วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความอดทนของนักบุญ

The Patience of the SaintsFr. Joseph M. Esper

 

เราทุกคนควรฝึกฝนคุณธรรมความอดทนให้เข้มแข็งมากขึ้น...แต่พวกเราส่วนใหญ่มักไม่ทำเช่นนั้น

มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับยุคสมัยใหม่นี้ นั่นคือยุคนี้เป็นยุคของ “สังคมสำเร็จรูป” ชีวิตสำเร็จรูปเป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วเจอทุกอย่างที่พร้อมใช้ พร้อมรับประทาน ไม่จำเป็นต้องรอคอย ทุกอย่างสามารถให้บริการได้ทันที จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในสมัยนี้ไม่ค่อยมีความอดทนรอคอยเท่าไรนัก

การไม่มีความอดทนรอคอยของเรามีแนวโน้มที่จะส่งผลถึงความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น เพราะเราคาดหวังว่าผู้อื่นจะตอบสนองต่อจุดประสงค์ของเราในทันที และเมื่อผู้อื่นไม่ทำตามในสิ่งที่เราต้องการ เราก็ไม่พอใจและเราก็อายที่จะบอกพวกเขาให้รู้ถึงความรู้สึกของเรา

นอกจากนี้การไม่มีความอดทนรอคอยยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าอีกด้วย เรามักเคยได้ยินคนพูดว่า “เมื่อไรพิธีมิสซาจึงจะจบลงเสียที?” .... “ทำไมพระเจ้าไม่ทรงตอบสนองคำภาวนาวอนขอของฉัน?” ... “เมื่อไรพระเจ้าจะทำให้ความทุกข์ของฉันหมดสิ้นไปเสียที?” ดังนี้เป็นต้น

มีความจริงข้อหนึ่งที่น่าไตร่ตรอง - ชีวิตของเราบนโลกนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันเวลาแห่งชีวิตของเราบนโลกนี้สั้นนัก แต่เป็นเวลาอันมีค่าเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ควรทำให้เสียเปล่า ไม่จำเป็นที่เราต้องได้รับทุกสิ่งทุกอย่างขณะที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ในทันที เราถูกสร้างมาเพื่อชีวิตนิรันดร ดังนั้นเราควรมีใจถ่อมตนในการปฏิบัติคุณธรรมแห่งความอดทน นี่เป็นหนทางที่สำคัญในการเตรียมตัวเราเพื่อให้เหมาะสมที่จะอยู่ในสวรรค์

นักบุญพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ทรงให้แบบอย่างแก่เราในเรื่องนี้ ในยุคแรกของคริสต์ศาสนานั้น คริสตศาสนาถูกถือว่าเป็นสิ่งผิดกฏหมายของอาณาจักรโรมัน ผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาถ้าถูกจับได้จะถูกขังคุก ถูกทรมาน และถูกประหารชีวิต นั่นเป็นยุคแห่งการเบียดเบียนคริสตชน อย่างไรก็ดีการเบียดเบียนได้สิ้นสุดในปี 313 โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินทรงประกาศให้อิสระภาพแก่คริสตศาสนาและทำให้คริสตศาสนาแพร่กระจายไปทั่วอาณาจักรโรมัน

นักบุญพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปีต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคแห่งความเจริญของพระศาสนจักร แต่ถึงแม้จะสามารถปกครองพระศาสนจักรได้อย่างอิสระ พระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ก็ยังต้องใช้ความอดทนต่อจักรพรรดิคอนสแตนติน เพราะจักรพรรดิทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิโรมันในยุคนั้น และจักรพรรดิทรงเชื่อพระทัยว่าพระเจ้าทรงประทานความรับผิดชอบให้พระองค์ ไม่แต่เพียงเป็นผู้นำทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังให้พระองค์ทรงมีอิทธิพลและเป็นผู้ชี้นำพระศาสนจักรอีกด้วย จักรพรรดิจึงต้องการมีส่วนร่วมในทุกเรื่อง พระองค์ทรงมีความกระตือรือร้นในด้านศาสนาอย่างแท้จริง และทรงมีความเชื่อในคริสต์ศาสนาอย่างจริงใจ (ถึงแม้พระองค์ประสงค์จะไม่รับศีลล้างบาปในทันที แต่ทรงรอจนใกล้จะสิ้นพระชนม์จึงค่อยรับศีลล้างบาป) แต่พระองค์ทรงคิดแบบการเมือง นั่นคือพระศาสนจักรจะสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงต้องได้รับการช่วยเหลือทุกอย่างจากทางอาณาจักร

ดังนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินจึงเข้ามาแทรกแซงในกิจการทางศาสนาแทบทุกเรื่อง (ทั้งที่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระองค์เลย) นักบุญพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ทรงแบกรับสิ่งนี้ด้วยความอดทน และทรงพยายามหาหนทางสร้างสมดุลระหว่างการทำให้จักรพรรดิมีความสุขและการคงอิสรภาพของพระศาสนจักรไว้ (เป็นสถานการณ์ที่พระสันตะปาปาแทบทุกองค์ต้องเผชิญกับปัญหานี้) และพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ก็ประสบความสำเร็จ นักบุญออกุสตินเมื่อได้พิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับพระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จึงได้กล่าวถึงในอีกร้อยปีต่อมาว่า “ความอดทนเป็นมิตรสหายของปรีชาญาณ”

นักบุญองค์อื่นที่ได้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมความอดทนนี้ อาทิเช่น นักบุญอธิการเอลเรด (abbot St. Aelred) ครั้งหนึ่ง มีขุนนางผู้หนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ท่านต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ท่านเอลเรดสดับฟังอย่างสงบและเมื่อเขากล่าวจบแล้ว ท่านเอลเรดก็พูดขอบคุณเขาที่ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของท่าน ขุนนางผู้นั้นรู้สึกประทับใจในความถ่อมตนและความอดทนของท่านเอลเรดมาก จนเขาได้กล่าวขออภัยต่อท่านเอลเรด เห็นไหม ความอดทนสามารถทำให้เกิดผลลัพท์ในทางบวกต่อบุคคลอื่น เรื่องนี้นำมาจากหนังสือ Saintly Solutions to Life’s Common Problems

คนใจร้อนที่ไม่มีความอดทนนั้นหาใช่คนอื่นไกลเลย แต่ปกติแล้วก็คือคนในครอบครัวของเรานั่นเอง

ในศตวรรษที่ 11 เมื่อบิดามารดาของนักบุญ ปีเตอร์ดาเมียนได้เสียชีวิตไป ปีเตอร์ต้องอยู่ในความดูแลของพี่ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนใจร้อนไม่มีความอดทน แถมยังเป็นคนดุร้ายและไม่ใส่ใจดูแลอีกด้วย ปีเตอร์พยายามอยู่อย่างสงบในสถานการณ์นี้อย่างอดทน จนกระทั่งพี่ชายอีกคนหนึ่งได้มารับเขาไปอยู่ด้วยและช่วยให้เขาได้ศึกษาเล่าเรียน ประสบการณ์ความทุกข์ยากในวัยเด็กของปีเตอร์ทำให้เขาเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น เขาไม่เพียงแต่มีความเมตตากรุณาต่อคนยากจน แต่เขายังมีความอดทนเป็นอย่างมากต่อคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา

ทุกคนที่ติดต่อกับปีเตอร์พบว่าพวกเขาเข้ากับปีเตอร์ได้ง่าย ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระสันตะปาปาจึงมักใช้ปีเตอร์เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในข้อพิพาทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และให้ปีเตอร์แก้ปัญหาในเรื่องขอบเขตอำนาจที่เกี่ยวข้องกับอารามของคณะที่แตกต่างกัน

