วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วิกฤตการณ์ในพระศาสนจักรทุก 250 ปี

 

 
โดย Timothy Flanders
 
ในการศึกษาพระคัมภีร์และประวัติศาสตร์พระศาสนจักร, ผมได้สังเกตเห็นรูปแบบบางอย่างในประวัติศาสตร์, สิ่งหนึ่งก็คือมีวงจรของสถานการณ์ที่น่าประหลาดใจ ดูเหมือนว่าประมาณทุกๆสิบชั่วอายุคน – 250 ปี, หรืออาจน้อยกว่า – พระศาสนจักรจะเผชิญกับวิกฤตการณ์บางอย่าง มันเป็นวิกฤตการณ์ที่คุกคามพระศาสนจักรทั้งมวลและต้องการทดลองพระอานุภาพของพระเจ้า วิกฤตการณ์ที่เกิดในแต่ละช่วงเวลา,จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำกันกับเหตุการณ์ครั้งก่อนหน้า มันมีสาเหตุมาจากภายนอกพระศาสนจักรและจากภายในพระศาสนจักรเอง ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้,หลายคนคิดว่าโลกกำลังถึงจุดจบแล้ว และเริ่มคิดถึงแอนตี้ไครส์ที่แฝงตัวอยู่ในหมู่คนรุ่นเดียวกัน หนังสือที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นและแพร่หลายไปทั่ว อย่างไรก็ตาม, พระเจ้าทรงฟื้นฟูพระศาสนจักรของพระองค์ให้กลับคืนมาอีกครั้ง
 
ในพระคัมภีร์พระธรรมเดิม, พระเจ้าทรงสั่งกิเดโอนให้ใช้กลยุทธ์ทางทหารเพื่อต่อสู้กับชาวมีเดียนที่มารุกรานดังนี้คือ พระเจ้าสั่งให้ลดจำนวนทหารในกองทัพของเขาจาก 32,000 คนเป็น 300 คนเพื่อไม่ให้ชาวอิสราเอลภูมิใจยกย่องตัวเองและพูดว่า:พวกเขาได้รับชัยชนะด้วยกำลังของพวกเขาเอง(ผู้วินิจฉัย. 7: 2) และยุทธวิธีนี้ดูเหมือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นถึง “เสรีภาพและความสง่ารุ่งเรืองของพระศาสนจักร”….”สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26) ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องจดจำไว้เพื่อที่จะเผชิญกับสถานการณ์ของเราเอง ดังนั้นผมจะเสนอเนื้อหาโดยสรุปของเหตุการณ์เหล่านี้ที่ต่อเนื่องกัน
 
การตรึงกางเขนและการเบียดเบียน (ค.ศ. 33-313)
 
พระศาสนจักรถือกำเนิดจากวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด–นั่นคือการตรึงกางเขนของพระคริสต์, เหล่าอัครสาวกได้ละทิ้งพระเยซูเจ้าไว้เพียงลำพังและความหวังทั้งหมดของพวกเขาก็ถูกทำลายเมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และถูกนำไปฝัง เวลานั้น,พวกเขามั่นใจแล้วว่ากิจการทั้งหมดของพวกเขาจบสิ้นลงแล้ว ลองคิดดูเถิดว่าบรรดาอัครสาวกรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเยซูถูกฝังอยู่ในพระคูหาฝังพระศพ –การถูกประจญล่อลวงให้รู้สึกสิ้นหวังเหมือนที่อัครสาวกได้รับจะเป็นสิ่งที่บรรดาปิตาจารย์ในแต่ละยุคสมัยต้องเผชิญเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น “เราเคยหวังไว้ว่าพระองค์จะทรงปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ” (ลก. 24:21)
 
