วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2561

พระเยซูเจ้าทรงเยี่ยมพระมารดาเป็นคนแรกหลังจากทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์?


พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ตรัสว่า “อาจเป็นเช่นนั้น”

เมื่อ 21 ปีที่แล้วพระสันตะปาปาชาวโปแลนด์ตรัสว่า พระนางมารีย์ทรงเป็นบุคคลแรกที่เห็นเป็นพยานการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสต์

ชาวฟิลิปปินส์ต่างมีความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์ทรงเลือกที่จะเสด็จไปพบกับพระมารดาของพระองค์เป็นคนแรก ก่อนที่มารีย์ มักดาเลนาได้เห็นพระองค์ในถ้ำฝังพระศพ

พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ก็ตรัสถึงความเชื่อนี้ในการให้พระดำรัสทั่วไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 1997  เราได้ลงพระดำรัสของพระองค์ในที่นี้ดังนี้

~ ~ ~ ~ ~ ~

1. หลังจากที่พวกเขาได้วางพระศพของพระเยซูเจ้าไว้ในพระคูหา  พระนางมารีย์เพียงผู้เดียว “ที่ยังคงดำรงอยู่ในเปลวไฟแห่งความเชื่อ  พระนางทรงเตรียมพร้อมที่จะต้อนรับการประกาศถึงการกลับฟื้นคืนพระชนม์ด้วยความยินดีและด้วยความประหลาดใจ” (พระดำรัสวันที่ 3 เม.ย. 1996, L’Osservatore Romano English edition, 10 April 1996, p. 7) ในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเจ้า ทรงรอคอยด้วยความหวังอันสูงส่งในความเชื่อ  ในขณะที่ความมืดมิดครอบคลุมโลกทั้งมวล  พระนางทรงมอบความวางใจทั้งหมดของพระนางในพระเจ้าผู้ทรงชีวิต  พระนางทรงครุ่นคิดถึงพระวาจาของพระบุตรของพระนาง พระนางทรงหวังอย่างเต็มเปี่ยมในพระสัญญาแห่งสวรรค์

พระวรสารได้กล่าวถึงการปรากฏของพระคริสต์ผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์หลายครั้ง  แต่ไม่เคยกล่าวถึงการพบกันระหว่างพระเยซูเจ้ากับพระมารดาของพระองค์เลย  การไม่ได้มีการกล่าวไว้นั้นไม่ได้หมายความว่าหลังจากการกลับคืนพระชนม์ของพระคริสต์แล้ว พระองค์มิได้ปรากฏแก่พระนางมารีย์  นั่นน่าจะเป็นสาเหตุให้เราแสวงหาเหตุผลว่าทำไมผู้นิพนธ์พระวรสารจึงได้เลือกที่จะไม่กล่าวถึง

สมมุติฐานถึงเหตุผลในเรื่องนี้  อาจเป็นเพราะผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการพุ่งความสนใจไปที่คำพูดการเป็นพยานของ “ผู้ที่ถูกเลือกจากพระเจ้าให้เป็นพยาน” (กิจการอัครสาวก 10:41) นั่นคือ บรรดาอัครสาวกผู้ซึ่งได้กล่าวเป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยพระฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ (กก. 4:33)  ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงปรากฏพระองค์ต่อพวกท่าน  พระองค์ทรงปรากฏพระองค์หลายครั้งต่อสตรีผู้มีความเชื่อหลายคน  เพราะพวกเขามีหน้าที่สำคัญ “จงไปและบอกพี่น้องของเราให้ไปที่กาลิลี และพวกเขาจะพบเราที่นั่น” (มธ. 28:10)

ผู้นิพนธ์พระวรสารไม่ได้พูดถึงการที่พระมารดามิได้พบกับองค์พระบุตรของพระนางที่ทรงกลับคืนพระชนม์แล้ว  อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า  บรรดาผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตายจะคิดว่าบรรดาอัครสาวกผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นพยานมีการลำเอียงเข้าข้างพระนางมารีย์  เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความน่าเชื่อถือในคำพยานของพวกเขา

2. นอกจากนั้น พระวรสารยังรายงานการปรากฏพระองค์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์เพียงไม่กี่ครั้งในระหว่างระยะเวลา 40 วันหลังจากทรงคืนพระชนม์  แต่ น.เปาโลได้กล่าวว่า พระคริสต์ทรงปรากฏพระองค์แก่ “บรรดาพี่น้องมากกว่า 500 คนในคราวเดียว” (1 คร. 15:6) แล้วเราจะอธิบายได้อย่างไรว่าทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่ได้กล่าวถึงในพระวรสาร?

