วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัศจรรย์แห่งวิสตูล่า



ในหลายประเทศจะมีวันหนึ่งที่กำหนดไว้สำหรับยกย่องให้เกียรติแก่กองทัพในประเทศของตน เช่นในประเทศไทยก็จะมีวันกองทัพไทย เป็นต้น ในประเทศโปแลนด์ก็มีวันกองทัพของประเทศเช่นกัน  แต่จะมีความพิเศษหน่อย, เพราะเป็นวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณด้วย เป็นสิ่งที่น้อยประเทศนักที่จะกำหนดวันกองทัพขึ้นแบบนี้ เหตุผลที่ประเทศโปแลนด์กำหนดไว้เช่นนี้มีประวัติสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อ 100 ปีก่อน 
 
ในปี 1795, ประเทศโปแลนด์ได้หายไปจากแผนที่ของยุโรป เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรุกรานเข้ายึดครองโดยประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ปรัสเซีย, รัสเซีย, และอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี แต่ภายหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์สามราชวงศ์ คือ เยอรมันไกเซอร์, ซารส์แห่งรัสเซีย และราชวงศ์ฮับส์เบิรก์แห่งออสเตรีย-ฮังการี โปแลนด์จึงได้เป็นอิสระในเดือนพฤศจิกายน 1918
 
แต่โปแลนด์ที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ไม่นาน,ในไม่ช้าก็ต้องต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่รอดของตัวเอง โครงการแพร่กระจายความคิดเลนินของลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังขยายตัวไปทางตะวันตก และในปี 1919 กองทัพโปแลนด์ก็ต้องทำสงครามกับกองทัพแดง ซึ่งกองทัพโปแลนด์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ราวปี 1920 , ดูเหมือนว่าโปแลนด์จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเลนินก็ส่งลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังเขตชายแดนของเยอรมนี
 
กองทัพแดงเคลื่อนไปยังแม่น้ำวิสตูล่า(Vistula River) และเมืองวอร์ซอร์ของโปแลนด์ คาดกันว่าวอร์ซอร์อาจจะถูกยึดภายในไม่กี่วัน แต่ผิดคาด, กองกำลังที่นำโดยนายพลโจเซฟ พิลซุดสกี (Marshal Józef Pilsudski)กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทหารกองทัพโปแลนด์มีจิตใจกล้าหาญและต่อสู้อย่างเข้มแข็งในการทำสงคราม ทำให้มีชัยชนะเหนือกองกำลังเลนิน สงครามโปแลนด์-โซเวียต รู้ผลแพ้ชนะแล้ว เลนินยอมรับในความพ่ายแพ้ของตน
 
มีการปะทะกันหลายครั้งในสงครามที่วอร์ซอร์ ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 25 สิงหาคม 1920 แต่จุดแตกหักอยู่ที่วันที่ 15 สิงหาคม
 
วันนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะวันอัศจรรย์แห่งวิสตูล่า และตรงกับวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ กองทัพโปแลนด์ถือว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องหมายของการปกป้องจากพระนางมารีย์, ราชินีแห่งโปแลนด์ ด้วยเหตุนี้, วันฉลองกองทัพโปแลนด์จึงตรงกับวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณด้วย
 
