วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

อัศจรรย์ถูกจารึกไว้ในก้อนหิน



ที่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศโคลัมเบียกับเอกวาดอร์ มีรูปภาพบนก้อนหินก้อนหนึ่งเป็นรูปแม่พระทรงอุ้มพระกุมารเยซู “รูปภาพนี้ถูกวาดขึ้นโดยเทวดา” เป็นเรื่องจริงที่น่าประหลาดใจมากเพราะรูปภาพนี้ไม่มีการใช้สีใดๆเลย สีบนรูปภาพเป็นสีของก้อนหินล้วนๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราสามารถสร้างรูปภาพจากเซรามิคนำมาเรียงเป็นรูปได้ แต่มันก็ไม่เหมือนกับรูปภาพอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ รูปภาพนี้ถูกเรียกว่า “รูปภาพอัศจรรย์แห่งลาส ลาจาส”

 
 
บริเวณพรมแดนระหว่างโคลัมเบียกับเอกวาดอร์ มีอาสนวิหารที่ไม่ใหญ่มากนักแต่มีความสำคัญที่สุด เป็นอาสนวิหารที่ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาริมแม่น้ำกัวตารา (Guaitara River) ที่นี่คืออาสนวิหารแม่พระแห่งลาส ลาจาส และเป็นที่ประดิษฐานของ”รูปภาพแม่พระแห่งลาส ลาจาส” รูปภาพนี้ถูกค้นพบในกลางปี 1700 โดยสตรีชาวอินเดียนที่กำลังอุ้มลูกสาวที่เป็นใบ้หูหนวก
 
อาสนวิหารแม่พระแห่งลาส ลาจาส มีรูปสถาปัตยกรรมเป็นแบบโกธิคที่สง่างามและเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่น่ามหัศจรรย์ของโลก ที่กำแพงริมทางเดินที่นำไปสู่ตัวโบสถ์มีแผ่นป้ายจารึกอัศจรรย์ต่างๆมากมายที่ผู้แสวงบุญได้รับจากแม่พระติดเรียงรายไว้ที่กำแพงนี้
 
แต่อัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของที่นี่คือ รูปภาพแม่พระที่กำลังอุ้มพระกุมารเยซู โดยมีนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซิซีและนักบุญโดมินิคอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน รูปภาพนี้วาดบนกำแพงก้อนหิน นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้หนึ่งได้ทำการตรวจสอบรูปภาพนี้ เขาค้นพบว่าสีที่อยู่บนผิวของรูปวาดนี้ไม่ใช่สีที่ใช้ระบายทั่วไป หากแต่เป็นสีของเนื้อก้อนหินเองที่มีความลึกลงไปหลายฟุต ไม่มีใครสามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดเช่นนี้ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

เรื่องราวอัศจรรย์เกิดขึ้นในวันหนึ่งของปี 1754 ผู้หญิงชาวอินเดียนชื่อ Maria Mueses de Quinones จากหมู่บ้าน Potosi ในโคลัมเบีย กำลังเดินทางเป็นระยะทาง 6 ไมล์ระหว่างหมู่บ้านของเธอกับหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งของ Ipiales เธอมีลูกสาวตัวน้อยอายุ 8 ขวบซึ่งเป็นใบ้หูหนวก ชื่อ โรซา ขี่หลังมาด้วย เมื่อมาถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า ลาส ลาจาส (Las Lajas) แปลว่า แผ่นหิน เธอนั่งลงพักและลูกสาวก็ลงมาจากหลังของเธอ ลูกสาววิ่งไปที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ในเวลาต่อมา โรซาก็วิ่งกลับมาพร้อมกับพูดว่า “แม่จ๋า, มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่นี่กับลูกชายที่เธออุ้มอยู่”
 
นางมาเรีย ตกใจมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ยินลูกสาวของเธอพูดได้ เธอรีบจับมือลูกสาวและรีบเดินทางไปยัง Ipiales ทันที เธอไม่กล้าเข้าไปที่ถ้ำ
 
เมื่อไปถึง Ipiales เธอเล่าเรื่องที่ลูกสาวบอกให้กับบรรดาเพื่อนๆและคนในหมู่บ้านนั้นฟัง แต่พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่เธอพูด
 
ไม่กี่วันต่อมา เด็กหญิงโรซาได้หายตัวไปจากบ้าน หลังจากที่ค้นหาทุกแห่งแต่ก็ไม่พบ นางมาเรียก็คาดเดาว่า ลูกสาวคงต้องไปที่ถ้ำนั้นแน่ เพราะลูกสาวพูดบ่อยๆว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังเรียกเธอ นางมาเรียจึงรีบวิ่งไปที่ลาส ลาจาส และได้พบว่าลูกสาวกำลังคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าสตรีผู้สวยงาม และลูกสาวของเธอได้เล่นกับเด็กชายซึ่งลงมาจากอ้อมแขนของสตรีผู้นั้น นางมาเรียทรุดตัวคุกเข่าลงกับพื้นต่อหน้าสิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ เธอได้เห็นพระนางพรหมจารีย์มารีย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
 