เราต้องมีความอดทนต่อผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ดังเช่นเรื่องของนักพรตหนุ่มผู้หนึ่งในศตวรรษที่6 นั่นคือนักบุญโดซิทีอุส ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลสมาชิกของคณะคนหนึ่งที่กำลังป่วย การเอาดัวเองเป็นศูนย์กลางในเวลาที่เจ็บป่วยนั้น บางครั้งก็สามารถทำให้คนเรากลายเป็นคนไร้เหตุผลไปได้เหมือนกัน ผู้ป่วยที่โดซิทีอุสดูแลก็เป็นเช่นนั้น และเมื่อเรื่องนี้เกิดในอาราม ทำให้โดซิทีอุสหมดความอดทนและพูดอะไรที่รุนแรงออกไป ต่อมาด้วยความสำนึกผิดในเรื่องนี้ โดซิทีอุสจึงรีบเข้าไปในห้องพักของตน ท่านร้องไห้คร่ำครวญวอนขอพระเมตตาต่อพระเจ้า ท่านสำนึกผิดด้วยความจริงใจและพระหรรษทานก็ทำงานในตัวท่าน ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า โดซิทีอุสได้เปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนที่มีใจเมตตากรุณา อดทน และร่าเริงทำให้ผู้ป่วยรักท่านและต้องการให้ท่านมาดูแลพวกเขา

นักบุญซีเปรียน พระสังฆราชแห่งคาร์เทจผู้ยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ 3 ได้เขียนบทเทศน์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสำคัญของความอดทน แต่ตัวท่านเองก็ประสบความยุ่งยากอยู่บ่อยครั้งเช่นกันในการปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้ น.ซีเปรียนปกป้องคำสอนของพระศาสนจักรด้วยท่าทีที่เข้มแข็งและเอาจริงเอาจังจนบางครั้งกลายเป็นความดุดันไปบ้าง แต่โดยมากท่านก็กระทำไปด้วยความสุภาพอ่อนโยนแต่ก็เข้มงวดและไม่ประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อว่า “ไม้เท้าสายฟ้า” เพราะสมัยนั้นเป็นยุคที่มีความขัดแย้งทางศาสนา ทำให้พระศาสนจักรต้องเข้มงวดในเรื่องคำสอน และยังเป็นสมัยที่มีการเบียดเบียนจากทางรัฐด้วย น.ซีเปรียนถูกกล่าวโทษและถูกตัดสินประหารชีวิตจากทางเจ้าหน้าที่ของรัฐในปี 258 อีกหลายร้อยปีต่อมา พระสังฆราชผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งจากทางอัฟริกาเหนือ - น.ออกุสติน ได้เขียนกล่าวถึงท่านซีเปรียนว่า ท่านซีเปรียนได้ชดเชยความผิดของการที่ไม่มีความอดทนและมีความโกรธบ่อยครั้งด้วยการพลีชีวิตของท่านเป็นมรณะสักขี

จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและบางครั้งก็ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการควบคุมความไม่อดทนของเรา ขั้นแรกคือการตระหนักรู้ว่า ถึงแม้เราจะไม่สามารถควบคุมสิ่งที่จะทำให้เราหมดความอดทน แต่เราก็สามารถเลือกที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดได้ น.ฟิลิป เนรีจึงกล่าวว่า “ความทุกข์จะกลายเป็นสวรรค์สำหรับผู้ที่ยอมรับความทุกข์นั้นด้วยความอดทน และจะกลายเป็นนรกสำหรับผู้ที่ไม่มีความอดทน” เมื่อเราเลือกที่จะยอมรับความทุกข์ยากในชีวิตว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์ของพระเจ้าสำหรับเรา สถานการณ์นั้นก็จะเปลี่ยนจากการประจญทดลองหรือแม้แต่จากโอกาสที่จะทำให้เกิดบาปให้กลายเป็นพระพรหรือโอกาสของการเจริญเติบโตฝ่ายจิต

