วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บิดาแห่งการแพทย์ยุคใหม่


 
ถ้าคุณเรียนทางด้านแพทย์ศาสตร์ก็คงจะคุ้นเคยกับชื่อของ เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ อยู่บ้าง  เพราะเซอร์วิลเลียมได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์ยุคใหม่”  และเขาก็เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าแห่งวิชาชีพแพทย์  เขาเป็นผู้อันเป็นที่รักยิ่งในวงการแพทย์ตะวันตก  ผู้เป็นแบบอย่างในทุกด้าน

วิลเลียม  ออสเลอร์เกิดในประเทศคานาดาซึ่งอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ  บิดาของเขาเป็นพระสงฆ์มิชชันนารีนิกายแองกลีกันในศตวรรษที่ 19  และบิดามารดาอยากให้วิลเลียมเป็นพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน  แต่วิลเลียมพบว่าตัวเองต้องการเป็นแพทย์และได้เลือกเส้นทางสายนี้

วิลเลียมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแพทย์ Toronto School of Medicine and McGill University  และแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางการแพทย์และความมีมนุษยสัมพันธ์กับคนทั่วไป  หมอออสเลอร์ทำการวิจัยและเขียนบทความทางการแพทย์ไว้มากมาย อาทิเช่น   เยื่อบุหัวใจอักเสบ, โรคต่อมไทรอยด์และปอดของคนงานเหมืองถ่านหิน  เขาเป็นแพทย์ที่ไม่ยอมเปิดคลินิกส่วนตัวตลอดชีวิต  แต่ทุ่มเทให้กับงานการศึกษาแพทย์ และค้นคว้าเกี่ยวกับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไปจำนวนมากในยุคนั้น  ทั้งมาลาเรีย ไทฟอยด์ วัณโรค โรคหัวใจ จนสามารถทำให้หลายโรคหมดไปหรือป้องกันได้   เขาเป็นครูของแพทย์ที่ย้ำว่านักศึกษาแพทย์ต้องเรียนกับคนไข้  เริ่มจากคนไข้  อยู่กับคนไข้  จบที่คนไข้  ไม่ใช่ฟังแต่การบรรยายดังที่ทำกันก่อนหน้านั้น  และเขาได้เขียนหนังสือ The Principles and Practice of Medicine (หลักการและข้อปฏิบัติทางการแพทย์)  ซึ่งเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลคนไข้  เป็นหนังสือที่ถูกตีพิมพ์มานานนับร้อยปี

หมอออสเลอร์มีความสนใจกว้างมาก ไม่จำกัดเฉพาะด้านการแพทย์  แต่รักการอ่าน   เขาจะย้ำกับนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานตลอดว่าต้องอ่านหนังสือ  อ่านวรรณกรรม เพื่อเสริมสร้างภูมิรู้ที่ลึกซึ้ง  เขาย้ำเสมอว่า นักศึกษาแพทย์และแพทย์ต้องรักษา "คนที่ป่วยเป็นโรค" ไม่ใช่รักษา "โรค" โดยไม่ดูคนไข้   เป็นแพทย์ที่ย้ำว่า "การทำเวชปฏิบัติเป็นศิลปะ ไม่ใช่การค้า เป็นเสียงเพรียกจากด้านใน ไม่ใช่ธุรกิจ   เป็นเสียงเพรียกที่ต้องทำด้วย ”หัวใจ”เท่ากับด้วย”สมอง"   ออสเลอร์จึงได้สมญานามว่า "บิดาแห่งการแพทย์ยุคใหม่" - Father of the Modern Medicine (บิดาแห่งการแพทย์ในสมัยโบราณคือฮิปโปเครตีส)

ความรู้และทัศนะคติของวิลเลียม  ออสเลอร์มีผลต่อวิธีการทำงานของแพทย์ในทุกวันนี้

แต่ยิ่งไปกว่านั้น  วิลเลียม  ออสเลอร์ ยังเป็นสามีที่ดีของภรรยาและพ่อที่ดีของลูกๆด้วย  เขาดูแลรักษาคนไข้ด้วยใจเมตตากรุณา  ทำงานอย่างหนัก  แต่ก็ให้เวลากับครอบครัวและญาติพี่น้องและมิตรสหาย  รวมทั้งคนยากจน  ในระหว่างที่มีโรคทรพิษระบาด  เขาเดินทางไปรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลในช่วงวันหยุดยาวของเขา  เขายังเคยไปดูแลผู้ป่วยในนิคมคนโรคเรื้อนด้วย

เหมาะสมแล้วที่เซอร์ วิลเลียม  ออสเลอร์ จะถูกเรียกว่าเป็นนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่  ด้วยการทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย  ด้วยความรอบรู้และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

แล้วทำไมจึงพูดถึงความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของเขาล่ะ

