MARCH 21, 2017 BY MSGR. CHARLES POPE
หมายเหตุ.: เวลานี้ผมอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากกำหนดการเดินทางของผมแน่นมาก ผมจึงตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับวิถึชีวิตในสมัยของพระเยซูเจ้า ผมหวังว่าคุณจะสนุกกับการอ่าน (หรืออ่านซ้ำ) เรื่องราวเหล่านี้เหมือนผม
สภาพภูมิอากาศในปาเลสไตน์, ทั้งวันนี้และในสมัยของพระเยซูเจ้า, มีสองฤดูกาลที่แตกต่างกัน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนเมษายน ในขณะที่ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกันยายน ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณฝนตกน้อย ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อนมากในช่วงฤดูร้อน แต่บ่อยครั้งมันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น สายลมเย็นและความชื้นต่ำเป็นเรื่องปกติทำให้ฤดูร้อนค่อนข้างน่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่บนชายฝั่งหรือบนเนินเขาที่สูงขึ้นไป ในช่วงเดือนเหล่านี้จะมีแดดเกือบตลอดเวลา และท้องฟ้าไม่มีเมฆ ฝนตกไม่บ่อยในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากอิทธิพลของโซนความกดอากาศสูง นี่เป็นความท้าทายสำหรับเกษตรกรที่ต้องพัฒนาวิธีการพิเศษสำหรับกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ในช่วงฤดูฝน,แม้ว่าฝนจะไม่ตกทุกวัน แต่ก็อาจมีช่วงที่ฝนตกชุกอย่างมากที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นระยะ ในขณะที่อากาศเย็นในฤดูหนาวและที่ระดับความสูงขึ้นไป (บริเวณใกล้กับกรุงเยรูซาเล็มและเบธเลเฮมสามารถเห็นหิมะได้) นี่เป็นโอกาสที่หายากและมักจำกัดเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม พระคัมภีร์มีการอ้างถึงหิมะในบางพื้นที่ พื้นที่นั้นจะเป็นภูเขาไปทางทิศเหนือใกล้ภูเขา เฮอร์โมน
สภาพภูมิอากาศของดินแดนศักดิ์สิทธิ์แตกต่างกันไปจากเหนือจรดใต้และจากตะวันออกไปตะวันตก เนื่องจากภูมิประเทศมีความหลากหลายจึงอาจมีความแตกต่างอย่างมากภายในระยะทางเพียงไม่กี่ไมล์ โดยทั่วไปแล้วจะมีฝนตกมากขึ้นเมื่อไปทางภาคตะวันออกของปาเลสไตน์ แต่มันจะร้อนขึ้นเรื่อยๆเมื่อลงไปทางภาคใต้ บริเวณทะเลตาย(Dead Sea)และพื้นที่โดยรอบเจริโคเป็นรอยแยกลึกและเป็นทะเลทรายล้วนๆ บริเวณเทือกเขาจะมีฝนตกทางด้านตะวันตกมากกว่าทางด้านตะวันออก วันที่ร้อนที่สุดของปีเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างสองฤดูกาล ..
สภาพอากาศของอิสราเอลในสมัยของพระเยซูเจ้าอาจไม่อบอุ่นและแห้งแล้งเหมือนอย่างทุกวันนี้ การอ้างอิงหลายข้อในพระคัมภีร์ดูเหมือนจะบอกเป็นนัยว่าอิสราเอลเป็นดินแดนที่เปียกชื้นและเหมาะสมในการทำเกษตรมากกว่าในปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบชลประทานที่แพร่หลายในตะวันออกกลางเหมือนในปัจจุบันนี้ ตัวอย่างข้อความจากพระคัมภีร์เช่น,
โลทเงยหน้าขึ้นก็เห็นว่าตลอดลุ่มแม่น้ำจอร์แดนไปจนถึงโศอาร์ มีน้ำบริบูรณ์เหมือนอุทยานของพระยาห์เวห์ หรือเหมือนแผ่นดินอิยิปต์ (ปฐ. 13;10)
พระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราสังเกตเห็นความทุกข์ยากของประชากรของเราในอียิปต์ เราได้ยินเสียงร้องเพราะความทารุณของนายงาน เรารู้ดีถึงความทุกข์ทรมานของเขา และเราลงมาช่วยเขาให้พ้นมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากประเทศนั้น ไปสู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ ไปยังแผ่นดินที่น้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์” (อพยพ 3:7,8)
พระคัมภีร์ยังได้เล่าถึงการใช้ไม้ซุงปริมาณมหาศาลเพื่อสร้างพระวิหารและอาคารอื่น ๆ (ประมาณ 1,000 ก่อน ค.ศ.)