แต่พระเจ้าของเราทรงลุกขึ้นและแสดงพระอานุภาพของพระองค์มาจากเบื้องบนทุกครั้ง, เพื่อหยุดยั้งจินตนาการของมนุษย์, เพื่อทำให้พวกเขาเผชิญหน้ากับการข่มเหงของชาวยิวและชาวโรมันด้วยความกล้าหาญ (สมัยอาณาจักรโรมันเป็นสมัยที่มีการเบียดเบียนคริสตชนที่รุนแรงที่สุดที่โลกเคยรู้จัก) นักบุญเปาโลเดินทางไปทั่วอาณาจักรโรมันเพื่อประกาศถึงพระคริสตกษัตริย์อย่างกล้าหาญ
 
แต่ถึงแม้อัครสาวกคนสุดท้ายจะเสียชีวิตไปแล้ว, พระศาสนจักรก็ยังเป็นเพียงขบวนการเล็กๆที่มีสมาชิกไม่มากมายนัก, ซึ่งแทบไม่มีใครเชื่อว่าจะมีพลังที่จะทำสิ่งใดๆได้ ชัยชนะที่ถูกทำนายไว้ในหนังสือพระวิวรณ์, ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในปี ค.ศ. 100 พระศาสนจักรถูกจักรวรรดิโรมันเบียดเบียนข่มเหงอย่างไร้ความปราณีและทำเป็นระบบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คริสตชนก็อดทนและเอาชนะได้ ในปี 301, ชาวเมืองอาร์เมเนียได้กลับใจมานับถือคริสตศาสนา, ต่อมาในปี 313 จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ออกประกาศยกเลิกการเบียดเบียนคริสตชนและเริ่มเข้าข้างพระศาสนจักร ทันใดนั้นสิ่งที่คิดไม่ถึงก็เริ่มเกิดขึ้น
 
วิกฤตการณ์ชาวอาเรียน (ค.ศ. 321-381)
 
หลังจากพระศาสนจักรได้รับชัยชนะอันน่าอัศจรรย์ใจได้ไม่นาน, วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ก็ก่อตัวขึ้นซึ่งได้กลืนกินผู้มีความเชื่ออย่างรวดเร็ว บิชอปส่วนใหญ่ปฏิเสธความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ ผู้พิทักษ์ที่แข็งแกร่งซึ่งมีความเชื่อมั่นคงดูเหมือนจะมีเพียงบิชอปคนเดียว, และท่านก็ถูกเยาะเย้ยว่าเป็นคนขวางโลกด้วยวลีที่ว่า Athanasius contra mundum (“อาทานาซีอุส คนขวางโลก”) มันเป็นความคิดใหม่ของชาวอาเรียน(Arian) มีการโต้เถียงระหว่างอารีอุส กับอาทานาซีอุสในประเด็นความเชื่อเรื่องการเป็นพระเจ้าของพระเยซูเจ้า นักบุญเจอโรมได้คร่ำครวญว่า “ทั้งโลกคร่ำครวญ, และประหลาดใจที่พบว่าตัวเองเป็นชาวอาเรียน”( “The whole world groaned, and was astonished to find itself Arian.”)
 
พระจักรพรรดิจูเลียนซึ่งเกลียดชังคริสตศาสนาได้เริ่มทำการกดขี่ข่มเหงต่อคริสตชนทางฝั่งตะวันออก(orthodox), และลัทธินอกรีตก็ได้รับการส่งเสริมโดยจักรพรรดิจูเลียน(Julian the Apostate) ส่วนอาทานาซีอุส(Athanasius) ถูกขับไล่ให้พ้นสายตาของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า บรรดามรณะสักขีต้องหลั่งเลือดอีกครั้ง พระศาสนจักรถูกยึดครองโดยลัทธิอาเรียน บิชอปทุกคนดูเหมือนจะละทิ้งความเชื่อ คริสตชนถูกทิ้งให้ต่อสู้เพื่อความจริงตามลำพัง และอีกครั้งหนึ่ง, ความเชื่อที่ผิดพลาดหลงออกนอกทางความจริงก็ถูกตีกลับ จักรพรรดิจูเลียนเสียชีวิตในเวลาไม่นาน มีสังคายนาแห่งนีเซียซึ่งยืนยันความจริงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า การเบียดเบียนสิ้นสุดลง
 
