วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ประวัติศาสตร์ซอยตั้งโต๊ะกัง



ซอยตั้งโต๊ะกัง ถนนราชวงศ์ เคยเป็นจุดของการปลุกระดมเพื่อการปฏิวัติของ ดร. ซุนยัตเซ็น 孫逸仙 บิดาแห่งชาติจีน เมื่อคราวมาเยี่ยมเมืองไทยปี 2453 และปีต่อ ๆ มา
 
ซอยนี้เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นซอยประธานาธิบดีซุนยัตเซ็นตอนนั้นท่านระดมเงินทุนเพื่อการปฏิวัติจากชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยได้เป็นจำนวนมหาศาล
 
การปฏิวัติของจีนพูดได้ว่าบรรดาอากงอาเหล่ากงของพวกเรานี่แหละมีส่วนร่วมอยู่มาก แต่เป็นเรื่องที่คนไม่พูดกัน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวในแง่ความมั่นคง
 
เมื่อมาถึงสยาม ดร.ซุนก็ทำทุกอย่างถูกต้องสง่างามและเปิดเผย ท่านเข้าเยี่ยมเคารพ ร.6 สมัยยังเป็นสยามมกุฎราชกุมารด้วย ท่านซุนพูดภาษาอังกฤษได้ดียิ่งกว่าคนอเมริกันเสียอีก (เค้าว่ากันว่าหยั่งงั้น) เพราะท่านเคยเรียนหนังสือและใช้ชีวิตที่ฮาวายหลายปี
 
ร.6 เองก็จบจากอังกฤษ ทั้งคู่จึงไม่มีปัญหาการสื่อสารหรือต้องใช้ล่ามเลย คุยกันตั้งแต่สามทุ่มกลางคืนจนถึงตีสี่เช้าวันรุ่งขึ้น สุดท้ายเมื่อ ร.6 กำลังลาจาก พระองค์ตรัสว่า "เขาจะทำการได้สำเร็จเป็นแน่" และพระองค์อนุญาตให้ท่านซุนพบปะชาวจีนโพ้นทะเลได้ตามสะดวก เพียงขอให้อยู่ภายในกรอบของกฎหมายไทย
 
ผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลผู้ให้การต้อนรับท่านซุนคือ เซียวฮุดเสง 蕭佛成 ต้นตระกูลสีบุญเรือง เจ้าของหนังสือพิมพ์ ฮั่วเซี้ยมซินป่อ 華暹新報 (สยามวารศัพท์)
 
สิ่งสำคัญสูงสุดที่ ดร.ซุนยัตเซ็นทำไว้ให้คนจีนในเมืองไทย ก็คือ เป็นครั้งแรกที่คนจีน 5 สำเนียงยอมรวมตัวกันเป็นหนึ่ง ไม่แตกแยกเป็นพวกแต้จิ๋ว แคะ ไหหลำ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง เพราะท่านซุนได้สังเกตเห็นความไม่สามัคคีข้อนี้ ท่านจึงย้ำกับบรรดาผู้นำหัวเฉียวบ่อยๆว่า จีนทั้งห้าภาษาควรจะรวมตัวและทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างนี้

สิ่งอันเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกของท่านซุนยัตเซ็นในเมืองไทย ก็คือ มูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้า ซึ่งกำเนิดขึ้นจากคำแนะให้สมานฉันท์ของท่าน
 
คณะกรรมการที่ร่วมกันก่อตั้งจึงมาจากคนจีนครบทั้งห้าภาษาเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนจีนทั้งมวล

************************

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น