วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

สวดภาวนาด้วยหัวใจไม่ใช่ด้วยสมอง




สิ่งที่นักเทววิทายเรียกว่า "การรำพึงภาวนา" คือพัฒนาการขั้นต่อไปของการสวดภาวนาที่รู้จักกันในชื่อ “การสวดภาวนาโดยมีอารมณ์ร่วม” (Affective Prayer)
 
คำว่า "การรำพึงภาวนา" ในแง่ของการสวดภาวนาหมายถึงการใช้พลังแห่งเหตุผลของเราในการนำพระวาจาในพระคัมภีร์มาใช้กับชีวิตของเรา เราอ่านเนื้อความในพระคัมภีร์ร่วมกับการรำพึงภาวนา และบางทีก็นึกภาพว่าตัวเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นและพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่พระจิตตรัสกับเราผ่านทางการรำพึงภาวนา วิธีการนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางจิตเป็นอย่างมาก
 
วิธีการนี้เป็นวิธีสำคัญในการมีส่วนร่วมกับพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสร้างสติปัญญาของเราเพื่อที่เราจะได้รู้จักพระองค์โดยผ่านทางพระวาจาในพระคัมภีร์ ตามที่บัลติมอร์ได้กล่าวไว้ว่า “เราทั้งหลายถูกสร้างมาเพื่อให้รู้จัก, รัก, และรับใช้พระเจ้า” การรู้จักพระองค์เป็นก้าวแรกสู่การรักพระองค์
 
เมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งมาแนะนำให้เรารู้จักกับคนอื่นๆ เขาอาจเริ่มต้นด้วยการบอกข้อเท็จจริงอย่างเช่น:“นี่คือจารีณีซึ่งเพิ่งย้ายมาอยู่ข้างๆ นี่คือสมบัติที่ทำงานในสำนักงานถัดจากของฉัน” เราใช้ข้อเท็จจริงเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสนทนา และหากเราหวังว่าจะได้รู้จักจาริณีหรือสมบัติให้ดีขึ้น  ความสัมพันธ์จะต้องดำเนินต่อจากการรู้ข้อเท็จจริง
 
ข้อเท็จจริงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าด้วยเช่นกัน เราต้องรู้ว่าพระองค์เป็นใคร แต่เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่ง เราต้องการที่จะรู้ลึกซึ้งมากขึ้นถึงดวงพระทัยของพระเจ้าว่าเป็นอย่างไร? หัวใจของฉันจะอยู่ร่วมกับดวงพระทัยของพระองค์ได้ไหม?
 
นักบุญเทเรซาแห่งอาวีลาเขียนไว้ว่า “สำหรับการสวดภาวนาด้วยจิตใจนั้น , ในความคิดของฉัน, ไม่เป็นอะไรอื่นนอกจากการแบ่งปันอย่างใกล้ชิดระหว่างเพื่อน หมายถึงการสละเวลาบ่อยๆมาอยู่กับพระองค์ ผู้ที่เรารู้ว่าทรงรักเรา สิ่งสำคัญคือไม่ต้องใช้ความคิดมาก แต่ใช้ความรักมากกว่าและหาวิธีที่ทำให้เรามีความรักมากที่สุด” (Interior Castle) นี่คือการสวดภาวนาโดยมีอารมณ์ร่วม
 
เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของการสวดภาวนา รายละเอียดบางอย่างเช่นที่ตั้งของกรุงเยรูซาเล็มไม่ใช่ส่วนสำคัญนัก ในตอนแรกเราอาจถูกชักนำให้ใคร่ครวญข้อเท็จจริงเหล่านี้คือ การประกอบอาชีพของอัครสาวก, จำนวนผู้คนที่พระเยซูทรงเลี้ยงด้วยขนมปังและปลา, หรือพระองค์ทรงสอนด้วยอำนาจอย่างไร ในไม่ช้าเราอาจพบว่าเราจะเริ่มมุ่งเน้นไปที่สิ่งอื่น เช่น: การที่พระองค์ทรงใช้เวลากับคนบาป, ความรักของพระองค์ต่อคนเจ็บป่วย, และการที่พระองค์ทรงแยกไปสวดภาวนาเพียงลำพัง
 
เมื่อเราสวดภาวนาและพิจารณาถึงเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ไปพร้อมกัน จิตใจของเราก็คล้อยตามไปกับเรื่องราวเหล่านั้นด้วย หรือเวลาที่เราสวดสายประคำแต่ละครั้งในภาคต่างๆเรารำพึงถึงธรรมล้ำลึกในแต่ละภาค เรารับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของแม่พระที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น ทำให้จิตวิญญาณของเราร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับแม่พระและพระเยซูเจ้าในเหตุการณ์นั้นๆเหมือนกับเราได้อยู่ในเหตุการณ์
 
การรำพึงภาวนาในประเด็นเหล่านี้ทำให้หัวใจของเรามุ่งไปสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่ต่อพระเยซูเจ้ามากขึ้นเป็นลำดับ จากนั้นเราก็จะพบว่ามีความรักและเทิดทูนพระองค์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เราบอกพระองค์ว่าเรารักพระองค์มากเพียงใด นี่คือการพัฒนาที่สำคัญในการสวดภาวนาของเรา
 
การสวดภาวนาควรเปลี่ยนแปลงเรา การสวดภาวนาโดยมีอารมณ์ร่วมนี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเห็นความดีงามของพระเจ้าในพระคัมภีร์ เราก็ถูกชักนำไปสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทำให้เรารักพระองค์มากขึ้น เราพบว่าเป็นการง่ายที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ เราตระหนักว่ามีหลายสิ่งที่ไม่ช่วยให้เราใกล้ชิดกับพระองค์ และค้นพบว่าบางอย่างทำให้เราห่างไกลจากพระองค์ แล้วเราก็จะได้รับพระหรรษทานที่ทำให้เราละทิ้งสิ่งต่างๆเหล่านั้น
 
บางคนจะมาถึงระดับการสวดภาวนาโดยมีอารมณ์ร่วมเร็วกว่าคนอื่น เราไม่ควรฝืนบังคับในเรื่องนี้ แต่เมื่อเราพบว่าตัวเองใช้เวลาสวดภาวนามากขึ้น เริ่มมีการสนทนาด้วยความรักแทนการอ่านและใช้เหตุผล นั่นเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าที่ลึกซึ้งมากขึ้น เราควรทำตามแรงกระตุ้นนี้และอนุญาตให้การสวดภาวนาโดยมีอารมณ์ร่วมเริ่มเปลี่ยนแปลงเรา ซึ่งจะพัฒนาต่อไปในการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าและการดลใจของพระองค์มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
 
-----------------------------------
 
“ผู้ที่สวดภาวนาอย่างดี มีชีวิตที่ดี ผู้ที่มีชีวิตที่ดี ก็จะตายดี และผู้ที่ตายดีทุกๆอย่างก็จะดีหมด” น.ออกุสติน
 
“ผู้ที่สวดภาวนามากๆจะได้รับการช่วยให้รอด ผู้ที่ไม่สวดภาวนาจะถูกสาปแช่ง ผู้ที่สวดภาวนาน้อย ก็อยู่ในสถานะอันตรายต่อความรอดนิรันดรของเขา” น.อัลฟองโซ
 
”ในโลกนี้ไม่มีคนที่แข็งแรงหรือคนที่อ่อนแอ มีแต่คนที่รู้จักสวดภาวนาและคนที่ไม่สวดภาวนา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสวดภาวนาคือความเข้มแข็งของเราในทุกเวลาและทุกสถานที่”  
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น