การรุกรานของชาวซัสซาเนียนและชาวมุสลิม (ค.ศ. 602-661)
 
แต่ในขณะที่ยุคสมัยของอาเรียนผ่านพ้นไป(ในพระศาสนจักรตะวันออก) การแตกหักครั้งใหม่ก็ปรากฏขึ้นในคริสตศาสนจักรที่เรียกว่าMonophysitism(ความเชื่อที่ว่าพระเยซูทรงมีธรรมชาติพระเจ้าเพียงธรรมชาติเดียว)  ความเชื่อที่ผิดครั้งใหม่นี้กลายเป็นสาเหตุของความแตกแยกครั้งแรกระหว่างพระศาสนจักรตะวันออกและพระศาสนจักรตะวันตก (the Acadian schism 484-519) มันยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่บรรดาบิชอปพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ในช่วงหลายชั่วอายุคนต่อเนื่องกัน แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 6 การนองเลือดระหว่างกลุ่มคริสตชนเริ่มมากขึ้น ในขณะที่ทางตะวันตกกำลังต่อสู้กับการรุกรานของคนป่าเถื่อนที่มาจากทางเหนือ, เสถียรภาพของตะวันออกก็พังทลายลงเช่นกัน
 
วิกฤตพลิกผันครั้งเลวร้ายที่สุดเมื่ออาณาจักรโรมันตะวันออกที่แตกแยกไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวซัสซาเนียนที่เริ่มต้นในปี 602 ได้ พวกเขาบุกเข้าไปในนครศักดิ์สิทธิ์แห่งเยรูซาเล็มและยึดครองไม้กางเขนที่แท้จริง สถานการณ์เลวร้ายกระตุ้นให้จักรพรรดิ Heraclius นำทัพเข้าสู่สงครามครูเสดและแย่งชิงไม้กางเขนแท้กลับคืนมาได้ แต่พระองค์กลับไปรับความเชื่อที่ผิดพลาดวยการประนีประนอมกับความเชื่อที่เรียกว่า Monothelitism
 
(หมายเหตุ - Monothelitism คำสอนที่ว่า พระเยซูเจ้าทรงมีสองธรรมชาติแต่มีเจตจำนงอิสระเพียงเจตจำนงเดียว ซึ่งต่างจากคำสอนของพระศาสนจักรที่ว่า พระเยซูทรงมีสองธรรมชาติและมีสองเจตจำนง คือเจตจำนงในธรรมชาติมนุษย์ และเจตจำนงในธรรมชาติพระเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับเจตจำนงของพระบิดา พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้)
 
หลังจากนั้น, กองทัพของชาวอาหรับที่เชื่อในลัทธินีโอ – เอเรียนซึ่งยึดครองดินแดนคริสตชนส่วนใหญ่ในตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว,ก็ยกทัพมาประชิดชายแดน เมื่อมาถึงจุดนี้ประชาชนต่างเชื่อว่าเหตุการณ์ตามคำทำนายในพระวิวรณ์ได้มาถึงแล้ว, ต่างพากันคิดว่าถึงเวลาแห่งโลกาวินาศแล้ว แต่มีอาทานาซีอุสคนใหม่เกิดขึ้น – คือแมกซีมุส(Maximus the Confessor)ผู้ซึ่งเอาชนะลัทธิ Monothelitismได้อย่างราบคาบ พวกนอกรีตถูกประณามและผู้เชื่อในมูฮัมหมัดถูกตรวจสอบ
 
Pornocracy ครั้งแรกและการรุกรานของไวกิ้ง(882-964)
 