นางมาเรีย เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเพราะกลัวจะถูกเยาะเย้ย แต่เธอและลูกสาวได้พากันไปที่ถ้ำแห่งนั้นบ่อยๆเพื่อนำดอกไม้และเทียนไปวางที่ก้อนหิน วันเวลาผ่านไป, จนกระทั่งวันหนึ่งลูกสาวเกิดล้มป่วยอย่างหนักและได้เสียชีวิต ผู้เป็นมารดาเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากและตัดสินใจจะนำร่างของลูกสาวไปที่ลาส ลาจาส เพื่อวอนขอแม่พระให้ช่วยชุบชีวิตลูกสาวของเธอ
 
นางมาเรียสวดภาวนาวอนขอต่อแม่พระด้วยความเศร้าเสียใจอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อขอให้ลูกสาวได้กลับฟื้นขึ้นมา แน่นอน, แม่พระทรงรับฟังและทรงวอนขอต่อพระบุตรของพระนาง นางมาเรียกลับไปที่บ้านด้วยความยินดีเปี่ยมล้น, พร้อมกับลูกสาวที่มีชีวิตขึ้นมาใหม่ เพื่อนบ้านต่างพากันมารวมกันที่บ้านของนางมาเรีย และเธอไม่สามารถเก็บงำความลับไว้ได้อีกต่อไป เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนในหมู่บ้านก็ได้ไปที่ลาส ลาจาส เพื่อดูให้แน่ใจด้วยตัวของพวกเขาเอง
 
นั่นคือเวลาที่พระรูปแม่พระบนแผ่นหินผนังกำแพงของถ้ำถูกค้นพบ

“พระกุมารเยซูทรงอยู่ในอ้อมแขนของแม่พระ ด้านหนึ่งของแม่พระคือนักบุญฟรังซิส อีกด้านหนึ่งคือนักบุญโดมินิค รูปลักษณ์ของพระแม่เป็นแบบคนลาตินอเมริกัน หรืออาจเป็นแบบชาวอินเดียน พระแม่ทรงมีผมดำยาวลงมาปกที่เสื้อคลุม(มงกุฎที่ทำด้วยโลหะถูกเพิ่มในพระรูปในภายหลัง) นัยน์ตาของพระแม่เปล่งประกายบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์และมิตรภาพ พระแม่ทรงมีอายุราว 14 ปี ชาวอินเดียนต่างแน่ใจว่า นี่แหละคือพระราชินีของพวกเขา....
 
ใครกันที่เป็นคนวาดภาพน่ามหัศจรรย์นี้?
 
“นักธรณีวิทยาจากเยอรมนีได้นำเอาตัวอย่างจากหลายส่วนของพระรูปไปวิเคราะห์ดู ผลลัพท์คือไม่มีสี, ไม่มีสีย้อม, หรือรงควัตถุใดๆบนผิวของเนื้อก้อนหิน สีเป็นสีของก้อนหินเอง ยิ่งไปกว่านั้น สีของเนื้อก้อนหินมีความลึกลงไปหลายฟุต”
 
รูปภาพแม่พระแห่งลาส ลาจาส มีความคล้ายกันกับรูปภาพแม่พระแห่งกัวดาลูเป รูปภาพทั้งสองคงอยู่ในสภาพสดใสแม้เวลาจะผ่านไปนานนับ 100 ปี และรูปภาพทั้งสองไม่มีร่องรอยการใช้สีระบายเลยแม้แต่น้อย มีดวงดาวประดับอยู่ที่อาภรณ์เสื้อคลุมของแม่พระในรูปภาพทั้งสอง บ่งบอกว่าแม่พระทรงเป็นราชินีแห่งสวรรค์
 
ในปี 1952 พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงถวายมงกุฎแด่แม่พระแห่งลาส ลาจาส และในปี 1954 ได้มีการก่อสร้างโบสถ์น้อยรูปทรงโกธิคครอบคลุมรูปภาพเอาไว้
 
ปัจจุบันนี้โคลัมเบียมีคริสตชนคาทอลิก 75 % ของประชากรทั้งประเทศและเป็นหนึ่งในประเทศอนุรักษ์นิยมในอเมริกาใต้ นักบวชคณะฟรังซิสกันและโดมินิกัน เป็นคณะนักบวชสองคณะแรกที่ได้เข้าไปแพร่ธรรมในโคลัมเบียในราวปี 1400 การสั่งสอนพระวรสารแก่ชนท้องถิ่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น