ประวัติศาสตร์ของการที่ชาวจีนอพยพมาประเทศไทย ต้องย้อนกลับไปหลายร้อยปี
สมัยสุโขทัย
ชาวจีนเริ่มเดินเรือสำเภามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัย แต่หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อชาวจีนมาสอนการทำเครื่องถ้วยชาม โดยเฉพาะเครื่องสังคโลก
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ชาวจีนได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่มาก โดยส่วนมากจะมาจากตอนใต้ของประเทศจีน เพื่อมาตั้งรกรากและทำการค้า
สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2312 จักรวรรดิจีนได้ถูกรุกรานโดยพม่าที่กำลังขยายแสนยานุภาพ จักรพรรดิจีนในสมัยนั้นได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามพม่าถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายจีนก็ได้เบนความสนใจมาที่กองทัพพม่าในอาณาจักรอยุธยา ซึ่งกำลังถูกพม่ายึดครอง ขุนพลไทยนาม "สิน" ซึ่งมีบิดาเป็นคนจีน และมารดานาม นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวสยาม ได้ใช้สถานการณ์ที่ได้เปรียบนี้ทำให้สามารถกอบกู้เอกราชให้สยามได้สำเร็จ ขุนพลท่านนั้นต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แห่งกรุงธนบุรี หรือที่ชาวจีนขนามนามว่า แต้อ๊วง ด้วยความที่ว่าบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นคนจีน
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ชาวจีนแต้จิ๋วได้เข้ามาทำการค้า และอพยพมายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากรชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เพิ่มขึ้นจาก 230,000 คนใน พ.ศ. 2368 เป็น 792,000 คนใน พ.ศ. 2453 และใน พ.ศ. 2475 ประชากรไทยถึง 12.2% เป็นชาวจีนโพ้นทะเล
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การอพยพของชาวจีนยุคแรก ส่วนมากเป็นผู้ชาย เมื่อเข้ามาตั้งรกรากแล้วก็จะแต่งงานกับผู้หญิงไทย และกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ลูกหลานจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาตินี้เรียกว่า "ลูกจีน" แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กระแสการอพยพเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจีนอพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น จึงทำให้การแต่งงานข้ามเชื้อชาติลดลง
การคอรัปชั่น ในรัฐบาลราชวงศ์ชิง และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศจีน ประกอบกับการเก็บภาษีที่เอาเปรียบ ทำให้ชายชาวจีนจำนวนมากมุ่งสู่สยามเพื่อหางานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศจีน ขณะนั้นชาวจีนจำนวนมากต้องจำยอมขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีเพาะปลูกของทางการ
ในรัชสมัยปลายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ประเทศไทยต้องระวังผลกระทบจากการที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอังกฤษได้มลายูเป็นอาณานิคม ในขณะเดียวกัน ชาวจีนจากมณฑลยูนนานก็เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศไทย กลุ่มชาวไทยชาตินิยมจากทุกระดับจึงได้เกิดความคิดต่อต้านชาวจีนขึ้น หลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ชาวจีนกุมเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้ และยังได้รับอำนาจผูกขาดการค้าและรวมถึงการเป็นนายอากรเก็บภาษีซึ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย ในขณะนั้นอิทธิพลทางการค้าของชาติตะวันตกก็สูงขึ้น ทำให้พ่อค้าขาวจีนหันไปขายฝิ่นและเป็นนายอากรมากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวคนกลางชาวจีนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสยามในปีซึ่งกินเวลาเกือบ 10 ปี หลังปี พ.ศ. 2448 ด้วย