ต่อมา,แม้ว่าพระศาสนจักรทางตะวันออกกำลังประสบกับการหลงผิดในความเชื่อครั้งสุดท้ายภายใต้ Iconoclasm (การทำลายรูปเคารพ) , ทางตะวันตกกลับมีความเจริญก้าวหน้าของพระศาสนจักรภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาร์เลอมาญ แต่ช่วงเวลานี้เองก็เกิดภัยคุกคามใหม่ขึ้นจากคนป่าเถื่อนทางตอนเหนือ “ชาวไวกิ้ง” ที่ยกทัพมารุกรานทำลายล้างยุโรปตะวันตกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พระศาสนจักรได้เพิ่มคำภาวนาในบทเร้าวิงวอนว่า: จากความโกรธของชาวเหนือ โปรดให้พ้นเถิดพระเจ้าข้า, คนป่าเถื่อนเข้าปลันสะดม, ข่มขืนชาวบ้านไปทั่วทั้งทวีปโดยเผาทำลายอารามหลายแห่ง
 
เรื่องเลวร้ายยิ่งขึ้น, อาณาจักรโรมันตกอยู่ในช่วงแรกของการคอร์รัปชั่นที่กินเวลายาวนาน เป็นช่วงเวลาที่รู้จักกันในชื่อ Pornocracy (การปกครองโดยพวกคอร์รัปชั่น) ทั้งภายนอกและภายในพระศาสนจักรมีการทุรจารล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์,การดูหมิ่นและการหลอกลวงโดยพระชั้นผู้ใหญ่บางส่วนที่หลงในความสุขสบาย, ชื่อเสียงและความโอ่อ่า ทำให้จิตตารมย์แห่งความยากจนตามพระวรสารขาดหายไป
 
ประชาชนชาวโรมและจักรพรรดิอ็อตโตที่ 1 ผู้มีใจศรัทธาได้ต่อต้านคนชั่วที่แฝงตัวอยู่ในพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สิ่งนี้นำไปสู่การปฏิรูปคลูนิแอค(Cluniac reform)เพื่อชำระล้างคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ ในที่สุด, ภายในไม่กี่ชั่วอายุคน,นักบุญปีเตอร์ ดาเมียน (ค.ศ. 1007-1073) ได้เป็นผู้นำในการชำระความเรื่องเสื่อมเสียในวงการสงฆ์และต่อมาไม่นานพระวรสารก็มีชัยชนะต่อชาวเหนือที่ชั่วร้าย ความป่าเถื่อนของบรรพบุรุษของเราถูกเปลี่ยนให้เป็นอัศวินผู้กล้าหาญเพื่อคริสตศาสนจักร มีบางเวลาหลังจากนี้ที่พระศาสนจักรดูเหมือนจะสั่นคลอนไปบ้าง, แต่พระเจ้าก็ทรงส่งนักบุญของพระองค์มาช่วยพระศาสนจักรไว้ อย่างเช่น นักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี(ค.ศ. 1182 - 1226) ได้มาช่วยทำให้พระศาสนจักรดำเนินชีวิตฝ่ายจิตมากขึ้น ท่านเป็นผู้ตั้งคณะฟรังซิสกันที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป
 
ความแตกแยกทางตะวันตกครั้งใหญ่(1378-1417)
 
