วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ให้ความเชื่อนำชีวิต

The Faith Directive VS Feelings Directive

คริสตชนคนหนึ่งได้เขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการนิตยสารคาทอลิกฉบับหนึ่ง และได้ตีพิมพ์จดหมายฉบับนี้ในคอลัมน์ จดหมายจากผู้อ่านเนื้อความในจดหมายพรรณนาถึงความรู้สึกผิดหวังจากการไปวัดวันอาทิตย์ เขาเขียนว่าผมไปวัดเป็นประจำทุกอาทิตย์เป็นเวลา 30 ปี ตลอดเวลาผมได้ฟังบทเทศน์มากกว่า 3,000 ครั้ง แต่ผมจำไม่ได้สักบทเดียว ดังนั้น ผมคิดว่าผมกำลังเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และพระสงฆ์กำลังเสียเวลาในการเทศน์สอนเช่นกัน

จาก prayer for beginner โดย ปีเตอร์ ครีฟท์  เขียนไว้ว่า

“ถ้าเราพึ่งพิงสิ่งอื่นนอกจากความเชื่อเพื่อปฏิบัติกิจศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า  เราจะไม่ประสพผลสำเร็จ  ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอะไรก็ตาม  เช่น  ความรู้สึกของเรา  ประสบการณ์ของเรา  ความจริงใจ  ความตั้งใจดี  หรือเหตุผล  เหตุที่สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้เราประสพผลสำเร็จ  ในขณะที่ความเชื่อทำให้เราประสพผลสำเร็จได้  ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองเป็นหลัก  แต่ความเชื่อขึ้นอยู่กับพระเป็นเจ้า  เป็นพระพรของพระเป็นเจ้า...ไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา”

และน. ฟรังซิส เดอ ซาลส์ เขียนว่า

“สิ่งที่ทำให้การเจริญเติบโตฝ่ายจิตของเรามีความยากลำบากก็คือ  การรักตัวเอง  และ  การเชื่อถือตัวเองมากเกินไป  เพราะมันทำให้หัวใจของเราไม่โอนอ่อนลงในเวลาที่เราสวดภาวนาและในการพิจารณาไตร่ตรองตามที่เราปรารถนา  เรารู้สึกเศร้าใจ  เราพบว่าแม้แต่ในการทำความดีก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเรา  เหมือนมีบางสิ่งคอยกีดขวางเจตจำนงของเรา  เราต้องบังคับตัวเองมากขึ้นเพื่อเอาชนะมัน  ทำให้เราวิตกกังวล  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้เล่า?  ไม่ต้องสงสัยเลย  เป็นเพราะเรารักและปรารถนาการปลอบประโลมใจ, ต้องการอะไรที่ง่ายๆ และสะดวกสบาย  เราต้องการให้การสวดภาวนา  เป็นเหมือนกับเรากำลังอาบน้ำ  และต้องการให้การทำความดีเหมือนกับเรากำลังกินอาหาร  เหตุนี้เราจึงไม่สามารถเพ่งพินิจถึงพระเยซูเจ้าได้  พระองค์ผู้ทรงถ่อมองค์นอนบนกางเขน  พระโลหิตและน้ำไหลออกมาจากพระวรกายอันประเสริฐซึ่งเจ็บปวดแสนสาหัส(มก. 14:35; ลก. 22:44).

เมื่อจิตใจของเราอยากได้อะไรที่รวดเร็วทันใจ เราก็เผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกันนี้  เพราะมันเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล  ผู้เป็นคาทอลิกแต่เพียงผิวเผิน  มักใช้ความรู้สึกนำทางในการปฏิบัติกิจทางศาสนา  ไม่เพียงแต่ในเรื่องการสวดภาวนาเท่านั้น  แต่ในเรื่องความเชื่อทั่วๆไปด้วย  เช่น  การมีส่วนร่วมในพิธีกรรม  ความตระหนักเรื่องคำสอนทางสังคม  และการรับรู้ในเรื่องบาป
ดังนั้น เมื่อความเชื่อของเราขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว  ความสัมพันธ์ของเรากับพระเป็นเจ้าก็ไม่มั่นคง  เรือที่ผู้ขับไม่ยึดพวงมาลัยไว้ให้มั่นก็จะถูกลมพัดใบเรือให้แล่นไปตามกระแสลมและคลื่น   ถ้าความยินดียังคงอยู่ในจิตใจเรา  ทุกสิ่งก็ดูจะไปด้วยดี  แต่เมื่อความขมขื่นหรือความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่  เราก็ดิ้นรนด้วยความทุกข์ อันเนื่องมาจากสภาวะที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกตัวเรา  และอาจทำให้เราไปแสวงหาความยินดีอันอนิจจังจากที่อื่น  แต่นี่หมายความว่าเราไม่ควรมีความยินดีในความเชื่อของเราหรือในขณะที่จิตใจของเราลอยขึ้นสู่เบื้องสูง?  ไม่ใช่แน่นอน
เราเป็นประชากรแห่งอิสเตอร์และเพลงอัลเลลูยาเป็นบทเพลงของเรา  น.ฟรังซิส  เดอ  ซาลส์แนะนำว่า  เราต้องมีความยินดีในสันติสุขและต้องไม่ยอมให้ใครมาขโมยสันติสุขในพระคริสต์ไปจากเรา  มันไม่ใช่สันติสุขของโลก  จงยอมรับไว้เป็นดังพระพรเถิด
เมื่อชิวิตฝ่ายจิตของบุคคลนั้นดำเนินต่อไป  โดยที่เขาปรารถนาให้ชีวิตจิตของเขามีแต่การปลอบประโลมใจปราศจากความแห้งแล้ง  ยิ่งไปกว่านั้น  การให้อารมณ์ความรู้สึกเป็นศูนย์กลางแทนความเชื่อ  จะสร้างอุปสรรคใหญ่ต่อการเจริญเติบโตฝ่ายจิต  บางคนอาจคิดว่าเขาได้สูญเสียพระเป็นเจ้า  เพราะเขาไม่รู้สึกถึง “การปรากฏ”ของพระองค์ (เพราะไม่มีความยินดีในจิตใจ)

น.ฟรังซิส เดอ ซาลส์ จึงกล่าวว่า
“ในชีวิตนี้ของเรา  เราต้องกินสมุนไพรที่ขมมากกว่ากินน้ำผึ้งที่หวาน  แต่เราทำดังนี้เพราะเห็นแก่พระเป็นเจ้า  เราทำด้วยความเพียรทนอันศักดิ์สิทธิ์  ถึงแม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างคอยขัดขวางเรา  พระจิตเจ้าจะทรงปลอบประโลมใจเราในระยะเวลานี้....ความมั่นใจนี้จะช่วยเสริมพละกำลังของเราทำให้เราสามารถยืนหยัดและรับทนความทุกข์ด้วยความกล้าหาญในยุทธนาการที่เผชิญอยู่  ไม่ว่ามันจะสาหัสสักเพียงไร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น