โดยปกติแล้ว เทศกาลทางศาสนาในพระศาสนจักร เช่น เทศกาลพระคริสตสมภพ จะเริ่มในวันอาทิตย์ แต่เทศกาลมหาพรตจะเริ่มในวันพุธ ซึ่งตรงกับช่วงกลางสัปดาห์พอดี
การเริ่มต้นของเทศกาลมหาพรตอาจดูแปลกสำหรับบางคน เนื่องจากเทศกาลไม่ได้เริ่มในวันอาทิตย์ แต่เริ่มในวันพุธ
ตัวอย่างเช่น เทศกาลพระคริสตสมภพจะเริ่มในวันอาทิตย์เสมอ เช่นเดียวกับเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งตามหลักจะเริ่มในวันอาทิตย์(พิธีตื่นเฝ้าก่อนวันอีสเตอร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของวันอาทิตย์)
แต่เทศกาลมหาพรตจะเริ่มต้นในช่วงกลางสัปดาห์ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
การคำนวณ 40 วันของเทศกาลมหาพรต
หนึ่งในเหตุผลหลักที่เทศกาลมหาพรตในพิธีกรรมโรมันเริ่มต้นในวันพุธก็คือการคำนวณ 40 วันของเทศกาลมหาพรต
หากคุณนับวันตามปฏิทิน เทศกาลอีสเตอร์จะตรงกับวันที่ 46 ต่อจากวันพุธรับเถ้า
วันอาทิตย์ทั้งหกวันในช่วงเทศกาลมหาพรตไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจำศีลอดอาหารอย่างเป็นทางการ (ทุกวันอาทิตย์เป็นวันพิเศษที่ระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์) ดังนั้น หากคุณลบหกวัน(ของวันอาทิตย์)ออกจาก 46 วัน คุณจะได้ 40 วันอันเป็นระยะเวลาของเทศกาลมหาพรต
ในช่วงแรก เทศกาลมหาพรตไม่ได้เริ่มต้นในวันพุธ และในพระศาสนจักรยุคแรก เทศกาลมหาพรตก็ไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะคริสตชนถูกเบีบดเบียนมาหลายศตวรรษ และไม่มีเวลาที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ของพิธีกรรม
นักบุญไอรีเนอุส(St. Irenaeus)เขียนจดหมายถึงพระสันตปาปาในสมัยนั้นเกี่ยวกับความหลากหลายของการจำศีลอดอาหารก่อนวันอีสเตอร์ในช่วงศตวรรษที่ 2
เพราะการโต้เถียงกันไม่ได้เกี่ยวกับวัน [อีสเตอร์] เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการจำศีลอดอาหารด้วย เพราะบางคนคิดว่าควรจำศีลอดอาหารหนึ่งวัน บางคนบอกว่าควรเป็นสองวัน และบางคนมากกว่านั้น นอกจากนี้ บางคนยังนับวันของตนว่าประกอบด้วยเวลาสี่สิบชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืน จนกระทั่งหลังจากสังคายนาแห่งนีเซียในปี 325 เทศกาลมหาพรตจึงได้รับการกำหนดให้จำศีลอดอาหาร 40 วันอย่างแพร่หลาย การประกาศให้ศาสนาคริสต์ถูกกฎหมายทำให้สามารถฉลองการจำศีลอดอาหารในที่สาธารณะได้มากขึ้น และในที่สุดบรรดาบิชอปก็สามารถเริ่มกระบวนการรวมตัวภายใต้บิชอปแห่งโรมในทุกสิ่ง รวมถึงระเบียบวินัยทางพิธีกรรม
เทศกาลก่อนมหาพรต (Pre-Lent)
นอกเหนือจากเทศกาลมหาพรต 40 วันแล้ว คริสตชนบางคนยังฉลอง "เทศกาลก่อนมหาพรต" ชนิดหนึ่ง ซึ่งขยายช่วงเวลาของการสวดภาวนาและการจำศีลอดอาหารให้ยาวนานถึง 70 วัน
ระเบียบวินัยทางพิธีกรรมมักเรียกว่า Septuagesima (จากคำภาษาละตินที่แปลว่า "วันที่เจ็ดสิบ") และเริ่มต้นในวันอาทิตย์ที่เก้าก่อนวันอีสเตอร์ เทศกาลนี้จัดอยู่ในประเภท "เทศกาลก่อนมหาพรต" และรวมอยู่ในวัฏจักรอีสเตอร์ในปีพิธีกรรม
ประเพณีนี้สืบย้อนไปอย่างน้อยถึงศตวรรษที่ 8 และประกอบด้วยวันอาทิตย์สามวันก่อนหน้าเทศกาลมหาพรต (Septuagesima, Sexagesima และ Quinquagesima จากภาษาละตินซึ่งหมายถึงวันที่ 70, 60 และ 50 ก่อนวันอีสเตอร์) วันที่ "40" เรียกว่าวันอาทิตย์ Quadragesima และเกิดขึ้นหลังจากวันพุธรับเถ้า ประเพณีนี้รวมถึงการสวมอาภรณ์สีม่วงและไม่มีการร้องบทเพลงสรรเสริญและกล่าวคำอัลเลลูยาในพิธีกรรม
เทศกาลก่อนมหาพรตนี้ยังคงปฏิบัติโดยผู้ที่ยึดถือปฏิทินของพิธีกรรมโรมันในรูปแบบพิเศษ และพระศาสนจักรทางตะวันออกบางแห่งก็มีช่วงเทศกาลก่อนมหาพรตที่คล้ายคลึงกัน
************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น