หลังจากช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูพระศาสนจักรครั้งใหญ่อย่างรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 13 และสงครามครูเสดในฝรั่งเศสตอนใต้, และความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในสเปน, พระศาสนจักรก็ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเสื่อมถอยอีกครั้ง ประการแรก,พระสันตปาปาตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝรั่งเศส, ช่วงเวลานี้ถูกเรียกว่า”การเป็นเชลยของพระสันตะปาปาในบาบิโลน” (1309-1376) หรือพระสันตะปาปาแห่งอาวิญอง, ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามที่พำนักในฝรั่งเศส วังของพระสันตปาปาแห่งนี้จะเป็นที่พำนักของพระสันตปาปาเจ็ดองค์และแอนตี้โป๊ปห้าองค์ ภายในช่วงเวลาที่ไม่มีความสุขนี้, ฝรั่งเศสและอังกฤษละทิ้งการสู้รบในสงครามครูเสดเพื่อยึดคืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์จากมุสลิม และหันกลับมาต่อสู้กันเองในสงครามร้อยปี (1337-1453) จากนั้นโรคระบาดที่เรียกว่า “ความตายสีดำ” ก็เข้าโจมตียุโรปซึ่งถึงจุดสูงสุดในปี 1348 และมีผู้เสียชีวิตประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยุโรปทั้งหมด, มีศพเกลื่อนกลาดอยู่ตามถนน น.คัทรินแห่งเซียนนามีส่วนช่วยเหลือพระศาสนจักรในระหว่างความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในปี 1370-1378 โดยท่านเป็นเสมือนมารดาฝ่ายจิตของพระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่11 น.คัทรินใช้เวลาสามเดือนที่เอวิยองในการกระตุ้นพระสันตปาปาให้เสด็จกลับกรุงโรม และในที่สุดพระสันตปาปาก็ทรงเชื่อเธอและเสด็จไปประทับที่กรุงโรมอย่างถาวร
 
สถานการณ์เลวร้ายยังไม่จบสิ้น, ความแตกแยกครั้งใหญ่ของตะวันตกก็ปะทุขึ้น ทำให้ยุโรปถูกแบ่งโดยมีพระสันตปาปาสององค์เกิดขึ้นจากความแตกแยกครั้งนี้ จากนั้นพระสันตปาปาองค์ที่สามก็ถูกเพิ่มเข้ามา การก่อการจลาจลในพระศาสนจักรเกิดขึ้นระหว่าง Ockham (ตาย. 1347), Wycliffe (ตาย. 1384) และ Huss (ตาย. 1415) แม้จะมีความมืดมิดนี้, แต่ก็มีอาทานาซีอุสอีกคนหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือนักบุญวินเซนต์ เฟอร์เรอร์ ผู้แพร่ธรรมและผู้เทศน์สอนที่ทำงานอย่างน่ามหัศจรรย์ (1350-1419) ท่านเป็นที่นับถือในฐานะผู้ที่สามารถทำให้ยุคแห่งพระวิวรณ์(การสิ้นพิภพ) ที่ทุกคนคิดว่ากำลังมาถึงเปลี่ยนไปในทางที่ดี ท่านทำให้สาวกของแอนติโปปเบเนดิกต์ที่13 (ซึ่งท่านเองก็เชื่อว่าเป็นพระสันตะปาปาที่แท้จริง) ถอนความนบนอบเชื่อฟังของพวกเขาจากพระสันตปาปาองค์นี้และให้นบนอบต่อคำสอนของสังคายนาคอนสแตนซ์(Council of Constance) ซึ่งในที่สุดก็สามารถแก้ไขความแตกแยกได้
 
Pornocracy ครั้งที่สองและการกำเนิดของโปรแตสแตนท์(1517-1563)
 
แต่อีกครั้งหนึ่งที่พระศาสนจักรตกต่ำลง, เมื่อพระสันตะปาปาในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ(Renaissance) เข้ามาปกครอง, ความตายสีดำดูเหมือนจะคร่าชีวิตพระสงฆ์ที่ดีไปเสียเป็นส่วนใหญ่ และภายในปี 1500 มีการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง, ในขณะที่พระสันตปาปาหันไปนิยมความยิ่งใหญ่ทางโลกศิลปะและวิทยาการตามยุคสมัย เราอาจเรียกเวลานี้ว่า Pornocracy ครั้งที่ 2 เนื่องจากมันลอกเลียนแบบครั้งแรก มาร์ติน ลูเทอร์เดินทางไปยังกรุงโรมและเรื่องอื้อฉาวของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งยั่วยุเขาให้คิดปฏิรูปพระศาสนจักร
 