ชีวิตของวิลเลียม  ออสเลอร์ ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วมในการปฏิวัติทางการแพทย์  มีส่วนในการเป็นผู้บุกเบิกความก้าวหน้าด้านการวางยาสลบและการผ่าดัด  ให้ทัศนะคติใหม่ในทฤษฏีจุลินทรีย์และยาระงับเชื้อ  ด้วยความเข้าใจมากขึ้นโดยใช้เครื่องฟังหัวใจและการชันสูตรศพทำให้ออสเลอร์มีความเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งท้าทายใดๆที่มนุษย์ไม่อาจพิชิตได้”  เพราะความรู้ทางการแพทย์และทางเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด  และนี่เป็นความหวังของผู้ป่วยและตัวของออสเลอร์เองซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น

เมื่อมองไปยังอนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อนายแพทย์ในฝรั่งเศส  อนุสาวรีย์ซึ่งฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อประกาศว่า “เกียรติอันรุ่งโรจน์จงมีแด่มนุษย์ในที่สูงสุด  เพราะมนุษย์เป็นเจ้านายของทุกสรรพสิ่ง”  ออสเลอร์รู้สึกว่าอังกฤษและอเมริกาควรพอใจกับจิตวิญญาณและความชาญฉลาดที่ให้ความบันดาลใจกับฝรั่งเศสแบบนี้เช่นกัน

แต่แล้วก็มีบางสิ่งเกิดขึ้น

ฝรั่งเศสและอังกฤษได้ต่อสู้ทำสงครามใหญ่กันนานหกปี  สงครามทำให้เกิดความเสียหายมากมาย  มีการสังหารด้วยแก๊สพิษ  ปูนขาวและปืนกลที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยี  และด้วย “มนุษย์ผู้เป็นเจ้านายของสรรพสิ่ง”  บุตรชายของวิลเลียม  ออสเลอร์ก็เข้าร่วมในสงครามและถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของทหาร  และเขารู้สึกเศร้าสลดในเรื่องนี้

ไม่ต้องสงสัย  วิลเลียม  ออสเลอร์เป็นนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่และเป็นคนดีมาก  “แต่ข้อผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของนายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ก็คือ  เขาลืมไปว่ามนุษย์สามารถทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้” 

ทัศนคติของเขานั้น บริสุทธิ์  เปี่ยมด้วยความหวังและต้องการหลุดพ้นความทุกข์

พวกเราหลายคนในยุคสมัยนี้  เมื่อเห็นความเจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์  ก็มีความคิดแบบเดียวกับเซอร์วิลเลียม  ออสเลอร์ นายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่  เราคิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ได้  จะทำให้มนุษย์มีความสุขสบาย  แต่พวกเราลืมคิดไปว่า  ความเจริญทั้งหลายก็มีแง่มุมทางด้านมืดด้วย  ทั้งนี้ขี้นอยู่กับจิตใจของผู้ที่ใช้เทคโนโลยี่เหล่านั้น  และมีความจริงอีกประการหนึ่งคือ  ปัญหาใหม่ๆมักเกิดขึ้นเสมอ  และเทคโนโลยี่ก็ยังก้าวหน้าไม่ทันกับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น  ตัวอย่างเช่น  มีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นซึ่งทางแพทย์ยังไม่สามารถรักษาได้ หรือยังไม่มียาที่จะรักษาให้หายได้

ความจริงพื้นฐานสามประการซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนที่พระศาสนจักรสอน  นั่นคือ

มนุษย์ถูกสร้างให้มีศักดิ์ศรี

มนุษย์ตกต่ำลงในบาป

มนุษย์ได้รับการไถ่กู้ให้รอด

และตามที่ Aleksandr Solzhenitsyn ชาวโซเวียตกล่าวไว้ว่า

“เส้นบางๆที่แบ่งแยกระหว่างความดีและความชั่ว ไม่ได้อยู่ที่รัฐ  หรือ ชนชั้น หรือ กลุ่มคนกลุ่มใด   แต่อยู่ที่หัวใจของมนุษย์เอง”

พระคัมภีร์กล่าวไว้ชัดเจนว่า

“วิบัติแก่ผู้ที่วางใจในมนุษย์  เขาเชื่อในพละกำลังของมนุษย์และจิตใจของเขาหันเหออกไปจากพระเจ้า  เขาเป็นเหมือนพุ่มไม้ที่ขึ้นในทะเลทราย”

ส่วนผู้ที่วางใจในพระเจ้า  “เขาจะเป็นเหมือนที่ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ  ซึ่งรากของมันหยั่งลงไปในน้ำ  เมื่อแดดส่องมาก็ไม่กลัว  ใบของมันจะเขียวอยู่เสมอ  ในปีที่แห้งแล้งก็ไม่เหี่ยวเฉา  มันไม่หยุดที่จะให้ผล”

เยเรมีย์ 17:5-8

ผู้ที่วางใจในพระเจ้า  ถึงแม้จะประสบความทุกข์ยากลำบากใดๆ เขาก็ไม่สิ้นหวัง  และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้จนถึงที่สุด 

--------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น