             และพระนางพรหมจารีย์มารีย์ ผู้ทรงประทับอยู่กับบรรดาศิษย์ด้วย (กก. 1:14) จะไม่ได้รับการเสด็จเยี่ยมจากพระบุตรของพระนางได้อย่างไรเล่า? หลังจากที่พระองค์กลับฟื้นคืนพระชนม์แล้ว 

3  อันที่จริงมีตรรกะอันหนึ่งที่อธิบายถึงการที่พระมารดาอาจเป็นคนแรกที่ได้พบกับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง นั่นก็คือ  พระนางมารีย์ พระมารดามิได้ทรงอยู่ในกลุ่มของสตรีที่ไปพระคูหาในตอนย่ำรุ่ง (มก. 16:1 , มธ. 28:1) นั่นแสดงว่าพระนางได้พบกับพระเยซูเจ้าเรียบร้อยแล้วนั่นเอง?  ตรรกะนี้บอกเราว่า ผู้ที่ได้รับเลือกให้พบกับพระคริสต์เป็นคนแรกหลังจากทรงกลับคืนพระชนม์แล้ว โดยน้ำพระทัยของพระเยซูเจ้าเอง ก็คือผู้ที่ยังคงมีความเชื่อซึ่งอยู่แทบเชิงกางเขน และเป็นผู้ที่มีความเชื่ออย่างมั่นคงในพระองค์

พระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์ ยังได้วางใจให้ มารีย์ มักดาเลนา เป็นผู้นำสาส์นไปแจ้งแก่บรรดาอัครสาวก (ยน. 20:17-18) ข้อความนี้อาจเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์เองแก่พระมารดาของพระองค์เป็นคนแรกด้วย  เพราะพระนางทรงเป็นผู้ที่มีความเชื่อมากที่สุดและยังทรงรักษาความเชื่อของพระนางไว้แม้จะถูกทดสอบอย่างหนัก

พระนางมารีย์ทรงมีคุณลักษณะพิเศษขณะที่ปรากฏอยู่ ณ. กาวารีโอ พระนางทรงร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระบุตรของพระนางในความทุกข์แสนสาหัสที่องค์พระบุตรของพระนางทรงทนรับไว้เมื่ออยู่บนกางเขน  เพราะฉะนั้นพระนางจึงทรงมีส่วนร่วมในพระธรรมล้ำลึกแห่งการกลับฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ด้วยอย่างแน่นอน

ในศตวรรษที่ 5 Sedulius ผู้เขียนหนังสือ ได้กล่าวไว้ในหนังสือว่า “ในการกลับฟื้นคืนพระชนม์อย่างรุ่งเรืองของพระคริสต์นั้น พระองค์ได้ทรงปรากฏพระองค์แก่พระมารดาของพระองค์เป็นคนแรก” เพราะพระนางมารีย์ทรงเป็นหนทางที่นำพระคริสต์มายังโลก เพื่อที่พระนางจะได้เผยแพร่ข่าวอันน่ามหัศจรรย์ของการกลับฟื้นคืนพระชนม์ และเพื่อที่พระนางจะได้กลายเป็นผู้ประกาศข่าวแห่งเสด็จมาอย่างรุ่งเรืองของพระองค์ในวาระสุดท้าย” (cf. Sedulius, Paschale carmen, 5, 357-364, CSEL 10, 140f).

4. เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่จะคิดว่า พระนางมารีย์เป็นดังภาพลักษณ์ของพระศาสนจักรที่กำลังรอคอยองค์พระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์และได้พบกับพระองค์ในกลุ่มของศิษย์ในช่วงเทศกาลอิสเตอร์ พระนางทรงได้ติดต่อกับองค์พระบุตรผู้ทรงกลับคืนพระชนม์แล้วเป็นการส่วนตัว  เพื่อที่พระนางจะได้ทรงมีความชื่นชมยินดีในปาสกาอย่างเต็มเปี่ยมเช่นเดียวกัน

ณ. กาวารีโอ ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (ยน. 19:25) และ ณ. ห้องชั้นบนในวันพระจิตเสด็จลงมา( กก. 1:14) พระนางพรหมจารีย์มารีย์อาจได้รับสิทธิพิเศษได้พบกับพระคริสต์ด้วย  พระนางจึงมีส่วนร่วมในพระธรรมล้ำลึกแห่งปาสกาในช่วงเวลาอันจำเป็นยิ่งนี้  ในการพบกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ พระนางมารีย์ยังได้เป็นเครื่องหมายของความสุภาพถ่อมตนซึ่งนำความหวังที่จะได้บรรลุถึงความบริบูรณ์ของการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายอีกด้วย

ในวาระแห่งอิสเตอร์นี้  ชาวเราขออัญเชิญพระมารดาของพระเจ้ามาร่วมกับเราเปล่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ “Regina Caeli, laetare. Alleluia!” “ราชินีแห่งสวรรค์ จงชื่นชมยินดีเถิด อัลเลลูยา”  ดังนี้เป็นการระลึกถึงความชื่นชมยินดีของพระนางมารีย์ ที่มีต่อการกลับฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระบุตรของพระนาง  ความชื่นชมยินดีซึ่งต่อเนื่องมาจากเวลาที่ทูตสวรรค์ได้มาแจ้งสาส์นแก่พระนาง  เพื่อที่พระนางจะได้ทรงแบ่งปันความชื่นชมยินดีอันยิ่งใหญ่ของพระนางให้แก่ชาวเราทั้งหลายบนโลกนี้

***************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น