ในด้านความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น น.โบนาเวนตูราได้กล่าวเตือนว่า “จงระวังตัวให้ดีที่จะทุกข์ร้อนและไม่มีความอดทนต่อความผิดของผู้อื่น เพราะมันจะกลายเป็นความโง่เขลา เมื่อท่านเห็นชายคนหนึ่งตกลงไปในบ่อน้ำบ่อหนึ่ง แล้วท่านก็กระโดดลงไปในบ่อน้ำอีกบ่อหนึ่งโดยไม่ทันคิด” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องไม่ยอมให้ความผิดของคนอื่นเป็นสาเหตุให้เราทำบาปด้วยการไม่มีความอดทน คนที่มักทำให้เราประสาทเสียเป็นคนที่เราต้องแสดงความเห็นใจและเข้าใจในตัวเขามากที่สุด ถึงแม้เขาจะไม่สมควรได้รับความเห็นใจเช่นนั้นก็ตาม แต่เราต้องพยายามทำเพื่อเห็นแก่พระเจ้า

น.ฟรังซิส เดอ ซาล แนะนำเราว่า “จงด้านทานความไม่อดทนของท่านไว้ จงกระทำ ไม่เพียงแต่ด้วยอาศัยเหตุผลเท่านั้น แต่ด้วยอาศัยสิ่งที่ไม่เข้ากับเหตุผลด้วย จงอ่อนโยนและมีใจเมตตาต่อทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่ทำให้ท่านเบื่อหน่ายมากที่สุด”

เราจะสามารถเอาชนะความโน้มเอียงตามธรรมชาตินี้ได้อย่างไร? ทำได้โดยการเตือนตัวเราเองว่า เราอดทนต่อผู้อื่นไม่ใช่เพราะเห็นแก่คนที่รบกวนเรา แต่เพื่อเป็นการแสดงความรักของเราต่อพระเยซูเจ้า การติดตามพระองค์นั้นบ่อยครั้งหมายถึงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุคคล, เหตุการณ์, หรือสถานการณ์ที่เราไม่ต้องการและปรารถนาจะหลีกเลี่ยง ในเหตุการณ์นี้แหละที่ทำให้เกิดคุณค่า ดังที่ น. คัทรีน เดรกเซล กล่าวไว้ว่า “การอดทนรับแบกกางเขนไว้ ถึงแม้ธรรมชาติของเราจะเป็นเช่นไรก็ตาม สิ่งนั้นก็เป็นกิจการสูงส่งที่เราต้องกระทำ”

และตามที่ น. อัลฟองโซ ลิกัวรี กล่าว “ชายที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคือชายผู้ซึ่งละทิ้งน้ำใจของตนเองยอมรับน้ำพระทัยของพระเจ้าและยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือเลวร้ายก็ตาม โดยถือว่ามาจากพระหัตถ์ของพระเจ้า” จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อเราเลือกว่าจะตอบสนองสิ่งต่างๆที่เกิดกับเราด้วยความอดทนหรือไม่อดทน เรากำลังตัดสินตัวเราเองว่าต้องการจะมีความสุขหรือไม่มีความสุข มีบางคนอาทิเช่น น.มาร์กาเร็ต มารีย์ อาลาก๊อก และ น.แบร์นาแด็ต เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยนสุภาพและมีความอดทนโดยธรรมชาติของท่านเอง สำหรับพวกเราหลายคน ความสุภาพอ่อนโยนและความอดทนเป็นคุณธรรมที่เราต้องเสริมสร้างพัฒนาขึ้นมาในชีวิตของเรา ให้เราเรียนรู้จากชีวิตของบรรดานักบุญเหล่านี้ พระเจ้าทรงมีความอดทนต่อพวกเราแต่ละคนเป็นอย่างมากและไม่มีที่สิ้นสุด และพระองค์จะทรงขอร้องเราว่า “ลูกจะมีความอดทนสักนิดต่อผู้อื่นไม่ได้เชียวหรือ?”