การศึกษาการใช้ที่ดินทั่วทั้งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, แอฟริกาเหนือ, และตะวันออกกลางแสดงให้เห็นถึงความชุกชุมของพืชพันธ์และป่าไม้ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาพอากาศที่เย็นกว่าและชื้นกว่าในช่วงเวลา 1000 ปีก่อน ค.ศ.
ในสมัยของพระเยซูเจ้า มีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพอากาศย่อยๆจากระยะทางไมล์หนึ่งไปสู่อีกไมล์หนึ่ง
กาลิลีตอนล่าง (ภาพบน) ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพเกือบตลอดชีวิตของพระองค์เป็นภูมิภาคที่เขียวชอุ่มที่สุดของอิสราเอล เป็นที่รู้จักในเรื่องแสงแดด, อุณหภูมิอากาศที่อบอุ่นและดินแดนแห่งฤดูใบไม้ผลิ ในแต่ละฤดูใบไม้ผลิ, หุบเขาและเนินเขาจะกลายเป็นมหาสมุทรแห่งดอกไม้ป่าและต้นไม้ที่กำลังออกดอก เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม, พื้นที่จะถูกปกคลุมด้วยผ้าห่มสีเขียวกว้างใหญ่ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผิวหน้าของไร่องุ่นและสวนผลไม้ องุ่น, มะเดื่อ, มะกอก, ทับทิม, ส้มและผลไม้อื่นๆ ที่เบ่งบานออกดอกออกผลในสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนที่น่ารื่นรมย์
ฟลาเวียส โจเซฟัส(Flavius Josephus)นักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรก ผู้รู้จักดินแดนแถบนี้เป็นอย่างดี, ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า:
ธรรมชาติของมันนั้นช่างยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับความงามของมัน ดินของมันให้ผลที่สมบูรณ์มากจนสามารถปลูกต้นไม้ได้ทุกชนิด ดังนั้นชาวบ้านจึงปลูกต้นไม้ทุกชนิดที่นั่น เพราะสภาพของอากาศมีส่วนผสมกันอย่างดีที่เหมาะสมกับพืชหลายๆประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งวอลนัทซึ่งต้องการอากาศที่เย็นที่สุด มันงอกงามอยู่ที่นั่นอย่างมากมาย มีต้นปาล์มด้วย, ซึ่งเติบโตได้ดีที่สุดในสภาพอากาศร้อน ต้นมะเดื่อและมะกอกก็เจริญเติบโตอยู่ใกล้พวกมัน, ซึ่งยังต้องการอากาศที่อบอุ่นพอสมควร บางคนอาจเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าความทะเยอทะยานของธรรมชาติที่ซึ่งมันบังคับให้พืชที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติสามารถมาอยู่ด้วยกันได้; มันเป็นความสุขของฤดูกาล , ทำให้ดูเหมือนว่าทุกคนต้องการอ้างสิทธิ์ในประเทศนี้ เพราะมันไม่เพียงแต่ให้ผลไม้ของฤดูใบไม้ร่วงที่แตกต่างหลากหลายเกินความคาดหมายของมนุษย์เท่านั้น มันยังให้ผลไม้หลักที่สำคัญแก่มนุษย์ด้วย อย่างเช่น ให้ผลองุ่นและมะเดื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงสิบเดือนของปี และผลอื่นๆก็จะสุกพร้อมกันตลอดทั้งปี (สงครามของชาวยิวเล่ม 3 ตอนที่ 10: 8)