จากวิสตูล่าสู่วาติกัน
 
ยุทธสงครามที่ทำให้โปแลนด์ได้รับอิสรภาพ ให้การรับประกันแก่ทารกน้อยผู้หนึ่งอายุเพียงสามเดือน นั่นคือ คาโรล โวยติลา(Karol Wojtyla) เขาจะเติบโตขึ้นในดินแดนเสรีแห่งโปแลนด์ ชัยชนะปี 1920 ให้ความหมายว่าลัทธิล่าอาณานิคมของคอมมิวนิสต์จะไม่สามารถปกครองโปแลนด์จนกระทั่งโวยติลาจะเติบโตจนเข้าสู่วัยหนุ่ม เป็นวัยที่ตระเตรียมชีวิตของเขาให้เป็นผู้ใหญ่และโปแลนด์จะอยู่ภายใต้การปกครองของสองลัทธิที่ชั่วร้าย นั่นคือลัทธินาซีและลัทธิคอมมิวนิสต์โซเวียต อัศจรรย์แห่งวิสตูล่าสอนให้เขารู้ว่าพระญาณเอื้ออาทรจะได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักบุญพระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 จะทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปและอาณาจักรโซเวียตก็จะพังทลายอย่างไม่เป็นท่า พระสันตะปาปาทรงทำให้เกิดอัศจรรย์แห่งวิสตูล่าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระญาณเอื้ออาทรทรงจัดเตรียมสิ่งต่างๆไว้ล่วงหน้าสำหรับชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้ ในปี 1919 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ทรงส่งผู้แทนพระองค์(nuncio)ผู้หนึ่งไปยังรัฐโปแลนด์- คุณพ่ออัชชิเล รัตติ(Father Achille Ratti) คุณพ่อรัตติเป็นหัวหน้าผู้ดูแลห้องสมุดของวาติกัน ด้วยเหตุผลที่ท่านมีความรู้หลายภาษา, จึงเป็นที่หวังว่าท่านจะสามารถถ่ายทอดสถานการณ์ของโปแลนด์ให้ทางวาติกันรับทราบได้เป็นอย่างดี
 
คุณพ่อรัตติได้รับการบวชเป็นพระสังฆราชในเดือนตุลาคม 1919 ที่โปแลนด์ (ท่านได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญโดยพระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 ในปี 2003) พระสังฆราชรัตติใช้คำขวัญประจำตัวที่นำมาจากข้อความ โยบ 6:15 Raptim Transit ที่หมายถึงน้ำที่ไหลล้นและผ่านไปอย่างรวดเร็ว เป็นคำพูดของโยบกล่าวถึงการทรยศของบรรดาพี่ชาย และการกระทำของพวกเขาจะต้องได้รับผลกรรมในไม่ช้า
 
ฤดูร้อนในปี 1920 เป็นช่วงเวลาที่วิกฤตของโปแลนด์ พระสังฆราชรัตติเป็นนายชุมพาบาลที่กล้าหาญ ในขณะที่กองทัพแดงกำลังเข้าใกล้วอร์ซอร์ ผู้แทนประเทศต่างๆพากันอพยพย้ายออกจากเมือง มีเพียงผู้แทนของสองประเทศเท่านั้นที่ยังคงอยู่  นั่นคือประเทศอังกฤษ  และผู้แทนของพระสันตะปาปา, พระสังฆราชรัตติ  การกระทำของท่านเป็นที่ประทับใจของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 มาก พระองค์จึงทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นอัครสังฆราชแห่งมิลานในปีต่อมาคือในปี 1921 เท่ากับว่าพระอัครสังฆราชรัตติได้ขึ้นสู่ฐานันดรพระคาร์ดินัล และอีกแปดเดือนต่อมาท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 มันเป็นการเปลี่ยนสถานภาพที่รวดเร็วมาก สมดังคำขวัญในเวลาที่เป็นพระสังฆราชของท่าน raptim transit ใช้เวลาเพียง 30 เดือนในการเปลี่ยนสถานภาพจากพระสงฆ์ไปสู่พระสันตปาปา การทำภารกิจในโปแลนด์เป็นกุญแจสำคัญที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพจากผู้ดูแลห้องสมุดให้กลายเป็นผู้อภิบาลพระศาสนจักรสากล
 