ข้อคิดจากวาทะของผู้ศักดิ์สิทธิ์

“ถ้าท่านต้องการแสวงหาความอดทน ท่านจะไม่พบในที่อื่นใดได้ดีเท่ากับที่กางเขน ที่นั่นเป็นความอดทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ความอดทนเกิดขึ้นได้สองวิธีคือ - เมื่อคนหนึ่งยอมรับความทุกข์ยากที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงด้วยความอดทน และเมื่อคนหนึ่งซึ่งถึงแม้สามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ยากได้ แต่เขาเลือกที่จะไม่หลีกเลี่ยงและยอมรับความทุกข์ยากนั้น พระคริสต์ทรงแบกรับความทุกข์ทรมานเป็นอันมากบนกางเขน และพระองค์ทรงแบกรับด้วยความอดทน”

- น. โทมัส อไควนัส

“ผู้ที่แบกรับความทุกข์ด้วยความอดทนเพื่อเห็นแก่พระเจ้า ในไม่ช้าเขาจะบรรลุถึงความบริบูรณ์ขั้นสูงสุด เขาจะกลายเป็นอาจารย์ของโลกนี้และขาข้างหนึ่งของเขาได้ยืนอยู่ในสวรรค์เรียบร้อยแล้ว” — Bl. Giles of Assisi

“เมื่อท่านประสบชะตากรรมอันเลวร้ายในชีวิต จงแสวงหาความบรรเทาซึ่งพระเจ้าจะทรงประทานแก่ท่าน เพราะการไม่ทำเช่นนี้จะเท่ากับเป็นการทดลองพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ แต่เมื่อท่านได้ทำเช่นนี้แล้ว ก็จงรอคอยผลลัพท์เถิด ถ้าท่านเหมาะสมและความบรรเทาชนะความทุกข์ร้อนได้ ก็จงขอบพระคุณพระองค์ด้วยความถ่อมตน แต่ถ้าเป็นในทางตรงข้าม ความทุกข์ร้อนชนะความบรรเทา ท่านก็จงยอมรับด้วยความอดทนและสรรเสริญพระนามของพระองค์เถิด” — St. Francis de Sales

สิ่งที่น่าลองนำไปปฏิบัติ

จงประเมินและเสริมสร้างความอดทนของคุณให้แข็งแรง ตามที่ น.ฟรังซิส อัสซีซี สอนไว้ “เราไม่สามารถบอกได้ว่าคนใดมีความถ่อมตนและมีความอดทนในเวลาที่เขามีความสุขสบาย แต่เราจะบอกได้ในเวลาที่เขาประสบความทุกข์ยากลำบาก” ดังนั้น คนหรือสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุทำให้เราไม่มีความอดทน กลายเป็นสถานการณ์หรือเป็นผู้ที่เปิดโอกาสให้เราพิสูจน์ตัวเราเองต่อพระเจ้าและต่อตัวเราเองด้วยว่า เรามีความอดทนและความสุภาพถ่อมตนมากน้อยเพียงใด ถ้าหากเราขาดความอดทนในเวลาอันสั้น นั่นแสดงว่าเราต้องปรับปรุงตัวเองให้มีความอดทนให้มากขึ้น จงใช้ความพยายามให้มากขึ้นที่จะต้านทานการประจญของความไม่อดทนนี้ จงวอนขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเหลือคุณ

พวกเราหลายคนรู้สึกไม่พอใจเมื่อมีใครบางคนมารบกวนในการสวดภาวนาของเรา แต่นักบุญฟรังซิส เดอ ซาล กล่าวว่า จิตวิญญาณแห่งการสวดภาวนาที่แท้จริงจะรู้ว่า เราสามารถรับใช้พระเจ้าในเวลาเช่นนั้นได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองหรือด้วยการตอบสนองความต้องการของผู้อื่นในทันที เราควรละการสวดภาวนาเอาไว้ก่อน เราควรใช้ความอดทนของเราตอบสนองด้วยวิธีที่สงบ เพื่อเป็นการแสดงความรักของเราต่อพระเจ้า

********************
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น