การให้สินบนขุนนาง กลุ่มอันธพาลอั้งยี่ และการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ทั้งหมดนี้จุดประกายให้คนไทยเกลียดชังคนจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการอพยพเข้าประเทศไทยก็มากขึ้น ในพ.ศ. 2453 เกือบร้อยละ 10 ของประชากรไทยเป็นชาวจีน ซึ่งผู้อพยพใหม่เหล่านี้มากันทั้งครอบครัวและปฏิเสธที่จะอยู่ในชุมชนและสังคมเดียวกับคนไทย ซึ่งต่างกับผู้อพยพยุคแรกที่มักแต่งงานกับคนไทย ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีน ได้เผยแพร่ความคิดให้ชาวจีนในประเทศไทยมีความคิดชาตินิยมจีนให้มากขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ชุมชนชาวจีนจะสนับสนุนการตั้งโรงเรียนเพื่อลูกหลานจีนโดยเฉพาะโดยไม่เรียนรวมกับเด็กไทย ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงให้ชาวต่างชาติในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์หรือจะยอมเป็นคนต่างด้าว
ชาวไทยเชื้อสายจีนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารซึ่งเริ่มในประมาณพ.ศ. 2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น เช่น การปลูกข้าว ยาสูบ อีกทั้งประกาศอัตราภาษีและกฎการควบคุมธุรกิจของชาวจีนใหม่ด้วย ซึ่งในช่วงนี้รัฐบาลได้มีนโยบายรัฐนิยม ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการดูถูกและเหยียดเชื้อชาติ เช่น การไม่ส่งเสริมให้พูดภาษาจีน อันเป็นภาษาต่างด้าว ในที่สาธารณะ ทำให้ก่อนและหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มีการทะเลาะวิวาทแบบยกพวกเข้าตีกันหลายต่อหลายครั้งระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีน หรือคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราช ซึ่งเรียกกันว่า "เลี๊ยะพ่ะ" ซึ่งความขัดแย้งอันนี้ได้ลุกลามบานปลายจนจะกลายเป็นปัญหาเชื้อชาติ แต่ได้ยุติลงเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรที่เยาวราช ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงหกวัน
และหลังจากที่จอมพล ป. หวนสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2491 ทางรัฐบาลจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้จับตาดูทีท่าของจอมพล ป. แต่ในรัฐบาลชุดหลังนี้ ได้มีการสานสัมพันธ์กับทางการจีนอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการส่งผู้แทนของรัฐบาลดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนอย่างลับๆ
ในขณะที่มีการปลุกระดมชาตินิยมจีนและไทยขึ้นพร้อมกัน ในปี พ.ศ. 2513 ลูกหลานจีนที่เกิดในไทยมากกว่าร้อยละ 90 ถือสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และเมื่อมีการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการแล้วในปี พ.ศ. 2518 ชาวจีนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ก็มีสิทธิที่จะเลือกที่จะถือสัญชาติไทยได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่นาน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ก็มีนโยบายในแบบอนุรักษนิยมและขวาตกขอบ ซึ่งเป็นผลมาจากความหวาดกลัวในการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับการเหยียดหยามอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2522 นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎหมายให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกิดในประเทศไทย จะมีสิทธิเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อได้ไปลงทะเบียนก่อนและต้องมีการศึกษาขั้นต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) ซึ่งต่อมากฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการยกเลิกในที่สุด
ภาษาและวัฒนธรรม
วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ย่านเยาวราช ศูนย์รวมจิตใจชาวไทยเชื้อสายจีนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
กลุ่มภาษาไทยและกลุ่มภาษาจีนนั้นมีหลักภาษาที่ใกล้กันโดยกลุ่มภาษาไทยจะวางคำวิเศษณ์ใว้ข้างหลังและวางกริยาวิเศษณ์ใว้ข้างหลังกรรมในขณะที่กลุ่มภาษาจีนจะวางใว้ด้านหน้าทั้งคำนามและกริยา จึงทำให้ผู้ที่อพยพเข้ามาเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็วกว่าภาษาอื่นๆ ภาษาไทยก็มีคำภาษาหมิ่นใต้จำนวนมาก ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนจะพูดภาษาไทยผสมภาษาหมิ่นใต้ในการติดต่อกันเอง โดยเฉพาะชาวแต้จิ๋วที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนมาก และก็จะใช้ภาษาไทยติดต่อกับสังคมภายนอกได้ดีขึ้น
**********************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น