การเตรียมสำหรับพระสันตปาปาชาวโปแลนด์
 
ในปี 1929 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ทรงทำสนธิสัญญากับสาธารณรัฐอิตาลี กำหนดให้มีรัฐวาติกันขึ้นและกำหนดสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติของพระศาสนจักร หนึ่งในนั้นคือที่พักฤดูร้อนของพระสันตะปาปา, ปราสาทกันดอลฟ์โฟ, พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ทรงบูรณะปราสาทให้เหมาะสมกับการใช้งานใหม่ พระองค์ทรงประดิษฐานพระรูปแม่พระแห่งเชสโตโชวา (แม่พระฉวีดำแห่งโปแลนด์ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งโปแลนด์)ไว้ในโบสถ์น้อยส่วนพระองค์ในปราสาท เป็นพระรูปที่พระสังฆราชแห่งโปแลนด์ได้ถวายพระองค์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเวลาที่พระองค์ทรงอยู่ที่โปแลนด์ พระสันตปาปาทรงสั่งให้จัดทำภาพวาดฝาผนังแบบเฟรสโกไว้ที่โบสถ์น้อยด้วย ผู้วาดภาพคือ Jan Henryk de Rosen จิตรกรชาวโปแลนด์
 
Jan Henryk de Rosen วาดภาพฝาผนังเฟรสโกที่กำแพงโบสถ์น้อยแห่งนี้สองรูป  รูปหนึ่งเป็นรูปการต่อสู้ที่กรุงวอร์ซอร์อันมีชื่อว่า “อัศจรรย์แห่งวิสตูล่า” (รูปภาพข้างบน) ผนังอีกด้านหนึ่ง, เขาวาดรูปสงครามในปี 1655 ที่เมืองเชสโตโชวา เมื่อกองกำลังสวีดิชยกมาเพื่อจะยึดอาสนวิหารแห่งเชสโตโชวา แต่นักพรตและชาวเมืองไม่กี่ร้อยคนช่วยกันต่อต้านไว้เป็นเวลา 40 วัน ในที่สุดอารามและรูปภาพไอคอนแม่พระฉวีดำก็ปลอดภัย
 
โบสถ์น้อยของพระสันตปาปาในปราสาทกันดอล์ฟโฟเป็นเสมือนสิ่งที่เตรียมไว้ให้พระสันตปาปาชาวโปแลนด์ มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ของชาวโปลิช ในรัชสมัยของพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 , พระองค์ทรงสั่งให้ปิดบังภาพวาดฝาผนังนี้ไว้ เพราะรูปภาพของกองทัพทหารดูเหมือนจะรบกวนจิตใจของพระองค์เวลาสวดภาวนา เมื่อพระคาร์ดินัล คาโรล วอยติลา ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 , ผ้าม่านที่ขึงคลุมภาพฝาผนังนี้อยู่ก็ถูกนำออกไป, เปิดเผยให้เห็นภาพวาดทั้งสอง
 
เมื่อพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 มองดูรูปภาพเฟรสโกอัศจรรย์แห่งวิสตูล่าโดย Jan Henryk de Rosen, ทำให้พระองค์ระลึกถึงช่วงเวลาที่พระองค์ปฏิบัติภารกิจที่โปแลนด์ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพระองค์ พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ก็เช่นเดียวกัน, เมื่อมองดูรูปวาดนี้, ทำให้พระองค์ระลึกถึงช่วงเวลาที่พระองค์เกิดมาและเติบโตในดินแดนโปแลนด์เสรี และก่อให้เกิดพละกำลังแก่พระองค์ที่จะทำสงครามซึ่งเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลกอีกครั้ง
 
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมาตั้งแต่พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ถึงพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ในเดือนสิงหาคม พระสันตปาปาจะต้องใช้เวลาอยู่ที่ปราสาทกันดอล์ฟโฟและประกอบพิธีมิสซาในวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ที่นั่น แต่ในสมัยของพระสันตปาปาฟรังซิส, พระองค์ไม่ได้ใช้ปราสาทกันดอล์ฟโฟในการประกอบพิธี อย่างไรก็ตาม, มีการจุดเทียนที่ปราสาทในวันนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงภารกิจการบูรณะปราสาทของพระสันตะปาปาปีโอที่ 11
 
*************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น