ทันใดนั้นยุโรปก็เดือดระอุขึ้นด้วยสงครามกลางเมือง, เมื่อชาวโปรเตสแตนต์เริ่มก่อจลาจล, ปล้นสะดมโบสถ์และทำลายรูปปั้น มันเป็น Iconoclasm ครั้งที่สอง เจ้าชายและกษัตริย์หลายพระองค์เข้าร่วมขบวนการนี้, เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำการคบชู้และขโมยโดยไม่ต้องรับโทษ, และไม่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากชาวมูฮัมหมัดเพื่อต่อสู้กับชาวคาทอลิก พระสันตปาปาตกอยู่ในท่ามกลางการคอรัปชั่น พระองค์ทรงลังเลพระทัยที่จะจัดการกับสถานการณ์นี้เป็นเวลาเกือบสามสิบปี,ในขณะที่การทำลายล้างดำเนินต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ในที่สุด, ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดของนักบุญองค์ใหม่, สังคายนาแห่งเทรนต์ก็ได้รับการจัดให้มีการประชุมขึ้นและมีกฤษฏีกาออกมา, ถึงแม้จะมีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกษัตริย์คาทอลิก, แต่สังคายนาก็ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าหลักคำสอนคาทอลิกส่วนใหญ่กำลังถูกโจมตี(จากโปรแตสแตนท์) และได้วางโครงการพื้นฐานของการปฏิรูปที่แท้จริง ภายในไม่กี่ชั่วอายุคน, พระศาสนจักรคาทอลิกก็กลับมาเป็นฝ่ายรุกเอาชนะ, จิตวิญญาณของพระศาสนจักรกลับคืนมา, และหยุดความก้าวหน้าของนิกายโปรเตสแตนต์ในยุโรป ยิ่งไปกว่านี้พวกเขาเริ่มเผยแพร่ความเชื่อไปทั่วโลกจากจีน, ญี่ปุ่น, ไปยังอเมริกาเหนือและใต้
 
การปฏิวัติของพวกสาธารณรัฐ (1789-1800)
 
แต่ถึงแม้การปฏิรูปพระศาสนจักรจะได้รับแรงผลักดัน, แต่พระสันตปาปาเออร์บันที่ 8 ได้ชักนำฝรั่งเศสให้เข้าข้างโปรเตสแตนต์ในสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-1648) ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านพวกเฮเรติก ในขณะที่ฝรั่งเศสกลายเป็นฝ่ายนิยมทางฆราวาสมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1700, คลื่นแห่งความรู้สึกต่อต้านคาทอลิกก็เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงที่หาทางที่จะออกจากระเบียบกฏเกณฑ์ของคาทอลิก ในที่สุดในปี 1789 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติของชาวอเมริกัน, ชาวฝรั่งเศสได้เริ่มการปฏิวัติที่เรียกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายไปที่พระศาสนจักร มีการโจมตีโบสถ์อาราม, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการฆาตกรรมหมู่ และแทนที่ธรรมเนียมประเพณีของคาทอลิกด้วยการศึกษาแบบเสรีนิยม
 
แต่แล้วการปฏิวัตินี้ก็จบลง, ฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นระบอบราชาธิปไตยโดยมีนโปเลียนตั้งตัวเป็นกษัตริย์ และนโปเลียนพิชิตยุโรปส่วนใหญ่, ทำลายอารามและโบสถ์คาทอลิกทุกแห่ง เขาจับพระสันตะปาปาและนำพระองค์ไปยังฝรั่งเศส, ที่ซึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์ ภายในปี 1800,ศัตรูแห่งความเชื่อได้ประกาศชัยชนะเหนือระเบียบกฏเกณฑ์คาทอลิกอันเก่าแก่ แต่ในภายหลังนโปเลียนกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกจับ
 
