดเบียนจะดูน่ากลัวแต่นั่นจะเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่แห่งพระพรของพระเจ้า

“เป็นบุญของผู้ที่ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความยุติธรรม  เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา   พวกท่านมีบุญเมื่อท่านถูกเบียดเบียนข่มเหง ถูกใส่ความว่าร้ายทุกชนิดเพราะนามของเรา  จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นใหญ่ยิ่งนัก  บรรดาประกาศกก่อนหน้าท่านก็ถูกเบียดเบียนข่มเหงเช่นเดียวกัน” (มธ. 5:10-12) 

ในบทเทศน์เดียวกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนแก่ประชาชนว่า “จงรักศัตรูของท่าน จงสวดภาวนาเพื่อผู้ที่เบียดเบียนท่าน” (มธ. 5:44)

การเบียดเบียนเป็นเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงเตือนไว้ล่วงหน้า  พระองค์ตรัสว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดไม่อาจหลีกเลี่ยงได้(ลก.21:12)  แต่ก็ไม่ต้องไปแสวงหามัน  ถ้ามีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงการถูกเบียดเบียนได้ ก็ควรทำ (มธ. 10:23) และจะทำให้บางคนสูญเสียความเชื่อของเขาได้ (มก. 4:17) แต่ผู้ที่ยืนหยัดอยู่ได้ จะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่  เขาจะกลับมองเห็นว่าการเบียดเบียนคือรางวัล (มก. 10:30)

 

บรรดาอัครสาวกต่างก็ได้รับการเบียดเบียนตามที่คาดไว้ “อันที่จริงทุกคนที่ปรารถนาจะได้รับชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าในพระคริสตเยซู พวกเขาจะถูกเบียดเบียน” (2 ทิโมธี 3:12) การเบียดเบียนจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวในพระศาสนจักรทั้งหลาย เหมือนเช่นที่เกิดกับพระศาสนจักรที่เยรูซาเล็ม (กก.8:1) กับพระศาสนจักรที่ปิสิเดียน อันติโอก (กก. 13:50) และในอิโคนิอุม และลิสตรา (2ทิโมธี 3:11) และที่อื่นๆ

****

พระศาสนจักรในยุคเริ่มต้นได้ใช้คำว่า การเบียดเบียน หมายถึง อุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจของพวกเขาให้สำเร็จ  อุปสรรคเหล่านั้นถ้าไม่มาจากมนุษย์ ก็มาจากการกระทำของปีศาจ (วว.2:10) เช่น หายนะภัย ความอดหยาก ภัยอันตราย และความยากลำบากซึ่งพยายามทดสอบความเชื่อของพวกเขา  แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีอำนาจพอที่จะ”แยก คริสตชน ออกจากความรักของพระคริสตเจ้าได้” (โรม 8:35) เมื่อคริสตชนอ่อนแอ พวกเขาก็จะกลับเข้มแข็ง (2 คร. 12:10)

บรรดาสมณะในกรุงเยรูซาเล็มมีความคิดว่า การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีและการประหารผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์จะทำให้พวกเขาอับอายและหวาดกลัว  แต่ผลลัพท์กลับตรงกันข้าม การเบียดเบียนทุกรูปแบบกลับกลายเป็นพระพรและทำให้ผู้มีความเชื่อเหล่านั้นภาคภูมิใจ เมื่อนักบุญเปาโลกล่าวโอ้อวดถึงความสำเร็จของท่านในการประกาศพระวาจาพระเจ้าให้แก่ชาวโครินทร์  สิ่งหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงคือ ท่านถูกเฆี่ยนในที่สาธารณะถึงห้าครั้ง (2 คร.11:24)  การเบียดเบียนสำหรับพระศาสนจักร เป็นเครื่องหมายของความสำเร็จ  เป็นสิ่งที่ทำให้บรรดาคริสตชนละม้ายคล้ายกับพระเยซูเจ้า ผู้ตรัสว่า “คนรับใช้ไม่ใหญ่กว่านายของตน  ถ้าพวกเขากระทำต่อเรา  พวกเขาก็จะกระทำต่อพวกท่านด้วย” (ยน. 15: 20)

* * *

น่าประหลาดใจนักบุญลูกาผู้บันทึกเรื่องราวกิจการอัครสาวกได้บันทึกเรื่องของการที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้ารุ่นแรกถูกเบียดเบียนจนกระทั่งถึงแก่ความตาย

คนเหล่านั้นได้แด่ สเตเฟน ผู้ได้สมญาว่า “เปี่ยมด้วยความเชื่อ” “เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและอำนาจ” ....”เปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า” (กก. 6: 5,8)  สเตเฟนมีความสามารถพิเศษที่แม้แต่อัครสาวกก็ยังยกย่อง คือเขาพูดและโน้มน้าวใจคนเก่ง สเตเฟนได้รับเลือกจากอัครสาวกให้เป็นสังฆานุกรคนแรกเพื่อช่วยอัครสาวกในการอภิบาลผู้มีความเชื่อทั้งหลายของพระศาสนจักร  หนังสือกิจการอัครสาวกมีทั้งหมด 28 บท และมี 2 บทที่พูดถึงการทำงานและคำพูดของสเตเฟน

เพราะสเตเฟนถูกเบียดเบียนจนถึงความตาย เรื่องราวของสเตเฟนจึงถูกกล่าวถึงเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ พระศาสนจักรไม่ได้รับการรับรองจากทางฝ่ายอาณาจักรและถูกถือว่าเป็นศาสนาต้องห้ามเป็นเวลานานถึง 250 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยของอัครสาวกมาจนถึงยุคของจักรพรรดิคอนสแตนติน พระศาสนจักรถูกเบียดเบียนอย่างหนักตามที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตของคริสตชน

อย่างไรก็ตาม “ประชาชนพากันประหลาดใจในวาจาสเตเฟนและอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น” สิ่งนี้ทำให้เกิดความอิจฉาและความกลัวในหมู่ผู้นำของสมณะ พวกเขาตั้งพยานเท็จกล่าวหาสเตเฟนแบบเดียวกับที่ทำกับพระเยซูเจ้าว่า “เขาพูดดูหมิ่นโมเสสและพระเจ้า” ทหารนำตัวสเตเฟนไปสอบสวน ทำทารุณและดูหมิ่นเหยียดหยามเขา การฆ่าสเตเฟนกลับเป็นโอกาสให้สเตเฟนยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า เมื่อสเตเฟนใกล้เสียชีวิต เขาได้วอนขอพระเจ้าให้อภัยบาปของผู้ที่ฆ่าเขาและขอพระเยซูเจ้าทรงรับวิญญาณของเขาไว้

ชีวิตและความตายของสเตเฟนมีความคล้ายคลึงกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า สเตเฟนได้ชื่อว่าเป็น มรณะสักขีของพระเจ้า (God’s martyros  กก. 22:20) เป็นคนแรก คำนี้มาจากภาษากรีก แปลว่า “พยาน” (witness) เช่นเดียวกับพยานที่อยู่ในศาล 

และบัดนี้ ทุกคนที่เป็นพยานยืนยันความจริง ไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ตาม ก็อาจถูกเรียกว่าเป็นพยานยืนยัน (martyr). ได้เช่นเดียวกัน แต่ผู้ที่เป็นพยานยืนยันความจริงด้วยเลือดของเขาจะถูกเรียกว่าเป็น มรณะสักขี God’s martyros

คำว่า สเตเฟน Stephen ในภาษากรีกเขียนว่า Stephanos มีความหมายว่า “มงกุฎ” (crown)  พระศาสนจักรยกย่องสเตเฟนว่าเป็น protomartyr, หรือ มรณะสักขีคนแรก ดังนั้นคริสตชนต่อๆมาจึงพากันพูดว่า ผู้ที่ยอมตายเพื่อยืนยันความเชื่อของคริสต์ศาสนาจะได้รับ “มงกุฎแห่งมรณะสักขี” สุสานในคาตาคอมบ์และในโบสถ์ยุคแรกๆจะมีงานศิลป์จารึกเป็นรูปมรณะสักขีสวมหรือถือมงกุฏ เป็นเครื่องหมายสากลของผู้ที่เป็นสมาชิกของฐานันดรของนักบุญสเตเฟน “ฐานันดรของมรณะสักขี”

* * *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น