รอบๆทะเลกาลิลีมีพืชผลอุดมสมบูรณ์และปลาก็อุดมสมบูรณ์ ถึงแม้จะมีชื่อว่าเป็นทะเล แต่กาลิลีเป็นทะเลสาบน้ำจืดยาวประมาณ 13 ไมล์และกว้าง 8 ไมล์ พืชทั่วไปที่ปลูกที่นี่ในสมัยของพระเยซูเจ้าคือ ธัญพืช, มะกอกและองุ่น พื้นที่ซึ่งแห้งแล้งกว่าทางตะวันออกของทะเลกาลิลีมีพืชน้อยกว่า
พื้นที่ทางทิศใต้ระหว่างกาลิลีและสะมาเรียเรียกว่าหุบเขาแห่งยิสเรล (ภาพข้างบน) มีดินที่อุดมสมบูรณ์และมีฝนตกปานกลาง ยูเดียทางตอนใต้ของสะมาเรียมีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทีละน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการลดลงของปริมาณน้ำฝน
ตั้งแต่สมัยของพระเยซูเจ้า, พื้นที่โดยรวมได้กลายสภาพเป็นทะเลทรายแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่เรียกว่า desertification เป็นกระบวนการที่ดินแดนซี่งเคยอุดมสมบูรณ์ค่อยๆกลายสภาพเป็นทะเลทราย (โดยปกติจะเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติเช่นภัยแล้งหรือผ่านการทำเกษตรที่ไม่เหมาะสม) การกลายสภาพเป็นทะเลทรายในบริเวณนั้นสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี้ มันเกิดขึ้นในระดับหนึ่งตั้งแต่สมัยก่อนพระเยซูเจ้า สิ่งนี้ทำให้มีน้ำน้อยลง พื้นที่เพาะปลูกน้อยลง อากาศร้อนขึ้น และค่ำคืนที่หนาวเย็นกว่า สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ก็คือ สงครามและการจัดการที่ดินที่ไม่เหมาะสม, การตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นปัญหาสำคัญในช่วงสงครามยิว – โรมันในปีค.ศ. 66-70 แต่ในช่วงสองพันปีที่ผ่านมามีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน
จึงมีข้อสรุปที่สมเหตุสมผลว่าในสมัยของพระเยซูเจ้า, มีสภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางและเปียกชื้นมากกว่าในทุกวันนี้อย่างเห็นได้ชัด และมีต้นไม้มากกว่า อย่างไรก็ตาม, ยังมีภูมิภาคที่สวยงามหลายแห่งโดยเฉพาะในแคว้นกาลิลีทางเหนือ เราไม่ควรประเมินความแตกต่างของสภาพอากาศระหว่างยุคสมัยให้มากเกินไป ถึงแม้ว่าคนในยุคของพระเยซูเจ้าจะสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาแปลกใจ การลดจำนวนลงของต้นไม้น่าจะสังเกตุเห็นได้ชัดเจนกว่าสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและแห้งกว่าเล็กน้อย
อิสราเอลในปัจจุบันมีโครงการที่พยายามจะย้อนกลับระบบ desertification ทำให้ผืนดินกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยการปลูกต้นไม้ (ต้นสนชนิดเดียวกับที่โซโลมอนทรงใช้สร้างพระวิหาร!) โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวนมาก พวกเขากำลังพยายามฟื้นฟูอิสราเอลบางส่วน ผลที่คาดหวังคือ ที่ดินจะกักเก็บน้ำได้มากขึ้นทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับการเพาะปลูกมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น