การฟื้นฟูก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง, เพื่อทำลายการต่อต้านทั้งหมดต่อพระศาสนจักร พระสันตปาปาองค์ใหม่ได้รับการเลือกขึ้นมาและขบวนการโรแมนติกและอุลตรามอนเทน(Romantic and Ultramontane movements) ทำให้คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกได้รับการฟื้นฟูไปทั่วยุโรป ในที่สุดฝรั่งเศสก็เริ่มปฏิบัติตามคำสอนของสังคายนาแห่งเทรนต์และมีการฟื้นฟูบทเพลงเกรกอเรียน (ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปอย่างกว้างขวางแม้ในโรม) บุญราศีพระสันตปาปาปิอุสที่11และพระสันตปาปาเลโอที่ 13 ทรงทำงานเพื่อฟื้นฟูปกป้องคริสตศาสนาโรมันคาทอลิกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟื้นฟูหลักปรัชญาของนักบุญโทมัส อไควนัส( Thomism )หลังปี 1879
 
Pornocracy ครั้งที่สามและการทำลายรูปเคารพครั้งใหม่(1965-ปัจจุบัน)
 
แต่โลกตอบสนองด้วยการฆ่าฟันกันเองครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในสงครามโลกสองครั้งโดยไม่ยอมกลับใจ, แม้จะเกิดอัศจรรย์แห่งดวงอาทิตย์ที่ฟาติมา คำสอนที่ผิดพลาดของรัสเซียแพร่กระจายไปทั่วโลกและพยายามเล็ดลอดเข้าสู่ภายในพระศาสนจักร คนทุจริตแทรกซืมเข้าสู่วาติกันและเริ่มใช้อำนาจในวาติกัน ในปี1965, ความรุนแรงของ New Iconoclasm ก็เกิดขึ้น มีการเบียดเบียนข่มเหงคริสตชนเกิดขึ้นหลายประเทศในโลก มีการทำลายรูปเคารพทางศาสนาและโบสถ์ พิธีกรรมและเทวศาสตร์เกี่ยวกับแต่งงานเริ่มถูกลัทธิเสรีนิยม, ฆราวาสนิยมทำให้เสื่อมคุณค่าไป เค้าลางแห่งความหายนะเริ่มขึ้นอย่างเงียบๆ ในช่วงปลาย 1970 เอกสารของ Cardinal Gagnon ได้แสดงให้พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เห็นว่าพระองค์กำลังอยู่ใน Pornocracy ครั้งที่สาม, ความหลงผิดกำลังยึดครองวาติกัน พระสันตปาปายอห์นปอลที่ 2 ไม่ทันได้ปราบปรามมันและเมื่อถึงเวลาที่พระสันตปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเริ่มลงมือกระทำ, เจ้าเครื่องจักรชั่วร้ายก็แข็งแกร่งเกินกว่าที่พระองค์จะควบคุมได้ แล้วต่อมา, พระสันตปาปาฟรังซิสทรงพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขความผิดพลาดเหล่านี้......
 
เมื่อเราดูบริบทของประวัติศาสตร์,จะสังเกตุเห็นว่าเมื่อคนในพระศาสนจักร, ไม่ว่าจะเป็นบิชอป,พระสงฆ์,นักบวชหรือฆราวาสก็ตาม,หันไปหาทางโลกมากขึ้นและละทิ้งชีวิตฝ่ายจิต เวลานั้นก็จะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา ผมคิดเราสามารถเห็นวิกฤตการณ์ในยุคปัจจุบันของเราได้ชัดเจน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากจนมองไม่เห็นทางที่จะแก้ไขได้, แต่พระเจ้าทรงสามารถจัดการได้ทุกสิ่ง และพระองค์จะขอให้เราศึกษาความเชื่อของบรรพบุรุษและบรรดานักบุญทั้งหลายของเราที่ได้สืบสานจิตตารมณ์ของนักบุญอาทานาซีอุส,ในการต่อสู้กับโลก พระเจ้าทรงอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อที่เราจะไม่ยกย่องภูมิใจในตนเอง เพราะไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ได้ แต่สำหรับพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ, พระองค์ทรงทำได้ทุกสิ่ง ขอให้เราส่งต่อความเชื่อในพระเจ้าของเราไปยังลูกๆของเราและอย่าหมดความหวัง
 
Timothy Flanders
 

1 ความคิดเห็น: