วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อธิษฐานวอนขออย่างไรจึงจะได้รับ



                พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงขอเถิด แล้วเราจะให้แก่ท่าน จงแสวงหาแล้วท่านจะพบ จงเคาะและจะมีผู้เปิดประตูให้ท่าน เพราะผู้ที่ขอ ก็จะได้รับ ผู้ที่แสวงหาก็จะพบ และผู้ที่เคาะ ก็จะมีผู้เปิดประตูรับ”(มท.7 :8-9)
 
บางครั้งเราอธิษฐานภาวนาวอนขอบางสิ่งบางอย่างแต่ก็ไม่ได้รับ เป็นเพราะเหตุใดเล่า? อาจเป็นเพราะเราวอนขอในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือเราอาจวอนขอในสิ่งที่ถูกต้องแต่เราวอนขอผิดวิธีอย่างนั้นหรือ?
 
คำอธิบายของนักบุญโทมัส อไควนัส คงจะให้คำตอบแก่เราในเรื่องนี้ได้
 
ในหนังสือ Summa Theologica นักบุญโทมัสได้กล่าวถึง เงื่อนไขสี่ประการ ที่จำเป็นต้องมีซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าคำอธิษฐานภาวนาของเรานั้นจะได้รับตามที่วอนขอ เงื่อนไขสี่ประการนั้นคือ
 
1. สิ่งที่วอนขอต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความรอดของเรา ถ้าสิ่งที่วอนขอไม่เป็นประโยชน์ต่อคุณงามความดีของเรา เราก็จะไม่ได้รับ ถ้าเราวอนขอในสิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งของ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างเช่น การได้งานทำหรือการได้เงินกู้ยืม คำอธิษฐานของเราก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้ามันไม่เกี่ยวกับความรอดของเรา  การอธิษฐานภาวนาที่ดีในแต่ละวันควรจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับความรอดของเรามากกว่า เช่น สวดภาวนาให้อภัยแก่ผู้อื่นที่ทำให้การกู้ยืมเงินลำบาก หรือวอนขอพระเจ้าโปรดประทานพละกำลังแก่เราในการทนรับความยากลำบาก เป็นต้น นักบุญโทมัสได้ยกคำพูดของนักบุญออกัสตินว่า “ผู้ที่สัตย์ซื่อในการสวดภาวนาต่อพระเจ้าวอนขอสิ่งที่จำเป็นเป็นในชีวิตนี้ ก็จะได้รับพระเมตตาตอบสนอง และได้รับพระเมตตาไม่ตอบสนองก็ได้ เพราะหมอย่อมรู้ดีกว่าคนไข้ว่าสิ่งใดดีกว่าในการรักษาโรค” พระเยซูเจ้าตรัสด้วยว่า พระบิดาสวรรค์ของเรารู้อยู่แล้วว่าอะไรดีสำหรับเรา (มท.7) ดังนั้นในการวอนขอสิ่งใดสำหรับชีวิตชั่วคราวนี้ เราต้องวางใจในพระเจ้า มากกว่าที่จะคาดหวังให้ได้รับสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามการวอนขอ
 
2. อธิษฐานวอนขอเพื่อตนเอง ถึงแม้เราจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อแรกแล้ว คำอธิษฐานวอนขอของเราก็อาจไม่ได้รับ ถ้าเป็นการวอนขอเพื่อนำความรอดของเราไปให้แก่ผู้อื่น นักบุญโทมัสให้เหตุผลว่า เราไม่สามารถนำความรอดที่เป็นของเราไปมอบให้แก่ผู้อื่นได้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรสวดภาวนาเพื่อผู้อื่น เพียงแต่การสวดภาวนาเช่นนั้นไม่อาจทำได้ นักบุญโทมัสเองสนับสนุนให้เราสวดภาวนาเพื่อผู้อื่นเสมอ
 
3. อธิษฐานวอนขอด้วยความศรัทธาและกตัญญู ใน Summa นักบุญโทมัสให้ความหมายของความศรัทธากตัญญูนี้ว่า เป็นการเคารพเทิดทูนให้เกียรติและนมัสการพระเจ้า ก็เหมือนกับการที่เราเทิดทูนเคารพกตัญญูและให้เกียรติบิดามารดาของเรา เป็นการสมเหตุสมผลที่เราจำเป็นต้องสวดอธิษฐานภาวนาด้วยความเคารพเทิดทูนและด้วยท่าทีของการนมัสการ แต่นักบุญโทมัสยังกล่าวลึกซึ้งมากกว่านั้น ท่านบอกให้กระทำ “โดยไม่สงสัย ว่าเราจะได้รับตามที่วอนขอ” ท่านอธิบายอีกว่า กิจการที่ดีงามก็เป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธาแบบนี้ด้วย ท่านอ้างถึงคำพูดของนักบุญออกัสตินในหนังสือ City of God “Piety ความศรัทธากตัญญู....เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นชื่อที่ถูกต้องของการนมัสการพระเจ้า และยังเป็นหน้าที่ของลูกที่พึงมีต่อบิดามารดาด้วย คนทั่วไปทำสิ่งนี้ด้วยกิจการแห่งความเมตตา และสิ่งนั้นทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยในกิจการของเขา”
 
4. อธิษฐานวอนขอด้วยความเพียรทน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้รับตามที่วอนขอนั้น ก็เป็นเพราะเราหยุดวอนขอ นักบุญโทมัสอธิบายไว้เช่นนี้ หรืออาจเป็นเพราะพระเจ้าทรงตัดสินพระทัยที่จะประทานให้ในเวลาอื่น ท่านอ้างคำพูดของนักบุญออกัสตินอีก “คำวอนขอบางอย่างไม่ได้ถูกปฏิเสธ แต่อาจล่าช้าไปบ้างจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมที่ควรประทานให้”
 
นักบุญโทมัสสรุปเงื่อนไขทั้งสี่ว่า “ด้วยเหตุนี้เงื่อนไขสี่ประการจึงเป็นเช่นนี้ วอนขอ “เพื่อตนเอง , สิ่งที่จำเป็นต่อความรอด , ด้วยความศรัทธากตัญญู . ด้วยความเพียรทน   เมื่อเงื่อนไขทั้งสี่มีอยู่ในการอธิษฐานวอนขอ เราก็จะได้รับตามที่วอนขอเสมอ”
 
**************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น