วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

วันอาทิตย์ปัสกา

วันสมโภชปัสกา 
วันอาทิตย์ที่  4 เมษายน ค.ศ. 2021  

 
โดยพระสังฆราชยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย


พี่น้องที่รัก รับบีหรืออาจารย์ชาวยิวคนหนึ่งได้เรียกศิษย์ทั้งหมดมารวมกันในเช้าตรู่วันหนึ่งขณะที่ยังมืด ท่านบอกพวกเขาให้ตั้งใจฟังอย่างดีเพราะมีคำถามสำคัญที่จะถามพวกเขา คำถามคือ พวกเขาสามารถรู้ได้อย่างไรว่ากลางคืนได้ผ่านไปแล้วและกลางวันกำลังเริ่มต้นขึ้น? ศิษย์คนหนึ่งตอบว่า “เมื่อท่านเห็นสัตว์ตัวหนึ่งและสามารถบอกได้ว่ามันเป็นแกะหรือว่าสุนัข” “ไม่ใช่” รับบีตอบ ศิษย์อีกคนหนึ่งบอกว่า “เมื่อท่านมองไปยังต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ แล้วสามารถแยกแยะได้ว่ามันเป็นต้นมะเดื่อหรือว่าต้นมะกอกเทศ” “ไม่ใช่อีกนั่นแหละ” รีบบีตอบ หลังจากศิษย์อีกจำนวนหนึ่งพยายามตอบ แต่ไม่มีใครตอบถูกสักคน ศิษย์ที่เหลือจึงถามรับบีคนนั้นว่า “แล้วอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องละ?” รับบีผู้ชาญฉลาดและมากด้วยประสบการณ์จึงตอบว่า “เมื่อพวกท่านมองหน้าหญิงหรือชายคนใดคนหนึ่งและเห็นว่าเธอเป็นน้องสาวและเขาเป็นน้องชายของพวกท่าน เพราะตราบใดก็ตามที่พวกท่านยังไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ ไม่ว่าจะกี่โมงกี่ยาม มันก็ยังมืดอยู่ดีสำหรับพวกท่าน”
 
เรื่องราวของวันปัสกาในพระวรสารวันนี้เริ่มต้นขึ้นในตอน “เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ขณะที่ยังมืด” (ยน 20:1) ความมืดเป็นสัญลักษณ์แห่งบาปและความตาย บุคคลที่ตกเป็นทาสของบาป ชีวิตของเขาจะจมอยู่ในความมืดแห่งความตาย แต่เมื่อ “พระคริสตเจ้า องค์ความสว่างของชาวเรา” ทรงทอแสงขึ้นมา ความมืดแห่งบาปและความตายจะถูกขจัดออกไป ผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับชีวิตใหม่โดยมี “ความรัก” เป็นตราประทับที่โดดเด่นของชีวิตดังกล่าวนี้ นักบุญยอห์นพูดถึงเรื่องนี้ในจดหมายของท่านว่า “ความมืดกำลังผ่านพ้นไป ความสว่างแท้จริงกำลังทอแสงขึ้นมาแล้ว ผู้ที่อ้างว่าตนอยู่ในความสว่าง แต่เกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นยังจมอยู่ในความมืด” (1 ยน 2:8-9) นั่นคือ ตราบใดที่เขายังไม่สามารถรักเพื่อนพี่น้องที่รอบข้างเขาได้ เขายังไม่ได้เกิดใหม่ในพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงและชีวิตของเขายังคงจมอยู่ในความมืดเหมือนเดิม ในแง่หนึ่ง ปัสกาที่เรากำลังสมโภชร่วมกันในวันนี้เป็นคำเชื้อเชิญให้เราออกจากความมืดมารับแสงสว่างของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ในแสงสว่างนี้เองเราสามารถมองเห็นพระองค์และตระหนักว่าเพื่อนมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้เป็นพี่น้องชายหญิงของเราในองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าชีวิตฝ่ายจิตของเราได้ผ่านจากความมืดแห่งบาปและความตายเข้าสู่รุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าแล้ว เมื่อพระคริสตเจ้าทรงชนะบาปและความตายแล้ว จะไม่มีใครที่เชื่อในพระองค์หลงทางและสูญเสียไปอีก
 
สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เรื่องราวของวันปัสกาเริ่มต้นในพระคูหาที่มืดมิดพร้อมกับมารีย์ ชาวมักดาลา สตรีคนหนึ่งซึ่งคนทั่วไปตราหน้าว่าเป็นคนบาป คนที่หลงทางและสูญเสียไปแล้ว เมื่อนางมาถึงพระคูหาที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า นางพบว่า “หินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว” (ยน 20:1) นางจึงตีความเอาเองว่าพระศพของพระเยซูเจ้าถูกขโมย ดูเหมือนว่าสำหรับนางการเชื่อว่ามีคนมา “นำองค์พระผู้เป็นเจ้าออกไปจากพระคูหา” (ยน 20:2) ง่ายกว่าที่จะเชื่อว่าพระเจ้าทรงทำให้พระบุตรสุดที่รักของพระองค์กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย นั่นคือ ทรงทำให้ความตายเป็นเพียงแค่ทางผ่านไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์
 
เมื่อเปโตรและศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักได้ยินเรื่องราวที่นางเล่าให้ฟัง ท่านทั้งสองรีบวิ่งไปยังพระคูหาทันที แต่ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก “วิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน” (ยน 20:4) และเมื่อท่านก้มลงมองเข้าไปในพระคูหา ก็ “เห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน” (ยน 20:5) สิ่งนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าท่านยอมรับว่าเปโตรมีตำแหน่งใหญ่กว่าท่าน เมื่อเปโตรมาถึงและเข้าไปในพระคูหา ท่าน “เห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียรซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง” (ยน 20:7) จุดสุดยอดของเรื่องเล่าอยู่ตรงที่ว่า เมื่อศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเข้าไปข้างในและเห็นสิ่งเดียวกัน ท่านได้เชื่อ (เทียบ ยน 20:8) ซึ่งแตกต่างจากกรณีของเปโตร สิ่งนี้แสดงให้เราเห็นว่าท่านมองเห็นบางสิ่งที่มากกว่าผ้าที่ถูกวางทิ้งไว้ ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ ท่านมองเห็นความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าท่าน ความรักที่ท่านมีต่อพระเยซูเจ้าทำให้ท่านมองทะลุเข้าไปในความมืดและเห็นความจริงเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์
 
ถ้าเราอ่านพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นตั้งแต่ต้นจนจบอย่างตั้งใจ สิ่งหนึ่งที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ทันทีคือ พระเยซูเจ้าทรงรักศิษย์คนหนึ่งมากเป็นพิเศษกว่าศิษย์คนอื่นๆ ของพระองค์ ศิษย์คนนี้เป็นตัวแทนของผู้ติดตามในอุดมคติของพระองค์ ในระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายท่านได้นั่งร่วมโต๊ะติดกับพระองค์ (เทียบ ยน 13:23) และเป็นหนึ่งในผู้ที่ยืนอยู่ที่ใต้เชิงไม้กางเขนเมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ (เทียบ ยน 19:26) ในพระวรสารวันนี้ท่านได้วิ่งไปที่พระคูหาในตอนเช้าตรู่ของวันปัสกา ความเร่งด่วนอันเนื่องมาจากความรักของท่านที่มีต่อพระองค์ทำให้ท่านไปถึงจุดหมายปลายทางก่อน และความไหวต่อความรู้สึกของความรักทำให้ท่านเป็นคนแรกที่เชื่อในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ต่อมาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์บนฝั่งทะเลสาบทิเบเรียส ท่านเป็นคนที่บอกเปโตรซึ่งอยู่บนเรือว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7) ความรักที่ท่านมีต่อพระเยซูเจ้าทำให้ท่านจำพระองค์ได้เป็นคนแรก สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าความรักทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจพระเยซูเจ้าได้เร็วกว่าทางอื่น
 
พี่น้องที่รัก วันสมโภชปัสกาเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เราจะพิจารณาไตร่ตรองถึงศักยภาพในการมองของเราเพื่อว่าเมื่อเวลามาถึง เราแต่ละคนด้วยจะมีความรักที่ช่วยเราให้มองทะลุเข้าไปในความมืดและเห็นความจริงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าและความเป็นพี่น้องในทุกคนที่เราพบปะในแต่ละวัน ขอการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นกำลังใจและความหวังของเรา ขอพระองค์ทรงเพิ่มพูนความรักที่เรามีต่อพระองค์และเพื่อนมนุษย์ของเรานับวันยิ่งมากขึ้น ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องทุกคน
 
 
**************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น